• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ตีนโทะ

ตีนโทะ

เห็นชื่อเรื่องแล้วผู้มิใช่ชาวปักษ์ใต้ขนานแท้และดั่งเดิมคงจะพิศวงสงสัยว่านี่มันอะไรกันแน่ ถึงชาวปักษ์ใต้ก็เถอะ หากเข้ามาอยู่ในกรุงเสียนานจนแหลงภาษาบ้านเราไม่ถนัดก็จะลืมเลือนคำนี้ไปบ้าง ค่าที่เรื่องราวหรืออาการ “ตีนโทะ" ตอนนี้มีน้อยลง มิได้พบกันหนาหูหนาตาเช่นแต่ก่อน แต่อันที่จริงแล้วก็ยังมิได้หมดไปทีเดียว

ผู้เขียนเองก็มิใช่นักภาษาศาสตร์จึงไม่ทราบที่มาของศัพท์นี้อย่างแน่ชัด ลองพยายามสันนิษฐานดูว่าภาษาถิ่นของเรามีสระหลายตัวที่ออกเสียงเพี้ยนจากการออกเสียงในภาษากลางเช่น บางถิ่นออกเสียง เอ เป็น แอ คำเรียกเด็กๆ ก็ออกเสียงเป็นแด็กๆ นาฬิกาโรเล็กซ์เลยกลายเป็น โรแล็กซ์

บางถิ่นออกเสียง อี เป็น เอ อย่างที่มีการล้อเลียนคำพูดว่า “เท่เน่ จังหวัดกระเบ่ ผมอยู่กระเบ่มาเส่ห้าเปแล้ว" บางแห่งออกเสียง โอ เป็น ออ ไปกรมก็ออกเสียงไปกร็อม เป็น ลมก็ออกเสียงเป็นล็อม เป็นต้น และบางถิ่นก็ออกเสียง อุ เป็น โอ – อู เป็น โอ เช่น หมู่คนเป็นโหม่คนสมุห์บัญชีเรียก สะโมหะบัญชี ดังนั้นคำว่า “โทะ” อาจมาจากคำว่า “ทุ”  ซึ่งน่าจะมาจากคำเต็มว่า “ปะทุ" ตามวิสัยของคนปักษ์ใต้ที่ชอบตัดคำหลายพยางค์ให้สั้นลง เหลือพยางค์ท้ายคำเดียว ถ้าที่ว่ามานี้ถูกต้อง คำว่า “ตีนโทะ” ในภาษาใต้ก็คงหมายถึงอาการหรืออาการแสดงของโรคชนิดหนึ่งที่เป็นแล้วทำให้มองเห็นว่าเท้ามีอาการบวมเป่งเหมือนจะปะทุออกมา อันภากลางเรียกว่า “โรคเท้าช้าง"  นั่นเอง ซึ่งใช้คำนี้เป็นภาษาราชการ

อันว่าภาษาราชการเรื่องโรคภัยไข้เจ็บกับภาษาประจำถิ่นนั้นส่วนใหญ่มิได้ตรงกัน เพราะบรรพบุรุษของเราก็มีความสังเกตสังกาถึงโรคภัยไข้เจ็บและอาการแสดงต่างๆ แล้วก็ตั้งชื่อเรียกโรคกันไปแต่เป็นเรื่องของการ “มองต่างมุม" กับทางราชการ เช่น โรคมาลาเรีย ของทางราชการ ชาวบ้านเรียก “ไข้จับสั่น" ก็ถูกต้อง เพราะตอนไข้ขึ้นสูงจะมีอาการหนาวสั่น เรียก “ไข้เว้น" เพราะไม่จับตลอดเวลาก็ถูกต้อง หรือเรียก “ไข้ป่า"  เพราะได้รับเชื้อมาจากในป่าก็ถูกต้องอีก

ภาษาราชการเสียอีกกลับผิดเต็มประตู เพราะมาลาเรียเป็นซากเดนของภาษาอิตาเลียน แปลว่า อากาศเลวเกิดจากความผิดพลาดของฝรั่งอิตาเลียนที่คิดว่าโรคนี้เกิดจากภาวะเลวร้ายของอากาศ ซึ่งแม้ตอนหลังฝรั่งเองก็ค้นพบว่า โรคนี้มิได้เกิดจากอากาศเสียหรืออากาศเลว แต่เกิดจากเชื้อโรคที่นำโดยยุงแต่ก็มิได้เปลี่ยนชื่อ คงเก็บไว้เป็นอนุสรณ์ของความผิดพลาดต่อไป

อีกโรคหนึ่งภาษาทางราชการเรียก “คุดทะราด" แต่ทางปักษ์ใต้เรียกด้วยศัพท์แสงขึงขังว่า “เภตรา" ชะรอยว่าโรคนี้เดิมทีคงไม่มีถิ่นแต่ถูก “อิมพอร์ต" เข้ามาทางสำเภาลำใหญ่ในระบบการค้าขายสมัยนั้นแต่โรคเดียวกับทางอีสานซึ่งไม่มี “เภตรา" หรือสำเภาใหญ่ไปติดต่อโดยตรงก็เรียกว่าโรค “ขี้โม้" ซึ่งไม่ทราบที่มาของศัพท์ หรือทางฝั่งจันทบุรีเรียกว่า “ตะเมา" ก็ไม่ทราบที่มาของชื่อเหมือนกัน

ทีนี้จะถามว่าโรคเท้าช้างนี้ในภาคอื่นของประเทศไทยนอกจากภาคใต้เขาเรียกด้วยภาษาถิ่นอย่างไร ก็ต้องตอบว่า ไม่มี ที่ว่าไม่มีนี่หมายความว่า ภาคอื่นของประเทศไทยไม่มีโรคเท้าช้าง จึงไม่มีศัพท์เรียก โรคนี้ในถิ่นอื่นๆ เรื่องนี้เป็นโรคแปลกที่ว่าโรคภัยไข้เจ็บบางอย่างก็เลือกถิ่นที่อยู่เหมือนกัน อย่างโรคเท้าช้างนี่ไม่ขอวีซ่าไปเยี่ยมเยือนภาคอื่นของประเทศไทยเลย

ในทางกลับกันกับโรคอื่น เช่น กาฬโรค ก็ไม่เคยรับพาสปอร์ตวีซ่าให้เดินทางมาเยือนภาคใต้เลย แล้วก็ดูเหมือนว่าจะมีการขีดเส้นระหว่างชุมพรกับประจวบคีรีขันธ์ว่าเหนือเส้นนี้จะไม่มีโรคเท้าช้าง ใต้เส้นนี้จะไม่เคยปรากฏว่าเกิดกาฬโรคเลย แต่เดี๋ยวนี้กาฬโรคก็หมดไปจากประเทศไทยหลายสิบปีแล้ว จะเรียกว่าสูญพันธุ์ไปจากโลกนี้ก็ยังได้ แต่ส่วนโรคที่ทำให้อวัยวะโตนอกจากเท้าช้างแล้วยังมีอีกหลายโรค เช่น คอโต อันทราบกันในปัจจุบันว่าเกิดจากการขาดไอโอดีนจากอาหารทะเล ก็เกิดในถิ่นไกลทะเล เรียกว่า “คอพอก"

ปักษ์ใต้ของเราอยู่ใกล้ทะเลจึงไม่ค่อยพบมากนัก นอกจากผู้อาศัยย่านภูเขาบรรทัด จึงไม่มีศัพท์เฉพาะว่า “คอโทะ" คงเรียกตามภาษาราชการว่า คอพอกเหมือนกัน ไม่เหมือนทางเหนือ เช่น แพร่ น่าน ก็มีศัพท์ที่เฉพาะของเขาเรียก “โรคเอ๋อ" ทีนี้พวกโรคที่ทำให้ท้องโตส่วนใหญ่ก็มาลาเรีย ทำให้ม้ามโต ก็เรียกว่า “ป้าง" หรือไข้ป้าง โดยศัพท์ท้องถิ่นคำว่า “ป้าง" ก็หมายถึง ม้าม นั่นเอง

เป็นที่น่าคิดว่า ถ้าดูตามแผนที่ประเทศไทยที่เขาว่าเป็นรูปขวานรูปกระบวยอะไรนั่นแหละ ถ้านึกถึงว่าเป็นรูปคนล่ะก็ ส่วนคอก็คงอยู่แถวแพร่ ลำปาง ซึ่งเป็นถิ่นของโรคคอพอก ส่วนท้อง ก็น่าจะเป็นภาคอีสาน ภาคกลางย่านดงพญาเย็น อันเป็นถิ่นของไข้ป้าง หรือโรคที่ทำให้ท้องโต แล้วภาคใต้ก็เป็นส่วนเท้า เป็นถิ่นของโรคเท้าช้าง

ก็ดูยุติธรรมดีแล้วนี่ แล้วน่าจะมีหมายเหตุอีกนิดหน่อยว่าเชื้อโรคเท้าช้าง ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เรียกว่า “ไมโครฟิลลาเรีย" นั้นมีอยู่พันธุ์หนึ่งที่ไม่มีผลต่อเท้า แต่ถ้าเข้าร่างกายแล้วส่วนที่จะโตแทนเท้าจะเป็นส่วนของลูกอัณฑะ เชื้อนี้พบในพม่าด้านมะริด ตะนาวศรี และผ่านชายแดนเข้ามาทางกาญจนบุรีบ้าง กะเหรี่ยง และมอญชายแดนก็เป็นประเภทอัณฑะโต พอจะวิเคราะห์ได้ว่าย่านกาญจนบุรีเป็นย่านอัณฑะของประเทศตามแผนที่ได้กระมัง

ถ้าเว้นจากไมโครฟิลลาเรียประเภทลงอัณฑะที่พบที่กาญจนบุรีแล้ว เชื้อไมโครฟิลลาเรียอื่นๆ ก็เป็นอันว่าเป็นสมาชิกที่เหนียวแน่นของสมาคมปักษ์ใต้โดยไม่ยอมย้ายถิ่นไปอยู่สมาคมอื่น ไหนๆ ก็เป็นสมาชิกสมาคมปักษ์ใต้แล้ว ลองมาทำความรู้จักกันดูสักทีว่าเป็นอย่างไร

เจ้าเชื้อโรคที่ว่านี้ไม่ใช่แบคทีเรียหรือไวรัส แต่เป็นประเภทที่เรียกว่า หนอนพยาธิ ก็คล้ายพยาธิลำไส้พวกพยาธิไส้เดือน พยาธิปากขอ เพียงแต่ว่าย่อส่วนเล็กกว่ามาก แล้วก็ไม่ได้อยู่ในลำไส้ แต่จะอยู่ในหลอดเลือดหรือท่อน้ำเหลือง เล็กมากจนมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ต้องส่องกล้องจุลทรรศน์ดูจึงจะเห็นได้

ไมโครฟิลลาเรียเป็นนามสกุลของมัน ชื่อก็มีหลายตัว แต่ที่พบในเมืองไทยมี 2 ชื่อ คือ แบงครอฟติกับมาลายี่ และที่ปักษ์ใต้ก็มักเป็นแบบ “มาลายี่" อันเป็นชนิดเดียวกับที่พบในมาเลเซีย ซึ่งสมัยที่พบยังเรียกชื่อประเทศว่า มลายูหรือมาลายา จึงตั้งชื่อให้ตามชื่อประเทศไปเลย

เมื่อเป็นเชื้อที่อยู่ในเลือด การติดต่อจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งจึงอาศัยยุงเป็นพาหะทำนองเดียวกับมาลาเรีย แต่ไม่เหมือนเอดส์ตรงที่โรคเท้าช้างไม่ติดต่อด้วยการสัมผัสโดยตรงหรือเพศสัมพันธ์ และต่างจากมาลาเรียตรงชนิดของยุงที่เป็นพาหะไม่เหมือนกัน ส่วนใหญ่คงทราบกันดีว่ามาลาเรียนั้นนำโรคโดยยุงก้นปล่อง แต่ในตระกูลยุงก้นปล่องซึ่งมีเกือบร้อยชนิดนั้น มีไม่ถึงสิบชนิดที่นำเชื้อไข้มาลาเรีย และมีเพียง 2-3 ชนิด เท่านั้นที่พบในเมืองไทย ส่วนโรคไข้เลือดออกในเด็กนั้นก็นำโดยยุงแต่เป็นตระกูลยุงลาย

สำหรับโรคเท้าช้างนั้นนำโดยยุงอีกตระกูลหนึ่ง คือ ยุงเหลือง ถิ่นที่อยู่ก็ต่างกัน มาลาเรียหรือไข้ป่าก็นำโดยยุงป่าซึ่งอยู่ในถิ่นน้ำใส น้ำไหล ยิ่งมีแสงแดดวับๆ แวมๆ ในป่าทึบแล้วล่ะก็ยิ่งชอบนัก ยุงลายเป็นยุงประเภทนครบาล อยู่ในบ้านเรือนชุมชน แหล่งเพาะต้องน้ำสะอาด อยู่ไม่ติดดิน คือ ต้องมีภาชนะรองรับ ส่วนยุงเหลืองนั้นเป็นยุงลูกทุ่งชอบอยู่ตามแหล่งน้ำที่มีน้ำขุ่นข้น แดดจ้า ถ้ามีพวกจอกแหนพอประมาณเหมือนย่านตำบลวังอ่าง ตำบลเคร็งของอำเภอชะอวด เป็นชอบนัก นั้นเป็นการว่าถึงถิ่นที่อยู่ ทีก็ไม่ใช่ว่ายุงทุกตัวจะต้องกินเลือดมนุษย์

ยุงที่กินเลือดมนุษย์หรือเลือดสัตว์ก็เถอะ เป็นเพียงยุงตัวเมียวัยสาวที่มีความต้องการเลือดไปช่วยให้ไข่สุกเท่านั้น ยุงตัวเมียที่ยังเด็กอยู่หรือเฒ่าชะแรแก่ชราแล้วก็ไม่เปรี้ยวปากอยากกินหรอก แต่ยุงที่กินเลือดมีกรรมอยู่อย่างหนึ่งที่ดูดเลือดไม่เป็น ใครจะไปด่าว่ายุงเป็นสัตว์ดูดเลือดแบบผีดิบแดร็กคิวล่านั้น เห็นจะไม่ถูก ยุงทำได้เพียงเอาปากซึ่งเป็นปล้องคล้ายหลอดดูดกาแฟเจาะเข้าไปผ่านผิวหนังคนจนถึงหลอดเลือด เหมือนเราเจาะท่อประปาให้แตก จากนั้นแรงดันของเลือดก็จะดันให้เลือดไหลเข้าปากยุงไปเองโดยไม่ต้องดูด เพราะยุงไม่มีกล้ามเนื้อกระพุ้งแก้มที่ใช้ดูด

แต่ว่าเลือดของคนที่อยู่ในหลอดเลือดนั้นไม่เหมือนน้ำในท่อประปาทีเดียว คือ ท่อประปานั้นถ้าแตก น้ำจะไหลออกจนกว่าจะมีใครไปอุดหรือไหลจนหมดถังสูงสำหรับจ่าย แต่เลือดของคนไม่ใช่อย่างนั้นธรรมชาติที่สร้างหรือพระผู้เป็นเจ้าที่สร้าง (แล้วแต่จะเชื่อตามลัทธิศาสนาใด) ได้ให้กลวิธีกำกับมาด้วยว่าเลือดถ้ามีอันเป็นไปต้องออกจากหลอดเลือดแล้ว ก็คงเป็นน้ำเลือดไหลออกชั่วครู่ ต่อทาก็จะมีสารชนิดหนึ่งที่อยู่ในน้ำเลือดจะแข็งตัวเป็นก้อนหรือเป็นลิ่มอุดปากแผลโดยอัตโนมัติ ถ้าแผลไม่ใหญ่เกินไป ยิ่งขนาดปากยุงเจาะลงไป ยิ่งแข็งตัวอุดได้เร็วมากก่อนยุงอิ่มด้วยซ้ำไป

กลไกแบบนี้เรียกว่า ธรรมชาติฉลาดมาก มิฉะนั้นการฆ่าคนจะทำกันได้ง่ายมาก แค่เปิดแผลขึ้นที่ไหนสักแห่งเลือดก็จะไหลออกจนหมดตัวแล้วก็ตายลงไปไม่ช้าก็เร็ว แต่ว่าธรรมชาตินั้นเองหรือพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียวกันก็เลยให้กลไกเพื่อความอยู่รอดของยุงไปด้วย กล่าวคือ เพื่อให้ยุงได้มีเลือดกินจนอิ่ม จึงได้สร้างสารกันเลือดแข็งตัวไว้ในน้ำลายยุงเสียด้วย ดังนั้นพอยุงกินเลือดคนเมื่อเอาปากเจาะเข้าหลอดเลือดได้แล้วก็บ้วนน้ำลายลงไปนิดหน่อย พอให้สารอย่างว่าทำให้เลือดแข็งตัวช้าลง จะได้มีเลือดเข้าปากพอจนอิ่ม แต่ว่าตอนบ้วนน้ำลายลงไปนี้ เจ้ายุงก้นปล่องก็บ้วนเชื้อมาลาเรียลงไป ยุงลายก็บ้วนเชื้อไวรัสไข้เลือดออกลงไป เจ้ายุงเหลืองก็บ้วนเจ้าไมโครฟิลลาเรียเชื้อโรคเท้าช้างลงไปด้วย อันนี้ยุงหาได้มีเจตนาไม่จะปรับโทษก็ได้เพียงดำเนินการโดยประมาทเท่านั้น

ถึงตอนนี้คนที่ได้รับเชื้อไมโครฟิลลาเรียเข้าไปในเลือดแล้ว แต่ยังดอก เขายังไม่เป็นโรคเท้าช้างเพราะว่าโรคนี้ยังมีขั้นตอนของมันเรียกว่า ยังต้องผ่านอีกหลายโต๊ะตามระบบราชการ เจ้าเชื้อโรคที่ว่านี้เมื่อผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองจากประเทศยุงสู่ประเทศคนได้แล้ว ก็ไปจ้องหาถิ่นทำเลพำนักอาศัยหรือทำมาหากินต่อไป

แหล่งทีพวกนี้ชอบอยู่ก็มักเป็นต่อมที่เกี่ยวข้องกับระบบไหลเวียนของเลือดและหลอดน้ำเหลือง ถิ่นที่ชอบมากๆ ก็เป็นย่านม้ามกับต่อมน้ำเหลืองย่านขาหนีบ ต่อมน้ำเหลืองของคนเรานั้นทำหน้าที่คล้ายด่านรักษาความปลอดภัยของตำรวจทหาร คือ เวลาที่คนเรามีบาดแผลที่สกปรก เชื้อโรคที่เข้าทางบาดแผลปลายมือปลายเท้าก็จะบุกรุกเข้าคุกคามอวัยวะภายใน

ต่อมน้ำเหลืองอันเป็นแหล่งรวมของเม็ดเลือดขาวชนิดต่างๆ ก็จะเข้าต้านทานเชื้อโรค อันเป็นผลให้เกิดการอักเสบที่ต่อมน้ำเหลือง ถ้าเป็นแผลที่เท้าก็จะมีไข่ดันบวมที่ขาหนีบ ถ้าเป็นแผลที่มือ ต่อมน้ำเหลืองที่อักเสบก็ทำให้ไข่ดันบวมที่รักแร้ เป็นต้น

เจ้าเชื้อไมโครฟิลลาเรียที่มาอยู่ที่ไข่ดันขาหนีบก็จะทำให้กลไกนี้เสียไป เรียกว่ามาติดสินบนที่ด่านให้เลิกกักกันที่ตรงนั้น พอด่านหรือต่อมน้ำเหลืองหมดสมรรถภาพไปแล้ว ร่างกายพึ่งพาตรงนั้นไม่ได้ก็ต้องต่อสู้เชื้อโรคที่เข้ามาทางแผลที่เท้าด้วยวิธีใหม่ คือ การส่งไพร่พลไปห้อมล้อมเชื้อโรคที่บุกเข้ามาตามบริเวณหลอดน้ำเหลืองที่ขาหนีบ

วิธีที่ไปห้อมล้อมก็โยการสร้างเป็นแผ่นพังผืดล้อมบริเวณถัดจากที่เชื้อโรคเข้ามาจากบาดแผล ถ้ามีเชื้อโรคละลอกต่อไปเข้ามาอีกก็ไปล้อมอีก เป็นหลายๆ ครั้งซ้ำแล้วซ้ำอีก แผ่นพังผืดก็หนาขึ้นหลายๆ ชั้นจนบริเวณเท้าโตขึ้นทุกที หนาเป่งแทบปะทุ ชาวบ้านก็เลยเรียกอาการเท้าจะปะทุเป็น “ตีน-ปะทุ" ออกเสียงด้วยสำเนียงปักษ์ใต้เป็น “ตีนโทะ" นั้นแล จะเห็นได้ว่ายุงหรือเชื้อไมโครฟิลลาเรียเป็นเพียงตัวนำเท่านั้นพอยุงกัดรับเชื้อไมโครฟิลลาเรียเข้าไปแล้วก็มิได้ทำให้เป็นโรคเท้าช้างทันที ทำนองเดียวกันกับคนที่รับเชื้อเอดส์แล้วก็ไม่ได้มีอาการเอดส์ทันทีแต่ต้องรอจนมีเชื้ออื่นจู่โจมกระแทกซ้ำ

แนวร่วมเอดส์ก็มักเป็น วัณโรค ปอดบวม แล้วจึงตายด้วยโรคซ้ำเติมในหลายปีต่อมา คนที่ได้รับเชื้อไมโครฟิลลาเรียก็เช่นเดียวกัน ไม่จำเป็นต้องเป็นโรคเท้าช้าง หรือถึงจะเป็นก็ต้องในหลายปีต่อมาหลังจากมีแผลที่เท้าซ้ำๆ ซากๆ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าสมัยก่อนแม้ข้าราชการที่อยู่ในท้องถิ่นชะอวด เมื่อตรวจเลือดพบเชื้อโรคก็มิได้มีอาการเท้าโต เพราะระดับนี้ไม่ได้ลุยทำงานในท้องไร่ท้องนา เดินทางก็มักมีพาหนะม้าหรือเรือ เท้าไม่ค่อยมีบาดแผล

ตรงกันข้ามกับชาวไร่ ชาวนาเดินดินที่มักถูกกิ่งไม้ ใบสับปะรดบาดย่านน่องหน้าแข้งบ่อยๆ ก็มักจะมีอาการเท้าโต ส่วนคนที่ซวย ไปมีบาดแผล โรคภัยไข้เจ็บ เช่น มีเชื้อราเข้าโจมตีบริเวณอัณฑะหรือรักษาความสะอาดไม่พอทำให้คัน เกาจนถลอก มีอักเสบบริเวณอัณฑะ ก็ค่อยๆ กลายเป็นโรคอัณฑะโต โดยกลไกทำนองเดียวกัน

พอว่ามาจนถึงว่าโรคเท้าช้างเกิดได้อย่างไร พอเข้าใจกันได้บ้างแล้วก็มาถึงว่าจะควบคุมได้อย่างไรก็ให้โชคดีกว่าเอดส์ที่มียาฆ่าเชื้อไมโครฟิลลาเรีย แต่คนมักเข้าใจผิดไปเรียกเป็นยารักษาโรคเท้าช้าง ทำให้เกิดความสับสนในงานควบคุมโรคเท้าช้าง จึงทำให้มีความยุ่งยากในโครงการพอสมควร อันที่จริงพอเรารู้มาแค่นี้ การควบคุมโรคน่าจะทำได้ง่าย คือ ถ้าไม่มียุงก็ไม่มีโรค ไม่มีไมโครฟิลลาเรียก็ไม่มีโรค หรือเอากำปั้นทุบดินว่าไม่มีคนก็ไม่มีโรค แต่ในการควบคุมก็ทำโดยกำจัดยุงหรือกำจัดเชื้อ แต่ไม่ใช่กำจัดคนน่าจะง่ายดี แต่พอทำจริงก็ไม่ง่ายอย่างคิด

พอเรารู้กันว่าถ้ากำจัดยุงหรือกำจัดไมโครฟิลลาเรีย - เชื้อโรคเท้าช้างอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างยิ่งดี ก็จะทำให้โรคเท้าช้างหมดไป ก็น่าจะควบคุมโรคนี้ได้โดยง่าย ยิ่งมีการค้นพบ ดี.ดี.ที. และเคมีกำจัดยุงชนิดอื่นๆ หลังสงครามโลกครั้งที่สองด้วยแล้ว ใครๆ ก็นึกว่าการควบคุมโรคนี้คงง่ายดังพลิกฝ่ามือแต่เอาเข้าจริงมันก็ไม่ง่ายดังที่คิด

การควบคุมยุงนั้นถ้าพูดกว้างๆ ก็ทำกันสองจุด คือ เล็งเอาตัวยุงกับพุ่งไปใส่ลูกน้ำ การควบคุมลูกน้ำก็แล้วแต่ชนิดของมัน เช่น ยุงลาย ยุงนครบาลใกล้บ้าน เจ้าพวกนี้สะอาดสะอ้านดีต้องอยู่ในน้ำชั้นสูง คือน้ำไม่ติดดินจะอยู่ในโอ่งอ่าง กระทะ กระถาง น้ำหล่อขาโต๊ะ กระถางธูปเทียน แม้น้ำฝนที่ขังในซากรถยนต์ ซึ่งควบคุมได้โดยการดูแลทางสุขาภิบาลเทแหล่งน้ำเหล่านี้ให้หมด ที่จำเป็นต้องให้มีน้ำก็ให้ใส่สารเคมี เช่น ใส่ “ ทรายอะเบต “ อันเคยเป็นข่าวฉาวโฉ่คราวพิจารณางบประมาณก็ได้

แต่พอมาถึงยุงเหลืองที่อยู่ในถิ่นพรุนั้น การขจัดแหล่งน้ำทำไม่ได้ การพ่นน้ำมันฉาบผืนหน้าของน้ำมิให้ลูกน้ำขึ้นมาหายใจก็สิ้นเปลืองมากและไม่ได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์เพราะในย่านนี้มีจอกแหนที่ปิดกลั้นการครอบคลุมการแผ่กระจายของแผ่นน้ำมัน แถมยังให้ออกซิเจนแก่ลูกน้ำได้บ้าง เอาเป็นว่าการคุมลูกน้ำยุงเหลืองทำไม่ได้ผลก็แล้วกัน

ทีนี้ ก็มาถึงการควบคุมตัวยุง ดี.ดี.ที.ที่ว่าชะงัดนั้น มันจะได้ผลชะงัดก็ต่อเมื่อมันสัมผัสตัวยุง ถ้าไม่สัมผัสตัวยุง ยุงก็ไม่ตาย พูดถึง ดี.ดี.ที.นี้ก็อยากจะเล่าว่ามีความเข้าใจผิดกันพอสมควร สำหรับคนทั่วไปที่ใช้ ดี.ดี.ที.ในท้องตลาดเพื่อฉีดทำลายยุงเพราะว่า ดี.ดี.ที.นั้นที่แท้จริงไม่มีฤทธิ์ฆ่ายุงโดยทันทีทันควัน แต่จะมีฤทธิ์ทำลายระบบประสาทของยุงอย่างช้าๆ ทำให้เป็นอัมพาตแล้วตายภายหลังประมาณ 2-3 ชั่งโมงหลังจากสัมผัส ดี.ดี.ที.ดังนั้น จึงมีบ่อยครั้งที่เห็นว่ายุงบินไปเกาะฝาผนังที่พ่น ดี.ดี.ที.แล้วยุงบินไปได้ ถ้าถามเจ้าหน้าที่เขาก็บอกว่าไปตายรัง เพราะมันจะไปตายรังจริงๆ บริเวณฝาบ้านที่พ่น ดี.ดี.ที.จะมียุงร่วงอยู่ไม่กี่ตัว ชาวบ้านเลยชักสงสัยไปว่า

ดี.ดี.ที. ของหลวงไม่ดี หรือเจ้าหน้าที่เอาของดีไปขายที่ตลาด ที่พ่นเป็นของเลว เพราะว่าสิ่งที่เรียกว่า ดี.ดี.ที.จากตลาดนั้นเอามาพ่นถูกยุงก็ร่วงทันตาเห็น จนมีเพลงโฆษณาสมัยนั้นว่า ดี.ดี.ที ร้อยเปอร์เซ็นต์ โดนแมลงร่วงพรูดูมากมาย บ้างนอนหงายบ้างนอนตะแครงเกลื่อนไป แต่ในความเป็นจริงนั้น สิ่งที่เรียกว่า ดี.ดี.ที จากท้องตลาด คือ สารไพเรทรินหรือไพเรทรั่ม เป็นสารที่สกัดจากพืช อาจมี ดี.ดี.ที.ผสมอยู่ด้วย หรือไม่ก็ได้ สารไพเรทรินนี่มีผลฆ่ายุงทันที พอเล่ามาถึงตอนนี้บางท่านอาจสงสัยว่า ถ้าไพเรทรินฆ่ายุงได้ทันที ส่วน ดี.ดี.ที.ฆ่าได้ช้า แล้วทำไมในการควบคุมโรคจึงไม่ใช้ไพเรทรินเสียเลย

คำตอบก็คือ ไพเรทรินมีจุดอ่อนตรงเป็นสารระเหย ตอนที่ฉีดไปหากมียุงอยู่ในอาณาบริเวณยุงก็ตายแต่ถ้ายุงบินหลบไปเสียสักครึ่งชั่วโมงพอกลิ่นจางยุงก็บินเข้ามาได้ใหม่หรือถ้ามันยังรำคาญกลิ่น รุ่งขึ้นก็มาได้ใหม่ ดังนั้นถ้าหากจะใช้ไพเรทรินควบคุม ก็ต้องฉีดกันทุกวันในขณะที่ ดี.ดี.ที.ใช้ฉีดให้ติดที่ฝาบ้าน
ยุงนั้นมีนิสัยคล้ายคนอย่างหนึ่ง ตรงที่พอหนังท้องตึงหนังตาก็หย่อน ดังนั้นพอกินเลือดคนเสร็จแล้วจะง่วง ต้องการหลับเสียงีบหนึ่งแต่ที่จะนอนหลับนี่นิสัยไม่เหมือนกัน ยุงก้นปล่องชอบไปเกาะฝาบ้านหลังจากอิ่ม จึงโชคร้ายเจอ ดี.ดี.ที.ที่ดักไว้เป็นอันเสร็จโก๋

ยุงลายชอบเข้าซุกที่ผ้าอ้อมเปื้อนฉี่เด็กที่มุมห้อง หรือย่านชื้นๆ อับๆ จึงเป็นอันพ้น ดี.ดี.ที.ดักไม่ได้ผล เพราะผ้าอ้อมต้องเอาออกไปซักทุกวัน การควบคุมยุงลายจึงต้องหันไปที่ลูกน้ำโดยใช้ทรายอะเบตอันเป็นข่าวโด่งดังมาแล้ว

พอถึงยุงเหลือง เจ้ายุงตัวเมียพอกินเลือดคนอิ่มแล้วชอบไปงีบที่กองมะพร้าว กองสับปะรดหรือพุ่มไม้ใกล้บ้าน อันนี้ก็แย่แล้ว เพราะใช้ ดี.ดี.ที.ไม่ได้ เพราะพอพ่นมะพร้างกองนี้ วันต่อมามีคนมาซื้อไปก็เอาชุดใหม่มากองอีกแล้วหรือแม้กองเก่าขายไม่ออกก็เถอะ พอฝนตกลงมาก็ชะล้างเอา ดี.ดี.ที.ออกหมด เป็นอันคุมลูกน้ำก็ไม่ได้ คุมยุงก็ไม่ได้สำหรับโรคเท้าช้าง

คราวนี้ก็เหลือไพ่อีกใบเดียวสำหรับการควบคุมโรคเท้าช้าง ก็ต้องไปควบคุมที่ไมโครฟิลลาเรีย โชคดีที่มียารักษาเชื้อนี้ แต่จะเอายาให้ใคร คำตอบก็คือต้องให้ยากับคนที่มีเชื้อนี้อยู่ในเลือด แต่ทำอย่างไรจึงจะทราบว่าคนไหนมีเชื้อในเลือด มันก็ต้องเจาะเลือดดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ เจอเชื้อโรคก็ให้ยากินไป ก็ดูง่ายดี

พอได้เทคโนโลยีมาแล้วก็ตั้งหน่วยกันขึ้นมา เอาเข้าระบบจัดการมี 4 เอ็ม คือ แมน – มันนี - แมททีเรียล - แมเนจเมนต์ หรือให้มี คน – อุปกรณ์ – เงิน – และระบบจัดการ เรียกว่าไม่ให้มีอุปสรรคประเภทที่หน่วยงานมักท่องเป็นคาถาว่า “ วัสดุขาดแคลน – ฮิวแมนไม่มี – มันนี่ไม่พร้อม – สิ่งแวดล้อมไม่อำนวย “กันทีเดียว ตกลงจะเอาอะไรกันเล่าตอนนั้น เจ้าหน้าที่หรือก็อบรมมา – มียานพาหนะ –ยา – รถจี๊ป – เบี้ยเลี้ยงเต็มที่ ก็จะออกไปปฏิบัติงานกันล่ะ

แต่ยังก่อน เคารพธงชาติ 8.00 น. แล้วหรือรอให้ 8.30 น. ลงชื่อทำราชการแล้วหน่วยก็ยังออกไม่ได้ เพราะว่าตามแผนงานนั้นหน่วยจะต้องไปเจาะเลือดตรวจหาเชื้อ เมื่อพบเชื้อแล้วให้ยาแต่การตรวจให้พบเชื้อโรคนั้นต้องว่าเป็นโรคๆ ไป

เชื้อมาลาเรียนั้นถ้าเจาะเลือดให้ได้เชื้อ ต้องเจาะในตอนผู้ป่วยกำลังมีไข้ขึ้นสูง ยิ่งกำลังจับสั่นยิ่งดีเพราะว่าเวลาไข้สร่างแล้วเชื้อจะหลบไปอยู่ในม้าม ไมโครฟิลลาเรียนี่ก็เช่นกัน โดยปกติจะอยู่ในหลุมหลบภัยที่ม้ามจะออกมาเพ่นพ่านในกระแสเลือดก็ในยามที่คนผู้เป็นโลกของมันนอนหลับ เวลาที่เจาะเลือดแล้วมีโอกาสพบเชื้อสูงสุด คือ ช่วง 4 ทุ่มถึง ตี 2 หรือถ้าอยากให้หน่วยทำงานวันละ 6 ชั่วโมง ก็พออนุโลมให้ทำในช่วง 3 ทุ่ม ถึงตี 3 ได้ นอกเหนือเวลาเหล่านี้เจ้าไมโครฟิลลาเรียไม่ออกมาพบเสียให้ยาก

มีรายงานพบว่า มีอยู่แถบหมู่เกาะหนึ่งในแปซิฟิกใต้ที่จะเจาะเชื้อไมโครฟิลลเรียได้ดีในช่วง 10.00 – 14.00 น. แต่นั้นก็ต้องไปปลุกคนมาเจาะเลือดเช่นกัน เพราะถิ่นนั้นมีประเพณีออกไปทำมาหากินด้วยการจับปลาตอนกลางคืนแล้วกลับมานอนเต็มอิ่มในตอนกลางวัน เป็นอันว่าหน่วยนี้ต้องทำงานพิเศษในเวลากลางคืนก็ให้บังเอิญย่านที่เป็นดงโรคเท้าช้างก็เป็นย่านที่มีโจรผู้ร้ายชุกชุมเสียด้วย ดังนั้นหน่วยไปถึงหมู่บ้านก็ยากนักที่จะมีชาวบ้านเปิดต้อนรับตอนสี่ทุ่มหรือสองยาม ก็กลับมารายงานเจ้านายตามระเบียบ เจ้านายก็สั่งการแบบสูตรสำเร็จว่าต้องเข้าถึงประชาชน จัดประชาสัมพันธ์รวมกลุ่มมวลชน ชี้แจงชาวบ้านผ่านทางกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หน่วยก็กลับมาบอกกำนัน ผู้ใหญ่บ้านประชุมราษฎร ก็ชี้แจงว่าคืนนี้นะ หน่วยจะมาทำงานช่วยเหลือประชาชนให้เปิดประตูรับด้วย ชาวบ้านก็รับทราบข่าวสารและเข้าใจ โจรก็รับทราบข่าวสารและเข้าใจกำหนดเวลาเช่นกัน

พอได้เวลานัดหน่วยก็ไปเรียกชาวบ้านว่าหน่วยมาแล้ว ชาวบ้านก็คำรามว่ามาอีกหรือ แล้วเอาไม้ฟาดเปรี้ยงกลางกบาลหน่วยคนหน้าที่แหลมขึ้นไปก่อน เอะอะกันพักใหญ่ก็ได้ความว่าเมื่อครู่นี้มีอีกหน่วยหนึ่งตัดหน้าเข้ามาอ้างว่าเป็นหน่วยควบคุมโรคเท้าช้าง เรียกให้ชาวบ้านเปิดประตู พอเข้าไปได้ก็กรูกันเข้าไปเก็บทรัพย์สิน ทำร้ายเจ้าของบ้านพอหอมปากหอมคอ กำลังแค้นกันอยู่ ตกลงบรรยากาศก็เลยไม่เหมาะสมที่จะเจาะเลือดซ้ำเข้าไปอีก เพราะว่าเลือดตกยางออกพอสมควรกันแล้วก็ต้องล่าทัพกลับไปปฐมพยาบาลกัน

ส่วนบางหน่วยที่โชคดีไม่มีเหตุการณ์ ก็ได้เจาะเลือดตรวจหาเชื้อและดำเนินการให้ยาตามเกณฑ์และเทคโนโลยีที่ได้อบรมมา คือ เจาะเลือดแล้วก็คลำต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบว่าโตขึ้นหรือไม่ หลังจากดูกล้องพบว่าใครมีเชื้อก็ให้ยากันไป แต่โรคก็ไม่ได้มีท่าทีว่าจะลดน้อยลงไปมากนัก ก็เขียนรายงานกันไปว่ากันตามระบบราชการ

ทีนี้ลองมาดูอีกมุมมองหนึ่ง คือ มุมมองด้านชาวบ้าน เป็นการมองต่างมุม ไม่ว่าถึงชาวบ้านผู้โชคร้ายถูกปล้นไปแล้ว พูดถึงชาวบ้านที่หน่วยไปทำงานตามปกติ เพื่อนบ้านก็มาถามว่าเป็นอย่างไร เมื่อคืนหน่วยโรคเท้าช้างมาทำงาน มีอะไรกันบ้าง

คำตอบที่ได้รับ ก็คือ พวกที่นอนหลับถูกปลุกมาแล้วก็ต้องเจ็บตัวด้วยการถูกเจาะเลือด ไม่รู้ว่าเอาเลือดไปทำอะไร ที่ช่างสันนิฐานก็เดาต่อไปว่าเขาเอาเลือดไปใช้ ให้หามตำรวจที่บาดเจ็บส่งไปนั่น ทีนี้เจาะเลือดแล้วไม่พอ เข้ามามืดๆ เอามือล้วงใต้ผ้าถุงจับโน่นจับนี่ ลูบๆ คลำๆ ซึ่งฝ่ายเจ้าหน้าที่บอกว่าเป็นการคลำต่อมน้ำเหลือง แต่มุมมองของชาวบ้านเป็นการแต๊ะอั๋งโดยเฉพาะในรายสาวๆ ที่ถูกปลุกจากที่นอนมาก็หน้าเง้าหน้างอกันไปและบางทีเจ้าหน้าที่บางรายก็อาจเลยเถิดไปได้เหมือนกัน

สรุปแล้วก็คือ ถูกปลุก เจ็บตัว ถูกล้วงคลำ ก็ไม่มีอะไรดี ทีนี้สำหรับบางบ้านที่เจ้าหน้าที่พบเชื้อโรคไมโครฟิลลาเรีย ก็อย่างที่เล่าไว้แล้วว่าคนที่เริ่มมีเชื้อไมโครฟิลลาเรียนั้นเท้ายังไม่โต ส่วนคนที่เท้าโตนั้นจะเป็นระยะที่ไมโครฟิลลาเรียเข้าร่างกายมาหลายปีแล้ว และไมโครฟิลลาเรียมักหมดอายุขัยไปแล้ว เว้นแต่ได้รับเชื้อใหม่ จึงมักไม่พบเชื้อในเลือดและไม่มีความจำเป็นต้องให้ยา เพราะยานั้นเป็นยาฆ่าเชื้อไม่ใช่ยารักษาโรคเท้าช้าง

แต่เมื่อมีการพบเชื้อไมโครฟิลลาเรียในหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่หน่วยมักอธิบายด้วยคำง่ายๆ ว่าคุณเป็นโรคเท้าช้าง เอายาไปกินเสีย แต่ในมุมมองของชาวบ้านผู้ได้รับยานั้นกลับคิดไปอีกมุมหนึ่งว่า เจ้าหน้าที่หน่วยนี้ไม่บ้าก็เมา หรือไม่ก็คงดึกแล้วจึงง่วงเกินไป เพราะว่าเราเองเท้าปกติไม่ได้โต มาบอกว่าเป็นโรคเท้าช้าง พี่ชายเราเท้าโตเต็มที่ ไม่เห็นบอกว่าเป็นอะไร ไม่ให้ยาด้วย ชะรอยจะง่วงจนสั่งผิด ที่แท้ก็คงจะให้ยาพี่ชายเราแต่สั่งผิดเป็นให้เราอย่ากระนั้นเลย ด้วยความหวังดีก็เอายาที่ได้รับให้พี่ชาย พี่ชายกินจนครบคอร์สก็ไม่เห็นเท้ายุบ ก็ได้แต่ด่าว่าเจ้าหน้าที่เอายาเสื่อมสภาพมาให้กิน ยาดีคงโกงเอาไปขายเสียแล้ว ส่วนเจ้าตัวคนที่ไม่ได้ยา 3-4 ปีต่อมาก็เท้าโตขึ้นมาอีกคนหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ด้วยความเจริญของบ้านเมือง คนรู้จักใช้มุ้งหรือมุ้งลวด ถนนหนทางดีขึ้น คนไม่ต้องบุกป่าบุกรุก แผลที่เท้าน้อยลง “ ตีนโทะ “ ก็ค่อยๆ เลือนหายไปจากชุมชนชาวใต้ กลายเป็นโรคโบราณ คนสมัยใหม่ก็เปลี่ยนโรคให้ทันสมัย คนเจ็บคนตายก็ไม่มากไม่น้อยไปกว่าเดิม แต่เปลี่ยนเป็นโรคอุบัติเหตุจำพวกโรคยามาฮ่า – ฮอนด้า หรือโรคเอดส์ แทนการตายอย่างสมัยโบราณ ก็ต้องสู้กันต่อไป

ข้อมูลสื่อ

177-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 177
มกราคม 2537
เรื่องน่ารู้
นพ.สมพงศ์ ขุทรานนท์