• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การใช้ไม้พันสำลีเช็ดขี้หู

การใช้ไม้พันสำลีเช็ดขี้หู

คำถาม : การใช้ไม้พันสำลีเพื่อกำจัดขี้หู มีข้อดีข้อเสียอย่างไร?

ขี้หู : ปฏิกูลที่ควรกำจัด...จริงหรือ?
พอกล่าวถึง " ขี้หู "คนส่วนใหญ่จะหมายถึงสิ่งปฏิกูลหรือของเสียที่ร่างกายของคนเราขับถ่ายที่ไหลออกมาจากรูหู เป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ ทำให้เกิดความสกปรกและไม่น่าดู จึงมีความพยายามในการกำจัดขี้หูให้หมดสิ้นไป ด้วยเครื่องมือและกรรมวิธีต่างๆ เช่น การแคะหู การใช้ไม้พันสำลีเช็ดขี้หู เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่จะเป็นการสร้างปัญหาให้แก่หู เช่น ทำให้ขี้หูอัดแน่น อุดตัน และส่งผลต่อการได้ยิน หรือทำให้เกิดการติดเชื้อใน หูชั้นนอกได้ง่ายขึ้น
ดังนั้น การกำจัดขี้หูอย่างไม่เหมาะสม จึงเป็นการ สร้างปัญหาและทำให้เกิดอันตรายหรือเกิดผลเสียต่อหู มากกว่าที่จะเกิดผลดีต่อสุขภาพของหู ทั้งนี้เพราะขี้หูมีความสำคัญต่อรูหู ช่วยป้องกันสิ่งแปลกปลอมและการติดเชื้อที่จะเข้าสู่รูหู จึงควรดูแลสุขลักษณะที่ดีของรูหูและขี้หู ให้เกิดผลดีทั้งในด้านสุขภาพและความสวยงาม ดังจะกล่าวต่อไปนี้

ขี้หู : เกิดขึ้นได้อย่างไร?
เซลล์บุที่ผิวของรูหูชั้นนอกมีลักษณะคล้ายกับ เซลล์บุผิวหนังทั่วไป ซึ่งโดยปกติแล้วเซลล์ผิวหนังจะ มีกระบวนการสร้างเซลล์ผิว พร้อมทั้งเลื่อนหรือผลักดันขึ้นสู่ชั้นบนของผิวหนัง และการลอกเป็นขุยหรือสะเก็ดหลุดออกไปได้เอง แต่เซลล์บุที่ผิวในรูหูจะไม่หลุด ลอกออกไปได้เองเหมือนเซลล์ผิวหนัง เซลล์บุในรูหูเหล่านี้จะสะสมเป็นแผ่นเป็นชั้นและเป็นองค์ประกอบสำคัญของขี้หู คิดตามน้ำหนักได้ประมาณร้อยละ 60 ของน้ำหนักทั้งหมดของขี้หู นอกจากนี้ขี้หูยังประกอบไปด้วย เอนไซม์ เพปไทด์ กรดไขมัน โคเลสเตอรอล แอลกอฮอล์ เป็นต้น ซึ่งเอนไซม์ lysozyme จะมีฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรียด้วยการย่อยสลายผนังเซลล์ได้ดีอีกด้วย

การเคลื่อนของขี้หู
ขี้หูมีการเคลื่อนที่ (ceruminokinesis) และเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เริ่มต้นตั้งแต่ขั้นตอนการสร้างขี้หูและถูกหลั่งออกมาสู่ด้านในของรูหู ตำแหน่งใกล้ๆ กับแก้วหู ระยะนี้ขี้หูจะมีลักษณะนุ่ม เหลว ไม่มีสี และไม่มีกลิ่น ต่อมาขี้หูจะค่อยๆ เคลื่อนที่ออกมาสู่ภาย นอกด้วยผลของการขยับเคลื่อนที่ของขากรรไกร เมื่อ ขี้หูเคลื่อนที่ออกมาด้านนอกจะทำให้ขี้หูเปลี่ยนไปมีสีเข้มขึ้น เหนียวข้น และมีกลิ่น

ทำไมขี้หูจึงมีสีน้ำตาล?
ลักษณะของขี้หูจะแตกต่างกันตามเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ พบว่า คนผิวขาว (ชาวยุโรป) และคนผิวดำ (ชาวแอฟริกัน) จะมีขี้หูที่มีสีน้ำตาลตั้งแต่อ่อนๆ จนถึงเข้ม และมีลักษณะเหนียว ข้น และชื้น ขณะที่คนผิวเหลือง (ชาวเอเชียและชาวอินเดียนแดง) จะมีขี้หูเป็นสีเทาหรือสีแทน (gray or tan) และมีลักษณะไม่เหนียว ข้น และชื้น เหมือนชาวยุโรปและแอฟริกัน แต่จะเปราะและแห้ง ซึ่งเกิดจากความแตกต่างในองค์ประกอบของไขมันและสีผิวของขี้หู

ขี้หู : ผู้พิทักษ์รูหู
ขี้หูจะทำหน้าที่เคลือบและหล่อลื่นเพื่อช่วยป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดกับรูหูชั้นนอก ลักษณะข้นเหนียวของขี้หูจะช่วยจับสิ่งแปลกปลอมที่เข้าไปในรูหู เช่น แมลง ฝุ่น เป็นต้น นอกจากนี้ ขี้หูยังมีคุณสมบัติความเป็นกรด (acidic pH, 4-5) ซึ่งจะช่วยป้องกันการติดเชื้อโรคชนิดต่างๆ ในรูหูได้

ดังนั้น เมื่อมีการขูดขีดหรือฉีกขาดเล็กน้อยในรูหู เช่น การแคะหูด้วยไม้แคะหู กุญแจ ปากกา เป็นต้น ขี้หูที่เคลือบผิวของรูหูจะช่วยบรรเทาและลดการติดเชื้อที่ผิวของรูหูได้ แต่ถ้ามีการกำจัดขี้หูจนไม่มีขี้หูเหลืออยู่เลย ก็อาจเกิดการติดเชื้อได้ง่ายยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม รูหูก็อาจเกิดการติดเชื้อได้ โดยเฉพาะกรณีที่มีความชื้นและอุณหภูมิที่เหมาะสม ซึ่งพบได้บ่อยในผู้ที่ชอบว่ายน้ำ (swimmer s ear) การแคะหูที่ไม่เหมาะสม หรือใช้ไม้แคะหูที่ไม่สะอาด ก็อาจเกิดการติดเชื้อในรูหูได้ ซึ่งทางการแพทย์เรียกว่า หูชั้นนอกอักเสบ (otitis externa) และเชื้อที่เป็นสาเหตุสำคัญคือ Pseudomonas aeruginosa และ Staphylococci

ขี้หูอุดตันและการใช้ไม้พันสำลีเช็ดขี้หู
ขี้หูอุดตันส่วนใหญ่เกิดจากการแคะหู หรือการกำจัดขี้หูอย่างไม่เหมาะสม โดยเฉพาะการใช้)ไม้พันสำลี หรือคัตตอนบัด (cotton bud )

เมื่อเราใช้ไม้พันสำลีแยงเข้าไปในรูหู เพื่อเช็ดและกำจัดขี้หู เมื่อดึงออกมาเราจะเห็นขี้หูบางส่วนติดกับปลายของไม้พันสำลีออกมาด้วย และเราคิดว่า "ได้กำจัดขี้หูออกไปแล้ว" ซึ่งเป็นความคิดที่"ผิด " ทั้งนี้เพราะขี้หูที่ติดมากับปลายของไม้พันสำลีนั้นเป็นเพียงส่วนเล็กน้อยเท่านั้น แต่ส่วนใหญ่ของขี้หูจะถูกไม้พันสำลีกระทุ้งและดันเข้าไปสู่รูหูด้านในมากขึ้น เป็นการต้านกลไกการเคลื่อนที่ออกมาด้านนอกโดยอิสระของขี้หู ขี้หูก็จะเริ่มแข็งมากขึ้น และเกิดการอุดตันขึ้น มิหนำซ้ำขี้หูที่ถูกสร้างใหม่จะหลั่งออกมาบริเวณระหว่างที่ที่ขี้หูอุดตันกับแก้วหู ทำให้ยิ่งเกิดการอุดตันมากขึ้น

นอกจากจะพบขี้หูอุดตันมากในผู้ที่ชอบใช้ไม้พันสำลีเช็ดขี้หูแล้ว ยังพบขี้หูอุดตันได้ในผู้ที่ชอบแคะหู หรือผู้ที่มีรูหูโค้งงอมากกว่าปกติ ผู้ที่ผลิตขี้หูมากเกินไป ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีความผิดปกติทางจิต และผู้ที่มีปัญหาทางไขสันหลัง

อาการของขี้หูอุดตัน
ขี้หูอุดตันอาจมีอาการคัน ปวด มึนงง ได้ยินเสียงแว่วในหู ไอ บ้านหมุน และเพิ่มความเสี่ยงต่อการ ติดเชื้อได้ ขี้หูอุดตันจะส่งผลต่อการได้ยิน นอกจากนี้ ผู้ที่ใช้อุปกรณ์ป้องกันเสียงดัง ก็อาจเกิดการอุดตันของ รูหูได้

ยาละลายขี้หู
การรักษาขี้หูอุดตันแพทย์จะทำการกำจัดออก และอาจใช้ยาละลายขี้หู (ceruminolytic agents) เพื่อช่วยให้ขี้หูอ่อนนุ่มลง และกำจัดขี้หูได้ง่ายขึ้น ตัวอย่างยาละลายขี้หู เช่น triethanolamine carbamide peroxide น้ำเกลือ เป็นต้น ซึ่งอาจช่วยให้ขี้หูอ่อนนุ่มมากขึ้น และกำจัดออกได้ง่ายขึ้น

ข้อควรระวังในการแคะหูด้วยตนเอง
ปกติแล้วไม่จำเป็นต้องล้างหรือทำความสะอาดภายในรูหูเลย เพราะขี้หูจะทำหน้าที่พิทักษ์สภาวะแวดล้อมของหู ถ้าต้องการอาจใช้ไม้พันสำลีทำความสะอาดใบหูระหว่างการอาบน้ำได้ แต่ไม่แนะนำให้ทำการกำจัดขี้หูด้วยตนเอง เพราะมักทำให้เกิดการรบกวนการป้องกันรูหูของขี้หู การใช้ไม้พันสำลีทำความสะอาดรูหูเป็นการกำจัดขี้หูที่ไม่เหมาะสมและอาจทำให้เกิดอันตรายได้ ทำให้เพิ่มโอกาสของการติดเชื้อของหูชั้นนอกและทำให้แก้วหูทะลุได้ และบางครั้งการใช้อุปกรณ์ ที่มีปลายแหลมอาจทำให้แก้วหูทะลุได้
นอกจากนี้ ไม้แคะหูในร้านตัดผมชายอาจเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคจากผู้หนึ่งไปติดต่อถึงผู้อื่นได้ และการล้างหูก็อาจทำอันตรายต่อแก้วหูได้เช่นกัน

ไม่ควรใช้ไม้พันสำลีเช็ดขี้หู
ถึงตอนนี้คงได้คำตอบแล้วว่า ถึงแม้จะมีชื่อว่า " ขี้หู " (ของเสียจากหู) แต่ก็ไม่ใช่ของเสียหรือสิ่งที่น่า รังเกียจ ตรงกันข้ามขี้หูกลับมีหน้าที่คอยพิทักษ์สภาวะแวดล้อมของหู คอยเคลือบและให้ความสะอาดของ รูหู ปลอดภัยต่อการติดเชื้อโรค จึงควรดูแลรูหูให้ดีมี สุขอนามัย ไม่ควรใช้ไม้แคะหู หรือไม้พันสำลีเข้าไปเช็ดในรูหู เพราะจะไปทำลายระบบนิเวศวิทยาที่ดีของรูหู และเกิดอันตรายได้

ข้อมูลสื่อ

333-014
นิตยสารหมอชาวบ้าน 333
มกราคม 2550
ภก.ดร.วิรัตน์ ทองรอด