• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

หัดเยอรมัน

http://www.doctor.or.th/article/detail/5435หัดเยอรมันเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากไวรัสชนิดหนึ่ง มีอาการไข้ และผื่นขึ้นคล้ายหัด แต่มีความรุนแรงและโรคแทรกซ้อนน้อยกว่าหัด ถือเป็นโรคไม่ร้ายแรง ถ้าเกิดกับเด็กหรือผู้ใหญ่ทั่วไป มักจะหายได้เองโดยไม่มีโรคแทรกซ้อนที่รุนแรง ที่สำคัญคือ ถ้าเกิดกับหญิงตั้งครรภ์ในระยะ ๓ เดือนแรก อาจทำให้ทารกในครรภ์ตายหรือพิการได้

# ชื่อภาษาไทย หัดเยอรมัน, เหือด
# ชื่อภาษาอังกฤษ German measles, Rubella, Three-day measles
# สาเหตุ
เกิดจากการติดเชื้อหัดเยอรมันซึ่งเป็นไวรัสที่มีชื่อว่า รูเบลลา (rubella) เชื้อจะอยู่ในน้ำมูก น้ำลายและเสมหะ ของผู้ป่วย ติดต่อโดยการไอ จาม หรือหายใจรดกัน โดยการสัมผัสถูกมือผู้ป่วยหรือสื่อกลาง (เช่น ลูกบิดประตู รีโมต โทรศัพท์ แก้วน้ำ เป็นต้น) ที่แปดเปื้อนเชื้อแล้วใช้นิ้วมือที่สัมผัสถูกเชื้อนั้น แคะจมูก หรือขยี้ตา เชื้อก็จะผ่านเยื่อเมือกเข้าไปในทางเดินหายใจ
มักพบติดต่อกันในหมู่คนที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยตามบ้าน โรงเรียน ที่ทำงาน ค่ายทำงาน เป็นต้น
ระยะฟักตัวของโรค ๑๔-๒๑ วัน

# อาการ ที่สำคัญคือ ผื่นขึ้นทั่วตัวคล้ายหัด ในเด็กเล็กมักมีผื่นขึ้นโดยไม่มีอาการไม่สบายอย่างอื่นที่เด่นชัดมาก่อน บางคนอาจมีน้ำมูกหรือถ่ายเหลวเล็กน้อยก่อนผื่นขึ้น
ในเด็กโตและผู้ใหญ่ เริ่มแรกอาจมีอาการไม่สบายเพียงเล็กน้อย (เช่น ไข้ต่ำๆ ปวดศีรษะ ปวดตา เจ็บคอ เบื่ออาหาร คลื่นไส้) หรืออาจมีอาการแบบไข้หวัด (มีไข้ น้ำมูก ไอ ปวดเมื่อย) ซึ่งจะมีอาการเป็นอยู่ ๑-๕ วัน ก่อนผื่นขึ้นและทุเลาเมื่อมีผื่นขึ้นแล้ว

ผื่นมีลักษณะเป็นผื่นราบ สีชมพูขนาดเล็กๆ มักไม่แผ่รวมเป็นแผ่นแบบหัด โดยเริ่มขึ้นที่หน้า (ชายผม รอบปาก ใบหู) แล้วกระจายลงมาตามคอ แขน ลำตัวและขาอย่างรวดเร็วภายใน ๑-๓ วัน ผื่นที่ขึ้นในแต่ละแห่งมักจะจางหายภายใน ๒๔ ชั่วโมง โดยเรียงลำดับจากหน้าลงมาที่ขา เมื่อผื่นที่หน้าเริ่มจางหาย ผื่นที่ ลำตัวบางครั้งอาจแผ่รวมกันเป็นแผ่นใหญ่ขึ้น ผื่นจะจางหายไปทั้งหมดภายในประมาณ ๓ วัน (ฝรั่งจึงเรียก ว่า หัด ๓ วัน) โดยไม่ทิ้งรอยผื่นสีคล้ำหรือหนังลอกแบบ หัด ยกเว้นในรายที่เป็นผื่นมากอาจลอกแบบขุยละเอียด โดยทั่วไปมักไม่มีอาการคันนอกจากในผู้ใหญ่บางคน อาจมีอาการคันเล็กน้อยได้

นอกจากนี้ มักพบว่ามีต่อมน้ำเหลืองโต (คลำได้เป็นเม็ดตะปุ่มตะปา) ตรงบริเวณหลังหู หลังคอ
บางคนอาจเป็นหัดเยอรมัน โดยไม่มีผื่นขึ้นก็ได้ แต่สามารถแพร่เชื้อให้คนอื่นได้

# การแยกโรค
ในระยะแรกเริ่ม ขณะมีอาการไข้ เจ็บคอ น้ำมูกไหล ไอ จะดูคล้ายไข้หวัด หรือไข้หวัดใหญ่ (ซึ่งมักมีไข้สูงหรือปวดเมื่อยตามตัว แต่จะไม่มีผื่นขึ้นที่ตัวตามมา)
ระยะที่มีผื่นขึ้นตามตัว ควรแยกออกจากสาเหตุอื่น เช่น

๑. หัด จะมีไข้สูงตลอดเวลา หน้าแดง ตาแดง เบื่ออาหาร ซึม เด็กเล็กมักจะร้องงอแง หลังมีไข้ ๓-๔ วัน จะมีผื่นแดงขึ้นตามตัว เริ่มขึ้นที่ชายผมและซอกคอก่อน ต่อมาจะลามไปตามหน้าผาก ใบหน้า ลำตัว และแขนขา โดยที่ผื่นเล็กๆ จะค่อยๆ แผ่ติดกันเป็นแผ่นกว้าง ผื่นจะค่อยๆ จางหายภายใน ๔-๗ วัน เหลือให้เห็นเป็นรอยแต้มสีคล้ำๆ และอาจมีอาการหนังลอกตามมา ไข้จะเป็นอยู่ประมาณ ๑ สัปดาห์ (มักจะทุเลาหลังผื่นขึ้นประมาณ ๓-๔ วัน)

๒. ส่าไข้ หรือไข้ผื่นกุหลาบในทารก (roseolar infantum) จะมีไข้สูงตลอดเวลา (โดยไม่มีอาการอื่นๆ ชัดเจน) อยู่ ๓-๕ วัน แล้วไข้จะลดลงได้เอง หลังไข้ลดไม่กี่ชั่วโมงจะมีผื่นแดงขึ้นตามตัว ตอนผื่นขึ้น ผู้ป่วยจะรู้สึกสุขสบายดี ผื่นจะจางหายไปภายใน ๒ วัน มักพบในเด็กอายุไม่เกิน ๓ ขวบ (พบมากในช่วง ๖-๘ เดือน)

๓. ไข้เลือดออก จะมีไข้สูงตลอดเวลา หน้าแดง ตาแดง ซึม เบื่ออาหาร หลังมีไข้ ๒-๓ วัน อาจมีผื่นแดงขึ้นตามลำตัวและแขนขา ซึ่งจะจางหายไปภายใน ๒-๓ วัน บางคนอาจพบมีจุดเลือดออก ลักษณะเป็นจุดแดงเล็กๆ (รีดหนังให้ตึง ไม่จางหาย)

๔. ผื่นจากยา จะมีผื่นแดงขึ้นตามใบหน้า ลำตัวและแขนขา โดยเกิดขึ้นหลังจากกินยารักษาอาการไม่สบาย (ไข้หวัด เจ็บคอ ไอ ท้องเสีย) โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มยาปฏิชีวนะ ผื่นอาจมีอาการคันหรือไม่คันก็ได้

# การวินิจฉัย
แพทย์มักจะวินิจฉัยโรคหัดเยอรมัน จากอาการแสดง ได้แก่ ลักษณะผื่นที่ขึ้น และการตรวจพบต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณหลังคอ และข้างคอ ๒ ข้าง
ในรายที่จำเป็นต้องวินิจฉัยให้แน่ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหญิงตั้งครรภ์ สามารถกระทำโดยการทดสอบทางน้ำเหลือง เพื่อตรวจหาระดับสารภูมิต้านทาน (แอนติบอดี) ต่อเชื้อหัดเยอรมัน หรือโดยการเพาะเชื้อจากจมูกและคอหอยของผู้ป่วย

# การดูแลตนเอง
๑. พักผ่อน ดื่มน้ำมากๆ เช็ดตัวเวลามีไข้
๒. ถ้าเบื่ออาหารให้ดื่มนม น้ำหวาน น้ำผลไม้
๓. ถ้ามีไข้สูงให้ยาลดไข้ - พาราเซตามอล (ผู้ที่อายุ ต่ำกว่า ๑๙ ปี ควรหลีกเลี่ยงการใช้แอสไพรินเพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรย์ซินโดรม ซึ่งเป็นโรคที่มีอันตรายร้ายแรง)
๔. ถ้าคัน ทายาแก้ผดผื่นคัน (คาลาไมน์โลชั่น)

# ควรไปพบแพทย์ เมื่อมีลักษณะข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้
๑. พบในหญิงตั้งครรภ์ ที่มีอาการสงสัยว่าเป็นหัดเยอรมัน หรือสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นหัดเยอรมัน
๒. มีอาการซึม ไม่ค่อยรู้ตัว หมดสติหรือชัก
๓. มีจุดแดงจ้ำเขียวตามผิวหนัง หรือมีเลือดออก
๔. มีอาการดีซ่าน (ตาเหลือง) แขนขาอ่อนแรง เจ็บหน้าอก หรือหอบเหนื่อย
๕. อาการไม่ทุเลาใน ๑ สัปดาห์
๖. มีความวิตกกังวล หรือไม่มั่นใจที่จะดูแลรักษาตนเอง

# การรักษา
เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์จะทำการวินิจฉัยโดยการซักถามอาการและตรวจร่างกายเป็นหลัก ในรายที่ต้องการวินิจฉัยให้แน่ชัด อาจต้องทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม (เช่น ตรวจเลือด)
ถ้าพบว่าเป็นโรคหัดเยอรมัน สำหรับเด็กและผู้ใหญ่ที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ ก็จะให้การรักษาตามอาการและแนะนำการปฏิบัติตัวต่างๆ
ส่วนในหญิงตั้งครรภ์ แพทย์จะยืนยันการวินิจฉัยโดยการตรวจเลือด (ทดสอบทางน้ำเหลือง) ซึ่งอาจต้องตรวจอย่างน้อย ๒ ครั้ง

ถ้าพบว่าเป็นหัดเยอรมัน สำหรับหญิงที่ตั้งครรภ์ในระยะ ๓ เดือนแรก ทารกในครรภ์มีโอกาสพิการสูง แพทย์จะแนะนำให้ยุติการตั้งครรภ์ ส่วนครรภ์ในระยะเดือนที่ ๗-๙ ทารกในครรภ์มักจะปลอดภัย ส่วนครรภ์ในระยะเดือน ๔-๖ ทารกอาจมีโอกาสพิการได้ แต่น้อยกว่าระยะ ๓ เดือนแรก แพทย์จะตัดสินใจเป็นรายๆ ว่าจำเป็นต้องยุติการตั้งครรภ์หรือไม่

ในรายที่ไม่ต้องการยุติการตั้งครรภ์ แพทย์อาจพิจารณาฉีดอิมมูโนโกลบูลิน ซึ่งเป็นสารภูมิต้านทานแก่ ผู้ป่วย วิธีนี้แม้ว่าจะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อของทารกในครรภ์แต่ก็ช่วยลดความรุนแรงของโรคที่เกิดกับทารกได้

# ภาวะแทรกซ้อน
ที่สำคัญคือ ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากเชื้อหัดเยอรมันแพร่จากแม่ไปสู่ลูกในครรภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในระยะ ๓ เดือนแรก อาจทำให้เกิดการแท้ง หรือการตายคลอด (stillbirth หรือการคลอดทารกที่ตายในครรภ์) ส่วนทารกที่รอดชีวิต จะเกิดความผิดปกติหรือความพิการแต่กำเนิด ซึ่งเรียกว่า โรคหัดเยอรมันแต่กำเนิด (congenital rubella) ซึ่งมักจะมีความผิดปกติหลายอย่าง รวมกันที่พบบ่อยได้แก่ ทารกเจริญเติบโตช้า (น้ำหนักแรกเกิดน้อย) ต้อกระจก (พบได้ ๑ ใน ๓ ของทารกที่เป็นหัดเยอรมันแต่กำเนิดอาจเป็นข้างเดียว หรือ ๒ ข้าง) จอประสาทตาพิการ (retinapathy) นัยน์ตาเล็ก (micro-phthalmia) หูหนวก (มักเป็น ๒ ข้าง) หัวใจพิการ (ได้แก่ patent ductus arteriosus) ปัญญาอ่อน ภาวะเกล็ดเลือด ต่ำ ตับโต ม้ามโต นอกจากนี้ ความผิดปกติที่อาจ พบได้แต่ไม่บ่อย เช่น ต้อหิน ศีรษะเล็กผิดปกติ ผนังหัวใจรั่ว (ได้แก่ ASD VSD) ซีด ดีซ่าน ตับอักเสบ สมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เป็นต้น ซึ่งบางอย่างอาจทำให้ทารกเสียชีวิตหลังคลอดได้

โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติของทารก ในครรภ์ขึ้นกับอายุครรภ์ที่แม่ติดเชื้อหัดเยอรมัน มีรายงานว่า ถ้าแม่เป็นหัดเยอรมันขณะตั้งครรภ์ ๒ เดือนแรก พบทารกผิดปกติ ถึงร้อยละ ๖๐-๘๕ ถ้าแม่เป็นหัดเยอรมัน ขณะตั้งครรภ์เดือนที่ ๓ พบทารกผิดปกติประมาณ ๑ ใน ๓

ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้ในคนทั่วไปที่ เป็นหัดเยอรมัน มีดังนี้
- ข้ออักเสบ ๑ ข้อหรือหลายข้อ มักพบในเด็กโตและผู้ใหญ่ และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ซึ่งมักจะหายได้เอง
- สมองอักเสบ พบได้ประมาณ ๑ ใน ๖,๐๐๐ คน พบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก มักเกิดหลังผื่นขึ้น ๒-๔ วัน (บางคนอาจเกิดพร้อมผื่นขึ้น) มีอัตราตายถึงร้อยละ ๒๐-๕๐ 
- อื่นๆ เช่น ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (อาจทำให้มีภาวะเลือดออก) ประสาทตาอักเสบ ไขสันหลังอักเสบ ตับอักเสบ เยื่อบุหัวใจหรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เป็นต้น

# การดำเนินโรค
สำหรับเด็กและผู้ใหญ่ทั่วไป มักจะมีอาการอยู่ประมาณ ๓-๕ วัน หรือประมาณ ๑ สัปดาห์ อาการไข้และผื่นจะทุเลาไปได้เอง ส่วนอาการต่อมน้ำเหลืองโตอาจขึ้นอยู่นานเป็นแรมเดือน แล้วจะค่อยๆยุบหายไปในที่สุด
ส่วนน้อยที่อาจมีภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวตามมา

# การป้องกัน
๑. โรคนี้สามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน ซึ่งนิยมฉีดวัคซีนรวม หัด-คางทูม-หัดเยอรมัน (MMR) แก่เด็กทุกคน ตั้งแต่อายุ ๙-๑๒ เดือนและฉีดซ้ำอีกครั้ง เมื่ออายุ ๔-๖ ขวบ
กลุ่มเด็กหญิงวัยรุ่น หรือหญิงวัยเจริญพันธุ์ถ้ายังไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้มาก่อน ควรฉีดวัคซีนป้องกันหัดเยอรมันเดี่ยวๆ หรือวัคซีนรวม (MMR) ให้ ๑ ครั้ง

ถ้าเป็นหญิงวัยเจริญพันธุ์ที่แต่งงานแล้ว เพื่อความ ปลอดภัยแนะนำให้ฉีดวัคซีนในระยะที่มีประจำเดือนและคุมกำเนิดอย่างน้อย ๓ เดือน (แต่ถ้าหากบังเอิญเกิดการตั้งครรภ์ภายใน ๓ เดือน หลังฉีดวัคซีนป้องกันหัดเยอรมัน ก็ไม่ควรวิตกกังวล เพราะยังไม่มีรายงานว่า ทารกได้รับอันตรายจากการฉีดวัคซีนชนิดนี้แก่มารดา)

๒. เมื่อมีคนใกล้ชิดป่วยเป็นหัดเยอรมัน ควรปฏิบัติดังนี้
- ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงการไอ จามรดใส่ผู้อื่น และควร แยกตัว อย่าเข้าใกล้คนอื่น จนกว่าจะพ้นระยะแพร่เชื้อ (ประมาณ ๖ วัน หลังจากผื่นหาย)
- ผู้ที่ไม่ป่วย ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิด หรือใช้ของใช้ร่วมกับผู้ป่วย ควรหมั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ เพื่อชะเอาเชื้อที่อาจติดมากับมือออกไป

# ความชุก โรคนี้พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ พบอัตราป่วยสูงสุดในช่วงอายุ ๑๕-๒๔ ปี พบได้ประปรายตลอดทั้งปี และบางปีอาจมีการระบาดได้ ในปัจจุบันพบโรคนี้น้อยลง เนื่องจากมีการฉีดวัคซีนป้องกันอย่างทั่วถึงมากขึ้น
 

ข้อมูลสื่อ

322-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 322
มีนาคม 2549
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ