• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคกระเพาะ

ถาม : วิภา/กรุงเทพฯ

คุณพ่อของดิฉันอายุประมาณ 65 ปี น้ำหนักประมาณ 62 กิโลกรัม มีอาการปวดท้องเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง ตรงบริเวณกลางยอดอกและใต้ลิ้นปี่ จะปวดแสบ จุกเสียด หลังกินอาหารประมาณ 1 ชั่วโมง  และเบื่ออาหาร ดิฉันจึงสงสัยว่าคุณพ่อเป็นโรคกระเพาะอาหารหรือเปล่า และถ้าเป็นเราควรจะรักษาอย่างไรจึงจะปลอดภัยจากโรคนี้
 

ตอบ : นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ
คำว่า "โรคกระเพาะ" เรามัก หมายถึงอาการปวดแสบ จุกเสียด ตรงบริเวณกลางยอดอกและใต้ลิ้นปี่ โดยมักจะปวดตอนหิว (ก่อนกินอาหาร) และตอนอิ่มใหม่ๆ (หลังอาหาร) และมักจะเป็นอยู่เกือบทุกมื้อหรือทุกวัน เมื่อลองกินยาต้านกรด (ยา น้ำขาวๆ ที่ชาวบ้านมักเรียกว่า ยาลดกรด) ก็มักจะทุเลา เมื่อกินได้สักระยะหนึ่ง อาการก็ดูคล้ายจะหายไป แต่พอหยุดยาอีกไม่นานก็อาจกำเริบอีกเป็นๆ หายๆ เป็นเช่นนี้อยู่เรื่อยๆ

อาการโรคกระเพาะดังกล่าวนี้ อาจเกิดจากสาเหตุได้หลายอย่าง เช่น

1.แผลเพ็ปติก หรือโรคแผลที่กระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้น สาเหตุอาจเกิดจากการกินยาแก้ปวดข้อปวดกระดูก (ภาษาหมอเรียกว่า"ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์") เช่น แอสไพริน ไอบูโพรเฟน อินโดเมทาซิน เป็นต้น หรือไม่ก็อาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า "เอชไพโลไร (H.pylori)" เชื้อนี้ติดต่อโดยการกินอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรคแบบเดียวกับโรคบิด อหิวาต์ ไทฟอยด์
ถ้าสงสัยว่าจะเป็นโรคนี้ แพทย์จะทำการวินิจฉัยโดยการตรวจพิเศษ เช่น การเอกซเรย์กลืนแป้งแบเรียม หรือใช้กล้องส่องตรวจกระเพาะลำไส้ แล้วพบว่ามีแผลชัดเจน

การรักษา
จำเป็นต้องใช้ยารักษาแผลเพ็ปติก ในปัจจุบันแพทย์นิยมใช้ ยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งไม่ให้กระเพาะหลั่งกรด (ยาลดการสร้างกรด) เช่น ไซเมทิดีน (cimetidine) รานิทิดีน (ranitidine) โอมีพราโซ (omeprazole) บางครั้งอาจให้ยาต้านกรด (น้ำกรด) กินควบด้วย นานอย่างน้อย 2 เดือน ถ้าเกิดจากยาแก้ปวดข้อปวดกระดูกก็จะต้องงดยานี้จึงจะได้ผล และต่อไปต้องหลีกเลี่ยงไม่กลับไปใช้ยากลุ่มนี้อีก แต่ถ้าเกิดจากการติดเชื้อเอชโพโลไรนอกจากยารักษาแผลเพ็ปติกดังกล่าวแล้ว แพทย์จะให้กินยาปฏิชีวนะ 2 ชนิด (เช่น อะม็อกซีซิลลินและเมโทรไนดาโซล) ควบด้วย เพื่อกำจัดเชื้อนี้ให้หมดไป จึงจะช่วยให้หายขาด ถ้าไม่กินยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อ ปล่อยให้เชื้อแฝงตัวอยู่นานเป็นสิบๆ ปี ก็อาจทำให้กลายเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารได้


2.โรคเกิร์ดหรือโรคน้ำย่อยไหลกลับ เกิดจากหูรูดที่อยู่ระหว่างปลายหลอดอาหารกับกระเพาะอาหาร
หย่อนสมรรถภาพ เมื่อเรากลืนอาหารหูรูดจะเปิดให้อาหารไหลลงกระเพาะอาหาร หลังจากนั้นหูรูดจะปิดสนิทไม่ให้น้ำย่อย (ซึ่งเป็นกรด) จากกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นไปที่หลอดอาหาร มีคนจำนวนไม่น้อยโดย เฉพาะอย่างยิ่งหลังอายุ 40 ปีขึ้นไป หูรูดจะเสื่อมสมรรถภาพไม่สามารถปิดสนิทปล่อยให้น้ำย่อยไหลย้อนกลับ ขึ้นไประคายเคืองเยื่อบุหลอดอาหาร ทำให้มีอาการแสบลิ้นปี่ เรอเปรี้ยวขึ้นไปที่ลำคอ เป็นๆ หายๆ เรื้อรัง มักจะกำเริบเวลากินอาหารอิ่มจัด หรือนอนราบหลังกินอาหารทันทีหรือหลังกินอาหารมัน ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ กินช็อกโกแลต น้ำส้มคั้น หรือน้ำผลไม้เปรี้ยว

หากปล่อยปละละเลย อาจทำ ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น หลอดอาหารอักเสบ (มีอาการเจ็บยอดอกเวลากลืนอาหาร) หลอดอาหารเป็นแผล ในที่สุดปลายหลอดอาหารตีบ (กินข้าวสวยไม่ลง) บางคนอาจกลายเป็นมะเร็งหลอดอาหาร (กลืนลำบาก) บางคนเวลานอนตอนกลางคืน น้ำย่อยอาจไหลย้อนไปที่ลำคอ ทำให้ตื่นเช้ามีอาการเสียงแหบ เจ็บคอ หรือไอเรื้อรัง คนที่มีโรคหืดอยู่เดิมก็อาจทำให้โรคหืดกำเริบ บางคนอาจสำลักน้ำย่อยเข้าปอด ทำให้ปอดอักเสบได้

การรักษา
ควรปรึกษาแพทย์ อาจจำเป็นต้องทำการตรวจพิเศษ (เช่น ส่องกล้อง) ถ้าเป็นจริงจำเป็นต้องกินยาต้านกรดควบกับยาลดการสร้างกรดนาน 2-6 เดือน เมื่อหยุดยาก็อาจกำเริบได้อีก เนื่องเพราะหูรูดที่เสื่อมมักจะไม่คืนสู่สภาพปกติ

3.กระเพาะอาหารอักเสบ เนื่องจากการใช้ยาแก้ปวด แก้ปวดข้อ ยาปฏิชีวนะบางชนิดดื่มแอลกอฮอล์ หรือเกิดจากการมีกรดมากเกิน ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องแบบโรคกระเพาะ

การรักษา
ให้ยาต้านกรด และหลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นต้นเหตุของโรค เช่น งดแอลกอฮอล์ งดยา เป็นต้น


4.มะเร็งกระเพาะอาหาร สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อเอชโพโลไร เรื้อรัง บางคนอาจพบว่าเกิดจากนิสัย ที่ชอบกินของเค็ม (ในปัจจุบันยังบอก ม่ได้ว่าทำไมอาหารเค็มจึงอาจทำให้เป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร)
อาการระยะแรกเริ่มจะมีอาการปวดท้องแบบโรคกระเพาะ เมื่อกินยารักษากระเพาะจะทุเลา แต่มักจะไม่หายขาด ต่อมาจะมีอาการอาเจียน น้ำหนักลด มักพบในคนอายุมากกว่า 40 ปี


จากการแยกแยะสาเหตุของ "โรคกระเพาะ" ดังกล่าวข้างต้น แพทย์จึงมีข้อแนะนำในการปฏิบัติตัว
ของคนที่มีอาการปวดโรคกระเพาะดังนี้

1.ถ้ามีอายุต่ำกว่า 40 ปี และ เพิ่งปวดโรคกระเพาะเป็นครั้งแรก ให้กินยาต้านกรด (ยาลดกรดน้ำขาว)
ควบกับยาลดการสร้างกรด (เช่น    ไซเมทิดีน) นาน 2 สัปดาห์ ถ้าดีขึ้น ควรกินยาต่อไปให้ครบ 2เดือน
นอก จากนี้ควรงดเหล้า บุหรี่ และยาที่เป็น สาเหตุของอาการปวดท้อง

2.ถ้ามีอายุเกิน 40 ปี หรือเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง หรือมีอาการผิดสังเกต (เช่น กลืนลำบาก อาเจียน ซีด เหลือง น้ำหนักลด) ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่นอน

สำหรับอาการของคุณพ่อ ขอแนะนำให้ปฏิบัติตามข้อ 2 เพราะอายุเกิน 40 ปี และมีอาการเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง เมื่อแพทย์ตรวจพบว่าเป็นจากโรคอะไร จะได้ให้การรักษาได้ถูกต้องและปลอดภัยต่อไป

ข้อมูลสื่อ

304-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 304
สิงหาคม 2547
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ