• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ไซนัสอักเสบ

ไซนัสอักเสบ


ไซนัสอักเสบ หมายถึง การอักเสบของไซนัสที่อยู่รอบๆ จมูก* ทำให้มีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล และปวดที่ใบหน้า ซึ่งมักจะเป็นๆ หายๆ บ่อย

โรคนี้แบ่งเป็นชนิดเฉียบพลัน (มีอาการน้อยกว่า 30 วัน) กึ่งเฉียบพลัน (มีอาการระหว่าง 30-90 วัน) และเรื้อรัง (มีอาการมากกว่า 90 วัน) ส่วนใหญ่มักจะไม่มีความรุนแรง นอกจากสร้างความรำคาญหรือปวดทรมาน ส่วนน้อยที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง หากได้รับการรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่แรก ก็มักจะหายได้ หรือลดภาวะแทรกซ้อนลงได้

⇒ ชื่อภาษาไทย ไซนัสอักเสบ โพรงอากาศอักเสบ
⇒ ชื่อภาษาอังกฤษ Sinusitisn
⇒ สาเหตุ

ในคนปกติทั่วไป เมือกที่สร้างขึ้นในโพรงไซนัสจะระบายลงตามทางเชื่อมมาออกที่รูเปิดในโพรงจมูก กลายเป็นน้ำมูก หรือเสมหะใส เพื่อให้ความชื้นและชะล้างโพรงจมูก แต่ถ้ารูเปิดดังกล่าวถูกอุดกั้น (เช่น เป็นไข้หวัด หรือโรคหวัดภูมิแพ้) ทำให้เมือกในโพรงไซนัสไม่สามารถ ระบายออกมาได้ เมือกก็จะหมักหมมกลายเป็นอาหารสำหรับการเจริญเติบโตของเชื้อโรคที่ลุกลามมาจากโพรงจมูกเข้าไปในไซนัส ทำให้เยื่อบุไซนัสอักเสบบวม ขนอ่อนในไซนัสสูญเสียหน้าที่ในการขับเมือก ทำให้มีการสะสมของเมือกมากขึ้นกลายเป็นหนองขังอยู่ในไซนัส เกิดอาการของโรคไซนัสอักเสบขึ้นมา

การอักเสบมักมีเชื้อก่อโรคและปัจจัย ดังนี้

1.ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน
มักเป็นภาวะแทรกซ้อนของไข้หวัด การติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนต้นชนิดอื่นๆ และโรคหวัดภูมิแพ้ เชื้อก่อโรคอาจเป็นเชื้อไวรัสกลุ่มเดียวกับที่ทำให้เกิดไข้หวัด (มีอาการเป็นหวัด น้ำมูกไหล นานกว่า 7-10 วัน และหายได้เองเป็นส่วนใหญ่) หรือกลุ่มเชื้อแบคทีเรีย (ทำให้มีเสมหะเป็นหนอง) ส่วนน้อยอาจเกิดจากเชื้อรา (ซึ่งถ้าพบในผู้ป่วยเบาหวาน หรือเอดส์ มักมีอันตรายร้ายแรง

2.ไซนัสอักเสบเรื้อรัง
ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียหลายชนิดที่ต่างจากที่พบในไซนัสอักเสบเฉียบพลันส่วนน้อยอาจเกิดจากเชื้อราซึ่งฝังตัวอยู่ในไซนัส กระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ แล้วเกิดการอักเสบของไซนัสตามมา ซึ่งสามารถพบในคนที่มีความต้านทานโรคแข็งแรงเป็นปกติทั่วไป

ไซนัสอักเสบเรื้อรังมักเป็นผลแทรกซ้อนจากไซนัสอักเสบเฉียบพลันที่ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง นอกจากนี้ ยังอาจเกิดจากปัจจัยอื่นๆ เช่น โรคหวัดภูมิแพ้เรื้อรัง ริดสีดวงจมูก เนื้องอกในโพรงจมูกหรือไซนัส ผนังกั้นจมูกคด การติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนต้นซ้ำซาก การสูบบุหรี่ มลพิษทางอากาศ โรคกรดไหลย้อน (หูรูดปลายหลอดอาหารเสื่อม ทำให้มีน้ำย่อยซึ่งเป็น กรดไหลย้อนขึ้นมาที่ไซนัส เวลานอนตอนกลางคืน) โรคฟันและช่องปากเรื้อรัง ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ (เช่น เบาหวาน เอดส์) เป็นต้น

⇒ อาการ

ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน
ในผู้ใหญ่มักมีอาการปวดใบหน้าบริเวณไซนัสที่อักเสบ (เช่น ปวดที่บริเวณหัวตา หน้าผาก โหนกแก้ม รอบๆ กระบอกตา หรือหลังกระบอกตา บางรายอาจรู้สึก คล้ายปวดฟัน ตรงฟันซี่บน) อาจปวดเพียงข้างเดียวหรือ 2 ข้างก็ได้ อาการปวดมักเป็นมากเวลาเช้าหรือบ่าย เวลาก้มศีรษะหรือเปลี่ยนท่า
ผู้ป่วยมักมีอาการคัดแน่นจมูก พูดเสียงขึ้นจมูก มีน้ำมูกเป็นหนองออกข้นเหลืองหรือเขียว หรือมีเสมหะข้นเหลืองหรือเขียวไหลจากด้านหลังจมูกลงในคอ ต้องคอยสูดหรือขากออก
อาจมีอาการปวดศีรษะ มีไข้ อ่อนเพลีย เจ็บคอ ปวดหู ไอ หายใจมีกลิ่นเหม็น ความรู้สึก ในการรับรู้กลิ่นหรือรสชาติลดลง

ในเด็ก อาการมักไม่ชัดเจนเท่าผู้ใหญ่ อาจมีอาการเป็นหวัดนานกว่าปกติ กล่าวคือมีน้ำมูก (ใสหรือข้นเป็นหนองก็ได้) และไอนานกว่า 10 วัน มักจะไอทั้งกลางวันและกลางคืน อาจมีไข้ต่ำๆ และหายใจมีกลิ่นเหม็นร่วมด้วย
เด็กบางรายอาจแสดงอาการเป็นหวัดรุนแรงกว่าปกติ เช่น มีไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส น้ำมูกข้นเป็นหนอง ปวดที่บริเวณใบหน้า หลังตื่นนอนสังเกตเห็นอาการบวมรอบๆ ตา

ไซนัสอักเสบเรื้อรัง

มักมีอาการต่อเนื่องทุกวันนานเกิน 90 วัน โดยในผู้ใหญ่มักมีอาการคัดจมูก มีเสมหะข้นเหลืองหรือเขียวไหลจากด้านหลังจมูกลงในคอหายใจมีกลิ่นเหม็น ความรู้สึกในการรับรู้กลิ่นลดลง ส่วนใหญ่มักไม่มีไข้และอาการปวดไซนัสแบบที่พบในไซนัสอักเสบเฉียบพลัน
ในเด็กมักมีอาการไอ น้ำมูกไหล จาม หายใจมีกลิ่นเหม็น มีโรคติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนต้น หรือหูชั้นกลางอักเสบ
 
⇒ การแยกโรค

อาการคัดจมูก น้ำมูกไหล มีเสมหะในลำคอ ไอ อาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น
o ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ มักมีอาการไข้ อ่อนเพลีย เจ็บคอ คัดจมูก น้ำมูกใส (อาจมีน้ำมูกข้นเหลืองหรือเขียวในเวลาต่อมา) มักไม่มีอาการปวดใบหน้า
o หลอดลมอักเสบ มักมีอาการไอ มีเสมหะขาว บางครั้งอาจข้นเหลืองหรือเขียว มักไม่มีอาการคัดจมูกหรือปวดใบหน้า
o โรคหวัดภูมิแพ้ มักมีอาการคันคอ คันจมูก จามบ่อย น้ำมูกใส ไม่มีไข้
o ริดสีดวงจมูก (ติ่งเนื้อเมือกจมูก) มักมีอาการคัดแน่นในรูจมูกข้างใดข้างหนึ่งอย่างต่อเนื่องเป็นแรมเดือนแรมปี ใช้ไฟฉายส่องอาจเห็นติ่งเนื้ออุดกั้นอยู่ในรูจมูก
o มะเร็งในไซนัสหรือโพรงหลังจมูก มักมีอาการ คัดจมูกเรื้อรัง เลือดกำเดาไหล อาจมีอาการปวดไซนัส ปวดหู หูอื้อ เรื้อรังเป็นแรมเดือน 

⇒ การวินิจฉัย

แพทย์มักจะวินิจฉัยจากอาการแสดงเป็นสำคัญ ในกรณีที่เป็นไซนัสอักเสบเฉียบพลัน อาจใช้นิ้วกดหรือเคาะตรงบริเวณใบหน้าตรงตำแหน่งที่ปวด (ที่พบได้บ่อย ก็คือบริเวณใต้ตา หรือโหนกแก้ม) จะพบว่ามีอาการเจ็บ
ในกรณีที่อาการไม่ชัดเจน หรือมีภาวะอื่นร่วมด้วย หรือสงสัยเกิดจากสาเหตุอื่น อาจต้องทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น ตรวจอัลตราซาวนด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ใช้กล้องส่องตรวจไซนัสและกระเพาะอาหาร ทำการเจาะไซนัสนำหนองไปตรวจหาเชื้อ เป็นต้น

⇒ การดูแลตนเอง

เมื่อสงสัยเป็นไซนัสอักเสบ เช่น ปวดใบหน้า มีน้ำมูกหรือเสมหะเป็นหนอง คัดแน่นจมูกเรื้อรัง มีอาการ เป็นไข้หวัดนานเกินปกติควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นไซนัสอักเสบ ก็ควรกินยาตามที่แพทย์สั่งให้การรักษาอย่างจริงจัง และติดตามผลการรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่อง
ไม่ควรรักษาด้วยการซื้อยาชุดกินเองหรือรักษาแบบพื้นบ้าน อาจไม่ได้ผล หรือมีผลข้างเคียงร้ายแรงได้
นอกจากนี้ ควรปฏิบัติตัวดังนี้
o ดื่มน้ำมากๆ
o สูดดมไอน้ำอุ่น และล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ (ในกรณีที่แพทย์แนะนำและสอนให้ทำ)
o หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ ควันบุหรี่ และมลพิษทางอากาศ
o งดดื่มเครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์
o หลีกเลี่ยงการเดินทางโดยเครื่องบินในขณะที่เป็นไข้หวัด หวัดภูมิแพ้ หรือไซนัสอักเสบกำเริบ ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรกินยาแก้คัดจมูก ได้แก่ สูโดเอฟีดรีน (pseudoephedrine) ครั้งละ 1-2 เม็ดก่อนเดินทาง และซ้ำได้ทุก 6 ชั่วโมงระหว่างเดินทางระยะไกล
o หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำในสระว่ายน้ำนานๆ เนื่อง จากคลอรีนในสระอาจทำให้เกิดการระคายเคืองเยื่อบุจมูกและไซนัสได้

⇒การรักษา

1. ให้การรักษาตามอาการ เช่น ถ้าปวดหรือมีไข้ให้ยาแก้ปวดลดไข้ ถ้าคัดจมูกมากให้ยาแก้คัดจมูก ได้แก่ สูโดเอฟีดรีน เป็นต้นส่วนยาแก้แพ้ ควรหลีกเลี่ยง เพราะอาจทำให้เมือกในไซนัสเหนียว ระบายออกยาก ยกเว้นในรายที่มีอาการของโรคภูมิแพ้มาก เช่น จามบ่อย น้ำมูกมาก ก็อาจให้บรรเทาเพียง 2-3 วัน

2. รายที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย (น้ำมูกหรือเสมหะเป็นหนอง ปวดใบหน้า หายใจมีกลิ่นเหม็น หรือความรู้สึกในการรับรู้กลิ่นลดลง) แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะ เช่น อะม็อกซีซิลลิน อีริโทรไมซิน หรือโคไตรม็อกซาโซล ถ้าได้ผล อาการจะทุเลาหลังกินยา 48-72 ชั่วโมง
สำหรับรายที่เป็นเฉียบพลัน ควรกินยาต่อไปจนครบ 10-14 วัน ส่วนรายที่เป็นเรื้อรังจะต้องกินยาอย่างน้อย 3-4 สัปดาห์ บางคนอาจนานถึง 12 สัปดาห์ หากมีปัญหาดื้อยา แพทย์จะเปลี่ยนไปใช้ยาปฏิชีวนะชนิดอื่นแทน

ถ้ามีอาการรุนแรง หรือไม่ตอบสนองต่อยา แพทย์อาจทำการเจาะล้างไซนัส
ในรายที่เป็นเรื้อรัง จำเป็นต้องตรวจหาปัจจัยที่เป็น สาเหตุ และให้การรักษาร่วมกันไปด้วย เช่น โรคหวัดภูมิแพ้ โรคกรดไหลย้อน ริดสีดวงจมูก ผนังกั้นจมูกคด เบาหวาน เอดส์ เป็นต้น
แพทย์จะพิจารณาทำการรักษาด้วยการผ่าตัด ในรายที่ใช้ยาไม่ได้ผล หรือตรวจพบว่าเกิดจากเชื้อรา หรือมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง การผ่าตัดมีอยู่หลายวิธี รวมทั้งการผ่าตัดด้วยวิธีส่องกล้อง

⇒ ภาวะแทรกซ้อน

อาจทำให้หูชั้นกลางอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ เนื้อเยื่อรอบตาอักเสบ ฝีรอบกระบอกตา กระดูกอักเสบเป็นหนอง
ภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงแต่พบได้น้อย เช่น ประสาทตาอักเสบ (ทำให้ตาบอดได้) เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ฝีในสมอง ภาวะมีลิ่มเลือดในหลอดเลือดสมอง เป็นต้น
ถ้าเกิดจากเชื้อรา ในผู้ที่เป็นเบาหวานหรือเอดส์ อาจทำให้เชื้อราลุกลามเข้าสมองเป็นอันตรายได้ ส่วนเชื้อราที่พบในผู้ที่มีความต้านทานโรคแข็งแรงดี ก็มักจะทำให้เป็นไซนัสเรื้อรัง ดังนั้น หากตรวจพบเชื้อรา จึงมักจะต้องผ่าตัดแก้ไข
ในรายที่เป็นไซนัสอักเสบเรื้อรัง อาจทำให้เป็นโรคหืดกำเริบรุนแรง ในกรณีที่เป็นไซนัสหน้าผาก (frontral sinus) อักเสบเรื้อรังอาจเป็นถุงน้ำเมือก (mucocele) ในไซนัส ซึ่งเกิดจากการสะสมของสิ่งคัดหลั่ง (เมือก) เป็นเวลานาน ถุงน้ำเมือกอาจกดทำลายกระดูกที่เป็นผนังไซนัสให้บางลงหรือกดเบียดอวัยวะข้างเคียง เช่น ตา ทำให้มองเห็นภาพซ้อน

⇒ การดำเนินโรค

ถ้าเป็นไซนัสอักเสบเฉียบพลันจากไวรัส ส่วนใหญ่มักจะหายได้เองถ้าเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย หากได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้อง ก็มักจะหายได้ดี แต่ถ้าปล่อยปละละเลย กินยาไม่ครบถ้วน ก็อาจจะกลายเป็นไซนัสอักเสบเรื้อรัง หรือมีภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ในรายที่เป็นเรื้อรัง การรักษาจะได้ผลดีถ้าสามารถ แก้ไขสาเหตุที่พบ และการใช้ยาปฏิชีวนะได้ขนาดเพียงพอในรายที่จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด มักจะได้ผลดีในการบรรเทาความรุนแรงของโรค และป้องกันภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง

⇒ การป้องกัน

หมั่นดูแลสุขภาพทั่วไปให้แข็งแรง (เช่น กินอาหาร สุขภาพ ออกกำลังกาย นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ คลายเครียด) ป้องกันอย่าให้เป็นไข้หวัดบ่อย และถ้าเป็นโรคหวัดภูมิแพ้ ควรรักษาอย่างจริงจัง ก็อาจลดความ เสี่ยงต่อการเป็นไซนัสอักเสบลงได้

⇒ความชุก

โรคนี้พบได้บ่อยในคนทุกวัย โดยเฉพาะในเด็กซึ่งมีโอกาสเป็นไข้หวัดได้บ่อย นอกจากนี้ ยังพบได้บ่อยในผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ หรือมีญาติพี่น้องเป็นโรคภูมิแพ้
 
* ไซนัสเป็นโพรงอากาศเล็กๆ ในกะโหลกศีรษะที่อยู่รอบๆ จมูก ซึ่งมีอยู่หลายคู่





(ดูภาพประกอบ )
และมีทางเชื่อมมาเปิดที่โพรงจมูกอยู่หลายจุด ไซนัสทำหน้าที่ให้ความอบอุ่นและความชื้นแก่อากาศที่หายใจเข้าไปในทางเดินหายใจ ช่วยในการรับรู้กลิ่น ปรับเสียงพูด และสร้างเมือกเพื่อให้ความชื้นและชะล้างโพรงจมูก ภายในเยื่อบุไซนัสจะมีขนอ่อน (cilia) คอยโบกพัดเพื่อระบายเมือก (เสมหะหรือน้ำมูก) ออกมาที่โพรงจมูก

ข้อมูลสื่อ

332-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 332
ธันวาคม 2549
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ