• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

หมอป่วยด้วยหรือ

หมอป่วยด้วยหรือ

ในช่วงหน้าฝน มักจะมีการระบาดของไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ บางครั้งหมอเองก็ถูกไข้เหล่านั้นเล่นงานเข้าให้เหมือนกัน ทำให้ต้องหยุดรักษาโรคให้คนอื่นไปหลายวัน

“เอ คุณหมอป่วยเป็นไข้หวัดกับเขาด้วยหรือ” ผู้ป่วยบางคนที่สนิทกับหมอ จะถามหมอตรงๆ อย่างนี้

“เอ้า แล้วทำไมถึงคิดว่าหมอป่วยกับเขาไม่เป็นล่ะ” หมอเองถูกคำถามนี้แย็บจนงง

“ก็หมอเป็นหมอ น่าจะกินยาป้องกันไว้ล่วงหน้า!” ผู้ป่วยจินตนาการ

ชาวบ้านอาจมีความรู้สึกว่าแพทย์ผู้ทำการรักษาโรคให้คนอื่นนั้นจะต้องมีอะไรที่พิเศษจากคนทั่วไป จะต้องมีความรู้ในการดูแลสุขภาพของตัวเองดีกว่าคนอื่น หรือมีสมรรถภาพของร่างกายแข็งแกร่งกว่าชาวบ้าน หรือรู้จักกินยาบำรุงหรือยาโป๊วที่ชาวบ้านไม่มีโอกาสได้ใช้

บางครั้งก็เคยได้ยินชาวบ้านอุทานว่า “หมอเป็นแผลกับเขาด้วยหรือ” “หมอเป็นโรคกระเพาะด้วยหรือ”…

ในจินตนาการของผู้ป่วยบางคน หมอเป็นเหมือนเทวดาหรือซูเปอร์แมน แต่ในความเป็นจริง หมอก็มีโอกาสเจ็บป่วยได้พอๆกับชาวบ้าน หรืออาจจะเสี่ยงต่อการเป็นโรคได้มากกว่าชาวบ้านด้วยซ้ำไป เช่น ในช่วงที่มีไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ระบาด จะต้องตรวจรักษาคนที่เป็นไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่วันละหลายๆ ราย ถ้าไม่ระมัดระวังก็อาจถูกผู้ป่วยไอหรือหายใจใส่ มีโอกาสติดเชื้อได้มากกว่าคนทั่วไป

หากสุขภาพของหมอดีอยู่ ก็ไม่เกิดโรค แต่ถ้าร่างกายอ่อนแอ ก็มีโอกาสล้มหมอนนอนเสื่อได้ง่ายๆ หมอไม่มียากินป้องกันโรคไว้ล่วงหน้าหรือ ก็ต้องบอกว่า ไม่มียาวิเศษอะไรที่กินป้องกันไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ได้ มีก็แต่วัคซีนที่ใช้ป้องกันโรคต่างๆ อย่างเดียวกับที่ชาวบ้านทั่วไปได้รับกันนั่นแหละ

“ยาวิเศษ” ที่ใช้รักษาสุขภาพของหมอ ก็เป็นอย่างเดียวกับที่ชาวบ้านมีกัน นั่นคือ การรู้จักรักษาสุขภาพให้แข็งแรงสมบูรณ์ด้วยการออกกำลังกาย การพักผ่อนเพียงพอ การบริโภคอาหารอย่างเหมาะสม การคลายเครียด การไม่บริโภคสิ่งเสพติดให้โทษ (เช่น บุหรี่ เหล้า) การระมัดระวังในเรื่องอุบัติเหตุ เป็นต้น
ยาวิเศษเหล่านี้ ทั้งหมอและชาวบ้านมีสิทธิ์ที่จะแสวงหาได้โดยเท่าเทียมกัน

แต่สำหรับหมอในบ้านเราที่ขยันตรวจรักษาโรคแก่ผู้ป่วยวันละ 14-15 ชั่วโมง (ตั้งแต่ 7 โมงเช้าถึง 3-4 ทุ่ม) ซึ่งมีทั้งงานหลวง (งานในโรงพยาบาลรัฐบาล) และงานราษฎร์ (คลินิกส่วนตัว โรงพยาบาลเอกชน)  แทบจะกล่าวได้ว่ามีโอกาสเสพ “ยาวิเศษ” เหล่านี้ได้น้อยกว่าชาวบ้านเสียอีก ดังนั้น หมอจึงมีสิทธิ์ป่วยได้พอๆ กับชาวบ้าน หรืออาจจะมากกว่าชาวบ้านด้วยซ้ำ จนมีตัวเลขสถิติออกมาว่า หมอที่ตายจะมีอายุเฉลี่ยประมาณ 53 ปี (นับเฉพาะคนที่ตาย ยังไม่ได้เอาอายุคนที่อยู่มาเฉลี่ยด้วย) ซึ่งว่ากันว่าเป็นอายุเฉลี่ยที่ต่ำกว่าวิชาชีพอื่นๆ

บางครั้งจึงมีคนกล่าวว่า คนที่ขาดการดูแลสุขภาพตนเองอย่างมาก ก็คือ ตัวหมอเอง

“ไปหาหมอที่ไร หมอพูดเป็นสูตรเดียวกันว่า ต้องออกกำลังกายให้มากๆ ต้องเลิกสูบบุหรี่ ต้องพักผ่อนให้มากๆ แต่ตัวหมอเองก็เห็นทำงานหามรุ่งหามค่ำ ไม่เห็นเคยออกกำลังกายอะไรเลย บางคนเห็นยังสูบบุหรี่มวนต่อมวน...” บางทีก็เคยได้ยินผู้ป่วยนินทาหมอในวงเหล้าอย่างนี้

นายแพทย์มาห์เล่อร์ อดีตผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ผู้เป็นเจ้าตำรับคำขวัญ “สุขภาพดีถ้วนหน้า เมื่อปี 2543” ได้กล่าวย้ำอยู่เสมอๆว่า “การสาธารณสุขมูลฐานหรือการดูแลสุขภาพตนเอง หาได้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชาวบ้านเท่านั้นไม่ แพทย์และบุคลากรสาธารณสุขก็ต้องการสิ่งนี้ด้วยเช่นกัน” เพื่อสุขภาพของหมอ และเพื่อเป็นผู้นำในการดูแลสุขภาพตนเอง ในอนาคต แพทยสภาอาจออกข้อบังคับว่า

“ห้ามแพทย์สูบบุหรี่ หากฝ่าฝืนจะถูกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ” ก็เป็นได้ ใครจะรู้!

ข้อมูลสื่อ

125-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 125
กันยายน 2532
พูดจาภาษาหมอ
ภาษิต ประชาเวช