• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ตากุ้งยิง

ตากุ้งยิง

กุ้งยิงคืออะไร

กุ้งยิงหรือตาเป็นกุ้งยิง คือ ภาวะที่ตามีฝีเม็ดเล็กๆ ที่เปลือกตาบนหรือเปลือกตาล่าง มีอาการเจ็บ หรือปวดระบมบริเวณเปลือกตาตรงที่มีฝีกุ้งยิงอาจจะเป็นแบบชนิดหัวโผล่ออกด้านนอก หรือหัวมุดเข้าด้านในเปลือกตา ตำแหน่งฝีจะอยู่ตรงขอบเปลือกตา เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบบริเวณเปลือกตาที่พบได้บ่อยกว่าอย่างอื่น เกิดจากการติดเชื้อชนิดสแต็ฟฟีโลค็อคคัส (staphylococcus) ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า ฮอร์ดิโอลุ่ม (hordeolum)

การที่ชาวบ้านเรียก “กุ้งยิง” มีตำนานมาอย่างไรยังไม่เป็นที่ประจักษ์แน่ชัด ทำไมไปเกี่ยวข้องกับ “กุ้ง” และทำไมต้องไป “ยิง” บางคนเรียกว่า “ตาเป็นตอน” แทนที่จะเรียกว่า ตาเป็นต้อ คำศัพท์เหล่านี้เป็นคำศัพท์ที่เรียกขานต่อๆ กันมานานจนค้นหาที่มาของคำเหล่านี้ไม่ได้ เอาเป็นว่าถ้าเรียก “กุ้งยิง” ก็ให้หมายถึง ฝีขอบเปลือกตาแล้วกัน

กุ้งยิงมีกี่ชนิด

ลักษณะฝีเปลือกตาที่ก่อตัวจนเรียกว่า กุ้งยิงนี้ ต้องเป็นก้อนฝีขนาดเล็ก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.5x0.5 เซนติเมตรโดยเฉลี่ย แต่ถ้าโตกว่านี้ เป็นต้นว่าก้อนขนาด 1x1.5 หรือ 1x2 เซนติเมตร กินอาณาเขตบริเวณเปลือกตากว้างเห็นได้ชัดเจน กดเจ็บ ปวดบวมมาก และตำแหน่งมักจะอยู่เลยขอบตาขึ้นไปด้านบนมาก (ถ้าเป็นเปลือกตาบน) และต่ำกว่าขอบตามาก (ถ้าเป็นเปลือกตาล่าง) เช่นนี้ ไม่น่าใช่กุ้งยิง มักจะเป็นการอักเสบอย่างอื่นที่รุนแรงกว่า ได้แก่ เปลือกตาเป็นฝี (Lidabscess) ไม่ใช่ฮอร์ดิโอลุ่มหรืออาจจะเป็นฝีที่ถุงน้ำตา (Lacrimal abscess), หรือต่อมน้ำตาอักเสบ (dacryoadinitis) และอื่นๆ

กุ้งยิงแบ่งออกได้เป็น 3 แบบ คือ

1. กุ้งยิงชนิดหัวมุดเข้าใน (internal hordeolum) ได้แก่ กุ้งยิงชนิดที่เกิดจากการอักเสบของต่อมเปลือกตาที่มีชื่อว่า ต่อมทาร์ซัล (tarsal gland) หรือเรียกอีกชื่อว่า ต่อมไมโบเมียน (meibomian gland) ต่อมนี้จะเรียงตัวอยู่บริเวณเปลือกตาบนและเปลือกตาล่าง เพื่อขับไขมันออกมาเคลือบบริเวณกระจกตาและขอบตา ป้องกันการระเหยของน้ำตาบริเวณผิวหน้ากระจกตาดำไม่ให้แห้งเร็วเกินไป

เมื่อเกิดมีการติดเชื้อแบคทีเรีย คือเชื้อสแต็ฟฟีโลค็อคคัส (staphylococcus) ขึ้นจะเกิดการอักเสบภายในต่อมดังกล่าวที่วางเรียงรายอยู่ในชั้นแผ่นเปลือกตา (tarsal plate) เกิดการโป่งพองทีละน้อยๆ จนโต มีอาการเจ็บ ชนิดนี้หัวของฝีจะชี้ หรือเห็นได้ชัดเมื่อพลิกเปลือกตาปลิ้นดูด้านใน หัวฝีจะมีลักษณะสีเหลือง รอบๆสีเหลืองจะแดง การพลิกหรือปลิ้นดูค่อนข้างยาก ถ้าไม่ชำนาญพลิกไม่ออก เพราะแค่เอานิ้วแตะบริเวณเปลือกตาที่นูนเป็นฝีก็จะรู้สึกเจ็บแล้ว

2. กุ้งยิงชนิดหัวออกด้านนอก (external hordeolum หรือ stye) ได้แก่ กุ้งยิงชนิดที่หัวฝีชี้ออกด้านนอก สามารถเห็นหัวฝีสีเขียวๆ หรือจุดแดงๆ ที่ขอบเปลือกตาตรงโคนขนตาพอดี อาจจะเป็นได้ทั้งขอบตาล่างและขอบตาบน บางคนเป็นเพียงเม็ดเดียวโดดๆ บางคนเป็นพร้อมกันทั้งเปลือกตาบนและเปลือกตาล่าง บางคนร้ายกว่านั้น เป็นทั้งสองตา ตาละสองด้านคือบนและล่าง เกิดจากการอักเสบของต่อมบริเวณขุมขนเปลือกตาที่มีชื่อว่า ต่อมโมล (Moll’s gland) หรือต่อมไว้สส์ (Zeis’s glands) ต่อมเหล่านี้เป็นต่อมที่เลี้ยงบริเวณขุมขน ช่วยขนตาให้เจริญ เป็นต่อมไขมันและต่อมเหงื่อ เมื่อมีการอักเสบติดเชื้อชนิดเดียวกับข้อ 1 เกิดเป็นหนองขังภายใน โป่งพองออกมาเป็นหัวฝี มองดูลักษณะเหมือนหัวสิวขนาดใหญ่เม็ดหนึ่ง

3. กุ้งยิงชนิดเป็นไม่เจ็บ (chalazion) กุ้งยิงชนิดนี้เป็นเพียงก้อนกลมๆ ค่อนข้างแข็งไม่มีอาการอะไร ผู้ป่วยอาจจะตรวจพบได้ด้วยตัวเองเพราะเอามือไปคลำบริเวณเปลือกตาพบเม็ดแข็งๆ กลมๆ ขนาดเมล็ดถั่วเขียวที่เปลือกตาบนหรือเปลือกตาล่าง หรือถ้าหลับตาจะเห็นก้อนนูนชัดเจน ถ้าเป็นในเด็กเล็กๆ พ่อแม่เด็กจะสังเกตลูกตัวเองขณะนอนหลับว่ามีเม็ดกลมๆ ที่เปลือกตา โดยเฉพาะเปลือกตาบนเห็นได้ชัด

กุ้งยิงชนิดนี้เชื่อว่า เกิดจากการที่ต่อมไมโบเมียน (meibomian gland) มีการอุดตันบริเวณรูเปิดตรงขอบเปลือกตา เซลล์ที่อยู่ภายในต่อมมีการเจริญมากมายผิดปกติขังตัวเองอยู่ภายในต่อมทำให้ผนังต่อมโป่งพอง ลักษณะเซลล์ที่เพิ่มจำนวนมากมายนี้มีลักษณะคล้ายวุ้น มิได้เกิดจากการอักเสบติดเชื้อแบคทีเรียเหมือนแบบที่ 1 และที่ 2 แต่วันดีคืนดีอาจมีแบคทีเรียเล็ดลอดเข้าไปภายในต่อมเกิดการอักเสบทำให้เกิด hordeolum ได้เหมือนกัน

กุ้งยิงชนิดนี้ชาวบ้านชอบเรียก “ตาเป็นซิสต์” คือ ก้อนนูนแข็งเป็นไต สาเหตุที่เกิดกุ้งยิงชนิดนี้ยังไม่มีใครทราบแน่ชัด เป็นแล้วอาจหายไปได้เอง

อาการของกุ้งยิง

กุ้งยิงชนิดที่เป็นแบบหัวเข้าในและหัวออกนอก มีอาการที่สำคัญ คือ

1. อาการขั้นแรกเริ่มจะรู้สึกคันบริเวณเปลือกตาตรงใกล้ๆ จุดที่จะเกิดฝี ผู้ป่วยจะขยี้ตาเสมอ

2. ต่อมาอีกหนึ่งถึงสองวันจะเริ่มมีสีแดงบริเวณขอบตาที่เป็นฝีเจ็บเล็กน้อย ผู้ป่วยบางคนจะไม่สังเกต

3. ระยะต่อมาถ้าไม่ได้รับการรักษา ตรงนั้นจะกดเจ็บ เริ่มมีอาการเจ็บๆ คันๆ

4. ต่อมาจะเป็นฝีเห็นชัด รอบๆฝีจะแดง กดเจ็บ ตึง ก้มศีรษะต่ำๆ รู้สึกปวดบริเวณเปลือกตาตุ๊บๆ เอานิ้วแตะบริเวณนั้นจะเจ็บ

5. ฝีก่อตัวชัดเจน จะแยกชนิดให้เห็นได้ว่าจะเป็นแบบหัวเข้าในหรือออกนอก ถ้าหัวเข้าในจะมองไม่เห็นหัวฝีบริเวณเปลือกตา ต้องพลิกปลิ้นด้านในออกมาจึงจะเห็น ถ้าหัวออกนอกจะเห็นหัวฝีสีเขียวๆ หรือตุ่มแดงเรื่อๆ บริเวณโคนขนตาบริเวณนั้น

6. กุ้งยิงชนิดที่ 3 ไม่มีอาการอะไร แต่ผู้ป่วยจะรู้สึกรำคาญเมื่อเอานิ้วมือคลำเปลือกตา หรืออาจระคายตาเล็กน้อยถ้าก้อนโตเพราะหัวกุ้งยิงไปดันเยื่อตา ถ้าก้อนโตพอสมควรอาจจะดันกระจกตาดำให้เบี้ยว เกิดภาวะตามัว เป็นผลให้เกิดสายตาเอียง (astigmatism) ได้ อีกทั้งทำให้รูปทรงเปลือกตาไม่สวยงาม

การรักษากุ้งยิง

การรักษากุ้งยิงพอจะจำแนกออกได้เป็นข้อๆ ดังนี้

1. ชนิดเข้าในและออกนอก พวกนี้มีอาการอักเสบแบบติดเชื้อ ควรรักษาโดย

ก. ประคบน้ำอุ่นบ่อยๆ วันละ 3-4 ครั้ง ครั้งละ 10-15 นาที บริเวณที่เป็นฝีติดต่อกัน 5-7 วัน

ข. ป้ายยาปฏิชีวนะชนิดยาประจำบ้าน ได้แก่ เทอร์ราไมซิน อายออยเมนต์ (terramycin eye ointment) ตรงบริเวณฝีและในตาวันละ 3 ครั้ง หรือถ้าไม่อยากให้ตาเหนียวเหนอะหนะใช้ยาหยอดตาชนิดยาคลอแรมเฟนิคอล อายดร็อพ (chloramphenicol eye drop) หยอดบ่อยๆ ทุก 2 ชั่วโมงติดต่อกัน 3-4 วัน หรือถึง 7 วันก็ได้

ค. ถ้าอาการยังไม่ทุเลาหรือส่อแสดงว่าจะมากขึ้น อาจกินยาปฏิชีวนะพวกเพนิซิลลิน หรือเตตราซัยคลีน ร่วมด้วยก็ได้ และยาแก้ปวดจำพวกพาราเซตามอล เป็นต้น

ง. ปฏิบัติตามข้อแนะนำดังกล่าวแล้วฝียิ่งโตวันโตคืน อาการปวดเพิ่มมากขึ้น ควรไปพบจักษุแพทย์

จ. ไปหาจักษุแพทย์ เมื่อแพทย์พิจารณาดูถี่ถ้วนแล้ว เห็นสมควรผ่าตัดเอาหนองออกก็ไม่ควรปฏิเสธ เพราะจะทำให้อาการทุกอย่างทุเลาลง เพราะหนองที่เพิ่มมากจะทำให้ปวดจนนอนไม่หลับ เมื่อกรีด (incision & currette) แล้วกินยาแก้ปวด หยอดยาแก้อักเสบต่อไปอีก 3-4 วันอาการทุกอย่างจะหายไป

การผ่าตัดฝีเปลือกตาไม่ใช่เรื่องน่ากลัว หรือหวาดเสียว เพียงใช้ยาชาเฉพาะที่ แล้วใช้เครื่องมือพิเศษผ่าตัดเพียงเวลา 10 นาทีก็แล้วเสร็จ ปิดตาไว้ 24 ชั่วโมง ไม่มีแผลเป็น ไม่ทำให้เปลือกตาเสียรูปร่าง หรือแลดูน่าเกลียด ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล

2. ชนิดไม่เจ็บปวด (chalazion) การปฏิบัติตัวสำหรับชนิดไม่เจ็บปวดควรทำ ดังนี้

ก. เอาน้ำอุ่นประคบบ่อยๆ เหมือนข้อ 1 ทำติดต่อกันประมาณ 1 สัปดาห์ พร้อมกับหยอดยาแก้อักเสบป้องกันการติดเชื้อวันละ 3-4 ครั้ง

ข. ถ้าไม่ยุบควรไปหาจักษุแพทย์เพื่อพิจารณาผ่าตัด หรือกรีดเอาวุ้นภายในก้อนออก การผ่าตัดใช้กรรมวิธีเดียวกับการผ่าตัดกุ้งยิงชนิดแรก

การผ่าตัดกุ้งยิงชนิดนี้จะไม่เห็นแผลเป็นเพราะผ่าตัดด้านในเยื่อตา

กุ้งยิงชนิดไม่เจ็บปวดนี้เมื่อรักษาเม็ดหนึ่งหาย เม็ดอื่นอาจเป็นตามมาหรือเม็ดเดิมเป็นซ้ำได้อีก

กุ้งยิงเป็นแล้วทำไมเป็นอีก

กุ้งยิงไม่ว่าชนิดไหนเป็นแล้วอาจเป็นอีกได้ แต่จะเป็นตำแหน่งใหม่ ไม่ใช่ตรงที่เดิม หมายถึงเกิดการอักเสบที่ต่อมข้างเคียงต่อมอื่น หรือนัยน์ตาอีกข้าง เพราะมีการติดเชื้อซ้ำสองหรือสาม แล้วแต่การปฏิบัติตัว การรักษาความสะอาด หรือการรักษาสุขภาพร่างกาย ว่ามีความแข็งแรง มีภูมิต้านทานมากน้อยแค่ไหนประกอบกันด้วย ถ้าภูมิคุ้มกันต่ำโอกาสเป็นซ้ำหรือเป็นๆหายๆย่อมมีได้เสมอ หรือเป็นคนที่ไวต่อเชื้อสแต็ฟฟีโลค็อคคัสที่ปะปนมากับอากาศ ฝุ่นละออง หรือน้ำล้างหน้าเพียงเล็กน้อย คนที่เป็นแล้วเป็นอีกนั้น แสดงว่าในช่วงนั้นอาจเป็นระยะที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ร่างกายอ่อนเพลีย หรือไวต่อการติดเชื้อมาก หรือปฏิบัติตัวไม่สะอาดเพียงพอดังกล่าวแล้ว

การป้องกันมิให้เกิดโรคนี้

1. การป้องกันค่อนข้างยาก เพียงให้ข้อแนะนำ คือ พยายามรักษาความสะอาดบริเวณตาให้ดี เมื่อมีการอักเสบบริเวณขอบตาหรือเปลือกตาให้รีบรักษาหรือปรึกษาแพทย์

2. บางคนได้รับการแนะนำให้กินวิตามิน เอ หรือวิตามิน ซี เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน ซึ่งอาจช่วยได้บ้าง

3. พยายามพักผ่อนร่างกายให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เลี่ยงการปะทะฝุ่นหรือลมแรงๆ หรือแสงจ้าๆ โดยเฉพาะแสงแดดจัดๆ และควันบุหรี่

4. ใช้น้ำสะอาดล้างหน้า ไม่พยายามใช้มือที่ไม่สะอาดเช็ดตาหรือขยี้ตา อันจะเป็นทางให้เชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ต่อมเปลือกตาได้

5. ใช้สายตาให้พอดีกับความสามารถ อย่าฝืนใช้ตามากหรือนานเกินไป จะทำให้ปวดกระบอกตา เมื่อยล้า และแสบเคืองตา เป็นผลให้ความต้านทานลดน้อยลง โอกาสไวต่อเชื้อย่อมมีมาก

6. ไม่จำเป็นไม่ควรซื้อยาหยอดตาตามร้านขายยามาหยอดเองโดยไม่ทราบแน่ว่าเป็นโรคตาชนิดไหน เพราะยาหยอดตาที่มีขายตามร้านทั่วไป มักจะเป็นยาที่มีส่วนผสมสตีรอยด์ซึ่งลดการอักเสบ ลดบวมได้ก็จริง แต่อาจทำให้มีโอกาสติดเชื้อแบคทีเรียได้ง่ายกว่าปกติ

 

ข้อมูลสื่อ

123-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 123
กรกฎาคม 2532
นพ.สุรพงษ์ ดวงรัตน์