• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การเสพติดและชีวิต ในสังคมไทย

การเสพติดและชีวิต ในสังคมไทย



เมื่อกว่า 20 ปีก่อน เราเคยรณรงค์ให้เอากาเฟอีนออกจากยาแก้ปวด
 
เรื่องมีอยู่ว่าบริษัทยาได้ผลิตยาแก้ปวดที่มีสูตรผสมเป็นเอพีซี ซึ่งประกอบแอสไพริน (Aspirin) ฟีนาซีทิน (Phenacetin) + กาเฟอีน (Caffeine) ในชื่อการค้าต่างๆ ปรากฏว่าชาวไร่ชาวนาติดยานี้กันเป็นอันมาก บางคนกินถึง 4-5 ซองในวันหนึ่งๆ หลายคนมีอาการตกเลือดจากกระเพาะอาหาร เพราะแอสไพริน

กาเฟอีนนั้นทำให้คนติดได้เหมือนคนติดกาแฟ ใครติดกาแฟเราก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่เราไม่อยากเห็นติดกาเฟอีนแล้วต้องได้แอสไพรินเข้าไปด้วย เพราะมันอาจกัดกระเพาะได้

ขณะที่กำลังรณรงค์อย่างเข้มข้นและเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์อยู่นั้น วันหนึ่งผมเดินสวนกับนายแพทย์สมัย จันทวิมล อาจารย์เก่าของศิริราช ท่านพูดกับผมว่า

"ประเวศเอ๊ย อย่าไปรณรงค์ให้มันยากเล้ย คนไทยน่ะ แม้แต่ดูดนิ้วหัวแม่มือ มันก็ติดแล้ว! "

คำพูดของท่านทำให้ผมสะดุดคิด
เพราะเรารู้อยู่ก่อนแล้วว่าถ้าเราปวดหัวเป็นไข้แล้วกินยาเอพีซีเราก็ไม่ติด แต่ทำไมเมื่อชาวไร่ชาวนากินแล้วจึงติด เป็นไปได้ไหมว่าคนที่อยู่ในสถานะบีบคั้นจะติดอะไรได้ง่าย ไม่ได้ขึ้นกับตัวสารอย่างเดียว แต่อยู่ที่สภาพชีวิตและสังคมของผู้เสพด้วย

คนที่ติดเหล้า ติดสารเสพติด ติดเกม เพราะอยู่ในความบีบคั้นบางสิ่งบางอย่างหรือเปล่า ที่ทำให้ต้องไปยึดเหนี่ยวยาหรือสารหรืออะไรบางอย่างเป็นที่พึ่งพิง ในขณะที่ คนที่เป็นอิสระไม่อยู่ในสถานะถูกบีบคั้น ถึงไปสัมผัสสารหรือสิ่งนั้นๆ เข้าก็ไม่เกิด "โรคเสพติด" ในการป้องกันโรคเสพติดต่างๆ เราอาจต้องคิดถึงเรื่องชีวิตและสังคมด้วยว่าทำอย่างไรมนุษย์จะอยู่ร่วมกันอย่างมีศักดิ์ศรี มีเกียรติ มีความสุข ซึ่งจะทำให้เขามีความสมบูรณ์ในตัวเอง ไม่ต้องไปยึดเหนี่ยวพึ่งพิงเสพติดสิ่งใดๆ

ข้อมูลสื่อ

334-001
นิตยสารหมอชาวบ้าน 334
กุมภาพันธ์ 2550
ศ.นพ.ประเวศ วะสี