• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

นักวิทยาศาสตร์เตือนภัยรังสีอัลตราไวโอเลต

นักวิทยาศาสตร์เตือนภัยรังสีอัลตราไวโอเลต

สารคลอโรฟลูโอโรคาร์บอนเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ทางอ้อมอย่างแน่นอน และยังทำลายสิ่งแวดล้อมทางอ้อม เพราะจะปล่อยให้แสงอัลตราไวโอเลตมาทำลายพืชที่เป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษย์กว่าร้อยชนิด ขณะนี้วงการนักวิทยาศาสตร์และนักพิทักษ์สิ่งแวดล้อมทั่วโลกต่างตระหนกต่อการสูญสลายอย่างรวดเร็วของบรรยากาศชั้นโอโซน ซึ่งอยู่เหนือพื้นโลก ทำหน้าที่เสมือนเกราะป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลตที่เปล่งมาจากดวงอาทิตย์ นักวิทยาศาสตร์ที่เฝ้าติดตามบรรยากาศชั้นโอโซนได้ทำการเตือนภัยนี้มาตั้งแต่ปี
พ.ศ.2523 และระบุถึงตัวทำลายชั้นโอโซนที่สำคัญ คือ สาร “คลอโรฟลูโอโรคาร์บอน”  (Chlorofluorocarbons, CFC’s) ซึ่งเป็นสารที่ใช้กันมากในผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับสเปรย์ต่างๆ (เช่น สเปรย์น้ำหอม สเปรย์แต่งผม ยาฆ่าแมลงชนิดสเปรย์ สเปรย์ล้างเครื่องจักร เป็นต้น) รวมทั้งใช้ในอุปกรณ์เครื่องปรับอากาศและตู้เย็น

สาร “คลอโรฟลูโอโรคาร์บอน” นี้เชื่อว่า เป็นสารพิษที่มีพิษต่อสุขภาพของมนุษย์ค่อนข้างน้อย แต่เป็นสารที่คงทนไม่สูญสลายไปง่ายๆ ดังนั้นจะกระจายไปอยู่ในชั้นบรรยากาศ และมีการสะสมขึ้นทุกๆ ปี ประกอบกับการขยายตัวในการใช้เทคโนโลยีชนิดนี้ และขยายการผลิตจากอุตสาหกรรมเหล่านี้ ซึ่งคาดว่า ปริมาณของสารที่มีการผลิตขึ้นเพื่อใช้ทั่วทั้งโลกมีถึง 1,100 กิโลตันต่อปี ทำให้ปริมาณของสารตัวนี้ในชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้นมากจนก่อให้เกิดการทำลายชั้นโอโซนอย่างรวดเร็ว และรุนแรง นักวิทยาศาสตร์ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ตราบเท่าที่ปัญหานี้ยังไม่มีการแก้ไข การสูญสลายของโอโซนจะดำเนินไปเรื่อยๆ ซึ่งถ้าเมื่อโอโซนถูกทำลายไปถึงร้อยละ 1 เมื่อใด ก็จะทำให้รังสีอัลตราไวโอเลตเล็ดลอดมาสู่โลกเพิ่มขึ้น จนทำให้มีผู้ป่วยเป็นมะเร็งผิวหนังเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 และถ้าปล่อยให้มีการทำลายชั้นโอโซนเพิ่มขึ้นไปถึงร้อยละ 5 แล้ว ก็จะมีผู้ป่วยชนิดนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 หรือคิดเป็นจำนวนผู้ป่วยสองแสนคนต่อปี นอกจากนี้ยังเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดผู้ป่วยที่ตาเป็นต้อเพิ่มขึ้นอีกด้วย

จากการพบปะเพื่อพิจารณาในเรื่อง “สารคลอโรฟลูโอโรคาร์บอนที่มีผลต่อสุขภาพ” โดยคณะทำงานที่มาจากหน่วยงานขององค์การอนามัยโลก องค์กรแรงงานสหประชาชาติและแผนงานพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติเมื่อปลายปีที่แล้ว (21-23 พฤศจิกายน 2531) มีความเห็นร่วมกันว่าสารนี้มีผลที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ในทางอ้อมอย่างแน่นอน นอกจากนี้ ยังเป็นตัวทำลายสิ่งแวดล้อมโดยทางอ้อม เพราะจะเป็นเหตุให้แสงอัลตราไวโอเลตมาทำลายพืชที่เป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษย์ถึงกว่าร้อยชนิดจึงเห็นสมควรที่จะต้องมีการร่วมมือกันทั่วโลก เพื่อติดตามปัญหานี้อย่างใกล้ชิด รวมทั้งหาทางยับยั้งการสูญสลายของชั้นโอโซนนี้

ขณะนี้กลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อมได้รวมตัวกันจัดทำคำเรียกร้องให้หาทางพัฒนาการเลือกใช้สารอื่นแทนสารนี้ โดยให้รัฐบาลต่างๆ มีมาตรการทางกฎหมาย หรือโดยการจูงใจให้ประเทศอุตสาหกรรมหาทางเลือกอื่นๆ ที่ไม่ต้องใช้สารนี้ หรือแม้กระทั่งชักชวนให้ชาวโลกต่อต้านมิให้ใช้สินค้าที่มีสารนี้อยู่ อย่างไรก็ตาม หน่วยงานสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลญี่ปุ่นได้เสนอร่างกฎหมายว่าด้วยการ “พิทักษ์ชั้นโอโซน” ขึ้น เสนอต่อรัฐสภาเมื่อเดือนมีนาคมปีกลายนี้เอง เพราะลำพังอุตสาหกรรมในประเทศญี่ปุ่นก็ใช้สารนี้เป็นจำนวนถึงร้อยละ 10 ของปริมาณทั้งหมดที่ใช้ในโลก

ปัญหานี้ดูเสมือนว่าประเทศอุตสาหกรรมควรจะเป็นผู้รับผิดชอบเพราะเป็นแหล่งผลิตรายใหญ่ของโลก ซึ่งได้แก่ ประเทศอังกฤษ เยอรมัน ญี่ปุ่น อเมริกา ฝรั่งเศส ฯลฯ แต่ประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาก็สมควรรับผิดชอบเช่นกันในฐานะผู้ใช้ประโยชน์ของสารชนิดนี้
 

ข้อมูลจาก :
1. International task group meeting on the health effects of chlorofluorocarbons; WHO Press Release, Switzerland, 1988;8:12.
2. Global Greenhouse Network; Press Release, USA 1988;12:10.
3. Ozone laser protection in Japan , Japan Environment Summary, Japan 1988;10:30.
ผ.ศ.สุนทรี วิทยานารถไพศาล

 

ข้อมูลสื่อ

121-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 121
พฤษภาคม 2532
ผศ.สุนทรี วิทยานารถไพศาล