• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

หอบเหนื่อย (ตอนจบ)

หอบเหนื่อย (ตอนจบ

อาการหอบเหนื่อยที่ไม่ฉุกเฉิน

สำหรับคนไข้ที่หอบเหนื่อยแต่ไม่ฉุกเฉิน เพราะไม่มีอาการต่างๆดังที่กล่าวไว้ในฉบับที่แล้วก็ควรให้การดูแลรักษาขั้นแรกดังนี้
1. ให้อยู่ในท่าที่คนไข้สบายที่สุด อาจเป็นท่านั่งพิง ท่านั่งก้มไปข้างหน้า (ฟุบกับโต๊ะ) หรืออื่นๆ
2. ใช้พัด หรือพัดลมโบกเป่าให้คนไข้
3. พูดให้กำลังใจ ให้คลายความกลัวและความเครียดความกังวลลง
4. กำจัด หรือลดสิ่งที่ทำให้คนไข้หอบเหนื่อยหรือไอลง เช่น กลิ่นควัน ความแออัด (มีคนมารุมล้อมมาก) เสียงอึกทึกครึกโครม เป็นต้น
5. ถ้าอากาศร้อน ควรใช้ผ้าชุบน้ำเย็น เช็ดหน้าตาแขนขาและลำตัวคนไข้ ถ้าคนไข้ชอบเย็น
ถ้าอากาศหนาว หรือคนไข้ชอบร้อน ควรห่มผ้า หรือใส่เสื้อหนาๆ ให้คนไข้
6. ถ้าคนไข้มียาที่ใช้ประจำอยู่สำหรับแก้อาการหอบเหนื่อย รีบให้ยานั้นแก่คนไข้
7. ควรมีคนอยู่ใกล้ๆคนไข้เพื่อสังเกตอาการ
8. ถ้าอาการไม่ดีขึ้น หลังให้การดูแลรักษาข้างต้นแล้ว ควรพาไปหาหมอ หรือไปโรงพยาบาล
หรือถ้าอาการดีขึ้น แต่ไม่รู้ว่าอาการหอบเหนื่อยเกิดขึ้นจากอะไร  หรือเกิดได้อย่างไร ก็ควรจะไปหาหมอ หรือไปโรงพยาบาลเช่นเดียวกัน เพื่อจะได้รู้ว่าเป็นโรคอะไรและจะปฏิบัติรักษาตนเองอย่างไรไม่ให้เป็นอีก หรือไม่ให้เป็นบ่อยๆ
สำหรับคนที่เป็นเรื้อรัง นั่นคือหอบเหนื่อยเรื้อรัง เป็นๆหายๆ ยิ่งจะต้องติดต่อและติดตามการตรวจรักษาจากแพทย์เพิ่มขึ้น นอกจากจะต้องดูแลรักษาตนเองอย่างเต็มที่แล้ว
ความรุนแรงของอาการหอบเหนื่อย หรือหายใจไม่ทัน อาจจะประเมินด้วยตนเองได้อย่างง่ายๆ ดังนี้

ระดับที่ 1 คือ ระดับปกติ นั่นคือ หายใจได้อย่างสบายเหมือนกับเพื่อนๆในเพศเดียวกันที่มีอายุและรูปร่างใกล้เคียงกัน เมื่อออกกำลังเท่ากัน
ระดับที่ 2 คือ เดินบนพื้นราบ จะเดินทันเพื่อน แต่เมื่อขึ้นบันไดหรือขึ้นเขาจะขึ้นไม่ทันเพื่อน และจะเหนื่อยกว่าเพื่อนๆ
ระดับที่ 3 คือ เดินบนพื้นราบได้ไม่ทันเพื่อน และจะเหนื่อยกว่าเพื่อนๆ
ระดับที่ 4 คือ เดินบนพื้นราบได้ไม่เกิน 1oo เมตร (5o วา) ก็ต้องหยุด เพราะหอบเหนื่อยมาก

ระดับที่ 5 คือ หอบเหนื่อยเมื่อพูดคุยกับเพื่อนหรือเมื่อเปลี่ยนเสื้อผ้า หรือเมื่อเดินเพียงเล็กน้อย (ไม่สามารถเดินออกจากบ้านได้)
ระดับที่ 6 คือ ต้องนั่ง หรือนอนอยู่กับเตียง ลุกไปไหนไม่ได้เพราะจะเหนื่อยหอบมาก
ระดับที่ 7 คือ หอบเหนื่อยมากแม้นั่งอยู่เฉยๆ ซึ่งเป็นระดับที่ฉุกเฉินและต้องได้รับการรักษาทันที
ส่วนระดับที่ 4-6 นั้น ควรติดต่อกับแพทย์เป็นประจำ และขอคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติรักษาตัว และยาที่จะใช้ในภาวะฉุกเฉินเมื่ออาการกำเริบขึ้นทันที
ส่วนระดับที่ 2-3 นั้น ควรจะไปตรวจร่างกาย ถ้ามีโอกาส เพื่อจะหาสาเหตุที่ทำให้หายใจไม่ทัน หรือหอบเหนื่อยเมื่อออกกำลัง จะได้รีบแก้ไขหรือกำจัดสาเหตุเสีย

สาเหตุที่ทำให้หายใจไม่ทันหรือหอบเหนื่อยที่พบบ่อย คือ
1. โรคประสาท (neurosis) เช่น
1.1 โรคกังวล (anxiety neurosis) ทำให้รู้สึกหายใจไม่สะดวก หายใจไม่อิ่ม หรือหายใจไม่ทัน ซึ่งมักจะเป็นเวลาอยู่ว่างๆ (อยู่เฉยๆ) ไม่ค่อยเป็นเวลาวุ่นๆ หรือยุ่งๆ (ซึ่งต้องออกกำลังมากกว่าเวลาอยู่เฉยๆ) 

ถ้ามีประวัติแบบนี้ ก็ให้นึกถึงโรคนี้ไว้ก่อน แล้วให้ออกกำลังมากขึ้น ปลง(ปลงตก) ให้มากขึ้น คลี่คลายปัญหาและความขัดแย้งต่างๆ (ถ้าทำเองไม่สำเร็จให้หาคนอื่นมาช่วย) ถ้ายังมีอาการบ่อยๆ หรือเป็นมากขึ้นควรใช้ยาคลายเครียด หรือไปหาหมอ เพื่อให้แน่ใจว่าหอบเหนื่อยจากโรคกังวล จะได้เลิกกังวลเกี่ยวกับอาการหอบเหนื่อย และเร่งแก้ปัญหาความกังวลจากสาเหตุเดิม หรือสาเหตุอื่นต่อไป

1.2 โรคซึมเศร้า (depressive neurosis) ทำให้รู้สึกเซ็ง ท้อแท้ ท้อถอย ถอนหายใจบ่อยๆ เบื่อหน่ายชีวิต อาการเหนื่อยในคนไข้กลุ่มนี้มักเป็นเพียงอาการเหนื่อยใจ(เพลียใจ) และอ่อนเพลีย(เพราะจะกินไม่ได้ นอนไม่หลับ) ไม่ใช่อาการหอบเหนื่อยแบบหายใจเร็วและแรง อย่างในคนออกกำลังกายมากๆ หรือคนที่เป็นโรคปอดหรือหัวใจรุนแรง
การรักษาต้องรักษาที่จิตใจ แก้ไขสาเหตุที่ทำให้ซึมเศร้า ถ้าแก้ไม่ได้ ก็ต้องใช้ยาแก้อาการซึมเศร้า เช่น อะมิทริปไทลิน(amitriptyline) หรืออิมิพรามีน(imipramine) เป็นต้น
1.3 โรคแกล้ง (malingezxring) หรือโรคปฏิกิริยา (conversion reaction) ซึ่งอาการหอบเหนื่อยมักจะออกมาในรูปของการหายใจเกิน (hyperventilation syndrome)  ทำให้เกิดอาการชา แขนขาเกร็ง มือจีบ กล้ามเนื้อกระตุก จนถึงอาการชักได้ (ดูตัวอย่างคนไข้รายที่ 1)

2. โรคปอดและหลอดลม เช่น 
2.1 โรคหอบหืด (bronchial asthma) มักเริ่มเป็นในเด็ก ในวัยรุ่นหรือหนุ่มสาว อาจจะเกิดจากการแพ้อากาศ(ร้อนไป หนาวไป ชื้นเกินไป แห้งเกินไป ฝุ่นมากเกินไป หรืออื่นๆ แพ้กลิ่น(เช่น กลิ่นน้ำหอม กลิ่นควันไฟ กลิ่นพริกคั่ว หรืออื่นๆ ) แพ้อาหาร(อาหารทะเล หรืออาหารอื่นๆ) แพ้อารมณ์(เช่นเวลาโกรธจะหอบหืด เป็นต้น) หรือแพ้ฝุ่นแพ้ไร แพ้เกสรดอกไม้ หรืออื่นๆ

เมื่อเจอกับสิ่งที่แพ้เข้า จะมีอาการแน่น หายใจไม่สะดวก อาจจะไอ หายใจมีเสียงหวีด(ได้ยินเอง หรือดังลั่นจนคนอื่นได้ยินด้วย) และถ้าเป็นมาก ก็จะมีอาการหอบเหนื่อยรุนแรง

ถ้ารีบพ่นยาขยายหลอดลม หรือฉีดยา กินยาขยายหลอดลมอาการจะทุเลาทันที แต่ถ้าเป็นมากหรือทิ้งไปนาน การใช้ยาขยายหลอดลมอาจไม่ได้ผล และต้องใช้ยากดภูมิแพ้เข้าช่วยด้วย

คนที่เป็นโรคนี้ จึงควรถามหมอและขอยาที่จะช่วยแก้อาการฉุกเฉินติดตัวไว้ด้วย จะได้ช่วยตนเองขณะที่มีอาการกำเริบรุนแรงได้ แต่ถ้าใช้ยาแล้วยังไม่ดีขึ้นหรือเล็บมือเริ่มเขียวควรพาไปโรงพยาบาลทันที
2.2 โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง(chronic bronchitis) และโรคปอดโป่งพอง (pulmonary emphysema) ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการสูบบุหรี่เรื้อรัง ทำให้มีอาการไอ หายใจมีเสียงหวีดและเสียงเสมหะ  และมีอาการหอบเหนื่อยเมื่อเป็นมานาน หรือเมื่อโรคกำเริบเวลาเป็นไข้หวัด หรือมีการติดเชื้ออื่นๆ 

การรักษาตนเองที่สำคัญ คือการเลิกบุหรี่ และป้องกันตนเองไม่ให้เป็นหวัด โดยไม่เข้าใกล้คนเป็นหวัดหรือไม่เข้าไปในที่ที่มีคนแออัด หรือไม่ถูกร้อนถูกเย็นมากหรือนานเกินไป ไม่ออกกำลังจนเหนื่อยเกินไป แต่ควรออกกำลังเป็นประจำและพักผ่อนให้เพียงพอ เป็นต้น ในช่วงที่หอบเหนื่อย หรือโรคกำเริบ ควรไปหาหมอ เพื่อป้องกันและรักษาภาวะหายใจล้มหรือล้มเหลว (respiratory failure) ไม่ให้ลุกลามต่อไป
2.3 โรคหลอดลมโป่งพอง (bronchochiectasis) โรคปอดบวม/ปอดอักเสบ(pneumonia/pneumonitis) และโรคปอดหลอดลมอื่นๆ จะทำให้เกิดอาการหอบเหนื่อยได้เช่นเดียวกัน ถ้าเป็นมาก

ดังนั้น ถ้ามีอาการไอ โดยเฉพาะถ้ามีเสมหะข้น เหนียว หรือมาก แล้วมีอาการหอบเหนื่อย อาการหอบเหนื่อยนั้นมักเกิดจากโรคปอดหรือหลอดลม ควรไปหาหมอเพื่อดูว่าเป็นโรคปอดหรือหลอดลมชนิดใด ควรใช้ยาอย่างไรและควรปฏิบัติตนเองอย่างไร โรคจึงจะทุเลาและไม่เป็นบ่อยๆ

 3. โรคหัวใจ  โรคหัวใจเกือบทุกชนิด ถ้าเป็นมากหรือทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนเปลี้ยและทำงานไม่ไหวแล้วจะทำให้เกิดอาการหอบเหนื่อย เพราะเลือดไปคั่งในปอด (pulmonary congestion) และทำให้ปอดบวมน้ำ(pulmonary edema) ได้ ซึ่งเรียกว่าภาวะหัวใจล้มหรือล้มเหลว (heart failure)
ส่วนใหญ่คนที่เป็นโรคหัวใจและเคยหัวใจล้มมาแล้ว จะรู้ว่าอะไรเป็นสาเหตุ(ชนวน) ที่ทำให้ตนเกิดอาการหอบเหนื่อยขึ้นมา ทั้งที่โรคหัวใจก็ยังเป็นเท่าเดิมอยู่

สาเหตุหรือชนวนที่ทำให้คนโรคหัวใจเกิดภาวะหัวใจล้ม คือออกกำลังมากเกินไป กินอาหารมากเกินไป โดยเฉพาะอาหารเค็ม นอนไม่หลับหรือขาดการพักผ่อน เป็นไข้หวัดหรือไข้จากการติดเชื้ออื่นๆ เกิดอารมณ์หรือความเครียดกังวลรุนแรง เป็นต้น

ดังนั้น คนที่เป็นโรคหัวใจ จึงต้องหลีกเลี่ยงสาเหตุหรือชนวนเหล่านี้จึงจะไม่มีอาการหอบเหนื่อย หรือไม่มีภาวะหัวใจล้มเกิดขึ้น

ส่วนยาและวิธีปฏิบัติตนต้องถามหมอที่รักษาตนอยู่ เพราะขึ้นอยู่กับชนิดของโรคหัวใจที่เป็น และความรุนแรงของโรคในขณะนั้นด้วย

4. โรคไต ถ้าเป็นมากจะทำให้เกิดการคั่งของเกลือและน้ำในร่างกาย ถ้าน้ำและเกลือคั่งมาก ก็จะทำให้เท้าบวม หน้าบวม และปอดบวมน้ำจนเกิดอาการหอบเหนื่อยได้

นอกจากนั้น โรคไตยังทำให้ของเสียคั่งในร่างกาย เมื่อของเสียคั่งมากๆ จะทำให้เลือดเป็นกรด ซึ่งทำให้ต้องหายใจเร็วและลึก มีอาการเหมือนคนหอบเหนื่อยได้

การรักษา ควรไปหาหมอ และถามหมอว่าควรจะปฏิบัติรักษาตนอย่างไร เพราะขึ้นอยู่กับชนิดและระยะของโรคไตที่เป็นอยู่
 ถ้าเป็นมาก อาจจะต้องฟอกท้อง(peritoneal dialysis) หรือ ฟอกเลือด (hemodialysis) เพื่อดึงน้ำเกลือ และของเสียออกจากร่างกาย

5. โรคตับ ถ้าเป็นมากจะทำให้เกิดการคั่งของน้ำในช่องท้อง(ท้องมาน หรือ ascites) และในส่วนอื่นๆของร่างกายรวมทั้งในปอด ทำให้เกิดอาการหอบเหนื่อยได้

นอกจากนั้น โรคตับยังทำให้เกิดภาวะของเสียคั่งในร่างกาย และทำให้เกิดอาการหอบเหนื่อยได้

การรักษา ควรไปโรงพยาบาลและถามหมอด้วยว่า ควรปฏิบัติรักษาตนอย่างไร

6. โรคเบาหวานเป็นพิษ (diabetic keto-acidosis) ซึ่งเกิดจากการควบคุมโรคเบาหวานไม่ดี ทำให้เกิดของเสียและกรดคั่งในร่างกาย จึงเกิดอาการหอบเหนื่อยและอาจหมดสติได้ 

คนที่เป็นโรคเบาหวานจึงต้องควบคุมตนเอง อย่ากินขนมและอาหารมากเกินไป หมั่นตรวจดูน้ำตาลในเลือดหรือปัสสาวะ ถ้าน้ำตาลสูงอยู่นานๆ จะเกิดโรคเบาหวานเป็นพิษ ทำให้อ่อนเพลีย ซึมลง หอบและหมดสติได้ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นต้องไปโรงพยาบาลเพื่อการตรวจรักษาโดยด่วน

7. โรคโลหิตเป็นพิษ (sepsis) เกิดจากเชื้อโรคเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้เลือดเป็นพิษ มักมีอาการไข้หนาวสั่น หอบเหนื่อย สับสน ทุรนทุราย และอาจซึมลง หรือหมดสติได้

คนที่หอบเหนื่อย และมีไข้สูง (ตัวร้อนจัด) จึงถือว่าเป็นภาวะฉุกเฉิน ต้องส่งโรงพยาบาลทันที

คนที่หอบเหนื่อยและมีไข้สูงอาจจะเกิดจากสาเหตุอื่นๆ นอกจากโรคโลหิตเป็นพิษได้ เช่น ปอดบวม ปอดอักเสบ โรคลมปัจจุบันจากความร้อน(heat stroke) เป็นต้น แต่ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใด ก็ต้องไปโรงพยาบาลทันที เพราะเป็นโรคที่ทำให้ถึงแก่ชีวิตได้
      

8.โรคคอพอกเป็นพิษ (thyrotoxicosis) ที่เป็นมากก็จะทำให้เกิดอาการหอบเหนื่อยได้ ซึ่งเมื่อมีอาการหอบเหนื่อยแล้ว อาการอื่นๆของโรคคอพอกเป็นพิษมักจะปรากฏให้เห็นชัดเจน เช่น ผอมลงมาก ชีพจรเต้นเร็ว ผิวหนังจะเนียน(ละเอียด) กว่าคนอื่นในเพศและวัยเดียวกัน ตาดุและอาจจะตาโปนด้วย มือสั่น หงุดหงิดง่าย เป็นต้น

คนที่มีอาการเช่นนี้ ควรไปโรงพยาบาล หรือไปหาหมอ แต่อาจไม่จำเป็นต้องอยู่โรงพยาบาลก็ได้

9. โรคทางสมอง เช่น เส้นเลือดในสมองแตก หรือตีบตัน สมองอักเสบ หรืออื่นๆ ก็ทำให้เกิดอาการหอบเหนื่อยได้  แต่คนไข้จะมีอาการทางสมองอื่นๆชัดเจน เช่น อัมพาต อัมพฤกษ์ ชัก สับสน หมดสติ เป็นต้น
คนที่มีอาการเช่นนี้ ควรพาไปโรงพยาบาลทันที

1o. โรคอื่นๆ เช่น การถูกสารพิษ ซึ่งรวมถึงการมอมเหล้าและการเมายาม้าด้วย การแพ้อย่างรุนแรงหรือช็อกจากภูมิแพ้ (anaphylactic shock)  ทำให้สายเสียงบวม (laryngeal edema) และหลอดลมตีบตัว (bronchospasm) เป็นต้น ก็ทำให้เกิดอาการหอบเหนื่อย และต้องได้รับการรักษาทันทีเช่นเดียวกัน

อาการหอบเหนื่อยจึงเกิดได้จากสาเหตุต่างๆ ตั้งแต่สาเหตุทางจิตใจไปจนถึงสาเหตุทางกายในอวัยวะต่างๆกัน อาการหอบเหนื่อยอาจมีความหมายเหมือนในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งมีแนวโน้มไปในลักษณะอ่อนเพลีย อ่อนแรง หรืออิดโรย แต่อาการหอบเหนื่อยในทางแพทย์ จะหมายถึงการหายใจที่แรงและเร็ว นั่นคือต้องใช้แรงในการหายใจมากกว่าปกติ ซึ่งถ้าเป็นอยู่นานๆ ก็จะทำให้หมดแรง(ที่จะหายใจต่อไป) และเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

จากตัวอย่างคนไข้ และสาเหตุต่างๆของอาการหอบเหนื่อยที่กล่าวไว้ข้างต้น คงจะพอทำให้เข้าใจเรื่องหอบเหนื่อยได้ตามสมควร และคงจะลดความกังวลหรือความกลัวเกี่ยวกับอาการนี้ลงได้บ้าง โดยเฉพาะอาการหอบเหนื่อยที่เกิดขึ้นจากภาวะทางจิตใจ(โรคประสาท) ซึ่งการดูแลรักษาจะต้องอาศัยการแก้ปัญหาความขัดแย้ง และความเครียดความกังวลต่างๆของผู้ที่มีอาการหอบเหนื่อยให้ได้ อาการหอบเหนื่อยจึงจะหายไป และไม่เปลี่ยนไปเป็นอาการอื่นๆ จนยากแก่การวินิจฉัยได้

 

                **************************************************************

 

 


 

ข้อมูลสื่อ

209-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 209
กันยายน 2539
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์