• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

หัวใจวาย ไตล้ม ตับวาย

หัวใจวาย ไตล้ม ตับวาย

“ส.ส.หัวใจวาย ขณะอภิปรายกลางสภา”

“โรคเบาหวานมักจะลงเอยด้วยภาวะไตล้ม”

“ดื่มเหล้าจัด อาจทำให้ตับแข็ง ตับวายได้”

ข้อความเหล่านี้คงเคยผ่านตาผู้อ่านกันมาบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำว่า “หัวใจวาย”

เมื่อปลายเดือนเมษายนก็มีข่าวดังไปทั่วโลกว่า ผู้นำจีนหัวใหม่ นายหูเย่าปัง เป็นโรคหัวใจวายตาย นักศึกษาจีนได้ถือโอกาสแห่งการอาลัยผู้นำท่านนี้ เดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตยขนานใหญ่ เมื่อหลายปีก่อน แม่ทัพอากาศท่านหนึ่งของไทยก็ไปเป็นโรคหัวใจวายสิ้นชีวิตในต่างแดน ในความรู้สึกของคนทั่วไป คำว่า “หัวใจวาย” มักจะเป็นโรคที่รุนแรงเฉียบพลัน เป็นมัจจุราชที่คร่าชีวิตมนุษย์อย่างไม่ปรานีปราศรัย แต่ความจริงแล้ว ในขณะนี้มีคนจำนวนนับแสนนับล้านที่ป่วยด้วยภาวะหัวใจวาย แต่ยังสามารถใช้ชีวิตเช่นคนปกติได้

ในภาษาหมอ คำว่า “หัวใจวาย” หมายถึง หัวใจทำหน้าที่สูบฉีดเลือดได้น้อย ซึ่งอาจมีสาเหตุได้หลายชนิด ทำให้มีอาการหอบเหนื่อยง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลานอนราบ (หนุนหมอนใบเดียว) อาจมีอาการเท้าบวม ท้องบวมร่วมด้วย ในปัจจุบัน แพทย์มียาช่วยให้หัวใจทำงานได้ดีขึ้น บรรเทาอาการหอบเหนื่อยและอาการบวมได้ แต่ถ้าเกิดจากสาเหตุที่รุนแรง เช่น หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจเกิดอุดตัน ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายไปจำนวนมากก็มักจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรง เป็นลม หมดสติ ตายอย่างกะทันหัน คือ ทำให้หัวใจทำงานไม่ได้ (หัวใจวาย) จนสุดที่จะเยียวยาได้

สรุปก็คือ คำว่า “วาย” ในภาษาหมอ หมายถึง การเสื่อมสมรรถภาพในการทำหน้าที่ของอวัยวะต่างๆ เป็นเหตุให้แสดงอาการเจ็บป่วยขึ้น ไม่ได้หมายถึง วายวอด วายชนม์ วายชีวิต วายปราณ วายสังขาร ดังความหมายที่รู้กันทั่วไป คำๆ นี้แปลมาจากศัพท์ภาษาอังกฤษว่า “failure” (อ่านว่า เฟลเลีย)

หัวใจวาย (heart failure) หมายถึง หัวใจไม่ทำงาน (ทำหน้าที่) หรือทำงานได้น้อย

ไตวาย (renal failure) ตับวาย (hepatic failure) / การหายใจวาย (respiratory failure) ก็หมายถึง ไต / ตับ / ระบบการหายใจไม่ทำงาน หรือทำงานได้น้อย

ไม่ว่าอวัยวะสำคัญเหล่านี้เพียงอันหนึ่งอันใดเสียหน้าที่ไป ก็ย่อมจะคุกคามต่อชีวิตของผู้เป็นเจ้าของอวัยวะนั้นๆ เนื่องจากการอิงรากเดิมจากภาษาอังกฤษ แพทย์บางคนอาจแปลคำว่า “failure” ตรงๆ ว่า “ล้ม หรือล้มเหลว” เช่น หัวใจล้ม (เหลว) ไตล้ม (เหลว) การหายใจล้ม (เหลว) เป็นต้น ซึ่งก็อาจจะให้ความหมายในลักษณะเดียวกันได้ เพราะคำว่าล้มอาจแปลว่า “ตั้งอยู่ไม่ได้หรือตาย” ก็ได้ แต่เนื่องจากคำว่า “ล้มหรือล้มเหลว” ฟังดูเป็นภาษาวิชาการไป และอาจทำให้เข้าใจไขว้เขว จึงนิยมใช้คำว่า “วาย” มากกว่า

ในอดีต คนที่เป็นโรคหัวใจวาย ตับวาย หรือไตวาย มักจะมีชีวิตอยู่ได้อีกชั่วระยะหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นโรคตับวาย หรือไตวาย ปัจจุบันวงการแพทย์มีความก้าวหน้าจนสามารถผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะเหล่านี้กันได้แล้ว โดยเอาหัวใจ/ตับ/ไต ของคนอื่นมาใส่แทนอันเดิมที่เสียไป สำหรับโรคหัวใจวาย ที่เกิดจากผนังหัวใจหรือลิ้นหัวใจพิการ หรือหลอดเลือดหัวใจตีบตัน ก็ยังมีวิธีการผ่าตัดซ่อมแซมได้ แต่อย่างไรก็ตาม วิธีการเหล่านี้ยังเป็นเรื่องที่ยุ่งยากซับซ้อน มีราคาแพง และข้อจำกัดอีกมาก ทางที่ดี จงอย่าประมาท หมั่นดูแลอวัยวะสำคัญเหล่านี้ให้แข็งแรง ดีกว่าปล่อยให้สึกหรอแล้วค่อยซ่อมแซมเป็นแน่แท้

ข้อมูลสื่อ

123-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 123
กรกฎาคม 2532
พูดจาภาษาหมอ
ภาษิต ประชาเวช