• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

วูบ (ตอนที่ 4)

วูบ (ตอนที่ 4)


เรื่องราวต่าง ๆ ทางการแพทย์มีมากมาย หลายคนดูว่ายุ่งยากซับซ้อนหรือถูกทำให้ดูยุ่งยากสับสน จนไม่อยากแตะต้อง “สิ่งละอันพันละน้อย” จะนำเรื่องเหล่านี้ มาทำให้อ่านง่าย เข้าใจง่าย เพื่อจะได้เป็นประโยชน์ในวงกว้างต่อไป

ในผู้ป่วยที่เกิดอาการวูบรายนี้ สาเหตุเกิดจาก 4 ประการด้วยกัน คือ
1. อดนอน นอนดึก
2. เพิ่มยาลดความดันเลือด
3. การงดอาหารเช้า
4. อากาศที่อับ ไม่ระบาย

การรักษาต้องรักษาตามอาการทั้ง 4 ประการ คือ
1. อย่าอดนอน ซึ่งคนไข้จะต้องปฏิบัติเอง (ดูวิธีปฏิบัติตัวให้นอนหลับได้ดี ในหนัง “นอนไม่หลับ” ของสำนักพิมพ์หมอชาวบ้านหรือในหนังสือ “หมอชาวบ้าน ฉบับที่ 150-153”)
2. อย่ากินยาลดความดันเพิ่มโดยไม่จำเป็น หรือโดยเข้าใจผิด คิดว่าความดันเลือดที่สูงขึ้น เป็นสา-เหตุของอาการปวดมึนศีรษะ เพราะมันอาจจะกลับกันได้ นั่นคือ อาการปวดมึนศีรษะ (จากการอดนอน ในกรณีนี้) จะทำให้ความดันเลือดสูงขึ้นได้
ความกลัว ความตื่นเต้น ความเครียด หรืออาการไม่สบายอื่น ๆ ก็ทำให้ความดันเลือดสูงขึ้นได้
การรักษา คือ การรักษาสาเหตุเป็นสำคัญ ไม่ใช่ไปกินยาลดความดันเลือดเพิ่มขึ้น
3. อย่าอดหรืองดอาหารโดยไม่จำเป็น
4. อย่าอยู่ในที่อับ แออัดหรืออุดอู้ หรือในที่ร้อนจัด หรือกลางแดด ก็ทำให้เป็นลมหมดสติได้ ที่เรียกว่า “ลมแดด” เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าการรักษาและป้องกันอาการ “วูบ” ในกรณีนี้เป็นสิ่งที่คนไข้จะต้องปฏิบัติเองทั้งนั้น แพทย์และพยาบาลไม่สามารถปฏิบัติแทนได้ อย่างมากก็ได้แต่แนะนำและอธิบายให้คนไข้เข้าใจเท่านั้น
อนึ่ง การไปโรงพยาบาลโดยเฉพาะโรงพยาบาลที่มีแพทย์เฉพาะทาง (แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะอวัยวะหนึ่งอวัยวะใด) มากอาจจะถูกสงสัยว่า “วูบ” จากโรคหัวใจ “วูบ” จากโรคสมองหรืออื่น ๆ
ทำให้ต้องตรวจพิเศษ (ตรวจแล็บ) เพิ่มเติม เสียเวลา เสียเงิน เจ็บตัว และอาจเกิดผลแทรกซ้อนจากการตรวจดังกล่าวได้
ดังนั้น ถ้ามีอาการ “วูบ” แบบหน้ามืดเป็นลม พอนอนพักแล้วหายเป็นปกติ และสามารถหาสาเหตุด้วยตนเองได้ ให้แก้สาเหตุนั้น และในขณะที่รู้สึกหน้ามืดหรือเริ่ม “วูบ” รีบนอนราบลง ก็จะไม่เป็นอันตรายได้

คนไข้รายที่ 4
นักธุรกิจหญิงอายุประมาณ 30 ปี มาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งด้วยอาการวูบทันทีทันใดขณะสั่งงานก่อนหน้ามาโรงพยาบาลประมาณครึ่งชั่วโมง
แพทย์ที่พบคนไข้ครั้งแรกตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติ แต่สงสัยว่าคนไข้อาจจะมีภาวะสมองขาดเลือด จึงส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หมอเอกซเรย์คอมพิวเตอร์อ่านผลการตรวจว่า อาจจะมีภาวะสมองขาดเลือด จากหลอดเลือดอุดตัน แต่บอกไม่ได้ชัดเจน ต้องตรวจใหม่ภายใน 2-3 วัน
แพทย์ที่ตรวจคนไข้ครั้งแรกจึงให้คนไข้เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล เพื่อเฝ้าดูอาการและรอตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ใหม่
คนไข้มีธุรกิจติดพันมาก ไม่อยากอยู่โรงพยาบาล จึงโทรศัพท์ไปหาแพทย์ที่ตนรู้จักให้มาช่วยดูอาการให้ตนหน่อย

หญิง : “สวัสดีค่ะ คุณหมอ ดิฉันชื่อบุษบา ลูกคุณแม่ชั้นค่ะ เคยพาคุณแม่ไปหาคุณหมอเป็นประจำ คุณหมอจำได้มั๊ยค่ะ”
แพทย์ : “ลูกคุณชั้นเหรอ อ๋อ จำไดแล้ว คุณแม่ไม่สบายหรือครับ”

หญิง : “ไม่ใช่ค่ะ คุณแม่สบายดี ดิฉันต่างหากค่ะที่ไม่สบาย ตอนนี้อยู่ที่โรงพยาบาล... คุณหมอช่วยมาดูดิฉันหน่อยได้มั้ยคะ”
แพทย์ : “หมอไม่ได้ไปตรวจคนไข้ที่โรงพยาบาลนี้ แล้วที่โรงพยาบาลนี้เขาไม่มีหมอตรวจให้คุณหรือ”

หญิง : “มีค่ะ แต่คุณหมอเขาจะให้ดิฉันอยู่โรงพยาบาลตั้ง 2-3 วัน ดิฉันมีงานติดพันอยู่ ถ้าเผื่อคุณหมอมาดูดิฉันได้ และเห็นว่าดิฉันไม่ต้องอยู่โรงพยาบาล ดิฉันจะได้กลับไปทำงานต่อค่ะ”
แพทย์ : “ถ้าคุณมีหมอดูแลคุณอยู่แล้ว ผมยิ่งไปดูคุณไม่ได้ เพราะถ้าไปจะเป็นการเสียมารยาททางการแพทย์ที่ไปก้าวก่ายการตรวจรักษาของแพทย์เจ้าของไข้ โดยที่เขาไม่ได้ขอร้อง (ไม่ได้ปรึกษา) ซึ่งเป็นการผิดจรรยาแพทย์ครับ”

หญิง : “โธ่ แล้วดิฉันจะทำอย่างไรดีล่ะคะ”
แพทย์ : “คุณไม่ได้บอกคุณหมอที่ตรวจคุณหรือครับว่าคุณมีธุระติดพัน อยู่โรงพยาบาลไม่ได้”

หญิง : “บอกค่ะ แต่คุณหมอ เขาให้น้ำเกลือดิฉันไว้ และบอกว่าดิฉันสมองขาดเลือด อาจถึงตายได้ ถ้าไม่อยู่โรงพยาบาล เขาก็ไม่รับผิดชอบค่ะ”
แพทย์ : “คุณพูดกับผมได้ฉะฉานอย่างนี้ ทำไมถึงเป็นโรคสมองขาดเลือดได้ คุณลองปรึกษาคุณหมอเขาอีกครั้งสิครับ”

หญิง : “โธ่ ดิฉันถามเขาแล้วตั้ง 2-3 ครั้ง จนเขาโมโห บอกว่าจะกลับบ้านก็กลับ เขาไม่รับผิดชอบค่ะ”
แพทย์ : “แล้วเขาสั่งยาให้คุณกลับไปกินที่บ้านหรือเปล่าล่ะ”

หญิง : “เปล่าค่ะ ดิฉันจึงโทร.มาปรึกษาคุณหมอ เพราะเห็นคุณหมอรักษาคุณแม่เป็นอย่างดีมาตลอด คุณหมอจะไม่ช่วยดิฉันหรือคะ”
แพทย์ : “เอ เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน คุณเล่าอาการของคุณมาให้หมอฟังก่อน”

หญิง : “เมื่อเช้านี้ ดิฉันตื่นขึ้นมา รู้สึกเวียนศีรษะนิดหน่อย เพราะ 2-3 คืนติด ๆ กันนี่ดิฉันทำงานดึก และหลับไม่เต็มที่ แล้วก็ต้องรีบตื่นเช้าเพื่อมาทำงาน
“วันนี้พอตื่นขึ้นมา ก็รู้สึกเวียน ๆ ศีรษะ แต่พอดื่มกาแฟร้อน ๆ และอาหารเช้ารอน ๆ แล้วก็รู้สึกดีขึ้น ขับรถมาทำงานได้ตามปกติ
“ขณะนั่งโต๊ะทำงานอยู่ พอเงยหน้าขึ้นและหันไปสั่งลูกน้องให้ช่วยหยิบแฟ้มเท่านั้น ก็รู้สึก “วูบ” หน้ามืด บ้านหมุนไปหมด จนนั่งฟุบลงกับโต๊ะทำงาน มีอาการคลื่นไส้ และอาเจียนเอาอาหารที่กินเข้าไปตอนเช้าออกมาหมด ลูกน้องจึงรีบประคองมาขึ้นรถ และนำส่งโรงพยาบาลค่ะ”
แพทย์ : “ขณะที่ฟุบลงกับโต๊ะ คุณรู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลาหรือเปล่า และคุณเดินมาซื้อรถเองได้หรือเปล่า”

หญิง : “ดิฉันรู้สึกตัวตลอดเวลาค่ะ แต่อาจจะวูบไปชั่วพริบตาหนึ่งก็ได้ ขณะหันไปสั่งงานลูกน้อง เพราะตอนนั้นมันเวียนหัว รู้สึกตัวหมุนวนไปหมด เหมือนลอยอยู่ในอวกาศ จับต้นชนปลายไม่ได้ จนต้องฟุบลงกับโต๊ะ แล้วก็เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียนตามมาค่ะ”
“ตอนเดินมาขึ้นรถและตอนเดินลงจากรถเมื่อมาถึงโรงพยาบาล ดิฉันก็เดินได้เองค่ะ แต่ลูกน้อง เขากลัวดิฉันล้ม จึงเดินประคองดิฉัน 2 ข้างค่ะ”
แพทย์ : “แล้วตอนนี้คุณเดินได้มั๊ย”

หญิง : “เดินได้ค่ะ”
แพทย์ : “ถ้าอย่างนั้น ตอนนี้คุณมีอาการอะไรบ้าง”

หญิง : “ที่จริงก็ไม่มีอาการอะไรค่ะ นอกจากถ้าหันหน้าไปมาเร็ว ๆ หรือเวลานอนลงหรือลุกขึ้น จะมีอาการวูบ และเวียนหัวบ้านหมุนค่ะ”
แพทย์ : “ถ้าอย่างนั้น คุณคงไม่ต้องอยู่โรงพยาบาล คุณขอผลการตรวจต่าง ๆ ที่คุณเสียเงินทำไว้แล้วมากับคุณด้วย และนำผลการตรวจต่าง ๆ เหล่านั้นมาพบผมที่โรงพยาบาลที่ผมทำงานอยู่ แล้วผมจะตรวจคุณใหม่”

หญิง : “ขอบคุณค่ะ ดิฉันจะรีบไปเดี๋ยวนี้นะคะ”
แพทย์ : “ครับ คุณบอกพยาบาลเขาก่อน ให้พยาบาลเขาคิดเงินคุณให้เรียบร้อย และขอผลการตรวจต่าง ๆ จากพยาบาล เขาติดตัวมาด้วย”
 

ข้อมูลสื่อ

198-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 198
ตุลาคม 2538
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์