• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กระเซ้า / ดีดดิ้ง

คุณผู้อ่านอาจรู้สึกแปลกใจว่าคำ 2 คำนี้มาเกี่ยวข้องอะไรกับการพูดจาภาษาหมอ

ก็ลองฟังเรื่องราวของคนไข้ 2 รายข้างล่างนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลใหญ่แห่งหนึ่งดูซิครับ
คนไข้รายแรกเป็นหญิงอายุ 30 ปีเศษ เข้ามาในห้องตรวจคนไข้ พอคุณหมอถามว่า “เป็นอะไรมาหรือครับ?” ก็ตอบขึ้นทันใดว่า

“เห็นคุณหมอที่ห้องทางโน้นบอกว่าให้เข้ามา
กระเซ้าคุณหมอที่นี่...”

ความจริงคนไข้รายนี้ได้ไปตรวจกับหมอทางแผนกอายุรกรรมแล้ว เนื่องจากมีปัญหาจึงขอส่งปรึกษาหมอทางศัลยกรรม โดยบอกกับพยาบาลว่า “ช่วยส่งคอนซัลท์คุณหมอแผนกศัลยกรรมด้วย...”

คนไข้ได้ยินหมอสั่งก็รู้สึกงงงวยว่าทำไมต้องไปกระเซ้าหมออีกแผนกหนึ่งด้วย

คนไข้รายที่ 2 เป็นหญิงอายุ 40 ปีเศษ มาที่ห้องฉุกเฉินด้วยอาการตกเลือดทางช่องคลอด พอเห็นหน้าหมอก็ฟ้องหมอว่า

“คุณหมอช่วยอบรมมารยาทพยาบาลที่หน้าห้องนี้ให้ด้วยนะคะ...ดิฉันมีอาการตกเลือดแทบตายอยู่แล้วยังมาหาว่าดิฉันนี้ดีดดิ้ง...”

คุณหมอซักไซ้พยาบาลที่หน้าห้องตรวจดูจึงรู้ว่าที่แท้พยาบาลเขาเพียงแต่รายงานสภาพของคนไข้ว่ามีอาการบลีดดิ้ง (Bleeding) ซึ่งแปลว่า “ตกเลือด”

คำว่า คอนซัลท์ (consult) อ่านว่า คอน-ซั้ล บางคนออกเสียงว่า คอนเซ้า แปลกันตรงๆว่า “ปรึกษา” เป็นภาษาหมอที่นิยมใช้กันเป็นประจำเมื่อจำต้องส่งคนไข้ไปปรึกษาหารือกับหมอที่เชี่ยวชาญกว่าหมอหรือหมอต่างสาขา เนื่องจากการแพทย์ในปัจจุบันได้แบ่งซอยย่อยๆออกมากมายหลายสาขา หมอคนหนึ่งจึงมีความรู้ความสามารถจำกัดอยู่เฉพาะบางโรค เมื่อมีปัญหาที่ตนเองไม่ถนัด จึงต้องมีการปรึกษากับหมอที่รู้เรื่องทางปัญหานั้นๆโดยเฉพาะ

คำว่า บลีดดิ้ง (Bleeding) แปลว่า “ตกเลือด” หรือ “เลือดออก” เช่น ตกเลือดทางช่องคลอดก็พูดว่า bleeding per vagina (per = ทาง , vagina = ช่องคลอด) ตกเลือดทางทวารหนักก็พูดว่า bleeding per rectum

บังเอิญคำ 2 คำนี้มีเสียงพ้องกับคำในภาษาไทยซึ่งมีความหมายที่ผิดเพี้ยนไปคนละทางคือ คอนซัลท์ กลายเป็น กระเซ้า , บลีดดิ้ง กลายเป็น ดีดดิ้ง

มิเพียงแต่ภาษาอังกฤษเท่านั้น แม้แต่ภาษาไทยก็อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดใหญ่โตได้ เช่น คนไข้จากหมู่บ้านรายหนึ่งไปฝากครรภ์กับหมอที่โรงพยาบาลอำเภอ หมอตรวจแล้วบอกว่าเป็น “เด็กท่าหัว” หมายถึงเด็กในท้องอยู่ในท่าปกติคือ เอาหัวลง (มิใช่เอาขาลงหรืออยู่ในท่านอนขวางท้องอยู่ ซึ่งล้วนแต่เป็นท่าผิดปกติและอาจมีอันตรายตอนคลอดได้)

คนไข้ฟังเป็นว่า “เด็กห้าหัว” ก็แทบช็อก แต่ก็ไม่กล้าถามหมอ กลับถึงบ้านก็ร้องไห้โฮบอกกับญาติว่ามีเด็กประหลาด 5 หัวอยู่ในท้อง ในที่สุดก็ลือกันทั่วหมู่บ้านว่ามีเด็ก 5 หัวเกิดขึ้นในหมู่บ้านแห่งนี้ ดีที่ต่อมาหมอที่ตรวจทราบข่าวเข้าจึงได้แก้ความเข้าใจผิดดังกล่าวให้

คุณผู้อ่านครับเวลาฟังหมอเขาพูดกันก็พยายามถามหมอเขาให้รู้เรื่องเสียก่อน อย่าด่วนโมโหหรือสรุปเอาเองจนกลายเป็นเรื่องน่าขำหรือเรื่องราวใหญ่โตอย่าง 3 รายนี้ก็แล้วกัน!

 

ข้อมูลสื่อ

99-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 99
กรกฎาคม 2530
พูดจาภาษาหมอ
ภาษิต ประชาเวช