• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ภาวะหัวใจ-ไตไม่สัมพันธ์กัน

"ดิฉันเป็นโรคนอนไม่หลับมาหลายปี ตกใจง่าย ระยะหลังฝันบ่อย หลับไม่สนิท ความจำเสื่อมลงมาก"
"ดิฉันรู้สึกปากแห้งคอแห้ง เวียนศีรษะ มีเสียงดังในหู นอนไม่ค่อยจะหลับ กลัวกลางคืน เพราะกลัวการนอนไม่หลับ หมอให้ยานอนหลับมากินหลายปี ถ้าคืนไหนไม่ได้กิน รับรองไม่หลับแน่ ระยะหลังกินยาเดิมก็เอาไม่ค่อยอยู่"Ž

อาการนอนไม่หลับ ในทัศนะแพทย์จีนมีหลายสาเหตุ สาเหตุสำคัญประการหนึ่ง คือยินของหัวใจและยินของไตพร่อง ทำให้เกิดไฟจากภาวะพร่อง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการนอนไม่หลับ ร่วมกับอาการอื่นๆ การวินิจฉัยแยกแยะภาวะของโรคและร่างกาย และวางแผนการรักษา จึงมีความสำคัญ

ภาวะหัวใจและไตไม่สัมพันธ์กัน คืออะไร
มีอาการสำคัญที่ผู้ป่วยมาพบด้วยปัญหาอะไร มีอาการอื่นๆ ร่วมอะไรบ้าง การตรวจลิ้นและชีพจร พบความผิดปกติอะไร
ภาวะหัวใจและไตไม่สัมพันธ์กัน บางครั้งเรียกว่า ภาวะไฟกำเริบเนื่องจากยินของหัวใจและไตพร่อง หรือน้ำกับไฟไม่ประสานเกื้อกูลกัน
อาการสำคัญที่ผู้ป่วยมาพบหมอคือ หงุดหงิด นอนไม่หลับ ร่วมกับมีอาการไฟหัวใจแกร่งเนื่องจาก ยินของไตพร่อง กล่าวคือ ใจสั่น ตกใจง่าย ฝันบ่อย เวียนศีรษะ หูมีเสียงดัง ลืมง่าย ปวดเมื่อยเอว ฝ่ามือฝ่าเท้าหน้าอกร้อนผ่าว หรืออาจมีน้ำกามเคลื่อนใน ผู้ชาย หรือไข้ตอนบ่ายๆ หลังเที่ยง มีเหงื่อลักออก มีอาการคอแห้งปากแห้ง
การตรวจลิ้น : ลิ้นแดง ฝ้าน้อย หรือไม่มีฝ้า
ลักษณะชีพจร : เล็กและเร็ว

สาเหตุของภาวะ  "หัวใจและไตไม่สัมพันธ์กัน"  คืออะไร
๑. ใช้ความคิด ใช้สมองมากเกินไป ทำให้ยินของหัวใจและไตถูกทำลาย
๒. จิต-อารมณ์ครุ่นคิด หงุดหงิด เกิดพลังอุดกั้น พลังอุดกั้นนานเกิดเป็นไฟ ทำลายสารยินของหัวใจ และไต
๓. ความพร่องอ่อนล้าจากโรคเรื้อรัง หรือการมีเพศสัมพันธ์ที่มากเกินไป กระทบยินของไต
๔. ปัจจัยก่อโรคจากภายนอก เข้าสู่ภายในร่างกาย เกิดไข้ความร้อน ทำลายสารยินของไต

กลไกการเกิดเป็นอย่างไร
ในภาวะปกติ น้ำของไตจะส่งไปยังหัวใจ ไฟหัวใจจะส่งไปยังไต น้ำและไฟประสานเกื้อกูลกัน หัวใจและไตสัมพันธ์กัน

ในภาวะที่ยินของหัวใจและไตพร่อง ทำให้พลังหยางแกร่ง ขึ้นสู่เบื้องบนรบกวนหัวใจและจิตประสาท ทำให้เกิดจิตใจหงุดหงิด นอนหลับไม่สนิท ตกใจง่าย ฝันบ่อย

ยินของไตพร่อง ทำให้ไขกระดูกหดหาย สมองและไขสันหลังขาดการหล่อเลี้ยง เกิดอาการเวียนศีรษะ หูมีเสียงดัง ความจำเสื่อม ปวดเมื่อยเอว ไฟจากภาวะพร่อง สะสมอยู่ภายใน กระตุ้นการเก็บกักของน้ำเชื้อ ทำให้น้ำกามเคลื่อน ร้อนฝ่ามือฝ่าเท้าและหน้าอก ไข้หลังเที่ยงวัน เหงื่อลักออก ปากคอแห้ง (เนื่องจากยินพร่องร่างกายขาดสารยินหล่อเลี้ยง) เกิดไฟเนื่องจากภาวะยินพร่อง
ตัวลิ้นแดง ฝ้าบนลิ้นน้อย หรือไม่มีฝ้า ชีพจรเล็กเร็ว เป็นปรากฏการณ์ของไฟแกร่งยินพร่อง

การดำเนินโรคของภาวะหัวใจและไตไม่สัมพันธ์กันคืออะไร
เมื่อยินพร่องและไม่ได้รับการเยียวยา นานเข้าพัฒนาการของโรคจะดำเนินไปในทางที่เกิดการทำลายหยาง และหยางที่ถูกทำลาย ในที่สุดก็เกิดภาวะยิน-หยางของหัวใจพร่องและยิน-หยางของไตพร่อง เมื่อไฟและน้ำไม่เกื้อกูลประสานกัน ภาวะของการ ทำงานของหัวใจและไตจะแปรปรวน เกิดภาวะจิตอารมณ์ ที่ไม่สามารถควบคุมได้ ความรู้สึกและจิต อารมณ์ จะลอยกระจายออกภายนอก เกิดอาการคลุ้มคลั่ง อาละวาด โรคจิตประสาท

การวินิจฉัยแยกแยะกับภาวะอื่นที่คล้ายคลึงกันอย่างไร
ต้องแยกแยะจากภาวะอื่นๆ คือ
๑. ไฟหัวใจแกร่งเกิน
ซึ่งเป็นภาวะแกร่ง อาการคล้ายกัน คือ นอนไม่หลับ ใจสั่น หงุดหงิด ลิ้นแดง ปากหรือลิ้นมีแผล ปลายลิ้นแดงเข้ม ชีพจรเร็วแรง
แต่ภาวะหัวใจและไตไม่สัมพันธ์กัน จะมีภาวะไตยินพร่องร่วมกัน คือ ปวดเมื่อยเอว เข่าอ่อนแรง เวียนศีรษะ เสียงดังในหู ลืมง่าย น้ำกามเคลื่อน ร้อนฝ่ามือฝ่าเท้าและหน้าอก ฯลฯ
๒. ยินของไตพร่อง
มีแต่อาการยินพร่อง แต่ไม่มีอาการทางหัวใจ ไม่มีอาการใจสั่น หงุดหงิด นอนไม่หลับ
๓. เสมหะร้อนแกร่งอุดกั้นของถุงน้ำดี
คนไข้มักมีอาการนอนไม่หลับ ใจสั่น ตกใจง่าย ฝันบ่อย หงุดหงิด และมีอาการเกี่ยวกับการอุดกั้นของพลังตับ เช่น ปวดแน่นชายโครงทรวงอก ชอบถอนหายใจ เวียนศีรษะ ตามัว คอขม อาเจียน ตัวลิ้นจะมีสีแดง ฝ้าเหลืองเหนียว ชีพจรตึงและเร็ว

แนวทางการรักษาภาวะหัวใจและไตไม่สัมพันธ์ และตำรับที่ใช้ คืออะไร
ใช้หลัก บำรุงยิน ดึงไฟลงล่าง เชื่อมประสานหัวใจ และไต
ตำรับยาที่ใช้
๑. หวงเหลียนอาเจียวทัง  : บำรุง ยิน ดึงไฟลงล่าง (ไฟหัวใจแกร่ง ยินของไตพร่อง)
ตัวยาสำคัญ
หวงเหลียน, อาเจียว, หวงฉิน, ไป๋สาว, จีจื่อหวง
๒. เจียวไท่หวาน : ไฟหัวใจแกร่ง หยางของไตพร่อง
ตัวยาสำคัญ
หวงเหลียน, โย่วกุ้ย
เนื่องจากอาการไฟแกร่งกำเริบขึ้นบน และยินของไตพร่อง การรักษาต้องขับไฟหัวใจ และบำรุงยินของไต เป็นหลัก

ภาวะหัวใจและไตไม่สัมพันธ์กัน มักแสดงออกถึงอาการนอนไม่หลับเรื้อรัง และมีความอ่อนเพลียทางร่างกายและการวิตกกังวลทางจิตใจร่วมด้วยเสมอ การรักษาต้องใช้เวลาต่อเนื่องค่อนข้างนาน จึงต้องควบคุมทางจิตใจและออกกำลังกายร่วมด้วยจะได้ผลดีขึ้น

เปรียบเทียบกับโรคในทัศนะแผนปัจจุบัน ได้แก่โรคอะไร
ภาวะหัวใจและไตไม่สัมพันธ์กัน ในทางแพทย์แผนจีนมีหลายอาการ ไม่ใช่โรคใดโรคหนึ่งโดยเฉพาะ มีกลุ่มอาการเกี่ยวข้องกับหัวใจ เช่น นอนไม่หลับ ใจสั่น ลืมง่าย ฝันบ่อย เกี่ยวข้องกับไต เช่น ปวดเมื่อยเอว น้ำกามเคลื่อน เหงื่อลักออก ฯลฯ

ในทางแพทย์แผนปัจจุบัน ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ ด้วยปัญหาการนอนไม่หลับเรื้อรัง ใจสั่น ประสาทอ่อนล้า ระบบต่อมไร้ท่อหรือฮอร์โมนแปรปรวน อ่อนเพลีย ร่างกายทรุดโทรมเรื้อรัง

การศึกษาวิจัยและการรักษาทางคลินิก มีข้อมูลอะไรบ้าง

- วารสาร เจียงซีจงอีเย่า
รายงานการใช้ตำรับยา หวงเหลียนอาเจียวทังกับผู้ป่วยนอนไม่หลับเรื้อรัง ๑๘ ราย ได้รับผลดีในเวลารวดเร็ว คนที่รับยาน้อยสุด ๓ ชุด มากสุด ๑๒ ชุด ก็สามารถเห็นผลการรักษา
- วารสารจงหัวอีเสวี่ยจ๋าจื่อ
รายงานการใช้ตำรับยาเจียวไท่หวาน รักษาผู้ป่วยที่มีภาวะไฟหัวใจแกร่ง ไตหยางพร่อง พบว่าปริมาณแคททีโคลามีน (Catecholamine) ในปัสสาวะ ๒๔ ชั่วโมง สูงขึ้นกว่าระดับปกติ และปริมาณ 17-hydroxy-corticosteroi ในปัสสาวะ ๒๔ ชั่วโมง ต่ำลงกว่าระดับปกติ
เมื่อใช้การรักษาต่อเนื่อง พบว่าค่าสารทั้งสองสามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติและอาการต่างๆ ทางคลินิกดีขึ้น

สรุป
ภาวะหัวใจและไตไม่สัมพันธ์กัน มีอาการสำคัญของการนอนไม่หลับ ฝันบ่อย ตกใจง่ายร่วมกับอาการของไตยินพร่องหรือไตหยางพร่อง (ถ้าเป็นนานๆ)

ผู้ป่วยนอนไม่หลับเรื้อรัง มีหลายสาเหตุ ภาวะหัวใจ และไตไม่สัมพันธ์กันเป็นสาเหตุหนึ่ง การรักษาอาการนอนไม่หลับ จึงต้องวิเคราะห์แยกแยะภาวะของ โรคและร่างกาย รวมทั้งแก้ไขควบคุมภาวะจิตใจ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และกินอาหารที่เหมาะสมด้วย

ข้อมูลสื่อ

322-017
นิตยสารหมอชาวบ้าน 322
กุมภาพันธ์ 2549
แพทย์แผนจีน
นพ.วิทวัส (ภาสกิจ) วัณนาวิบูล