• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

น้ำหนักตัวในระหว่างตั้งครรภ์

น้ำหนักตัวในระหว่างตั้งครรภ์

หัวข้อสนทนาระหว่างหญิงตั้งครรภ์ด้วยกันที่เราได้ยิน มักจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับวันกำหนดคลอด ลูกดิ้นหรือยัง แพ้ท้องมากไหม และสิ่งที่หลายคนจะถามไถ่กันเสมอคือน้ำหนักเพิ่มขึ้นเท่าไร ?

น้ำหนักเพิ่มเท่าไรจึงจะดีนั้น บางคนอาจจะเพิ่มเพียง 5 กิโลกรัมใน 3 เดือนแรก ขณะที่บางคนจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน จนไม่มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเลย สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาและจะมีคำถามอยู่เสมอว่าน้ำหนักเพิ่มเท่าไรจึงจะพอดี 

น้ำหนักตัวโดยรวม โดยทั่วไปแพทย์มักจะแนะนำหญิงตั้งครรภ์ว่าควรมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นไม่เกิน 10 กิโลกรัมตลอดการตั้งครรภ์ แต่ถ้ามีน้ำหนักตัวเพิ่มไม่ถึงเกณฑ์กำหนดมักจะพบว่าทารกที่เกิดมาจะมีน้ำหนักตัวแรกเกิดต่ำกว่าปกติ หรือทารกน้ำหนักน้อย ตัวเล็กผิดปกติ ขณะเดียวกันหญิงตั้งครรภ์ถ้ากินมากเกินไปจะทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมาก และทำให้เกิดปัญหาต่อการตั้งครรภ์หลายประการ เช่น ทารกตัวโตคลอดลำบาก หญิงตั้งครรภ์ที่มีน้ำหนักตัวมากจะทำให้เหนื่อยง่าย ปวดหลังมากขึ้น เส้นเลือดขอดมากขึ้น และทำให้แผลผ่าตัดติดช้า เกิดภาวะตกเลือดหลังคลอดได้ง่าย

 บางครั้งหญิงตั้งครรภ์ที่มีน้ำหนักตัวเพิ่มมากๆ มิได้หมายความว่าทารกในครรภ์จะตัวโตเสมอไป อาจจะได้ทารกน้ำหนักน้อยก็มี ทั้งนี้เนื่องจากภาวะโภชนาการที่ไม่เหมาะสม โดยเน้นที่ปริมาณมากกว่าคุณภาพ

การเพิ่มน้ำหนัก 10กิโลกรัมต่อการตั้งครรภ์ เป็นน้ำหนักโดยเฉลี่ยที่ต้องพิจารณาตามรูปร่างและขนาดตัวของหญิงตั้งครรภ์ เช่น ผู้ที่มีรูปร่างเล็กและมีขนาดตัวก่อนการตั้งครรภ์น้อยกว่า 5 กิโลกรัม การเพิ่มของน้ำหนักตัวตลอดการตั้งครรภ์ อาจจะน้อยกว่า 10กิโลกรัมได้ ทั้งนี้น้ำหนักที่เพิ่มจะเป็นน้ำหนักของทารก 3กิโลกรัมและเป็นน้ำหนักของรก น้ำหล่อเด็ก เนื้อเยื่อที่ยืดขยายของเต้านม มดลูก เป็นต้น อีก 5-6ลกรัม

 หญิงตั้งครรภ์ที่ควรจะมีน้ำหนักตัวเพิ่มมากเป็นกรณีพิเศษ คือผู้ที่มีน้ำหนักตัวเพิ่มมากเป็นกรณีพิเศษ คือผู้ที่มีน้ำหนักตัวต่ำกว่ามาตรฐานในขณะก่อนตั้งครรภ์ โดยในระยะไตรมาสแรกควรจะพยายามปรับให้มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเท่ามาตรฐาน แล้วใช้เวลาในระยะ 6เดือนต่อมาเพิ่มน้ำหนักให้ได้เท่าที่ต้องการตลอดการตั้งครรภ์

หญิงตั้งครรภ์ที่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานก่อนการตั้งครรภ์ ต้องระวังดูแลให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นในอัตราส่วนที่เหมาะสม โดยเลือกกินอาหารเป็นพิเศษ

ระยะเวลาตลอดการตั้งครรภ์ไม่ใช่เวลาที่จะควบคุมน้ำหนักด้วยการงดอาหารอย่างเด็ดขาด ทั้งนี้เพราะทารกจะได้พลังงานจากการเผาผลาญไขมันของหญิงตั้งครรภ์เท่านั้น แต่จะไม่ได้สารอาหารใดๆทั้งสิ้น
หญิงตั้งครรภ์แฝดสองหรือแฝดสาม มิได้หมายความว่าจะต้องมีน้ำหนักเพิ่มเป็นสองหรือสามเท่าตามจำนวนทารกในครรภ์ แต่อาจจะเพิ่มน้ำหนักโดยเฉลี่ย 5กิโลกรัมต่อทารก 1 คน โดยกินอาหารภายใต้การดูแลของงแพทย์

อัตราการเพิ่มของน้ำหนักตัว โดยเฉลี่ยน้ำหนักตัวของหญิงตั้งครรภ์จะมีการเพิ่มน้อยในช่วงระยะไตรมาสแรกคือประมาณ 1-2 กิโลกรัมเท่านั้น และจะมีน้ำหนักเพิ่มอย่างรวดเร็วในช่วงไตรมาสที่สองจนถึงต้นไตรมาสที่สาม คือในอายุครรภ์ 3-8 เดือน น้ำหนักจะเพิ่มโดยเฉลี่ย 1/2 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ และในระยะเดือนสุดท้ายน้ำหนักจะคงที่หรือลดลงบ้างเล็กน้อยประมาณ 1/2 กิโลกรัมดังนั้นในไตรมาสที่สามน้ำหนักจะเพิ่มขึ้นเพียง 2-3 กิโลกรัมเท่านั้น

หญิงตั้งครรภ์น้อยคนที่จะมีน้ำหนักตัวเพิ่มตามมาตรฐานดังกล่าว บางคนจะมีน้ำหนักเพิ่มเล็กน้อยในสัปดาห์นี้ และเพิ่มมากอีก 1 กิโลกรัมในสัปดาห์ต่อมา ซึ่งในการปฏิบัติ หญิงตั้งครรภ์ควรที่จะมีน้ำหนักเพิ่มอย่างสม่ำเสมอแล้วจึงเพิ่มอย่างค่อยเป็นค่อยไปตลอดการตั้งครรภ์ ในกรณีที่คุณไม่มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเลยในระยะอายุ 2-4 เดือน หรือมีน้ำหนักตัวเพิ่มมากกว่า 1 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ในไตรมาสที่สอง หรือมีน้ำหนักเพิ่มมากกว่า 1/2 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ในไตรมาสที่สาม คุณควรไปปรึกษาแพทย์ทันที โดยเฉพาะผู้ที่นิยมกินอาหารรสจัดหรือกินบ่อยเกินไป

อีกประการหนึ่งที่คุณควรรีบปรึกษาแพทย์ คือ การที่คุณไม่มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเลยภายใน 2 สัปดาห์ที่อยู่ในเกณฑ์ที่ควรมีน้ำหนักตัวเพิ่ม

ในกรณีที่คุณมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากในทันทีที่ตั้งครรภ์ และคุณรู้ว่าน้ำหนักตัวจะเพิ่มมากอย่างนี้ต่อไปอีกตลอดการตั้งครรภ์ คุณควรระมัดระวังเรื่องอาหารและรีบปรึกษาแพทย์ แต่อย่าใช้วิธีอดอาหารเพื่อลดน้ำหนัก

ตลอดระยะเวลาของการตั้งครรภ์คุณจะต้องระลึกอยู่เสมอว่าลูกในท้องของคุณต้องการสารอาหารที่มีคุณค่า และพลังงานอาหารทุกวันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสุขภาพที่สมบูรณ์ มิใช่ได้รับแบบขาดๆเกินๆในแต่ละวัน

การกินอาหารที่ถูกสัดส่วนและควบคุมปริมาณในทันทีที่มีปัญหาว่าน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างมาก เป็นวิถีทางที่เหมาะสมที่สุดในการควบคุมน้ำหนักของหญิงตั้งครรภ์ และเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้ทารกในครรภ์ไม่ขาดสารอาหารและไม่อ้วนมากเกินไป

 

                                                 ******************************************************
 
 

ข้อมูลสื่อ

211-017
นิตยสารหมอชาวบ้าน 211
พฤศจิกายน 2539
ผศ.พวงน้อย สาครรัตนกุล