• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ห่วงใยและใส่ใจผู้ติดเชื้อเอดส์

ห่วงใยและใส่ใจผู้ติดเชื้อเอดส์



เอดส์เป็นโรคที่เมื่อได้ยินแล้ว ผู้คนจะหวาดกลัว และแยกตัวเองออกจากผู้ติดเชื้อ โดยเกรงว่าจะทำให้ตัวเองติดเชื้อไปด้วย ทั้งๆ ที่รู้อยู่เต็มอกว่าเชื้อเอดส์ไม่ใช่โรคที่ติดต่อกันง่าย โดยเพียงการใกล้ชิด สัมผัสเนื้อตัว หายใจรดกัน หรือกินอาหารร่วมกัน แต่เอดส์ติดต่อจากเพศสัมพันธ์ การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน แต่พฤติกรรมเสี่ยงเหล่านี้ ผู้คนบางกลุ่มยังคงประพฤติปฏิบัติ เป็นเหตุให้เชื้อเอดส์แพร่กระจายอย่างไม่หยุดยั้ง

ประเทศไทยเริ่มการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอดส์มา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 ขณะนั้นเป็นการให้ยาชนิดตัวเดียว (Mono therapy) และสองชนิด (Dual therapy) ต่อมาในปี พ.ศ.2543 จึงได้เริ่มโครงการใช้สูตรยาสามชนิด (Triple therapy)
ปี พ.ศ.2545 องค์การเภสัชกรรมสามารถผลิตยา ต้านไวรัสเอดส์เองได้หลายชนิดทั้งแบบรวมเม็ด และแยก เม็ด กระทรวงสาธารณสุขจึงกำหนดเป็นนโยบายในการ ให้ยาสูตรยาสามชนิด ตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 เป็นต้นมา
การให้ยาต้านไวรัสสามชนิดแก่ผู้ป่วยเอดส์ ทำให้ผู้ป่วยโรคนี้ ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นโรคเฉียบพลันรุนแรงรักษาไม่ได้ เปลี่ยนสภาพเป็นโรคเรื้อรัง ที่สามารถให้มีอายุยืนยาวอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีเช่นเดียวกับโรคเรื้อรังอื่นๆ

ความสำคัญของการบำบัดรักษา คือคนไข้ต้อง กินยาอย่างถูกต้อง ถูกวิธี และตรงเวลาทุกครั้งอย่าง ต่อเนื่องตลอดชีวิต

จากสถิติพบว่าถ้ากินยาถูกต้องมากกว่าร้อยละ 95 ประสิทธิผลการรักษาเท่ากับร้อยละ 78
แต่ถ้ากินยาถูกต้องในระดับร้อยละ 80-94.9 ประสิทธิผลการรักษาลดลงเหลือเพียงร้อยละ 39

เพื่อนช่วยเพื่อน


โรงพยาบาลแห่งหนึ่งตั้งเป้าการให้ยาต้านไวรัสเอดส์ในเด็กให้ได้ประสิทธิภาพการกินยามากกว่าร้อยละ 95 โดยการทำงานเป็นทีมระหว่างแพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักสังคมสงเคราะห์ เจ้าหน้าที่จากองค์กรเอกชน และเครือข่ายผู้ติดเอดส์

วิธีการปฏิบัติงาน
เริ่มจากการเตรียมความพร้อม ของเด็กและครอบครัว มีการเยี่ยมบ้านก่อนให้ยาและระหว่างให้ยา การฝึกปฏิบัติจัดยาและการเตรียมการสำหรับอาการข้างเคียงจากการรักษา

การฝึกปฏิบัติจัดยา
มีการเตรียมอุปกรณ์ช่วยอำนวยความสะดวกและเตือนความจำ ได้แก่ นาฬิกาปลุกเตือนกินยา เข็มนาฬิกาข้อมือที่ตั้งปลุกได้ทุก 12  ชั่วโมง กล่องเตรียมยา มีดตัดแบ่งยา สมุดบันทึกการกินยา รวมทั้งการให้เบอร์โทรศัพท์ของทั้งทีมเยี่ยมบ้านและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล เพื่อให้ครอบครัวของเด็กสามารถติดต่อกลับได้การติดตามการให้ยา มีการนัดหมายที่โรงพยาบาล 14 วัน หลังเริ่มยา และนัดต่อทุกเดือนเป็นเวลา 6 เดือน หลังจากนั้นนัดทุก 2 เดือน
วันนัดหมาย มีการจัดกิจกรรมกลุ่มเพื่อเสริมสร้างกำลังใจและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้ดูแลและคนไข้ในกลุ่ม นั่นคือ " เพื่อนช่วยเพื่อน "
เทคนิคการเยี่ยมบ้านที่ร่วมกับเครือข่ายผู้ติดเชื้อและองค์กรเอกชน มีประสิทธิภาพดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการช่วยแก้ปัญหาที่มักเกิดขึ้นในช่วงแรกๆ ของการกินยา ซึ่งเมื่อผ่านช่วงเวลาตรงนี้ไปนี้ คนไข้มักสามารถ ปฏิบัติต่อไปได้
ขณะนี้โรงพยาบาลบำบัด รักษาและติดตามผลคนไข้ 160 ราย พบว่าคนไข้เกือบทั้งหมดสามารถกินยาถูกต้องมากกว่าร้อยละ 95 ในทุกครั้งที่มาหาหมอ
การที่คนไข้กินยาไม่ถูกต้อง ไม่ตรงเวลา ไม่ต่อ เนื่อง จะทำให้เกิดการดื้อยา ซึ่งนอกจากจะยากต่อ การรักษาคนไข้รายนั้นแล้ว ยังเป็นปัญหาการควบคุม การดื้อยาต้านไวรัสเอดส์ระดับชาติและนานาชาติด้วย

สำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอดส์ นอกจาก ตัวเองจะเป็นทุกข์ ยังมีทุกข์อีกเรื่องที่สำคัญ คือลูกในครรภ์จะติดเชื้อเอดส์หรือไม่
จากสถิติพบว่าทารกที่คลอดจากแม่ติดเชื้อเอดส์มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อราวร้อยละ 10-20 และทารกมีโอกาสได้รับเชื้อระหว่างการคลอดจากสัมผัสสิ่งคัดหลั่งหรือสำลักเลือดสูงถึงร้อยละ 80
อย่างไรก็ดี หากแม่ได้รับยาต้านไวรัส อุบัติการณ์ การนำเชื้อสู่ลูกจะลดลงเหลือเพียงร้อยละ 2-3 เพราะฉะนั้นการให้การดูแลแม่ติดเชื้อจึงมีความสำคัญยิ่ง

กลุ่มเพื่อนสัมพันธ์ บ้านร่มเย็น


โรงพยาบาลแห่งหนึ่งได้พัฒนางานนี้อย่างจริงจัง จนเกิดองค์ความรู้และประสบการณ์ที่มีคุณค่า ดังจะขอบอกเล่าโดยสังเขป

จากการรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นพบว่า หญิงตั้งครรภ์ที่มาฝากครรภ์มีอัตราการติดเชื้อร้อยละ 1.4 ส่วนหญิงตั้งครรภ์ที่มาคลอดโดยไม่ฝากครรภ์มีอัตราการติดเชื้อสูงถึงร้อยละ 10.6

เนื่องจากการติดเชื้อเอดส์ จะมีช่วงระยะเวลาหนึ่งซึ่งผู้ป่วยติดเชื้อ แล้ว แต่การตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการจะไม่ พบเชื้อ (window period) เมื่อเจาะเลือดหญิงตั้ง ครรภ์กลุ่มเสี่ยงที่ตรวจไม่พบเชื้อครั้งแรกซ้ำอีกครั้งใน 12 สัปดาห์ พบอัตราติดเชื้อเพิ่มอีกร้อยละ 2.8

โรงพยาบาลจึงได้แนวทางปฏิบัติในการตรวจเลือด ซ้ำสำหรับกลุ่มเสี่ยง มารดาที่ติดเชื้อจะได้รับยาต้านไวรัสเอดส์เมื่ออายุครรภ์ 28 สัปดาห์ โดยให้กินยาวันละ 2  ครั้ง ห่างกัน 12 ชั่วโมง เพราะมีโอกาสช่วยทั้งแม่และลูกเพิ่มขึ้น

สำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่มาคลอดโดยไม่มีผลเลือด ทางห้องคลอดจะตรวจเชื้อด้วยวิธีที่ทราบผลเร็ว (Rapid test) ถ้าพบการติดเชื้อ ระยะเร่งคลอดจะให้ยาต้านไวรัสทันที

ส่วนทารกที่คลอดจากแม่ติดเชื้อ ได้รับยาต้าน ไวรัสเช่นกันใน 2 ชั่วโมง และทารกจะได้รับยาต่อเนื่องตามระยะการได้รับยาของแม่ กล่าวคือถ้าแม่ได้รับยาระหว่างตั้งครรภ์นานกว่า 4 สัปดาห์ ลูกจะต้องกินยาต่อ 1 สัปดาห์ แต่ถ้าแม่ได้รับยาน้อยกว่า 4 สัปดาห์ ลูกจะต้องกินยาต่ออีก 6 สัปดาห์

จากการติดตามผลของโรงพยาบาลระยะ 15 เดือน พบว่า ทารกที่คลอดจากมารดาที่ได้รับยา ระหว่างฝากครรภ์ครบ และได้รับยาระยะคลอด เมื่ออายุทารกครบ 1 ปี ไม่พบอัตราการติดเชื้อ

โรงพยาบาลแห่งหนึ่งพบผู้ป่วยโรคเอดส์รายแรกปี พ.ศ.2533 และต่อมาพบจำนวนเพิ่มขึ้นจนถึงปี พ.ศ.2547 เป็นจำนวนมากกว่า 2,000 คน และประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้ เริ่มมีอาการป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาลรักษาตัวเป็นระยะๆ โรงพยาบาลจึงพัฒนารูปแบบการให้บริการผู้ติดเชื้ออย่างครบถ้วนและต่อเนื่อง เพื่อผู้ติดเชื้อจะได้เรียนรู้การดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เกิดอาการเจ็บป่วยช้าลง และได้รับการดูแลรักษาทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคมเศรษฐกิจ ให้สามารถดำเนินชีวิตอย่างปกติสุข

มีการใช้บ้านพักแพทย์หลังหนึ่งเป็นศูนย์ดำเนินการ เพื่อให้ผู้ติดเชื้อได้ร่วมกิจกรรมการส่งเสริมสุขภาพทางเลือก การตรวจรักษา การให้คำปรึกษา กระบวนการกลุ่มการฝึกอาชีพ และการติดตามเยี่ยมบ้าน ศูนย์แห่งนี้ได้รับการตั้งชื่อว่า" ศูนย์บ้านร่มเย็น"

หลังจากนั้น 6 เดือน กลุ่มผู้ติดเชื้อได้รวมตัวกัน ก่อตั้งกลุ่มผู้ติดเชื้อขึ้น ใช้ชื่อกลุ่มว่า
" กลุ่มเพื่อนสัมพันธ์ บ้านร่มเย็น" เป็นองค์กรเอกชนซึ่งมีโรงพยาบาลจังหวัด และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเป็นที่ปรึกษา
กลุ่มเพื่อนสัมพันธ์บ้านร่มเย็นดำเนินกิจกรรม เพื่อช่วยเหลือผู้ติดเชื้อด้วยกัน และรณรงค์ป้องกันโรคเอดส์หลายกลุ่มเป้าหมาย จัดกิจกรรมต่างๆ เช่น ออก-กำลังกาย ผลิตยาสมุนไพร นวดคลายเครียด ฝึกสมาธิ ร่วมทีมเหล่ากาชาด เยี่ยมบ้านผู้ติดเชื้อ ดูแลเด็กติดเชื้อที่บ้านดูแลคนไข้ระยะสุดท้ายที่บ้าน และทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้คนไข้ที่ล่วงลับ

การส่งเสริมการสร้างพลัง (Empowerment) ให้ผู้ติดเชื้อ ญาติ และชุมชน ให้สามารถดูแลตนเองได้เป็น กลไกสำคัญนำไปสู่ความสำเร็จ คุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อและคนไข้เอดส์ดีขึ้นอย่างมาก คนไข้หลายคนได้รับการฝึกอาชีพ สามารถประกอบอาชีพ มีชีวิตอยู่กับครอบครัว พ่อแม่ลูก และเข้าสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี
เบื้องหลังความสำเร็จของทีมงานคือทัศนคติที่ดี มีความห่วงใยและใส่ใจต่อผู้ติดเชื้อและคนไข้เอดส์ ทำให้เกิดพลังความตั้งใจปฏิบัติงานด้วยความเมตตา เสียสละ และมีความสุขกับการทำงาน

ทีมสหสาขาวิชาชีพ และผู้ติดเชื้อร่วมกันจัดตั้ง" วงดนตรีบ้านร่มเย็น " ออกแสดงตามงานต่างๆ หลายคนที่ได้มีโอกาสชมการแสดง ลำเซิ้งต้านภัยเอดส์ "งานวันเอดส์โลก " แทบไม่เชื่อสายตาตัวเองว่า หนุ่มน้อยรูปร่างสะโอดสะองที่ทรงเครื่องลิเกติดกากเพชร ระยิบระยับ ออกลีลาเหมือนมืออาชีพ จะเป็นคุณหมอผู้เชี่ยวชาญโรคเอดส์ตัวจริง

ข้อมูลสื่อ

335-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 335
มีนาคม 2550
นพ.สุรชัย ปัญญาพฤทธิ์พงศ์