• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เยอร์บีรา้ :ไม้ดอกต่างแดนที่ชนะใจคนไทยครบศตวรรษ

เยอร์บีรา้ไม้ดอกต่างแดนที่ชนะใจคนไทยครบศตวรรษ



เมื่อผมย้อนรำลึกไปถึงช่วงวัยเด็กในชนบทของจังหวัดสุพรรณบุรี ประมาณ 50 ปีก่อน ผู้เขียนจำได้ว่าบนระเบียงหน้าบ้านที่หันไปหาแม่น้ำท่าจีนทางทิศตะวันออก มีซุ้มการเวกที่ส่งกลิ่นหอมยามค่ำ ด้านข้างแขวนกล้วยไม้ของพี่ชายที่มีความอดทนเอาใจใส่อย่างสม่ำเสมอ จนได้ชมดอกทั้งประเภทหวายและคัทลียา สมัยนั้นกล้วยไม้เป็นพืชที่ปลูกเลี้ยงได้ยากมาก
ด้านล่างของระเบียงมีชั้นวางกระถางต้นไม้ ซึ่งนอกจากโกสนในสวนแล้ว ยังมีดอกไม้รูปร่างแปลก แต่งดงาม มีชื่อเป็นฝรั่ง หากจะพูดกันตามจริงแล้ว ชื่อของดอกไม้ดอกนี้เป็นภาษาอังกฤษคำแรกที่ผู้เขียนเคยได้ฟัง ไม้ดอกชนิดนั้นคือ " เยอร์บีรา " นั่นเอง



เยอร์บีรา ความงามจากต่างแดนยุคแรกเริ่ม

เยอร์บีราเป็นพืชที่มีลำต้นใต้ดิน ใบโผล่พ้นดินขึ้นมา โดยมีก้านใบค่อนข้างยาว ลักษณะใบเรียงซ้อนกันเป็นพุ่มทรงกลม ลักษณะคล้ายสับปะรด ใบเยอร์บีรามีสีเขียวสด ขอบใบหยักเล็กน้อย ยาวประมาณ 25 ซม. กว้างประมาณ 10 ซม. เมื่อแตกกอแผ่ใบออกเต็มที่ ใบด้านนอกจะโน้มลงคลุมดิน คล้ายกอตะไคร้

ดอก ออกจากลำต้นใต้ดินมีก้านดอกกลมยาว ชูดอกออกตรงกลาง มีลักษณะทรงพุ่ม ก้านดอกยาวประมาณ 30 ซม. ดอกเดี่ยวขนาดใหญ่ โดดเด่น เป็นทรงกลมแบน มีกลีบขนาดเล็กเรียงกันเป็นวงกลมรอบศูนย์กลาง คล้ายดอกบานชื่นหรือทานตะวัน ดอกเยอร์บีรามีทั้งดอกซ้อนและดอกชั้นเดียว ในอดีตนิยมชนิดดอกซ้อน ปัจจุบันนิยมพันธุ์ดอกชั้นเดียวที่นำเข้ามาใหม่ๆ จากต่างประเทศ

ดอกเยอร์บีราหันด้านหน้าของดอก (ด้านกลีบดอก) ไปตามแนวขนานกับพื้นดิน เช่นเดียวกับหน้าของมนุษย์ ต่างกับบานชื่นที่หันหน้าขึ้นท้องฟ้า

ตามท้องใบ ก้านใบและก้านดอกมีขนอ่อนขนาดสั้นขึ้นปกคลุมอยู่หนาแน่น เกสรตัวเมียของเยอร์บีรา มีลักษณะเป็นเส้นตรง 2 แฉกอยู่ตรงกลางดอก ส่วนเกสรตัวผู้มีมากมาย และสีเดียวกับกลีบดอก

กลีบดอกของเยอร์บีรามีหลายสี เช่น ขาว เหลือง แสด แดง ม่วง เป็นต้น และมีหลายขนาด ซึ่งเกิดจากการปรับปรุงพันธุ์ ทำให้มีพันธุ์ใหม่ๆ ออกมาเสมอ

บันทึกเกี่ยวกับประวัติของเยอร์บีราในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2451 (ค.ศ.1908) โดยนายแพทย์คาร์ทิว (Carthew) ในรัชสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมทั้งมีบันทึกว่า นายแพทย์คาร์ทิว เป็นผู้นำเยอร์บีราเข้าสู่ประเทศไทยเป็นคนแรก เมื่อปี พ.ศ.2451 นั่นเอง นับถึงปัจจุบันได้ 99 ปีแล้ว เป็นช่วงเดียวกับที่มีการ นำเข้ากล้วยไม้ โกสน บอนสี ราตรี และหน้าวัว เป็นต้น

เยอร์บีราจึงเป็นไม้ดอกไม้ประดับชนิดแรกๆ ที่ถูกนำเข้ามาสู่ประเทศไทยอย่างเป็นทางการ และมีบันทึกเป็นหลักฐานที่แน่นอน

แหล่งกำเนิดดั้งเดิมของเยอร์บีราอยู่บริเวณแคว้น ทรานสวาล ประเทศแอฟริกาใต้ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Gerbera jamesonii Hook. (Bolus) อยู่ในวงศ์ Asteraceae เช่นเดียวกับ บานชื่น รักเร่ เบญจมาศ ฯลฯ (วงศ์ Aster-aceae นี้ เดิมเรียกว่า Compositae) ชื่อภาษาอังกฤษคือ GERBERA, Transvaal daisy

ประโยชน์ของเยอร์บีรา


เยอร์บีราเป็นไม้ดอกอีกชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมจากคนไทยสืบเนื่องมายาวนาน นับตั้งแต่ถูกนำมาปลูกในประเทศไทย เมื่อ 99 ปีที่แล้ว คนไทยได้ผสมและคัดเลือกพันธุ์เยอร์บีราขึ้นมามากมายหลายสิบล้านชื่อ ล้วนมีความงดงามและปรับตัวเข้ากับสภาพดินฟ้าอากาศของประเทศไทยได้ดี นับเป็นไม้ดอกที่เหมาะปลูกเป็นไม้กระถาง เพราะมีทรงพุ่มใบเป็นทรงกลมงดงาม มีดอกชูก้านเด่น ออกดอกตลอดปี และบานนับเดือน ซ้ำยังเป็นไม้ตัดดอกได้ดี เพราะมีก้านยาวแข็งแรงและมีดอกขนาดใหญ่ นอกจากนั้นยังสามารถปลูกเป็นไม้ดอกลงแปลงขนาดใหญ่ก็งดงามเช่นเดียวกัน

ปัจจุบันมีพันธุ์เยอร์บีราใหม่ๆ ออกมามากมาย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เมื่อรวมกับพันธุ์เดิมที่มีอยู่แล้ว ทำให้ผู้ปลูกมีทางเลือกมากมาย คุณผู้อ่านสามารถเลือกนำมาปลูกที่บ้านได้ง่ายอีกด้วย

ข้อมูลสื่อ

335-019
นิตยสารหมอชาวบ้าน 335
มีนาคม 2550
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร