• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

วิงเวียน - หูชั้นในอักเสบ

วิงเวียน - หูชั้นในอักเสบ

 

ข้อน่ารู้

1.หูคนเราแบ่งเป็น 3 ชั้น ได้แก่ หูชั้นนอก ( ช่วงจากใบหูเข้าไปจนถึงเยื่อแก้วหู ) หูชั้นกลาง ( อยู่ถัดจากเยื่อแก้วหูเข้าไป เป็นช่องที่บรรจุกระดูกอ่อนที่รับการสั่นสะเทือนของคลื่นเสียง มีช่องทางติดต่อกับลำคอและโพรงจมูก ที่เรียกว่า ท่อยูสเตเชียน ) และหูชั้นใน

หูชั้นในจะมีอวัยวะสำคัญ 2 ส่วน ได้แก่ อวัยวะรูปหอยโข่ง ( Cochlea ) ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการได้ยิน และหลอดกึ่งวงกลม ( semicircular canal ) ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการทรงตัว ทั้งสองส่วนนี้จะต่อกันเป็นอวัยวะภายในหูชั้นใน รวมเรียกว่า ลาบิรินต์ ( labyrinth แปลว่า เขาวงกต หรือสิ่งที่วกเวียน)

2.การอักเสบของอวัยวะภายในหูชั้นใน ( ลาบิรินต์ ) นี้ เรียกว่า หูชั้นในอักเสบ ( labyrinthitis ) ทำให้การทรงตัวเสียไปชั่วคราว เกิดอาการวิงเวียนเป็นสำคัญ โรคหูชั้นในอักเสบพบได้ค่อนข้างบ่อย ส่วนมากจะมีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัสซึ่งลุกลามจากบริเวณจมูกและลำคอผ่านท่อยูสเตเชียนเข้ามาในหูชั้นใน มักเกิดตามหลังไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ชาวบ้านมักเรียกว่า โรคไวรัสลงหู (ที่จริงน่าจะเรียกว่า ไวรัสขึ้นหู ) บางครั้งก็อาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ลุกลามมาจากการอักเสบของหูชั้นกลาง ( หูชั้นกลางอักเสบ มีอาการปวดหู หูอื้อ อาจมีไข้ร่วมด้วย พบหลังเป็นไข้หวัดเช่นเดียวกัน

3. โรคหูชั้นในอักเสบจากไวรัส ( ไวรัสลงหู ) จะเป็นอยู่เพียงไม่กี่วันและหายได้เองโดยไม่ต้องพึ่งยาพิเศษอะไร ยกเว้นยาแก้อาการคลื่นไส้ วิงเวียนสำหรับคนที่มีอาการวิงเวียนมาก นับว่าเป็นโรคที่ไม่มีอันตรายร้ายแรงแต่อย่างใด

4 . อย่างไรก็ตาม พึงระลึกอยู่เสมอว่า อาการวิงเวียนนั้นอาจมีสาเหตุได้มากมายหลายอย่าง จึงต้องสังเกตดูอาการอย่างละเอียดถี่ถ้วน ถ้ามีอาการรุนแรงหรือมีอาการผิดปกติอื่นๆ ร่วมด้วย หรือเป็นเรื้อรังเกินสัปดาห์ ก็ต้องคิดว่าอาจไม่ใช่เป็นเพียงแค่โรคไวรัสลงหูนี้เท่านั้น

รู้ได้อย่างไรว่าไม่ได้เป็นอื่น

คนที่เป็นหูชั้นในอักเสบจากไวรัส จะมีอาการวิงเวียนเห็นพื้นบ้านหรือเพดานหมุน คลื่นไส้ชั่ววูบเดียว
(เพียงไม่กี่วินาที ) เป็นครั้งเป็นคราว มักจะเป็นขณะที่มีการเปลี่ยนท่าศีรษะ เช่น ลุกจากเตียงนอน ล้มตัวลงนอน ก้มหรือเงยศีรษะ หรือหันหน้าเร็วๆ เป็นต้น บางคนมีอาการอาเจียน หรือตากระตุก หรือเดินเซ ร่วมด้วย โดยทั่วไปจะไม่มีไข้ สุขภาพทั่วไปแข็งแรง บางคนอาจสังเกตว่า ก่อนหน้าที่จะมีอาการวิงเวียนไม่กี่วัน มีอาการเป็นหวัดนำมาก่อน แต่บางคนอาจบอกไม่ได้ชัดเจนว่าเป็นหวัดมาก่อน
อาการมักเป็นอยู่เพียง 3-5 วันก็หายเองได้ อาการวิงเวียน (ต้องมีอาการเห็นพื้นบ้านหรือเพดานหมุนชั่ววูบร่วมด้วย มิใช่แค่เวียนศีรษะ หน้ามืดเพียงอย่างเดียว ) อาจมีสาเหตุอื่น ๆ เช่น

1.เนื้องอกของสมอง จะมีอาการวิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน ตากระตุก เดินเซ อาการมักจะเป็นมาก และนานกว่าไวรัสลงหู หากสงสัยควรพบแพทย์โดยเร็ว

2. สมองขาดเลือดชั่วคราว พบมากในคนสูงอายุที่มีภาวะหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองตีบตัน ทำให้ขาดเลือดไปเลี้ยงสมองชั่วคราว เกิดอาการวิงเวียน (ชาวบ้านเรียกว่า “โรคลม" ) คลื่นไส้ อาเจียน เดินเซ บางครั้งอาจมีอาการอ่อนแรงของแขนขาชั่วคราวร่วมด้วย มักจะเป็นเรื้อรัง คนที่เป็นเบาหวาน ความดันเลือดสูง โรคไขมันในเลือดสูงก็อาจมีอาการวิงเวียนจากสาเหตุนี้ได้เช่นกัน

3. เนื้องอกของประสาทหู จะมีอาการวิงเวียน อาเจียน ตากระตุก เดินเซ และหูอื้อ

4. หูชั้นกลางอักเสบ จะมีอาการวิงเวียน ร่วมกับปวดหู หูอื้อ บางครั้งอาจมีไข้สูงร่วมด้วยหรือมีหูน้ำหนวกไหล มักเป็นโรคแทรกของไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ออกหัด

เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์

ควรไปพบแพทย์เมื่อ

1.มีอาการตากระตุก เดินเซ หรืออาเจียนมาก

2. มีอาการปวดหู หูอื้อ หรือหูน้ำหนวกไหล

3.มีอาการแขนขาชา หรืออ่อนแรงร่วมด้วย

4.มีอาการนานเกิน 5 วันหรือเป็นๆ หายๆ บ่อย

5.มีความวิตกกังวล หรือไม่มั่นใจที่จะดูแลตนเอง

แพทย์จะทำอะไรให้

แพทย์จะตรวจวัดความดันเลือด ตรวจดูหู และระบบประสาท หากจำเป็นอาจตรวจเลือด เอกซเรย์สมอง หรือตรวจพิเศษอื่นๆ ถ้าเป็นหูชั้นในอักเสบจากไวรัสก็จะให้การรักษาตามอาการดังกล่าวข้างต้น ถ้าพบว่าเกิดจากหูชั้นกลางอักเสบ แพทย์จะให้กินยาปฏิชีวนะ เช่น อะม็อกซีซิลลิน หรือให้การรักษาตามสาเหตุของอาการวิงเวียนอื่นๆ เช่น ความดันเลือดสูง เบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง เป็นต้น

โดยสรุป หูชั้นในอักเสบหรือโรคไวรัสลงหูอาจพบหลังเป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ทำให้มีอาการวิงเวียนชั่วครั้งชั่วคราว เป็นโรคที่หายเองได้ โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ ทั้งสิ้น แต่ถ้ามีอาการรุนแรงหรือนานเกิน 5 วัน ก็ควรจะไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุอื่นๆ

การดูแลรักษาตนเอง

เมื่อมีอาการวิงเวียนเห็นพื้นบ้านหรือเพดานหมุนชั่วขณะ โดยไม่มีอาการตากระตุก เดินเซ และยังกินอาหาร ลุกเดินไปไหนมาไหนได้ ควรปฏิบัติตัวดังนี้

1. ลองก้มและเงยศีรษะขึ้น – ลง 2 – 3 เที่ยว สังเกตว่ามีอาการวิงเวียนในท่าไหน แล้วลองหันศีรษะไปทางซ้ายและขวา 2 – 3 เที่ยว สังเกตในทำนองเดียวกันเพื่อทดสอบว่า มีอาการในท่าไหน ( มักจะเป็นในขณะไม่ก้มก็เงย ไม่หันซ้ายก็ขวา ) แล้วตั้งสติอย่าทำท่านั้น พยายามทำคอตรงๆ ไม่ว่าจะลุก จะนั่ง หรือเดิน จะช่วยลดอาการวิงเวียนได้

2. ถ้ามีอาการวิงเวียน คลื่นไส้บ่อย ให้กินยาแก้อาเจียน ได้แก่ ไดเมนไฮดริเนต( dimenhydrinate )ครั้งละ 1 – 2 เม็ด วันละ 2 – 4 ครั้ง ยานี้ใช้รักษาอาการเมารถ เมาเรือ ผลข้างเคียงที่สำคัญคือ ง่วงนอน มึนงง จึงต้องระวังอย่าขับรถ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ควรกินนาน 3 – 5 วัน ( ถ้าอาการหายดี อาจหยุดก่อนก็ได้ )

3. ถ้ามีอาการอาเจียน ควรกินอาหารอ่อนที่ย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม นม น้ำหวาน ครั้งละน้อย แต่บ่อยครั้ง

 

ข้อมูลสื่อ

177-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 177
มกราคม 2537
แนะยา-แจงโรค
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ