• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

หอบเหนื่อย

หอบเหนื่อย

ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525

หอบ แปลว่า หายใจด้วยความเหนื่อย หรืออ่อนเพลีย  

เหนื่อย แปลว่า รู้สึกอ่อนแรงลงหรืออิดโรย 

ส่วน “หอบเหนื่อย” ในที่นี้หมายถึง อาการที่คนไข้รู้สึกหายใจไม่ออกหรือหายใจไม่ทันจนต้องหายใจแรงๆหรือเร็วๆ หรือทั้งแรงและเร็ว และมักรู้สึกเหนื่อยด้วย หรือคนไข้อาจไม่รู้สึกเลย แต่คนอื่นเห็นว่าคนไข้หายใจแรง เร็ว และ/หรือหายใจลำบาก 

การหายใจเป็นการสูดเอาอากาศจากภายนอกเข้าสู่ปอด เมื่ออากาศเข้าสู่ถุงลมในปอดแล้ว ออกซิเจนในอากาศจะซึมผ่านถุงลมเข้าสู่กระแสเลือด และกระแสเลือดจะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ถุงลม ซึ่งจะถูกขับออกไปพร้อมกับลมหายใจออก

ส่วนออกซิเจนที่ซึมเข้าสู่กระแสเลือด จะทำให้ “เลือดดำ” (เลือดที่ขาดออกซิเจน) กลายเป็น “เลือดแดง” (เลือดที่เปี่ยมออกซิเจน) ซึ่งจะถูกส่งต่อไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายและถ่ายเทออกซิเจนให้แก่ส่วนต่างๆของร่างกาย แล้วรับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากเนื้อเยื่อเหล่านั้น เพื่อนำมาขับออกที่ปอดต่อไป วนเวียนเปลี่ยนไปเรื่อยๆเช่นนี้

ในกรณีที่หายใจไม่สะดวกมากๆ ออกซิเจนจะซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้น้อย ทำให้มี “เลือดดำ” เพิ่มขึ้นในกระแสเลือดที่ไปเลี้ยงร่างกาย จึงทำให้หน้าตาโดยเฉพาะริมฝีปาก และปลายมือปลายเท้าเขียวคล้ำ หรือที่มักเรียกกันสั้นๆว่า “เขียว” (cyanosis) ซึ่งที่จริงเป็นสีม่วงไม่ใช่สีเขียว

ในคนที่หายใจได้น้อย (เอาลมเข้าและออกจากปอดได้น้อย) ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะคั่งอยู่ในเลือดมากทำให้เลือดกลายเป็นกรด (แทนที่จะเป็น “กลาง”) ซึ่งทำให้อวัยวะต่างๆทำงานได้ลำบากขึ้น โดยเฉพาะสมองทำให้คนไข้ซึม หลับ ปวดศีรษะ สับสน หมดสติ หรือมีอาการทางสมองอื่นๆได้

ส่วนในคนที่หายใจมากเกินไป (เอาลมเข้าและออกจากปอดมากเกินไป) ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะถูกขับออกจากกระแสเลือดมากเกินไป ทำให้เลือดเป็นด่าง ทำให้มีอาการชาตามปลายมือปลายเท้าและริมฝีปาก ถ้าเป็นมากจะทำให้นิ้วมือเกร็งแข็งและจีบเข้าหากัน (”มือจีบ”) กล้ามเนื้อกระตุก ถ้าเป็นมากอาจทำให้ชัก และหมดสติได้

                  

คนไข้รายที่ 1 : ชายวัยรุ่นอายุประมาณ 2o ปี อุ้มเพื่อนหญิงของเขาอายุไล่เลี่ยกันเข้ามาที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง

ชาย : “หมอครับ ช่วยเพื่อนผมด้วย เขาชักและเกร็งแข็งไปหมดแล้ว”
หมอ : “คุณอุ้มเพื่อนไปวางไว้บนเตียงก่อนแล้วคอยจับเขาไว้อย่าให้ตกเตียงด้วย”

ชายวัยรุ่นอุ้มเพื่อนไปวางไว้บนเตียง หมอเข้าไปดูคนไข้ ปรากฏว่าคนไข้ยังรู้ตัวดีอยู่และไม่มีอาการชัก แต่แขนขาค่อนข้างเกร็งแข็ง และกระตุกเป็นครั้งคราว มือจีบ หน้าตามีแววกังวลและตกใจ หายใจเร็วและลึก(หอบ) ริมฝีปากและปลายมือปลายเท้าซีดเขียว ใช้เครื่องฟัง (stethoscope) ฟังปอดพบว่าเสียงหายใจปกติ หมอเห็นดังนั้นจึงพูดกับคนไข้

หมอ : “คุณไม่ต้องกลัวหรือตกใจ ไม่เป็นอะไรมากนัก หมอจะเอาถุงกระดาษใบใหญ่นี้ครอบปากและจมูกของคุณไว้ เพื่อให้คุณหายใจในถุงนี้สักพักแล้วอาการของคุณจะดีขึ้น”

หมอหยิบถุงกระดาษใบใหญ่คลี่ออกให้มันโป่งเป็นถุง แล้วใช้ปากถุงครอบปากและจมูกของคนไข้ไว้ พลางพูดว่า

หมอ : “เอาละตอนนี้คุณพยายามหายใจลึกๆและช้าๆ หายใจให้ช้าที่สุดเท่าที่คุณจะทำให้ช้าได้ เมื่อหายใจเข้าจนสุดแล้ว ให้กลั้นหายใจไว้สักพักหนึ่ง แล้วค่อยๆหายใจออกช้าๆ จนหายใจออกหมด แล้วก็กลั้นหายใจไว้สักพักหนึ่ง แล้วค่อยๆหายใจออกช้าๆ สลับกันไปเรื่อยๆนะครับ แล้วสักครู่คุณจะดีขึ้น”
คนไข้หายใจในถุงอยู่ประมาณ 5 นาที อาการกระตุกก็หายไป อาการเกร็งแข็งและมือจีบก็ค่อยๆคลายลงและหายไป คนไข้เริ่มรู้สึกสบายขึ้น และเอาถุงออกจากปากและจมูกได้

หมอ : “รู้สึกดีขึ้นหรือยังครับ”
หญิง : “ดีขึ้นมากแล้วค่ะ”
หมอ : “เมื่อคุณรู้สึกดีขึ้นแล้วช่วยเล่าอาการของคุณให้หมอฟังตั้งแต่ต้นว่ามันเป็นอย่างไร”
หญิง : “หนูกำลังคุยกับเพื่อนอยู่ดีๆก็รู้สึกแน่นในอก หายใจไม่สะดวก รู้สึกหายใจไม่พอ หลังจากนั้นไม่นาน หนูก็รู้สึกชาที่ริมฝีปากและนิ้วมือนิ้วเท้า ต่อมารู้สึกว่ามือเท้าและแขนขาก็เริ่มเกร็งแข็ง และกระตุก แล้วเพื่อนก็พามาหาหมอค่ะ”
หมอ : “คุณเคยเป็นเช่นนี้มาก่อนไหม”
หญิง : “เคยค่ะ แต่ไม่เคยรุนแรงเหมือนครั้งนี้ ครั้งก่อนๆเพียงแต่รู้สึกแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก หายใจไม่พอ และชาๆที่ปากและปลายมือปลายเท้า สักพักก็หายไปเอง แต่ครั้งนี้เป็นมากค่ะ จนตกใจกลัวไปหมดเพราะมือและแขนขาเกร็งแข็งและกระตุกโดยบังคับไม่ได้ หนูเป็นอะไรคะ”
หมอ : “คุณเป็นโรคหรือภาวะหายใจเกิน นั่นคือ คุณหายใจเข้าออกมากเกินไป ทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถูกขับออกมากเกินไปเลือดจึงกลายเป็นด่าง ทำให้กล้ามเนื้อเกร็งแข็ง และกระตุก”
หญิง : “แต่หนูรู้สึกแน่นและหายใจไม่พอนี่คะ ทำไมกลายเป็นหายใจเกินไปได้”
หมอ : “เพราะคุณรู้สึกแน่นและหายใจไม่พอนั่นแหละ จึงทำให้คุณพยายามหายใจลึกๆ เร็วๆ เพื่อทดแทน จึงเกิดการหายใจเกินขึ้น”
หญิง : “แล้วทำไมเป็นอย่างนั้นละคะ”
หมอ : “ส่วนมากเป็นเพราะมีความขัดแย้ง หรือความเครียดเกิดขึ้นในจิตใจ ทำให้รู้สึกแน่นและหายใจไม่ออก จึงพยายามหายใจเพิ่มขึ้นจนหายใจเกินไป คุณมีเรื่องอะไรที่ทำให้คุณไม่พอใจหรือเครียดก่อนจะเกิดอาการหรือเปล่า”

หญิงสาวก้มหน้าลง และมีอาการหายใจเร็วลึกขึ้นมาอีก

หมอ : “ไม่เป็นไร หมอไม่ได้ต้องการให้คุณคิดถึงเรื่องที่ทำให้คุณแน่นและหายใจไม่ออก แต่ถ้าคุณบอกหรือเล่าให้หมอฟัง อาจจะช่วยให้คุณคลายเครียดลงบ้างก็ได้ หรือหมออาจจะมองเห็นทางที่ช่วยแก้ปัญหาให้คุณได้”
ชาย : “ครับ คุณหมอ เรามีเรื่องทะเลาะกันเล็กน้อยก่อนที่เขาจะเกิดอาการ ที่จริงก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร ผมดีใจที่เขาไม่ได้เจ็บป่วยเป็นโรคร้ายแรง ส่วนเรื่องความขัดแย้งเราคงจะปรับความเข้าใจกันได้ จริงไหมนุช”
หญิง : “ค่ะ แล้วถ้าหนูมีอาการอีกหนูจะช่วยตนเองอย่างไรคะ”
หมอ : “ก็ทำเหมือนเมื่อครู่นี้แหละ คือหายใจในถุงสักพัก อาการก็จะค่อยๆดีขึ้น คุณควรจะมีถุงกระดาษหรือถุงกร็อบแกร็บ (ถุงพลาสติก) ติดกระเป๋าไว้ พอรู้สึกแน่นและหายใจไม่สะดวก ก็รีบหายใจในถุงโดยเฉพาะเมื่อเริ่มมีอาการชาที่ริมฝีปาก หรือปลายมือปลายเท้า อย่าปล่อยทิ้งไว้จนมือจีบหรือแขนขาเกร็งแข็งหรือกระตุกแล้ว เพราะคุณจะหยิบถุงมาครอบปากและจมูกเองไม่ได้”
หญิง : “แล้วหนูจะเป็นอย่างนี้บ่อยไหมคะ”
หมอ : “ขึ้นอยู่กับความเครียด หรือความขัดแย้งในใจของคุณเอง ถ้าคุณผ่อนคลายได้ ก็จะไม่ทำให้คุณรู้สึกแน่นหรือหายใจไม่สะดวก แล้วคุณก็จะไม่มีอาการจากการหายใจเกิน”
หญิง : “แล้วหนูต้องกินยาอะไรมั้ยคะ”
หมอ : “ถ้าคุณคิดว่าคุณจะควบคุมจิตใจได้ก็ไม่ต้องกินยาคลายเครียดหรือคลายกังวล คุณจะควบคุมจิตใจได้มั้ยล่ะ”
หญิง : “ค่ะ หนูจะลองดูก่อนนะคะ ถ้ายังมีอาการอีก หนูจะมาขอยาคุณหมอทีหลังค่ะ”
กลุ่มอาการหายใจเกิน (hyperventilation syndrome) เป็นโรคหรือภาวะที่พบบ่อยในวัยรุ่นและหนุ่มสาว แต่ก็พบได้ในกลุ่มอายุอื่นๆด้วย
อาการ สาเหตุ และการรักษาอย่างง่ายๆได้กล่าวไว้ในตัวอย่างคนไข้ข้างต้นแล้ว
ถ้ามีอาการมากถึงขนาดชักหรือกระตุกมาก อาจจะต้องฉีดยาแคลเซียม (calcium cleloride) เข้าเส้นช้าๆ
ส่วนยาคลายเครียด อาจใช้ยาไดอะซีแพม (diazepam) ขนาด 2 หรือ 5 มิลลิกรัม กินครั้งละ 1/2-1 เม็ด เวลาเครียดหรือกังวล (ยานี้กินแล้วจะทำให้ง่วงได้ ถ้าง่วง ห้ามขับรถ หรือทำงานที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้)
                                                                                                 

                                                                                                          (อ่านต่อฉบับหน้า)

 

                                                  **********************************

 

ข้อมูลสื่อ

207-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 207
กรกฎาคม 2539
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์