• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ตัวอย่างผู้ป่วยที่ต้องรักษา "คน" ให้ได้ก่อน "ไข้ "(ต่อ)

 ตัวอย่างผู้ป่วยรายที่ ๓๖
มีประวัติโรคลมชักมาตั้งแต่เกิด
เมื่อตอนเช้ามืด บิดาผู้ป่วยได้ยินเสียงตึงตังในห้องนอนลูก วิ่งเข้าไปดู พบว่าลูกกำลังชักอยู่ จึงเข้าไปช่วยไม่ให้ลูกเกิดอันตราย แล้วเรียก ๑๖๖๙

ในการตรวจเยี่ยมผู้ป่วยที่ห้องฉุกเฉินในเย็นวันหนึ่ง เมื่อเดินตรวจเยี่ยมมาถึงเตียงชายหนุ่มรูปร่างสูงใหญ่นอนหลับอย่างสบายอยู่บนเตียงเข็น (เตียงแคบๆ ที่มีราวเหล็ก ๒ ข้างกันผู้ป่วยพลิกตกจากเตียง และมีล้อ ๔ ล้อสำหรับเข็นผู้ป่วยไปยังที่ต่างๆ ได้) โดยมีบิดายืนเฝ้าดูลูกอยู่ข้างเตียง

แพทย์ประจำบ้าน :
"ผู้ป่วยรายนี้เป็นชายโสด อายุ ๒๔ ปี มีประวัติเป็นโรคลมชักมาตั้งแต่เด็ก ได้รับการรักษามาตลอด ผู้ป่วยยืนยันว่ากินยากันชักอย่างสม่ำเสมอ ไม่ได้ขาดยา
เมื่อตอนเช้ามืด บิดาผู้ป่วยได้ยินเสียงตึงตังในห้องนอนลูก วิ่งเข้าไปดู พบว่าลูกกำลังชักอยู่ จึงเข้า ไปช่วยไม่ให้ลูกเกิดอันตราย แล้วเรียก ๑๖๖๙ ไปช่วยรับผู้ป่วยมาส่งโรงพยาบาล เพราะผู้ป่วยตัวใหญ่และน้ำหนักมาก จนญาติๆ อุ้มลงบันไดไม่ไหว

เมื่อมาถึงโรงพยาบาล ผู้ป่วยก็ตื่นดีแล้ว พูดรู้เรื่อง และยืนยันว่ากินยากันชักสม่ำเสมอไม่ได้ขาดยา
ตรวจร่างกายเมื่อตอนมาถึงโรงพยาบาล และในขณะที่นอนอยู่ที่นี่ตั้งแต่เช้าจนถึงเดี๋ยวนี้ ก็ไม่พบความผิดปกติอะไรครับ
อ้อ ผลเลือดต่างๆ ก็ไม่มีอะไรผิดปกติ และระดับยากันชักในเลือดก็อยู่ในเกณฑ์ดีครับ "Ž
อาจารย์ : "แล้วหมอให้ผู้ป่วยนอนแช่อยู่ในห้องฉุกเฉิน เพื่ออะไร"
แพทย์ประจำบ้าน : "คือว่าผมปรึกษาแพทย์ระบบประสาทแล้วเขาบอกว่า ให้ผู้ป่วยนอนในห้องฉุกเฉิน เพื่อเฝ้าดูอาการสัก ๒๔ ชั่วโมงครับ"Ž
อาจารย์ : "เฝ้าดูอาการเพื่อจะให้การรักษาอะไร สมมุติว่า ถ้าผู้ป่วยชัก หมอจะเพิ่มยากันชักที่ผู้ป่วยกินอยู่ไหม เพราะระดับยาในเลือดก็สูงมากแล้ว ถ้าเพิ่มยาอีก ก็อาจจะเป็นพิษได้
ถ้าผู้ป่วยไม่ชักอีก หมอจะทำการรักษาอย่างไร หรือก็ให้ผู้ป่วยกลับบ้านโดยให้กินยาแบบเดิม"Ž
แพทย์ประจำบ้าน : "แพทย์ระบบประสาทไม่ได้บอกครับ ว่าจะทำอย่างไรต่อไป ถ้าผู้ป่วยชักหรือไม่ชัก เขาเพียงแต่ ให้นอนดูอาการ ๒๔ ชั่วโมงแล้วจะมาดูผู้ป่วยใหม่ครับ"Ž
อาจารย์ : "สมมุติว่าหมอเป็นหมอระบบประสาท หมอจะรักษาผู้ป่วยคนนี้อย่างไร"
แพทย์ประจำบ้าน : "ก็คงเหมือนกับพี่เขาครับ คือให้นอนดูอาการไปก่อน"Ž
อาจารย์ : "ถ้าอย่างนั้น สมมุติว่าหมอเป็นผู้ป่วยรายนี้ หมออยากให้ผมรักษาหมออย่างไร"Ž
แพทย์ประจำบ้าน : "ถ้าผมเป็นผู้ป่วย ผมอยากให้อาจารย์รักษาผมให้ดีขึ้นโดยเร็ว แล้วผมจะได้กลับบ้านเร็วๆ ครับ"Ž
อาจารย์ : "แล้วทำไมหมอไม่ทำเช่นนั้นให้ผู้ป่วยรายนี้"Ž
แพทย์ประจำบ้าน : "ผมไม่ทราบจะทำอย่างไรครับ"Ž
อาจารย์ : "แล้วทำไมหมอไม่ถามหมอระบบประสาทว่าควรทำอย่างไร ถ้าผมเป็นผู้ป่วย ผมก็ต้องการเหมือนกับหมอ คือต้องการกลับบ้านเร็วๆ ผมไม่ยอมให้จับผมมานอนแช่อยู่บนเตียงอย่างนี้หรอก
หมอคิดว่านอนบนเตียงเข็นแคบๆ อย่างนี้สบายหรือ ยิ่งผู้ป่วยตัวอ้วนใหญ่อย่างนี้ยิ่งไม่สบาย เพราะต้องนอนหงายอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่เช้าจนถึงเย็น พลิกตัวไม่ได้เลย ป่านนี้คงปวดเมื่อยน่าดู โชคดีที่ผู้ป่วยได้ยากันชัก ทำให้ง่วงและเพลีย จึงหลับได้"
แพทย์ประจำบ้าน : "แล้วอาจารย์จะให้ผมทำอย่างไรครับ"Ž
อาจารย์ : "อะไรทำให้ผู้ป่วยรายนี้ชักทั้งที่เขาไม่ชักมาหลายเดือนแล้ว"Ž
แพทย์ประจำบ้าน : "ไม่ทราบครับ เพราะผู้ป่วยก็ไม่ขาดยา ระดับยาในเลือดก็อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่สูบบุหรี่หรือกินเหล้า ไม่มีไข้ น้ำตาล เกลือแร่และสารเคมีต่างๆ ในเลือดปกติครับ"Ž
อาจารย์จึงหันไปพูดกับบิดาผู้ป่วย
อาจารย์ : "สวัสดีครับ ลูกคุณดีขึ้นมั้ยครับ"Ž
บิดาผู้ป่วย : "ดีขึ้นครับ ไม่ได้ชักอีกเลย ทั้งที่กินยาเท่าเดิมหลังมานอนที่โรงพยาบาลแล้ว"
อาจารย์ : "คุณคิดว่าอะไรเป็นสาเหตุให้อาการชักของลูกกลับมากำเริบขึ้นอีกครับ"Ž
บิดาผู้ป่วย : "ผมคิดว่า ลูกโหมงานมากเกินไป ระยะนี้เขามีงานมาก ทำงานหามรุ่งหามค่ำ ไม่ค่อยได้นอนมา ๒-๓ คืน แล้วครับ ผมพยายามบอกให้เขาลดงานลง เขาก็ไม่ยอม บอกว่างานเร่งมาก ตอนนี้มาหลับปุ๋ยเลยที่โรงพยาบาล"Ž
อาจารย์ : "แล้วคุณคิดว่า นอนที่บ้านกับนอนที่โรงพยาบาลอย่างไหนจะสบายกว่ากันครับ"Ž
บิดาผู้ป่วย : "นอนบ้านสบายกว่าแน่ๆ ครับ แต่คุณหมอคงคิดว่านอนโรงพยาบาลจะปลอดภัยกว่า จึงให้นอนโรงพยาบาลกระมังครับ"Ž
อาจารย์ : "คุณคงได้ยินผมคุยกับคุณหมอเขาแล้วว่า เขาให้ลูกคุณนอนดูอาการ แล้วถ้าลูกคุณมีอาการกำเริบ ขึ้นมา เขาก็ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไร เพราะถ้าจะเพิ่มยากันชัก ขึ้นไปอีก เขาก็กลัวว่าลูกคุณจะเป็นพิษจากยา จะให้ยาตัวอื่น ก็ไม่แน่ใจว่าจะเป็นประโยชน์หรือเปล่า หรือกลับจะเป็นโทษ ทำให้ลูกคุณง่วงหรือซึมเอง จนทำงานไม่ได้"
บิดาผู้ป่วย : "ถ้าอย่างนั้น อาจารย์คิดว่าผมควรจะ ทำอย่างไรดี"Ž
อาจารย์ : "ถ้าคุณคิดว่า ลูกคุณมีอาการชักกำเริบขึ้นมาอีกเพราะเขาทำงานหนักเกินไป จนไม่ได้หลับได้นอนก็ควรให้เขาหยุดทำงานสัก ๒-๓ วัน ให้พักผ่อนเต็มที่ ก็คงจะป้องกันไม่ให้เขาชักอีกได้ แทนที่จะเพิ่มยากันชัก ทำให้เกิดพิษหรือผลข้างเคียงจากยาได้"Ž

อนึ่ง การที่เขาหยุดชักเองขณะที่มาโรงพยาบาล แล้วหลังจากมาถึงโรงพยาบาลก็เป็นปกติและไม่ชักอีกแถมยังหลับอย่างสบายอีกด้วย แสดงว่ายากันชักคงเพียงพอแล้ว ถ้าเราสามารถหยุดยั้งสาเหตุหรือชนวนที่ทำให้อาการเขากำเริบขึ้นแล้ว เขาคงจะไม่ชักอีก
บิดาผู้ป่วย : "ถ้าอย่างนั้นผมพาลูกกลับบ้านดีกว่า ครับ ไม่อย่างนั้น ผมต้องยืนเฝ้าเขาทั้งคืนแบบนี้ คง ไม่สนุกแน่"Ž
อาจารย์ : "ผมก็คิดว่านอนดูอาการที่บ้านจะสบายกว่า ครับ ถ้าเขาชักอีก ก็อย่าตกใจ และเขาคงหยุดชักเองเช่นเดิม"Ž

คนชอบเข้าใจผิด คิดว่านอนโรงพยาบาลจะปลอดภัย ที่จริงโรงพยาบาลเป็นสถานที่เสี่ยงภัยมากกว่า ที่บ้านมากและไม่สะดวกสบายเลย เพราะติดเชื้อโรคได้ง่าย คนไข้แออัด แพทย์และพยาบาลไม่เพียงพอ ทำให้ดูแลไม่ทั่วถึง เกิดปัญหาต่างๆ ได้ง่าย

เมื่อครั้งโรคซาร์ส (SARS) ระบาดในฮ่องกง หมอ พยาบาล คนไข้และญาติเป็นร้อยคนต้องถูกกักตัวไว้ในโรงพยาบาลเป็นสัปดาห์ เพราะเขากลัวว่าจะพาเชื้อโรคซาร์สในโรงพยาบาลไปเผยแพร่ให้แก่ประชาชนทั่วไปนอกโรงพยาบาล โรงพยาบาลจึงเป็นสถานที่ที่มีเชื้อโรคมากกว่าที่บ้านครับ
 

ข้อมูลสื่อ

322-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 322
กุมภาพันธ์ 2549
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์