• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ตอนที่ 4 จากปากน้ำภาษีเจริญสู่ปทุมธานี

ในด้านหนึ่งวัดธรรมกายกำลังโด่งดัง ภาพโบสถ์ทรงแปลกสะดุดตา ภาพผู้คนเป็นเรือนหมื่นเรือนแสนที่พากันไปชุมนุมปฏิบัติธรรม แผ่นโป๊สเตอร์อันสวยงามประชาสัมพันธ์เรื่องธรรมทายาทติดอยู่ทั่วไป เป็นเรื่องแปลกใหม่และมีพลัง ในอีกด้านหนึ่งก็มีคำถามและคำวิพากษ์เช่นว่า วัดธรรมกายกำลังทำอะไร ทำไมจึงต้องใช้เงินมากนัก ดูจะดึงดูดคนชั้นกลางเชื้อสายจีน เข้ายึดกุมชมรมพุทธของมหาวิทยาลัยต่างๆ และพยายามผลักไสคำสอนสำนักอื่นๆออกไป การเพ่งดวงแก้วทำให้เกิดปัญญา หรือทำให้หลงทางกันแน่ ลัทธิธรรมกายเป็นสัทธรรมปฏิรูปหรือเปล่า ฯลฯ

ในการที่จะวิเคราะห์เรื่องนี้จำเป็นต้องทราบประวัติ ทฤษฎี การปฏิบัติ และวิธีบริหารจัดการของ “ธรรมกาย” และหลักพุทธธรรม
แนวคำสอน ลัทธิ นิกาย บางอย่างเกิดขึ้นมานานจนไม่ทราบจุดตั้งต้นที่ชัดเจน ‘ธรรมกาย’ เริ่มต้นไม่นานมานี้เอง และมีจุดตั้งต้นที่ชัดเจน

หลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญเป็นผู้ก่อตั้งกระบวนการ ‘ธรรมกาย’ ท่านมีนามเดิมว่า สด มีแก้วน้อย เดิมเป็นพ่อค้าข้าว อยู่ที่อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี บวชที่วัดสองพี่น้อง และเรียนกัมมัฏฐานจากพระอาจารย์ต่างๆหลายสำนัก บวชอยู่ 11 พรรษา ยังรู้สึกไม่มีความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมอย่างที่ต้องการ

วันหนึ่งที่วัดบางคูเวียงพระภิกษุสดนั่งทำความเพียรภาวนาอยู่ เกิดดวงใสขนาดเท่าไข่แดงของไก่อยู่ที่กลางกาย จิตแน่วแน่เป็นสมาธิ มีความสุขอิ่มเอิบยิ่งนัก แม้เมื่อลืมตาเดินไปไหนมาไหนดวงสว่างนั้นก็ยังติดตาอยู่ ทำให้มีความปีติอิ่มอกอิ่มใจ จนกระทั่งมีเพื่อนพระทักว่า “คุณสด ทำไมคุณฉันเพลไปยิ้มไปอย่างนั้นเล่า”

ในวันนั้นเมื่อท่านทำความเพียรต่อไป ดวงสว่างที่กลางกายยิ่งสว่างและโตมากขึ้นขนาดเท่าดวงอาทิตย์ ท่านเรียกว่านี้เป็น ‘มัชฌิมา ปฏิปทา’ หรือทางสายกลาง และต่อมามีการเรียกกันในหมู่คณะนี้ว่าดวงปฐมมรรคบ้าง เมื่อท่านเพ่งดวงสว่างนั้นต่อไปก็เห็นดวงเก่าหายไปดวงใหม่มาแทนที่ มีกายต่างๆเกิดขึ้น จนในที่สุดเป็นพระปฏิมากรเกตุดอกบัวตูม มีความใสมาก ท่านเรียกองค์พระใสนี้ว่า ‘ธรรมกาย’

ท่านอ้างบาลีพุทธภาษิตที่ตรัสกับพระวักกลิที่ว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเราตถาคต” ว่าธรรมกายนั้นคือกายที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า กายภายนอกที่เน่าเปื่อยไม่ใช่ ‘เราตถาคต’ ‘เราตถาคต’ ที่แท้จริงคือกายภายในหรือ ‘ธรรมกาย’ การเห็นธรรมก็คือเห็น ‘ธรรมกาย’ การบรรลุธรรมก็คือการบรรลุ ‘ธรรมกาย’
เมื่อท่านสอนอย่างนี้ก็ได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์มาก บางพวกก็ว่าอวดอุตริมนุษยธรรม เพราะไม่มีผู้ใดให้ความหมายการบรรลุธรรมแบบนี้มาก่อน ถึงกับเคยถูกสอบสวน

ต่อมาพระภิกษุสดได้ย้ายมาจำพรรษาที่วัดปากน้ำภาษีเจริญ และดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส เป็นที่รู้จักกันดีในนามของหลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญ
ท่านดำรงตำแหน่งสมณศักดิ์ดังนี้
พ.ศ. 2463 พระครูสมณธรรมสมาทาน
พ.ศ. 2492 พระภาวนาโกศลเถระ
พ.ศ. 2498 พระมงคลราชมุนี
พ.ศ. 2500 พระมงคลเทพมุนี
มรณภาพเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502
หลวงพ่อวัดปากน้ำมีฉันทะและวิริยะอุตสาหะในการอบรมพระภิกษุสามเณร ตลอดจนอุบาสกอุบาสิกามาก และได้มีการจัดให้มีการถวายอาหารแก่พระภิกษุสามเณร และเลี้ยงอุบาสกอุบาสิกาเป็นประจำไม่ให้ต้องเดือดร้อน เรื่องความสามารถในการจัดให้มีการเลี้ยงอาหารที่วัดนี้ได้เป็นประจำดูจะเป็นความภูมิใจของหลวงพ่ออย่างหนึ่ง
มีภิกษุสามเณรและประชาชนที่ศรัทธาหลั่งไหลกันมาฟังและปฏิบัติธรรมที่วัดปากน้ำกันมากขึ้นเรื่อยๆ
หลักการปฏิบัติของสำนักนี้มีสั้นๆดังนี้

บริกรรมคำว่า “สัมมาอะระหัง” ซ้ำๆ และนึกถึงนิมิตเป็นดวงสว่างซึ่งนำเข้าทางรูจมูก นำลงไปไว้ในท้องและตั้งไว้เหนือสะดือสองนิ้ว และเพ่งดวงสว่างนี้ต่อไปจนเห็นองค์พระสุกใสปรากฏขึ้น เรียกว่า ‘ธรรมกาย’
ผู้ปฏิบัติอาจอธิษฐานขอดูนรกสวรรค์ และพบกับผู้ที่ตายไปแล้วได้
อุบาสิกาผู้หนึ่งชื่อ จันทร์ ขนนกยูง ได้เข้าไปเรียนวิชาธรรมกายกับหลวงพ่อประสบความสำเร็จมาก และช่วยหลวงพ่อเป็นอาจารย์สอนธรรมกาย พวกลูกศิษย์เรียกกันว่า “คุณยายจันทร์บ้าง” “คุณยายอาจารย์บ้าง” และได้รับความเคารพนับถือมาก

ลูกศิษย์ลูกหาแห่งสำนักนี้นำมาเล่ากันว่า เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่สอง พระและชีสำนักนี้ได้นั่งสมาธิปัดเป่าลูกระเบิดที่สัมพันธมิตรนำมาทิ้งที่กรุงเทพฯ ไม่ให้ถูกเป้าหมาย และว่าเห็นในสมาธิว่าอเมริกาเตรียมจะเอาลูกระเบิดปรมาณูมาทิ้งลงเมืองไทยเพราะมีทหารญี่ปุ่นมาก คณะนี้ได้ใช้อำนาจสมาธิจนอเมริกันเปลี่ยนใจนำเอาไปทิ้งที่ญี่ปุ่น! ประการหลังนี้คงจะท้าทายการพิสูจน์ทางประวัติศาสตร์
ศิษย์องค์หนึ่งของวัดปากน้ำคือ กิตติวุฑโฒภิกขุ แต่ท่านโด่งดังทางอื่นไม่ใช่ทาง ‘ธรรมกาย’
อภิวัฒน์ของ ‘ธรรมกาย’ เริ่มจากการมีนิสิตเกษตรศาสตร์สองคนเข้าไปฝึกวิชานี้ คนหนึ่งชื่อ ไชยบูลย์ สุทธิผล อีกคนหนึ่งชื่อ เผด็จ ผ่องสวัสดิ์ คนแรกเกิดที่จังหวัดสิงห์บุรี คนหลังจังหวัดกาญจนบุรี คนแรกเรียนทางเศรษฐศาสตร์ คนหลังทางเกษตรศาสตร์และสำเร็จปริญญาโทจากออสเตรเลียด้วย จุดสำคัญอยู่ที่ว่า ทั้งสองท่านนี้เป็นคนรุ่นใหม่ และเป็นผู้ที่ได้รับการศึกษาสูงในแผนปัจจุบัน เพราะทำให้เข้าใจและสื่อกับคนสมัยใหม่ได้

ทั้งสองไปฝึกวิชา ‘ธรรมกาย’ ที่วัดปากน้ำภาษีเจริญตั้งแต่ยังเป็นฆราวาส ต่อมาบวชและได้รับฉายาว่า ธัมมชโยภิกขุ และ ทัตตชีโวภิกขุ ตามลำดับ ทั้งสองท่านเป็นผู้นำในการสร้างวัดพระธรรมกาย ที่คลองสาม ปทุมธานี ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไป โดยเริ่มแรกได้รับบริจาคที่ดินจากคุณวรณี สุนทรเวช ต่อมาซื้อเพิ่มเติมจากเงินบริจาค
ต่อไปนี้จะวิเคราะห์และให้ความเห็นใน 3 หัวข้อใหญ่ คือ
1. วิเคราะห์ความสำเร็จของสำนัก ‘ธรรมกาย’
2. วิเคราะห์ปัญหาทางทฤษฎีของ ‘ธรรมกาย’
3. พยากรณ์อนาคตและข้อเสนอแนะ
โดยจะกล่าวถึงเรื่องสมาธิและการบรรลุธรรมะก่อนข้อ 2 เพราะเทคนิคของ ‘ธรรมกาย’ คือสมาธิ

ความสำเร็จของสำนัก ‘ธรรมกาย’

‘ธรรมกาย’ เป็นการจัดตั้งหรือกระบวนการ ซึ่งต่างจากสำนักสวนโมกข์ซึ่งทำแต่เรื่องการสอนแต่ไม่จัดตั้ง จากการที่มีวัดธรรมกายเป็นศูนย์กลางและได้รับความสนใจ และการเข้าร่วมจากผู้คนจำนวนมาก ต้องถือว่ากระบวนการ ‘ธรรมกาย’ ประสบความสำเร็จสูง จึงสมควรที่จะวิเคราะห์ปัจจัยแห่งความสำเร็จดังต่อไปนี้
1. ผู้ให้กำเนิดกระบวนการธรรมกายคือหลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญ (พระมงคลเทพมุนี) ก็ดี เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย (ธัมมชโยภิกขุ) และรองเจ้าอาวาส (ทัตตชีโวภิกขุ) ก็ดี เป็นคนเอาจริง คนชนิดนี้จะทำอะไร แม้เป็นเรื่องอื่นที่ไม่ใช่ ‘ธรรมกาย’ ก็จะประสบความสำเร็จได้ง่าย คนไทยโดยทั่วไปมีอิทธิบาท 4 น้อย จึงทำอะไรไม่ค่อยสำเร็จ

2. ธัมมชโยภิกขุ และทัตตชีโวภิกขุ เป็นคนสมัยใหม่ จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย จึงเข้าใจและสื่อกับคนสมัยใหม่ได้ง่าย นี้เป็นเรื่องสำคัญต่อการพัฒนาคณะสงฆ์ไทย แม้เราจะมีวัดประมาณ 30,000 วัด มีพระกว่า 200,000 รูป เณรอีก 100,000 กว่า รวมทั้งพระทั้งเณรเกือบ 400,000 รูป ส่วนใหญ่เป็นผู้มีการศึกษาน้อย และมักเป็นแบบสมัยเก่า การเรียนเปรียญธรรมก็เป็นแต่เรื่องแปลบาลีเป็นไทย ฉะนั้นท่านจึงไม่เข้าใจชีวิตและสังคมสมัยใหม่ เมื่อไม่เข้าใจก็สื่อไม่ได้ ทำให้คนสมัยใหม่ไม่สนใจพระสงฆ์ และสังคมไทยขาดประโยชน์จากพุทธธรรม การศึกษาของพระเณรที่จะให้เข้าใจทั้งหลักพุทธธรรม และเข้าใจสังคมปัจจุบันจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศที่รัฐบาล คณะสงฆ์ และสังคมไทยจะต้องเข้าใจ

3. วัดธรรมกายเน้นที่ความงาม ความสะอาด ความเรียบร้อย ทั้งในเรื่องอาคารสถานที่ บริเวณพิธีกรรม และความประพฤติ วัดโดยทั่วๆไปนั้นสกปรก ทำให้คนสมัยใหม่ไม่อยากเข้า และขาดการเป็นที่พักผ่อนทางจิตวิญญาณไปอย่างน่าเสียดาย สมัยนี้เป็นสมัยที่คนวัยรุ่นอาจถลำเข้าไปในเรื่องไม่ดีงามได้ง่าย เช่น กินเหล้า สูบบุหรี่ ติดเฮโรอีน มีเพศสัมพันธ์ที่ไม่เหมาะสม โรงเรียนก็ไม่เป็นที่น่าไว้ใจว่าจะไม่เกิดสิ่งเหล่านี้ เพราะฉะนั้นเมื่อเด็กๆ หรือคนหนุ่มสาวไปวัดธรรมกายแล้วไปอยู่ในบรรยากาศที่งาม เรียบร้อย ถือศีล ไหว้พระสวดมนต์ ทำสมาธิ พ่อแม่พี่น้องย่อมเกิดความคลายใจ หายห่วงและสนับสนุน

4. กระบวนการ ‘ธรรมกาย’ เน้นที่การทำสมาธิ ทุกคนทำสมาธิหมด สมาธิทำให้ผู้ปฏิบัติได้รับความสุขอย่างที่ไม่เคยพบมาก่อนในชีวิตจึงทำให้ติดใจ เรื่องนี้จะกล่าวให้ละเอียดในตอนต่อไป

5. เน้นการบริหารจัดการหรือการตลาด (marketing) คณะ ‘ธรรมกาย’ ถือว่า ‘ธรรมกาย’ เป็นเสมือนสินค้าที่เมื่อต้องการขายก็ต้องมีการตลาดที่ดี ทัตตชีโวภิกขุเป็นผู้ใช้คำนี้เอง จะเห็นได้ว่าคณะนี้มีการประชาสัมพันธ์และการจัดตั้งอย่างเป็นระบบ จึงทำให้ประสบความสำเร็จสูง

ที่กล่าวถึงความสำเร็จในที่นี้พูดเป็นกลางๆอย่างที่พูดกันทั่วไป ตอนหลังๆจึงจะวิเคราะห์ทฤษฎี ‘ธรรมกาย’ และผลระยะยาว

 

ข้อมูลสื่อ

97-021
นิตยสารหมอชาวบ้าน 97
พฤษภาคม 2530
ศ.นพ.ประเวศ วะสี