• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

วิธีป้องกันข้อต่อเสื่อม

วิธีป้องกันข้อต่อเสื่อม

เมื่ออายุพ้น 40 ปีขึ้นไป เรามักเริ่มรู้สึกปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และเจ็บปวดข้อต่อ สาเหตุที่สำคัญของอาการเหล่านี้ คือ ข้อต่อเริ่มเสื่อม ข้อต่อที่พบว่า เสื่อมเร็วกว่าปกติมักจะเป็นข้อต่อที่ใช้งานน้อยเกินไปหรือใช้งานมากเกินไป ได้แก่ ข้อต่อที่บริเวณคอ บั้นเอว ข้อไหล่ ข้อเข่า และข้อต่อของเท้า

ในช่วงที่เริ่มแรก อาการเจ็บปวดอาจเกิดขึ้นไม่นานนักก็หายไป และนานๆ เกิดขึ้นครั้งหนึ่ง แต่พอระยะเวลาผ่านมา 2-3 ปี อาการเจ็บปวดจะเกิดบ่อยขึ้นๆ จนเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ในระยะแรกการกินยาลดปวดได้ผลค่อนข้างดี ในระยะหลังไม่เพียงแต่ยาต่างๆ ไม่ค่อยได้ผลในการบรรเทาอาการเจ็บปวดแล้ว ยังเกิดโรคแทรกซ้อนจากยาเหล่านี้ที่กระเพาะลำไส้ ทำให้ต้องหาทางรักษาโรคที่เกิดขึ้นใหม่ ทั้งๆ ที่อาการเจ็บปวดที่ข้อต่อยังไม่ดีขึ้น ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ ทั้งนี้เพราะว่า อาการเจ็บปวดที่ข้อต่อที่มีสาเหตุมาจากการเสื่อมนั้นไม่สามารถแก้ไขโดยยาใดๆทั้งสิ้น แต่อยู่ที่การปฏิบัติตนและการออกกำลังกายบริหารข้อต่อนั้นให้ถูกต้อง

การเข้าใจว่าทำไมข้อต่อจึงเสื่อมเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพราะการเสื่อมเป็นสัญลักษณ์ของความแก่ ถ้าเราชะลอการเสื่อมได้ เราก็ย่อมชะลอความแก่ได้ ข้อต่อของร่างกายที่เคลื่อนไหวได้ จะประกอบด้วยปลายของกระดูก 2 ชิ้นที่บุด้วยกระดูกอ่อนมาประกอบกัน มีพังผืดหุ้มรอบข้อต่อ ภายในข้อต่อบุด้วยเยื่อสร้างน้ำหล่อเลี้ยงข้อต่อ ช่องว่างของข้อต่อจึงมีน้ำหล่อเลี้ยงบรรจุอยู่

หน้าที่ของข้อต่อ คือ เกิดการเคลื่อนไหวและรับน้ำหนัก ดังนั้นกระดูกอ่อนจึงทำหน้าที่เป็นตัวกันการสะเทือน หรือเปรียบเทียบได้กับโช๊คอัพของรถจักรยานยนต์ น้ำหล่อเลี้ยงข้อต่อเปรียบเสมือนน้ำมันเครื่อง ถ้าปราศจากกระดูกอ่อนและน้ำหล่อเลี้ยงข้อต่อแล้ว ข้อต่อจะเกิดการเสียดสีมาก ทำให้เสื่อมอย่างรวดเร็ว เนื่องจากไม่มีหลอดเลือดมาเลี้ยงกระดูกอ่อน

การที่กระดูกอ่อนจะคงอยู่ได้นานหรือไม่จึงขึ้นอยู่กับแรงกดเป็นจังหวะที่มีต่อข้อต่อนั้น เพื่อให้อาหารในน้ำหล่อเลี้ยงข้อต่อสามารถซึมเข้าไปได้ ถ้าแรงกดมีมากและนานเกินไปอาหารไม่สามารถซึมผ่านเข้าไปในกระดูกอ่อนได้ กระดูกอ่อนจะตายได้ เนื่องจากขาดอาหาร ดังนั้นการที่จะรักษาอายุของกระดูกอ่อนได้ ย่อมต้องหมั่นทำให้เกิดการเคลื่อนไหว และไม่ลงน้ำหนัก หรือใช้ข้อต่อนั้นมากเกินไป มิฉะนั้นแล้ว เมื่อกระดูกอ่อนเสื่อมไป กระดูกจะเข้ามาชนกันและเสียดสีกัน ทำให้ผิวกระดูกเสื่อมไปด้วย ร่างกายจะพยายามสร้างกระดูกเพิ่มเติม ทำให้ผิวกระดูกขรุขระ โดยเฉพาะรอบนอกของข้อต่อ เกิดเป็นกระดูกงอกหรือหินปูน คำว่ากระดูกงอกนั้นไม่ใช่เนื้องอกหรือมะเร็ง แต่เป็นสัญลักษณ์ของอาการเสื่อมของข้อต่อ

น้ำหนักตัวที่มากเกินไปจะเพิ่มแรงกดที่ข้อต่อ ทำให้เสื่อมเร็วกว่าปกติ การใช้ข้อต่ออย่างไม่ปรานี โดยยืนหรือนั่งทำงานนานเกินไป หรือการเคลื่อนไหวเฉพาะในช่วงใดช่วงหนึ่งของข้อต่อนั้น ย่อมทำให้กระดูกอ่อนไม่ได้อาหาร ทำให้ตายและหลุดหายไป ในทางตรงข้าม การที่ข้อต่ออยู่นิ่งจนเกินไป เช่น ผู้ที่มีน้ำหนักมาก ไม่ค่อยยอมลุกขึ้นเคลื่อนไหวไปมา หรือเมื่อมีอาการเจ็บปวดข้อต่อแล้ว ไม่กล้าที่จะใช้ข้อต่อนั้นเป็นเวลานาน ย่อมทำให้ข้อต่อเสื่อมเร็วขึ้น เช่นเดียวกันกับการใช้มากจนเกินไป เพราะอาหารไม่สามารถถูกดูดซึมเข้ากระดูกอ่อนได้ ถ้าไม่มีการกดและปล่อยสลับกันไป

ดังนั้น การออกกำลังกายในกรณีที่ข้อต่อเริ่มเสื่อมแล้ว จึงควรเป็นการออกกำลังกายประเภทไม่เกิดแรงกระแทกที่ข้อต่อนั้นมากเกินไป เกิดการเคลื่อนไหวอย่างเป็นจังหวะและให้เกิดการเคลื่อนไหวได้ช่วงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ การว่ายน้ำ การเดินเร็ว การขี่จักรยาน การโหนบาร์ และการบริหารในท่านอน จึงเหมาะกว่าการวิ่งทน การกระโดดเชือก การยกน้ำหนัก ทั้งนี้รวมทั้งกีฬาที่ใช้ข้อต่อใดข้อต่อหนึ่งมากเกินไป เช่น กีฬาเทนนิส ตีกอล์ฟ การเล่นกีฬาที่ไม่สมดุลดังกล่าวควรจะออกกำลังกายเสริมโดยใช้ข้อต่ออื่นๆ ด้วย ข้อต่อจึงจะไม่เสื่อมเร็ว

การบริหารข้อต่อให้เสื่อมช้าลงจึงไม่ใช่เพียงแต่เล่นกีฬา หรือออกกำลังกายอะไรก็ได้ หรือคิดเพียงแต่จะลดน้ำหนักเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงชนิดและท่าการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับข้อต่อนั้นๆ

ข้อมูลสื่อ

124-032
นิตยสารหมอชาวบ้าน 124
สิงหาคม 2532
อื่น ๆ
รศ.ประโยชน์ บุญสินสุข