• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคหัวใจ / หัวใจอ่อน / ประสาทอ่อน

“คุณหมอ ช่วยตรวจดูว่าดิฉันเป็นโรคหัวใจหรือเปล่าคะ? เพราะไปตรวจตามคลินิกหลายแห่งแล้ว บางคนก็ว่าดิฉันเป็นโรคหัวใจอ่อน บางคนก็ว่าดิฉันเป็นโรคประสาทอ่อน เป็นมาปีกว่า หมดเงินไปก็มากแล้ว...”

“เอายังงี้ดีไหม ลองช่วยเล่าอาการที่เป็นให้หมอฟังก่อนดีไหม? ”

ผู้หญิงสาวเล่าว่าตัวเองมีความรู้สึกเหนื่อยง่าย ใจสั่น กลางคืนนอนไม่ค่อยหลับ มักคิดโน่นคิดนี่ ใจคอไม่ค่อนสบาย แต่ก็ยังสามารถทำงานและกินข้าวได้เป็นปกติ น้ำหนักคงที่ ไม่มีอาการบวม หายใจหอบเหนื่อย หรือเจ็บแน่นหน้าอกแต่อย่างไร

อาการดังกล่าวเริ่มเป็นหลังจากทราบข่าวว่าสามีเล่นไม่ซื่อ ไปแอบมีบ้านเล็กอีกบ้านหนึ่ง แต่ทุกวันนี้ยังจำใจต้องอยู่ด้วย เพราะเห็นแก่ลูกๆ

หลังจากซักถามอาการและทำการตรวจอย่างถี่ถ้วนแล้ว คุณหมอก็บอกกับคนไข้ว่า “โรคที่คุณเป็นรับรองว่า ไม่ใช่โรคหัวใจอย่างแน่นอน แต่เป็นจากความวิตก กังวล คิดมาก เป็นเรื่องของจิตใจที่เป็นทุกข์”

“แล้วทำไมหมอที่คลินิกจึงว่าดิฉันเป็นโรคหัวใจอ่อนล่ะคะ? มันทำให้ดิฉันคอยพะวงว่าหัวใจของดิฉันจะต้องอ่อนล้าลงเรื่อยๆ แล้วคงจะต้องวายไปสักวันในเร็วๆนี้ ดิฉันยังไม่อยากตาย กลัวว่าไม่มีใครจะช่วยดูแลลูกๆ...”


จากตัวอย่างคำสนทนาดังกล่าวมีชื่อโรคที่ทำให้เกิดความสับสนอยู่ 3 คำได้แก่ โรคหัวใจ โรคหัวใจอ่อน และ โรคประสาทอ่อน

คำว่า โรคหัวใจ ภาษาหมอหมายถึง หัวใจที่มีความผิดปกติ เช่น ลิ้นหรือผนังหัวใจมีการรั่วหรือตีบตัน หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงหัวใจมีการตีบตันทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่พอ เป็นต้น

ถือเป็นโรคทางกาย และมักจะทำให้คนไข้ทำอะไรเหนื่อยง่าย หรือเจ็บจุกแน่นกลางหน้าอก เวลาออกแรงมากๆ หรือเวลามีอารมณ์เครียด (เมื่อได้พักจะดีขึ้น)

ถ้าเป็นมากๆ หัวใจจะทำงานไม่ไหว คนไข้จะมีอาการเท้าบวม นอนราบไม่ได้ (ต้องนอนหมอนหลายใบ) หรืออาจเกิดอาการหัวใจวาย เป็นลม หมดสติ ตายในทันทีทันใด จึงนับว่าเป็นโรคที่ร้ายแรง ซึ่งเป็นที่หวาดหวั่นของคนทั่วไป

ส่วนคำว่า โรคหัวใจอ่อน หรือ ประสาทอ่อน นั้น เป็นภาษาหมอที่เคยใช้กันมาอย่างผิดๆ มันหมายถึงโรควิตกกังวล คิดมาก โดยที่ไม่มีความผิดปกติของหัวใจแต่อย่างไร

คนไข้อาจแสดงอาการเหนื่อยง่ายคล้ายๆกัน แต่จะไม่มีอาการบวม หรือจุกแน่นหน้าอกเวลาออกแรงมาก เช่น ที่พบในคนที่เป็นโรคหัวใจ

คนไข้จะมีอาการนอนไม่หลับ คิดมาก มีเรื่องกลุ้มใจ ทุกข์ใจ ทั้งนี้เป็นเรื่องของจิตใจและอารมณ์ล้วนๆ คือเป็นโรคทางใจ ไม่ใช่โรคทางกาย

แต่เมื่อจิตใจไม่สบาย ก็พลอยทำให้มีอาการทางกายต่างๆได้ เช่น ปวดหัว มึนหัว จุกแน่นท้อง ท้องผูก ใจสั่น ใจหวิว เหงื่อออก มือเท้าชา เป็นต้น

ชื่อเรียกที่นิยมใช้กันในปัจจุบันก็คือ โรคประสาท หรือ โรคกังวล หรือ โรคประสาทกังวล ซึ่งให้ความหมายได้ตรงกว่าคำว่า หัวใจอ่อนหรือประสาทอ่อน โรคนี้แม้ว่าอาจจะเป็นเรื้อรัง แต่ก็ไม่เป็นอันตรายอะไรมาก คือไม่ทำให้เกิดอาการหัวใจวายตายแบบโรคหัวใจ

ความสับสนของโรคทั้ง 2 ชนิดนี้ ยังไม่แน่ใจว่าจะเกี่ยวกับคำว่า “ใจ” ในภาษาไทยของเราหรือเปล่า
เพราะ “ใจ” ของเรามีความหมายได้ทั้ง “หัวใจ” และ “ จิตใจ”

คำว่า หัวใจอ่อน อาจเพี้ยนมาจากคำว่า “ใจอ่อน” (จิตใจอ่อนแอ) ก็ได้
ก็ฝากนักภาษาศาสตร์หรือผู้รู้ช่วยสืบเสาะดูที

อย่างไรก็ตาม ก็ขอฝากแพทย์ผู้ดูแลผู้ป่วยทั้งหลายกรุณาตัดคำว่า “หัวใจอ่อน” หรือ “ประสาทอ่อน” ออกจากระบบภาษาหมอเสียทีเถอะครับ

เพราะใช้มันทีไร คนไข้ที่เป็นโรคประสาทกังวลฟังแล้วกลับประสาทกินมากขึ้นหรือไม่ก็หัวใจแทบวายไปทุกที

 

ข้อมูลสื่อ

100-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 100
สิงหาคม 2530
พูดจาภาษาหมอ
ภาษิต ประชาเวช