• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคของต่อมธัยรอยด์

เมื่อไม่นานมานี้ หนังสือพิมพ์รายวันยักษ์ใหญ่ฉบับหนึ่งของเมืองไทยได้เสนอข่าวของดาราสาว “จารุณี สุขสวัสดิ์” นางเอกขวัญใจประชาชนว่ามีอาการต่อมธัยรอยด์เป็นพิษแล้วไปรักษาด้วยการกินรังสี ทำให้ใบหน้าบวมเห่อ น้ำหนักเพิ่ม ซึ่งกระเทือนถึงอาชีพการแสดงของเธอ
ข่าวของดาราสาวผู้นี้ปรากฏว่าประชาชนให้ความสนใจกันมาก รวมถึงอยากรู้เกี่ยวกับอาการของโรคต่อมธัยรอยด์ขึ้นมาด้วย

ความจริงโรคเกี่ยวกับต่อมธัยรอยด์นี้ “หมอชาวบ้าน” เคยนำเสนอมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อประมาณสามปีก่อนนี้เห็นจะได้ (หาอ่านได้ในฉบับที่ 52 ส.ค., 53 ก.ย., 54 ต.ค., 2526) ส่วนใหญ่ของผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับต่อมธัยรอยด์ ได้แก่ เพศหญิง ในเพศชายมักไม่ค่อยจะปรากฏให้เห็นนัก

ในระยะเวลาที่ผ่านมา จำนวนของผู้ป่วยเกี่ยวกับต่อมธัยรอยด์มิได้ลดน้อยลงเลย ยังคงอยู่ในอัตราส่วนเช่นเดิม อาจจะเป็นเพราะว่าความรู้ในเรื่องนี้ยังเผยแพร่อยู่ในวงจำกัด ประชาชนส่วนมากจึงไม่ได้เรียนรู้วิธีป้องกันและรักษา ซึ่ง “หมอชาวบ้าน” เห็นว่า สมควรจะได้เผยแพร่เรื่องนี้ออกไปให้กว้างขวางยิ่งขึ้น จึงขอนำเสนอโรคเกี่ยวกับต่อมธัยรอยด์อีกครั้งหนึ่ง

                                 

ต่อมธัยรอยด์คืออะไร

ต่อมธัยรอยด์ (Thyroid) เป็นต่อมไร้ท่อที่ใหญ่ที่สุดในร่างกายของคนเรา อยู่ที่ลำคอด้านหน้าต่ำกว่าลูกกระเดือกลงมานิดเดียว มีรูปร่างเหมือนเกือกม้าประกอบด้วยปีกซ้ายและปีกขวา เชื่อมต่อกันด้วยคอคอด (ดูรูปที่ 1) ขนาดของต่อมธัยรอยด์นี้ปกติจะใหญ่กว่านิ้วหัวแม่มือของเจ้าของต่อมและมองไม่เห็นชัดเจน ถ้าใหญ่กว่านี้ก็จะมองเห็นชัดเจนเหมือนมีอะไรมาพอกที่คอหรือเป็นก้อนที่คอข้างหน้าที่เราเรียกกันว่า เป็นคอพอก หรือคอหอยพอก

ในเรื่องคอพอกนี้ มักจะสร้างปัญหาให้ผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เพราะปกติแล้วผู้หญิงจะมีต่อมธัยรอยด์โตกว่าผู้ชาย ซึ่งว่ากันว่าเพื่อให้ลำคอของผู้หญิงดูกลมกลึงสวยงาม ถ้าไม่มีต่อมธัยรอยด์ หรือต่อมอันนี้มีขนาดเล็กเกินไป จะทำให้บริเวณด้านหน้าคอแถวกล่องเสียงเป็นแอ่งลงไปนิดๆ ดูแล้วไม่สวยงามละมุนตา

ความสำคัญของต่อมธัยรอยด์
ต่อมธัยรอยด์มีหน้าที่สำคัญในการสร้างและหลั่งฮอร์โมนธัยรอยด์ออกมาสู่กระแสเลือด ฮอร์โมนนี้ต่อมธัยรอยด์ผลิตขึ้นมาเองโดยใช้ไอโอดีนจากอาหารที่เรากินเข้าไปเป็นวัตถุดิบ
ฤทธิ์ของฮอรโมนธัยรอยด์มีมากมาย และออกฤทธิ์กระตุ้นทั่วร่างกายให้เซลล์ต่างๆทำงานเป็นปกติ แต่บริเวณที่ถูกกระตุ้นมากที่สุดเห็นจะเป็นที่หัวใจกับประสาท ถ้าหากต่อมธัยรอยด์เสียสมดุลมีการหลั่งฮอร์โมนนี้ออกมามากเกินไป จะทำให้ร่างกายทนรับไม่ไหวมีอาการผิดปกติขึ้นมาทันที เช่นเดียวกันถ้าขาดฮอร์โมนธัยรอยด์ไป ร่างกายก็ไม่สามารถอยู่ได้อย่างปกติ เกิดความเฉื่อยชา ซึม อะไรทุกอย่างในตัวเราจะช้าไปหมดทั้งร่างกายและจิตใจ

ฮอร์โมนธัยรอยด์มีความสำคัญมากในเด็ก เพราะกระตุ้นให้เด็กเจริญเติบโตเป็นปกติ ถ้าขาดฮอร์โมนนี้ตั้งแต่เด็กๆจะทำให้เด็กตัวเตี้ยแคระ สมองทึบ กลายเป็นเด็กปัญญาอ่อนไป

อาการผิดปกติของต่อมธัยรอยด์
อาการผิดปกติเกี่ยวกับต่อมธัยรอยด์ที่รู้จักกันดี ก็คือ โรคคอพอกเกิดขึ้นเนื่องจากต่อมธัยรอยด์ต้องทำงานมากขึ้นจึงโตผิดปกติ เกิดเป็นคอพอกขึ้น

โรคคอพอกนี้แยกออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆคือ
1. โรคคอพอกเป็นพิษ
2. โรคคอพอกไม่เป็นพิษ
ต่อไปจะได้กล่าวถึงรายละเอียด สาเหตุ อาการ และวิธีป้องกันรักษาโรคคอพอกแต่ละประเภท

โรคคอพอกเป็นพิษ
โรคคอพอกเป็นพิษ เกิดจากการเสียสมดุลของต่อมธัยรอยด์ คือ ต่อมธัยรอยด์ไม่อยู่ในความควบคุมของร่างกาย ทำให้ต่อมธัยรอยด์สร้างฮอร์โมนออกมาเรื่อยๆ ไม่หยุด จนมีมากเกินไป ต่อมธัยรอยด์จึงมีขนาดโตขึ้นผิดปกติ

สาเหตุที่ทำให้ต่อมธัยรอยด์เสียสมดุลผิดธรรมชาติไปอย่างนี้ ยังไม่ทราบแน่ชัด และไม่เกี่ยวข้องกับอาหารทะเล แต่มีปัจจัยอยู่ 3 ประการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคอพอกเป็นพิษ คือ
1. เพศหญิง จากการสำรวจที่ผ่านมา ปรากฏว่าโรคนี้เกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายถึง 7-8 เท่า แต่ปัจจัยที่ทำให้ผู้หญิงเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ชายนั้นยังระบุไม่ได้
2. พันธุกรรม ที่ได้พบมานั้นบางครอบครัวก็เป็นกันทั้งแม่และลูกสาว
3. ความเครียดทางจิตใจ มักจะเป็นความเครียดชนิดที่เกิดขึ้นทันทีทันใดและรุนแรง เคยมีคนไข้หลายคนเป็นคอพอกเป็นพิษและรักษาจนหายดีแล้ว ต่อมาไปทะเลาะกับสามีเข้าอย่างดุเดือด รุ่งขึ้นใจสั่น เหงื่อออกเต็มไปหมด ไม่นานต่อมาก็เริ่มเกิดอาการคอพอกเป็นพิษขึ้นมาใหม่

มีการทดลองเจาะเลือดนักศึกษาที่กำลังเครียดเพราะดูหนังสือก่อนสอบสองวัน พบว่า ฮอร์โมนธัยรอยด์มีระดับสูงมากกว่าปกติ แต่พอสอบเสร็จระดับฮอร์โมนนี้ก็ลดลงมาเป็นปกติ ซึ่งถ้านักศึกษาคนใดมีความโน้มเอียงที่จะเกิดคอพอกเป็นพิษอยู่แล้ว เช่น มีพันธุกรรมของโรคนี้ เมื่อมีความเครียดอย่างที่ว่าเป็นปัจจัยนำต่อมธัยรอยด์ก็ อาจสร้างฮอร์โมนกันขนานใหญ่จนกลายเป็นคอพอกเป็นพิษขึ้นมา

คอพอกเป็นพิษมีอาการอย่างไร
ต่อมธัยรอยด์ที่โตในโรคคอพอกเป็นพิษนี้ ถ้าคลำดูจะหยุ่น ไม่แข็ง เมื่อฟังดูอาจได้ยินเสียงฟู่ๆ ซึ่งเป็นเพราะมีเลือดไปเลี้ยงที่ต่อมนี้มากกว่าปกติ

อาการเป็นพิษที่เกิดขึ้นก็เนื่องมาจากฮอร์โมนที่ต่อมธัยรอยด์สร้างขึ้นมา ไปกระตุ้นอวัยวะต่างๆให้ทำงานมากขึ้น โดยเฉพาะไปกระตุ้นหัวใจ ก็เลยทำให้มีอาการใจสั่น หัวใจเต้นเร็วและแรงจนรู้สึกว่าหัวใจมากระแทกหน้าอกดังตุ๊บๆ คลำชีพจรได้เร็วและบางครั้งเต้นไม่สม่ำเสมอ เหนื่อยง่าย อาการทางหัวใจนี้มักจะเกิดขณะที่นั่งพักสบายๆ หรือถ้าออกแรงนิดเดียวก็จะเกิดอาการเหล่านี้แล้ว เมื่อเซลล์ถูกกระตุ้นมากเข้าจะสร้างพลังงานออกมามากมายจนเกินพอ จึงเปลี่ยนเป็นความร้อนออกไปจากร่างกายมากขึ้น ทำให้เหงื่อออกมาก ชอบอากาศเย็นๆ และที่มือมักจะอุ่นๆ ชื้นๆ เป็นคนอยู่ไม่สุข ชอบทำโน่นทำนี่ พูดเร็ว บางทีก็ดูเป็นคนหลุกหลิก เรียกว่า เหนื่อยแล้วไม่ยอมหยุด

เมื่อร่างกายต้องสร้างพลังงานมากจึงต้องใช้วัตถุดิบมากด้วย แต่ส่วนใหญ่แล้วกินเท่าไรก็ไม่เหลือเก็บสะสมไว้ คนที่เป็นต่อมธัยรอยด์เป็นพิษ หรือคอพอกเป็นพิษก็เลยมีอาการกินจุแต่กลับผอมลง คนที่เป็นมากๆ น้ำหนักอาจลดลงตั้ง 20-30 กิโลกรัมก็มี

นอกจากนี้ฮอร์โมนธัยรอยด์กระตุ้นประสาท ทำให้มีอาการเหมือนคนเป็นโรคประสาท กระตุ้นลำไส้ให้ถ่ายอุจจาระบ่อย วันละหลายๆครั้ง และอุจจาระมีลักษณะเละๆไม่ค่อยเป็นก้อน

อาการทางกล้ามเนื้อก็มีด้วย คือกล้ามเนื้อต้นแขนต้นขามักจะอ่อนแรง บางทีเป็นมากๆเข้า พอนั่งยองๆก็ลุกไม่ไหว ก้าวขึ้นบันไดหรือโหนรถเมล์ไม่ไหว
บางทีประจำเดือนก็มาน้อยหรือมาห่างออกไป                                              

อาการที่สำคัญอีกอย่าง คือ ลูกตาอาจโปนถลนออกมา หรือหนังตาบนหดรั้งขึ้นไป ทำให้เห็นตาขาวข้างบนชัด (คนปกติที่ลืมตาจะไม่เห็นตาขาวข้างบน เพราะเปลือกตาบนจะปิดเอาไว้) เลยดูคล้ายๆตาจ้องดูอะไรตลอดเวลา คือเป็นคน “ตาดุ” 

                                             
                                                                  
       รูปหน้าดุ

การรักษาทำอย่างไร

วิธีการรักษาคอพอกเป็นพิษมี 3 วิธี แต่ละวิธีก็มีทั้งข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบโดยดุลพินิจของแพทย์

1. การให้กินยา
ที่ใช้บ่อยมี 2 ชนิด คือ ทาปาโซล (Tapazole) และโพลพีลไทโอยูเรซิล (Propylthiouracil) การกินยาจะช่วยคุมไม่ให้อาการเป็นพิษกำเริบขึ้น กินอยู่นานประมาณปีครึ่งก็ควรหยุดยาได้ หลังจากหยุดยาแล้วส่วนใหญ่มักจะหายขาด แต่ประมาณ 40% อาจกลับมาเป็นคอพอกเป็นพิษได้อีก

การรักษาด้วยยากิน ถ้าเลือกใช้กับคนไข้ที่คอพอกโตชนิดผิวเรียบๆ ไม่มีก้อนหลายๆก้อน และไม่มากนัก มักได้ผลดีและหายขาด สำหรับคนไข้อายุน้อยๆหรือตั้งท้องก็ใช้ได้ดี

ข้อเสียของการกินยา
1. ยาพวกนี้มีผลทำให้เม็ดเลือดขาวลดจำนวนลง แต่พบไม่บ่อยนักเพียงประมาณ 0.5% ของคนไข้ที่กินยาพวกนี้เท่านั้น แต่ต้องระวังเพราะถ้าเกิดมีโรคติดเชื้อเข้าแรกอาจถึงตายได้ วิธีระวังคือ เมื่อมีอาการเจ็บคอร่วมกับมีไข้ มีแผลในปาก หรือมีต่อมน้ำเหลืองเป็นเม็ดข้างๆคอโตและเจ็บ ให้รีบหยุดยากินทันทีและไปให้หมอตรวจนับเม็ดเลือดขาวดูว่าผิดปกติหรือไม่ ถ้าลดต่ำมากต้องหยุดกินยาต่อไป ส่วนใหญ่เม็ดเลือดขาวจะเพิ่มจนอยู่ในระดับปกติได้เอง แต่ต้องรักษาโรคติดเชื้อในขณะนั้นอย่างเต็มที่ และห้ามกินยาพวกนี้เด็ดขาดตลอดชีวิต ต้องรักษาด้วยวิธีอื่นต่อไป

2. อาจมีผื่นขึ้นตามผิวหนัง มักเป็นไม่รุนแรงมาก อาจไม่ต้องเปลี่ยนยากิน แต่กินยาแก้แพ้แทน เช่น คลอร์เฟนิรามีน หรือถ้าแพ้ยาตัวหนึ่งมากก็เปลี่ยนไปใช้อีกตัวหนึ่งก็ได้ เช่น เปลี่ยนจากทาปาโซล เป็น โพรพิลไทโอยูเรซิล เป็นต้น

3. ผลจากกินยามากไปก็เลยไปลดฮอร์โมนที่มีมากให้เหลือน้อยเกินไป ทำให้ร่างกายขาดฮอร์โมนธัยรอยด์ มักจะมีอาการเตือนนำมาก่อน เช่น ผมที่ไม่เคยร่วงก็จะร่วงมาก ต่อมธัยรอยด์โตขึ้นกว่าเก่า เฉื่อยชา ท้องผูก ตะคริวกินบ่อยๆ บวมฉุ ผิวหนังแห้ง ไม่มีเหงื่อออก

วิธีแก้นั้นไม่ยาก เพียงลดยาลงและปรับขนาดยาให้พอเหมาะก็จะสบายขึ้น หายจากอาการที่ว่ามาทั้งหมด

2. การผ่าตัด
โดยการผ่าตัดเอาต่อมธัยรอยด์ออกบางส่วน วิธีนี้ได้ผลเร็วและแน่นอนกว่าการกินยา แต่ก็มีผลเสียคือ

ข้อเสียของการผ่าตัด
มี 3 ประการคือ
1. อาจผ่าตัดเอาต่อมออกมากไป ทำให้ส่วนที่เหลือสร้างฮอร์โมนไม่พอใช้ เกิดการขาดฮอร์โมนธัยรอยด์ขึ้น ก็มีอาการเหมือนกับที่กินยามากไป จะต้องกินฮอร์โมนธัยรอยด์ทดแทนกันตลอดชีวิต

2. อาจไปตัดเอาต่อมพาราธัยรอยด์ที่อยู่ด้านหลังของต่อมธัยรอยด์ออกไปด้วย เพราะต่อมทั้งสองนี้อยู่ติดกันมากแทบจะรวมเป็นเนื้อเดียวกัน ถ้าหากตัดเอาต่อมพาราธัยรอยด์ออกไปด้วยจะเกิดอาการตะคริวที่มือและอาการอื่นๆอีกหลายอย่าง ต้องกินแคลเซียมและวิตามินดีรักษากันไปตลอดชีวิตเหมือนกัน

3. อาจผ่าตัดไปโดนเส้นประสาทของกล่องเสียง ทำให้เสียงแหบหลังผ่าตัด อันนี้ไม่มีทางรักษาได้เลย
การผ่าตัดรักษาคอพอกเป็นพิษนี้ เหมาะที่จะใช้ในรายที่คอพอกโตมากๆ หรือโตเป็นก้อนหลายๆก้อน หรือกินยาแล้วไม่หายขาด หรือคอพอกกดหลอดอาหารและหลอดลม ทำให้กลืนอาหารลำบากหรือหายใจลำบาก และต้องกินยารักษาคอพอกเป็นพิษให้ร่างกายแข็งแรงเป็นปกติเสียก่อนจึงลงมือผ่าตัดได้

3. การกินน้ำแร่หรือไอโอดีนกัมมันตรังสี
(ไอโอดีน 131) วิธีนี้ก็เหมือนการผ่าตัดโดยไม่ต้องลงมีด ลักษณะเป็นน้ำหรือบางแห่งก็ทำเป็นแคปซูล เมื่อกินเข้าไปจะสะสมอยู่ที่ต่อมธัยรอยด์มาก และปล่อยรังสีออกมาทำลายเนื้อต่อมเยื่อให้หายจากเป็นพิษ ก็เหมือนกับการผ่าตัดเพราะต่อมธัยรอยด์ที่โดนรังสี จะหมดสภาพต่อม ไม่ทำหน้าที่อะไรต่อไป

ข้อเสียของการกินรังสี

ที่สำคัญก็คือ กะขนาดให้กินลำบาก ถ้าให้มากไปก็จะเกิดการขาดฮอร์โมนธัยรอยด์อย่างถาวรตลอดชีวิตเหมือนหลังผ่าตัด โดยทั่วไปแล้วมักให้กินไอโอดีนรังสีประมาณ 5-15 มิลลิคิวรี ถือหลักว่า ถ้าต่อมใหญ่มากก็ใช้มาก ยังไม่มีขนาดมาตรฐานแน่นอนว่าคนนี้ควรจะใช้ขนาดเท่าไรถึงจะพอเพียง

ผลเสียของการรักษาด้วยไอโอดีนรังสีที่คนกลัวกันมาก คือ อาจจะทำให้เกิดมะเร็งที่ต่อมธัยรอยด์ หรือทำให้เป็นหมัน ซึ่งในเรื่องนี้นั้นมีการศึกษากันมากกว่า 30-40 ปีแล้ว ไม่พบว่าทำให้เกิดมะเร็งในผู้ใหญ่แต่อย่างใด ผู้หญิงที่เคยได้รับไอโอดีนรังสีจะสามารถมีลูกได้ ไม่เป็นหมัน และลูกที่ออกมาก็เป็นปกติดี แต่ก็มีข้อควรระวังคือ ห้ามใช้กับคนไข้ที่กำลังตั้งครรภ์เด็ดขาด หรือหลังจากที่ได้รับไอโอดีนรังสีไปแล้ว 6 เดือนแรกห้ามตั้งครรภ์เด็ดขาด เพราะช่วงนั้นอาจจะมีผลของรังสีอยู่และอาจมีผลต่อเด็กในท้อง แต่เมื่อพ้นระยะ 6 เดือนไปแล้วก็ไม่มีปัญหาอะไร ข้อห้ามอีกอย่างคือ ไม่ควรใช้รักษาเด็กที่เป็นคอพอกมีพิษด้วยไอโอดีนรังสีนี้

ส่วนใหญ่การรักษาด้วยไอโอดีนรังสีนี้ จะได้ผลช้ากว่าการผ่าตัด คือประมาณ 1 เดือนหรือ 1 เดือนครึ่งถึงจะเริ่มได้ผล ระหว่างที่รอผลอยู่จึงต้องให้กินยารักษาอย่างวิธีแรกไปก่อน

                                                    ก่อนที่ต่อมธัยรอยด์ "มะเร็ง"
                                             

หลักสำคัญในการให้การรักษาด้วยไอโอดีนรังสี คือ จะต้องทำความเข้าใจกับคนไข้เสียก่อนถึงผลดีผลเสียอะไรบ้าง โดยเฉพาะในเรื่องต่อมธัยรอยด์ไม่ทำงานภายหลังได้รับรังสีนี้ ซึ่งอาจจะมีได้ และต้องกินฮอร์โมนธัยรอยด์ทดแทนกันตลอดชีวิต

วิธีการรักษาด้วยไอโอดีนรังสีนี้ควรใช้กับผู้ใหญ่ที่อายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไป (แต่ในต่างประเทศหรือบางแห่งให้ใช้กับผู้ใหญ่อายุ 35 ปีขึ้นไปก็ได้) โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนไข้ที่มีอายุมากๆจะยิ่งดีมาก

โรคคอพอกไม่เป็นพิษมีอาการอย่างไร
โรคคอพอกไม่เป็นพิษแบ่งออกได้เป็น คอพอกธรรมดา คอพอกประจำถิ่น คอพอกขาดฮอร์โมน คอพอกอักเสบเรื้อรัง หรือมะเร็งต่อมธัยรอยด์ คอพอกเหล่านี้พบได้บ่อยที่สุดคือ คอพอกธรรมดา ซึ่งจะกล่าวในรายละเอียดต่อไป
1. คอพอกธรรมดา
ส่วนมากแล้วไม่ได้เป็นโรคอะไร มักจะพบในสาวรุ่นหรือผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ เพราะต้องการฮอร์โมนธัยรอยด์มากกว่าระยะเวลาอื่น ต่อมธัยรอยด์จึงต้องทำงานมากกว่าธรรมดาก็เลยใหญ่ขึ้นจนเป็นคอพอก แต่ร่างกายยังสามารถควบคุมต่อมนี้ได้ เมื่อสร้างฮอร์โมนพอใช้แล้วก็จะสั่งให้ลดการทำงานลง ดังนั้นจึงไม่เป็นพิษและก็ไม่ขาดฮอร์โมนด้วย

บางทีคอพอกธรรมดาก็อาจพบได้ในผู้หญิงวัยอื่น ไม่เฉพาะแต่สาวรุ่นหรือหญิงตั้งครรภ์ สาเหตุยังไม่รู้แน่ชัด แต่เชื่อว่าอาจมีกลไกทางภูมิต้านทานโรคของร่างกายมาเกี่ยวข้องด้วย นอกจากนี้ก็อาจพบในคนที่กำลังกินยาบางชนิด เช่น ยาพีเอเอส และยาเอทิโอนาไมค์ที่ใช้รักษาวัณโรคหรือยาแก้ปวดข้อ รักษาข้ออักเสบ หรือยาประเภทละลายเสมหะ แก้หืดที่เข้าไอโอดีน ยาพวกนี้ถ้ากินอยู่นานๆก็อาจทำให้เกิดคอพอกธรรมดาได้

วิธีการรักษา
อาจไม่ต้องทำอะไรก็ได้ถ้าขนาดไม่โตมาก ยิ่งพวกสาวรุ่นหรือหญิงที่ตั้งครรภ์อยู่ เมื่อพ้นระยะเวลาเหล่านี้ไปแล้วคอพอกก็จะยุบหายไป หรือถ้าเกิดหลังจากได้ยาที่ทำให้เกิดคอพอกดังกล่าว ก็หยุดยาหรือเปลี่ยนยาเสีย คอพอกนั้นจะยุบหายไปได้

ถ้าคอพอกมีขนาดโตมากหรือถ้าปล่อยไว้แล้วทำท่าว่าจะโตเรื่อยๆก็รักษาโดยการกินยาเม็ดธัยรอยด์ ซึ่งมีอยู่ 2 อย่างคือ ยาเม็ดธัยรอกซิน หรือยาเม็ดสกัดธัยรอยด์ (Thyroid extract) กินจนกว่าคอพอกจะยุบหายไปก็ลองหยุดยาดู บางคนก็หายขาดไปเลย แต่บางคนก็โตขึ้นมาอีกหลังหยุดยาเลยต้องกินยาเป็นประจำก็มี ผู้สูงอายุส่วนใหญ่เมื่อกินยาเม็ดธัยรอยด์ไปแล้ว บางคนมีอาการเจ็บหน้าอก ใจสั่นมาก กินแล้วไม่ค่อยสบาย ต้องลดยาลงหรืออาจต้องเลิกกินยา

คอพอกธรรมดานี้ เรื่องผ่าตัดไม่ค่อยทำกัน ยกเว้นในกรณีที่คอพอกโตมากจนน่าเกลียดหรือไปกดหลอดลมหลอดอาหารเข้า

2. มะเร็งต่อมธัยรอยด์
คอพอกที่เกิดจากเป็นก้อนเดี่ยวๆหรือหลายก้อนก็ได้ ผิวไม่ค่อยเรียบและมักเป็นก้อนแข็งๆขยับไปมาไม่ค่อยได้ โตขึ้นอย่างรวดเร็ว บางทีถ้ามีเลือดออกเข้าไปในก้อนมะเร็งก็จะทำให้เกิดอาการเจ็บปวดที่ก้อนนั้น และต่อมน้ำเหลืองที่ข้างคออาจโตด้วย

ผู้ชายอายุน้อยๆและคนที่เคยโดนรังสีรักษาบริเวณคอเมื่อตอนเป็นเด็ก ให้ระวังมะเร็งของต่อมธัยรอยด์เป็นพิษ เพราะมีโอกาสเป็นมากกว่าคนอื่นหลายเท่า

วิธีการรักษา มะเร็งของต่อมธัยรอยด์การรักษาจะใช้การผ่าตัดเป็นหลัก หรืออาจใช้กัมมันตภาพรังสีร่วมด้วย

3. คอพอกขาดฮอร์โมน
คอพอกขาดฮอร์โมนนี้ตรงกันข้ามกับคอพอกเป็นพิษ คือ สร้างฮอร์โมนออกมาน้อยไม่พอใช้ จึงเกิดอาการขาดฮอร์โมนธัยรอยด์ขึ้น ชีพจรจะเต้นช้า เฉื่อยชา ขี้หนาว ผิวหนังแห้ง ท้องผูกบ่อย ถ้าเป็นตอนเด็กๆจะตัวเตี้ยแคระ พุงป่อง ที่สำคัญคือสมองทึบ สติปัญญาเสื่อม

                                             
                                                           คอพอกขาดฮอร์โมน

สาเหตุอาจเกิดจากขาดไอโอดีน (อย่างเช่นคอพอกประจำถิ่น) ทำให้ขาดวัตถุดิบในการผลิตฮอร์โมนธัยรอยด์ ต่อมธัยรอยด์ผิดปกติแต่กำเนิด หรือเกิดจากการรักษาของหมอ คือ คนไข้จะเป็นคอพอกเป็นพิษก่อน แล้วรักษาโดยการผ่าตัดหรือการให้ไอโอดีนรังสี โอกาสที่ต่อมธัยรอยด์ไม่ทำงานหลังจากได้รับไอโอดีนรังสี มีประมาณ 10% ในปีแรก แต่ตัวเลขจะเพิ่มขึ้นทุกปี ประมาณ 3% ต่อปี คือสรุปแล้วหลังจากได้รับรังสีประมาณ 5 ปี 30% จะเกิดต่อมธัยรอยด์ไม่ทำงาน

วิธีการรักษา ให้กินยาเม็ดธัยรอยด์ชนิดเดียวกับที่ใช้รักษาคอพอกธรรมดา อาการจะเป็นปกติดังเดิม เว้นแต่เด็กที่สมองโง่ทึบหรือตัวเตี้ยแคระ ถ้าปล่อยไว้นานเกินไปและรักษาไม่ทันก็จะไม่หาย

ปัญหาสำคัญคือ เมื่อเด็กขาดฮอร์โมนธัยรอยด์นั้น แรกๆมักจะมีอาการไม่มาก พ่อแม่อาจไม่ทราบว่าเด็กเริ่มผิดปกติ อาการที่น่าสงสัยว่าเด็กจะขาดฮอร์โมนธัยรอยด์ คือ เด็กเฉื่อยชาเลี้ยงง่าย ไม่กวน ดูดนมน้อย ท้องอืดและท้องผูกอยู่เสมอๆ สะดือจุ่น พุงป่อง กระหม่อมหลังเปิดกว้าง ตัวเหลืองนานผิดปกติ หลังคลอด 3 วันแล้วก็ยังไม่หายเหลือง ลิ้นโตคับปาก

เมื่อเด็กโตขึ้นอาจจะเริ่มเห็นว่าใบหน้าหยาบ ผมและคิ้วบาง หนังตาบวม ผิวหนังหนาซีด หยาบแห้ง รูปร่างอ้วนเตี้ย เด็กเจริญเติบโตช้า แขนขาสั้น

ช่วงอายุ 3 เดือนแรกสำคัญที่สุด ต้องรีบรักษา เพราะถ้าทิ้งไว้จนอายุมากขึ้นเรื่อยๆ สมองมีโอกาสจะเสียไปมากขึ้น ทำให้เด็กปัญญาอ่อน ซึ่งแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว

4. คอพอกประจำถิ่น
เป็นคอพอกที่สำคัญในบ้านเรา เพราะเมืองไทยยังเป็นถิ่นคอพอกอยู่ พบมากทางหมู่บ้านยากจน ทางภาคเหนือและอีสานเขตที่อยู่ใกล้ภูเขาสูง หรือที่ราบสูง เช่น แพร่ อุตรดิตถ์ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง อุบลราชธานี
                                                
                                                                คอพอกด้านข้าง

สาเหตุเกิดจากการขาดไอโอดีนซึ่งมีมากในอาหารทะเลและผักผลไม้ต่างๆ ดินบริเวณที่ชาวบ้านแถวนั้นเพาะปลูกก็ขาดไอโอดีน พืชผักที่ปลูกจึงพลอยขาดไอโอดีนไปด้วย

คอพอกประจำถิ่นเป็นปัญหาของทั่วโลก ไม่เฉพาะในประเทศไทย ถิ่นของคอพอกนี้มักเป็นบริเวณที่ราบสูงหรือบริเวณเทือกเขา ซึ่งถ้าดูแล้วจะเป็นแนวคอพอกพาดไปรอบโลกเหมือนเข็มขัดที่คาดอยู่รอบเอว บางคนก็เรียกว่า goiter belt อย่างในอินเดียก็พบแถบภูเขาหิมาลัย

เมื่อตรวจพบว่าชุมชนใดมีผู้คนเกินกว่าร้อยละ 10 เป็นคอพอก ให้ถือว่าชุมชนนั้นมีคอพอกประจำถิ่นเกิดขึ้นแล้ว จะต้องรีบแก้ไข เพราะปรากฏว่าในชุมชนนี้จะมีเด็กสติปัญญาเสื่อม เฉื่อยชา ตัวเตี้ย แคระ หูหนวก และเป็นใบ้ ที่เรียกว่า เด็กเครติน อยู่ถึงร้อยละ 12 เนื่องจากไอโอดีนตั้งแต่อยู่ในท้องเพราะแม่ขาดไอโอดีนขณะตั้งท้องหรือมาขาดเอาตอนเด็กๆ จึงทำให้ขาดฮอร์โมนธัยรอยด์ไปด้วย

วิธีการป้องกัน ก็ไม่ยาก ให้กินเกลือไอโอดีนหรือเกลืออนามัย พยายามกินอาหารทะเลบ้าง หรืออย่างน้อยก็ได้กินเกลือทะเลก็จะช่วยได้มาก แต่เกลือทะเลถ้าหากซื้อทิ้งไว้นานๆก็อาจไม่ค่อยได้ประโยชน์ เพราะไอโอดีนที่มีอยู่จะระเหิดหายไปหมด โดยเฉพาะถ้าอากาศชื้นมากๆ อย่างในหน้าฝนไอโอดีนอาจจะละลายเสียไป

การตรวจคอพอกด้วยตนเอง
เมื่อได้ทราบโรคคอพอกแต่ละอย่างมาแล้ว ก็ควรจะได้รู้จักวิธีการสังเกตและตรวจดูคอพอกด้วยตนเอง เพื่อจะได้ทำการป้องกันเสียก่อน ก็อย่างที่ว่า “ป้องกันดีกว่ารักษา” นั่นแหละ

วิธีการตรวจก็ไม่ยาก หากระจกมาบานหนึ่ง ส่องให้เห็นคอที่ด้านหน้า ถ้าเห็นมีก้อนหรือคล้ายอะไรมา “พอก” ที่หน้าคอใต้ลูกกระเดือก ทำให้แถวนั้นดูหนาใหญ่กว่าปกติ ก็ให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจจะเป็นคอพอกเข้าแล้ว

ต่อจากนั้นให้ลองกลืนน้ำลายดู ถ้าเป็นคอพอกหรือต่อมธัยรอยด์โตที่คอจริง ก้อนหรืออะไรที่พอกอยู่หน้าคอนี้มันจะขยับเลื่อนขึ้นลงตามการกลืนได้ คือ ขยับไปพร้อมๆกับลูกกระเดือก ถ้ายังไม่เห็นมีอะไรโตที่คอก็เลิกดูได้ ไม่มีคอพอกแน่

แต่ถ้าเห็นอะไรนูนๆออกมาที่คอด้านหน้า ก็ลองกลืนน้ำลายดูอีกทีและสังเกตดูในกระจกว่า มันขยับขึ้นลงตามการกลืนหรือเปล่า ถ้าขยับก็แสดงว่าใช่คอพอกแน่ๆ เพราะถ้าเป็นก้อนไขมันหรือต่อมน้ำเหลืองที่โตแถวข้างๆคอหรือก้อนเนื้ออื่นๆจะไม่ขยับตามจังหวะการกลืน

ฉะนั้น เราสามารถตรวจหาคอพอกได้ง่าย เมื่อพบว่าตัวเองมีคอพอกจริงก็ควรหาสาเหตุและวิธีการรักษาต่อไป หรือไปปรึกษาแพทย์เพื่อให้การรักษาตามลักษณะอาการ

 

ข้อมูลสื่อ

98-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 98
มิถุนายน 2530
เรื่องน่ารู้
ผศ.นพ.สาธิต วรรณแสง