• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

แคดับพิษร้อนถอนพิษไข้

แคดับพิษร้อนถอนพิษไข้


" ยอด ใบอ่อน ดอกแคและฝักอ่อน นิยมลวกน้ำร้อนกินร่วมกับน้ำพริกกะปิ"

แคเป็นพืชที่จัดอยู่ในวงศ์เล็กกลูมิโนซี้ (Le-gluminosae) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า เซ็สบาเนีย แกรนดิฟลอร่า (Sesbania grandiflora (L.) Pers.)
แคมีชื่อพื้นเมืองเรียกแตกต่างกันออกไปในแต่ละท้องถิ่น เช่น แถวภาคเหนือจะเรียกว่า แคแดง แต่ส่วนใหญ่จะเรียกว่า แคขาว บ้างก็เรียกว่า แค แคบ้าน แคดอกแดง หรือแคดอกขาว เป็นต้น เชื่อว่ามีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวัน-ออกเฉียงใต้ แถบประ-เทศอินโดนีเชีย ปัจจุบันมีการปลูกในทวีปแอฟริกา ประเทศสหรัฐอเมริกา (มลรัฐฟลอริดาและฮาวาย) ประเทศเม็กซิโกและประเทศแถบอเมริกาใต้

" แค " หรือ " แคบ้าน " จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ต้นมีความสูงประมาณ 3-10 เมตร เป็นไม้โตเร็วและ มีกิ่งก้านสาขามาก เปลือกเป็นสีเทามีรอยขรุขระหนา
ใบแคเป็นใบประกอบแบบขนนก ใบย่อยมีขนาดเล็กเรียงเป็นคู่ 30-50 ใบขนานกัน
ดอกแคลักษณะคล้ายดอกถั่วฝักยาว ออกเป็นช่อ แต่ละช่อมีดอกประมาณ 2-4ดอก ดอกมีสีขาวหรือสีแดง ดอก มีความยาวดอก 6-10 ซม. กลีบเลี้ยงเป็นรูประฆังหรือรูปถ้วย
 ผลเป็นฝักแบนยาว ประมาณ 8-15 ซม. ผสมเกสรโดยนก ฝักเมื่อแก่จะแตกออก และภายในมีเมล็ดแคอยู่มากมาย
ต้นแคมีอายุราว 20 ปี แต่ถ้าเก็บใบกินบ่อยๆ จะแตกใบอ่อนบ่อยครั้งและต้นจะมีอายุสั้นลงโดย

ทั่วไปแล้วมักจะพบ " แคบ้าน " ขึ้นตามป่าละเมาะหรือริมถนน มีการปลูกตามคันนาและบริเวณบ้านเรือนในชนบท แคเจริญเติบโตได้ดีทั้งในที่แห้งแล้งและชุ่มชื้นจึงสามารถปลูกได้ทุกพื้นที่
แคจัดเป็นพืชตระกูลถั่วชนิดหนึ่ง มีจุลินทรีย์ทีปมรากจับก๊าซไนโตรเจนในอากาศผลิตเป็นปุ๋ยที่พืชนำไปใช้ประโยชน์ได้ แคจึงเป็นพืชช่วยปรับปรุงดินอีกด้วยการขยายพันธุ์แคสามารถทำได้ง่ายโดยการเพาะกล้าจากเมล็ด

ส่วนของแคที่คนไทยนิยมกินคือ ยอดอ่อน ใบอ่อน ดอก และฝักอ่อน ยอดอ่อนและใบอ่อนของแคนั้น จะมีช่วงฤดูฝน ส่วนดอกแคจะมีต้นฤดูหนาว
คนไทยทุกภาคกินแคเป็นผัก โดยมักปลูกแคไว้ตามรั้วบ้านและสามารถหาซื้อได้ทั่วไป ดังที่มีคำล้อเลียนในหมู่เด็กว่า "ขี้แยขายดอกแค ขายไม่ได้ก็ร้องไห้แงๆ "
แหล่งปลูกแคเพื่อการค้าคือจังหวัดนนทบุรี สุพรรณบุรี นครสวรรค์ และกรุงเทพฯ
ยอดอ่อน ใบอ่อน ดอกแค และฝักอ่อน นิยมลวกน้ำร้อนใช้กินร่วมกับน้ำพริกกะปิหรือน้ำพริกปลาร้า
ดอกอ่อนนำไปปรุงอาหารได้หลายชนิด เช่น แกงส้มดอกแค แกงจืดดอกแค ดอกแคผัดหมูหรือกุ้ง และดอกแคชุบแป้งทอดกินกับน้ำพริก ทั้งนี้มักจะเอา เกสรตัวผู้ออกจากดอกแคก่อนใช้ประกอบอาหารเพื่อลดความขม
ส่วนชาวอีสานนิยมนำดอกและยอดอ่อนมานึ่ง หรือย่าง กินร่วมกับแจ่ว ลาบ ก้อย และนำดอกแคมาปรุงอาหารประเภทอ่อมได้อีกด้วย

ประเทศอินโดนีเชีย ลาว และฟิลิปปินส์ กินดอกและยอดอ่อนประเทศอื่นๆ ดอกแคใช้กินสดหรือนึ่งในสลัดผัก ส่วนฝักใช้กินเหมือนถั่วฝักยาว
"ยอดแค" มีสารอาหารมากกว่า" ดอกแค" ยอดแคมีโปรตีนร้อยละ 36 ชาวชนบทมักใช้ปนฟางและหญ้าเพิ่มโปรตีนให้กับปศุสัตว์

ประเทศอินเดียมีการให้ใบอ่อนของแคเป็นอาหารเสริมบีตา-แคโรทีนอยด์ พบว่าบุคคลที่ขาดแคโรทีนอยด์ หลังจากได้รับอาหารเสริมใบอ่อนแค (เรียกอะกาทิ-agathi) จะมีปริมาณแคโรทีนในซีรั่มเพิ่มในวันที่ 7


ประโยชน์ต่อสุขภาพของแค

เท่าที่สำรวจพบจากรายงานต่างๆ มีดังนี้คือ
ประเทศไทยยอดและใบอ่อนแคมีสรรพคุณ ดับพิษร้อนถอนพิษไข้ ส่วนดอกแคมีประโยชน์ทางยาคือ แก้ไข้หัวลม โดยมักให้กินเป็นแกงส้มดอกแค

ประเทศอินเดียใช้แคเป็นยาพื้นบ้านดังนี้
รากสด 20 กรัม เคี่ยวในน้ำ 1 ลิตร 30 นาที กรองเอารากออกดื่มแก้อาการอักเสบ
เทน้ำเดือด 1 ลิตรท่วมใบสด 20 กรัม ทิ้งไว้ 15 นาทีกรองเอาใบแคออก ดื่มแก้โรคตาบอดกลางคืน ขับพยาธิ บรรเทาอาการลมบ้าหมูและโรคเกาต์
เทน้ำเดือด 1 ลิตรท่วมดอกแคสด 20 กรัม ทิ้งไว้ 15 นาทีกรองเอาดอกแคออก ดื่มแก้หลอดลมอักเสบ ไซนัสอักเสบ และบำรุงตับ
ส่วนฝักสด 20 กรัม เคี่ยวในน้ำ 1 ลิตร 30 นาที กรองเอาฝักออกดื่มเพื่อระบายท้อง บรรเทาอาการไข้ ปวด เลือดจาง ช่วยความจำและป้องกันการเกิดเนื้องอก
ใบแคตำพอกบรรเทาอาการช้ำบวม
น้ำคั้นรากแคเจือน้ำผึ้งใช้ขับเสมหะลดอาการไอ
สูตรจากประเทศอินเดียทั้งหมดนี้ดื่มก่อนอาหาร เช้า เย็น 1 ชั่วโมงและก่อนนอน เตรียมแต่พอดื่มวันต่อวัน

การวิจัยของประเทศอินเดียพบว่า สารสกัดเอ-ทานอลของใบแคมีฤทธิ์ป้องกันการถูกทำลายของตับในหนูทดลองที่ได้รับยาเกินขนาดโดยพบปริมาณเอนไซม์ แอสพาร์เทตทรานส์อะมิเนส อะลานีนทรานส์อะมิเนส อัลคาไลน์ฟอสฟาเทสต่ำในหนูที่รับยาและสารสกัดใบแค เอนไซม์ดังกล่าวมีปริมาณสูงในหนูซึ่งรับยาเกินขนาด เนื่องจากตับถูกทำลาย

นอกจากนี้หนูที่ได้รับยาและสารสกัดใบแคมีปริมาณไตรกลีเซอไรด์ โคเลสเตอรอล ฟอสโฟไลพิด และกรดไขมันอิสระต่ำกว่าหนูกลุ่มที่ได้รับยาอย่างเดียวและพบว่าสารสกัดใบแคทำให้ปริมาณสารต้าน อนุมูลอิสระในกระแสเลือดหนูกลับสู่สภาวะปกติ ขณะที่ปริมาณสารดังกล่าวในหนูที่รับยามีปริมาณต่ำผลการวิจัยนี้เป็นข้อสนับสนุนข้อมูลแพทย์ทางเลือกที่ใช้ใบแคบำรุงตับและแก้ความผิดปกติของตับได้อย่างดี

ข้อมูลสื่อ

335-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 335
มีนาคม 2550
รศ.ดร.สุธาทิพ ภมรประวัติ