• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ไปเบิ่งแพทย์ลาวที่เวียงจันทน์

ไปเบิ่งแพทย์ลาวที่เวียงจันทน์

อาจารย์หมอศัลยเวทย์ เลขะกุล เลขาธิการมูลนิธิ หู คอ จมูกชนบท ได้กรุณาโทรศัพท์มาชวนผมให้ไปเบิ่ง (ดู) ระบบการแพทย์และสาธารณสุขของลาว โดยอาจารย์บอกว่าคณะของอาจารย์เพิ่งเดินทางกลับมาจากเวียงจันทน์ ได้ไปทำการผ่าตัด ตรวจรักษาทางหู ดั่ง (จมูก) คอ ร่วมกับแพทย์ลาวมา และได้ทำความรู้จักกับแพทย์ของลาวหลายท่านในหลายหน่วยงาน จึงมีความคิดขึ้นมาว่า หากได้นำคณะอาจารย์แพทย์ นิสิตนักศึกษาแพทย์ไทยไปทำความรู้จักและเรียนรู้ถึงการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยแพทย์ ณ เวียงจันทน์ จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการประสานงานร่วมกันทางวิชาการในอนาคต อาจารย์บอกด้วยว่า ไปคราวนี้ไม่ได้ไปผ่าตัดรักษาอะไร แต่จะเอาตำราแพทย์ วิดีโอเทป ที่อาจารย์แพทย์ไทยได้ผลิตเกือบทุกชนิดไปมอบให้ทางโรงเรียนแพทย์ลาวด้วย นอกจากนี้จะได้ไปเรียนรู้ว่าระบบการแพทย์และสาธารณสุขของลาวเป็นอย่างไร และที่สำคัญคือ ต้องการปูพื้นฐานแห่งความสัมพันธ์ทางวิชาการต่อไปในภายภาคหน้า

เมื่อทราบถึงวัตถุประสงค์และความตั้งใจอันดีของอาจารย์ อีกทั้งโดยความรู้สึกส่วนตัวที่มีความเคารพและศรัทธาในการอุทิศตนเพื่อชาวชนบทของอาจารย์เป็นเวลานับกว่าสิบปีมาแล้ว ทำให้ผมใช้เวลาตัดสินใจไม่นานนัก ทั้งๆ ที่ยังไม่ทราบสถานการณ์ของลาวในขณะนั้นดีนักว่ามีความปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน

ภาพในอดีต สมัยที่จบแพทย์ใหม่ๆ และสมัครมาปฏิบัติงานชดใช้ทุนที่โรงพยาบาลมุกดาหาร จังหวัดนครพนม เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วนั้น ยังอยู่ในความทรงจำมิรู้ลืม อำเภอมุกดาหารในขณะนั้นยังไม่ได้เป็นจังหวัด อยู่ตรงข้ามสุวรรณเขตประเทศลาว ซึ่งผมจะเล่าเรื่องนี้ให้ฟังภายหลัง ต่อมาเมื่อทราบว่า ศาสตราจารย์นายแพทย์ประดิษฐ์ เจริญไทยทวี ร่วมเดินทางไปด้วยในฐานะหัวหน้าคณะ ความรู้สึกต่างๆ ก็คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น เพราะเชื่อว่าบารมีของอาจารย์จะคุ้มครองพวกเราได้

หากไปแล้วไม่ได้กลับ มีอาจารย์หมอประดิษฐ์อยู่ด้วยคน รัฐบาลไทยคงอยู่เฉยไม่ได้ ผมขึ้นรถไฟที่สถานีสามเสน ศาสตราจารย์นายแพทย์สันต์ หัตถีรัตน์ จากภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ขึ้นมาพร้อมกัน บนรถไฟก็พบกับศาสตราจารย์นายแพทย์ประดิษฐ์ เจริญไทยทวี จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์วิสุทธิ์ ตันศิริคงคล จากภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี อาจารย์นายแพทย์ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล จากศูนย์เวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี รองศาสตราจารย์นายแพทย์ยอด สุคนธมาน รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รองศาสตราจารย์นายแพทย์ปรีดา ทัศนประดิษฐ์ รองอธิการบดีฝ่ายทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคุณดวงใจ (แหม่ม) เกตุมณี จากนิตยสารหมอชาวบ้าน ดูจากสีหน้า ท่าทาง และอารมณ์ ทุกคนสดชื่น แจ่มใส และมีความรู้สึกร่วมกันอยู่อย่างหนึ่ง คือ อยากเห็นในสิ่งที่ไม่เคยรู้ ไม่เคยเห็นมาก่อน จะมีก็บ่นกันเล็กน้อยถึงความล่าช้าของรถไฟไทย

มีคนหนึ่งพูดขึ้นมาว่า “คงได้รับเชื้อจากสายการบินไทย TG…..Tomorrow go” ทำให้เราถึงหนองคายช้ากว่ากำหนดประมาณเกือบ 2 ชั่วโมง และต้องไปเสียเวลาที่ท่าเสด็จอีกครึ่งชั่วโมง ขบวนรถ 4 คันของมูลนิธิ หู คอ จมูกชนบท ซึ่งนำโดยอาจารย์หมอศัลยเวชย์มารอคณะของเราที่จังหวัดหนองคายล่วงหน้า ขบวนรถทั้ง 4 คันขนสัมภาระ เวชภัณฑ์ ตำราแพทย์ และวิดีโอเทปไปเต็มคันรถ เราใช้เวลา 15 นาที เดินทางจากประเทศไทยถึงประเทศลาว ผมไม่มีความรู้สึกที่ว่าได้เดินทางมาต่างประเทศเลย เข้าใจว่าประชาชนทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงก็คงมีความรู้สึกเช่นว่านี้ คุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กวีซีไรท์ ซึ่งเดินทางไปลาวพร้อมคณะศิลปินไทยก่อนหน้านี้ ได้รจนาบทกวีของแม่น้ำสายนี้ว่า

“ศักดิ์สิทธิ์สายน้ำโขงทรงศักดิ์ศรี
ดอกจำปี จำปา ผกาสวรรค์
จำตำนานล้านช้างแต่ปางบรรพ์
สายสัมพันธ์ไทย-ลาว ชาวประชา
แม่โขงคือแม่ของคนสองฝั่ง
รวมความหวังความมุ่งมาดปรารถนา
เย็นสบายไทย-ลาว ทุกคราวครา
สร้อยจำปาคล้องใจไทย-ลาว เทอญ”

นับตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2518 แม่น้ำโขงเป็นแม่ของคนสองชาติ เป็นที่รวมความหวังและให้ความเย็นสบายของประชาชนทั้งสองฟากฝั่งก็เริ่มร้อนระอุ สร้อยมาลัยดอกจำปาที่เคยคล้องใจไทย-ลาวก็ขาดสะบั้นลงไป วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2518 ทางลาวถือเป็นวันที่สำคัญ ถือเป็นวันชาติของประเทศลาว เป็นวันที่เปลี่ยนแปลงรูปรัฐบาลจากราชอาณาจักรที่มีกษัตริย์ มาเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งมีการฉลองวันชาติ และมีป้ายติดอยู่ทั่วนครเวียงจันทน์ว่า ขอให้ชาติ “มั่นยืน” ซึ่งเมื่อคณะของเราขึ้นฝั่งลาวที่ท่าเดื่อ เราก็เห็นข้อความว่า “สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มั่นยืน” แต่นักศึกษาแพทย์แก้วตา เลขะกุล ลูกสาวของอาจารย์ศัลยเวทย์อ่านคำว่า “มั่นยืน” เป็น “ขยับยิ้ม” ภาษาพูดของลาวก็เหมือนคนอีสาน ตรงนี้กระมังที่ทำให้เรามีความรู้สึกว่าเป็นบ้านพี่-เมืองน้องกันจริงๆ แต่ภาษาเขียนต่างกัน ของไทยเรามีสระ วรรณยุกต์ซับซ้อนกว่า มีพยัญชนะมากกว่า เราคงต้องใช้เวลาที่จะเรียนรู้ทำความเข้าใจกับการอ่านภาษาลาว

แต่นักศึกษาแพทย์ลาวบอกผมว่า เขาสามารถอ่านหนังสือไทยได้ แต่เขียนไม่ได้ แล้วก็อ่านหนังสือพิมพ์ไทยรัฐให้เราฟังเป็นตัวอย่าง เมื่อถามว่าทำไมจึงอ่านได้ เขาบอกว่านอกจากทั้งสองภาษามีความคล้ายคลึงกันแล้ว ยังได้เห็นตัวหนังสือไทยทุกวันจากโทรทัศน์ช่องต่างๆ ของไทย ที่ชาวลาวนิยมดูกัน จึงไม่น่าแปลกใจที่นักศึกษาแพทย์ลาวพูดถึงวงดนตรีชื่อดังที่กำลังเป็นที่นิยมของวัยรุ่นในเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นนูโว บักแจ้ บักเบิร์ด ฯลฯ

นับได้ว่าการสื่อสารโดนเฉพาะโทรทัศน์ วิทยุ จากฝั่งไทยมีอิทธิพลมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้คนในฝั่งลาวไม่มากก็น้อย ทางลาวเองก็มีสถานีโทรทัศน์อยู่ 1 แห่ง ซึ่งทางโซเวียตมาสร้างให้ แต่ดูเหมือนว่า คนจะนิยมดูโทรทัศน์ทางฝั่งไทยมากกว่า ก็คงเหมือนๆ กับครั้งหนึ่งที่มาเลเซียมีรายการโทรทัศน์ดีๆ คนทางใต้ก็ดูโทรทัศน์ของมาเลเซียนั่นแหละ พูดถึงวงดนตรีชื่อดังต่างๆ แล้ว เมื่อตอนปี พ.ศ.2530 คุณสุเทพ วงศ์กำแหง ส.ส.กทม. ซึ่งเป็นศิลปินนักการเมืองที่มีอุดมการณ์ ดร.โคทม อารียา และวงดนตรีคาราวาน ได้นำทีมศิลปินชุดแรกไปเจริญสันติภาพและมิตรภาพมาแล้ว หลังจากที่ขาดการติดต่อกันนับ 10 ปี ซึ่งมีข่าวว่าได้รับการต้อนรับอย่างล้นหลาม

เมื่อเร็วๆ นี้ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ก็นำวงดนตรีคาราบาวไปแสดง เพื่อนแพทย์คนหนึ่งได้ข่าวมาจากที่ไหนไม่ทราบได้ เล่าให้ฟังว่าคนมาฟังกันอย่างมืดฟ้ามัวดิน เมื่อวงดนตรีเล่นจบ ท้าวไกรสอน พรหมวิหาร เลขาธิการพรรคประชาชนปฏิวัติลาว นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันก็กล่าวขอบคุณพลเอกชวลิต อย่างสุดจิตสุดใจแต่เมื่อตอนจะกล่าวขอบคุณวงคาราบาว ท้าวไกรสอนก็นึกชื่อวงดนตรีคาราบาวไม่ออกจะเป็นด้วยเห็นคนจำนวนมาก หรือกำลังซาบซึ้งในน้ำใจของพลเอกชวลิต ก็ไม่ทราบได้ แต่ด้วยประสบการณ์และไหวพริบปฏิภาณของผู้นำระดับชาติ ท้าวไกรสอนจึงหันไปด้านหลังของเวที ก็เห็นฉากของเวทีที่วาดรูปสัญลักษณ์ของวงดนตรีคาราบาว ซึ่งเป็นรูปหัวควายขนาดใหญ่ ตั้งเด่นเป็นสง่า ซึ่งมองจากผู้ชมที่อยู่ข้างล่าง จะเห็นชัดจากทุกมุมมอง

ท้าวไกรสอนจึงกล่าวภาษาลาว (สำเนียงอีสาน) ว่า “ข้าพเจ้าขอขอบคุณวงดนตรีหัวค....ย หลายๆ เด้อ” เพื่อนแพทย์คนนั้นเล่าต่อไปว่า “แอ๊ด คาราบาว คงจะไม่กล้าไปร้องเพลงในลาวอีกนาน” เรื่องนี้จริงหรือไม่ ไม่กล้ารับประกัน คงต้องถามพลเอกชวลิต ท้าวไกรสอน หรือแอ๊ด คาราบาว เอาเองก็แล้วกันครับ

ข้อมูลสื่อ

122-022
นิตยสารหมอชาวบ้าน 122
มิถุนายน 2532
อื่น ๆ
นพ.ชูชัย ศุภวงศ์