• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เจ็บเพราะงาน

เจ็บเพราะงาน












                      รูปที่ 1                                                                             รูปที่2

เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2523 มีข่าวกรรมกรก่อสร้างตกตึก เนื่องจากนั่งร้านของตึกวิทยาลัยแพทย์ทหาร ที่กำลังก่อสร้างอยู่พังลงมา เป็นผลให้มีผู้เสียชิต 6 คน บาดเจ็บ 2 คน (ดูรูปที่ 1) ต่อมา วันที่ 29 เดือนเดียวกัน ก็มีข่าวสายลิฟท์ที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารใหม่โรงแรมดุสิตธานีขาด กรรมกรตกลงมาจากชั้นที่ 9 เสียชีวิตไปอีก 3 คน (ดูรูปที่ 2)
อุบัติเหตุดังกล่าวและที่คล้ายคลึงกันอีกหลายอย่าง เกิดขึ้นบ่อยกว่าที่ควร บางอย่างป้องกันได้ฐบาง
อย่างเกิดจากความประมาทและรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แท้ที่จริงการสร้างนั่งร้าน มีกฎเกณฑ์ของกรมโยธาธิการวางไว้ละเอียดและรัดกุมมาก ถ้าทำตามกฎเกณฑ์ดังกล่าว ความผิดพลาดก็แทบจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย

บทความวันนี้จึงเป็นเชิงบอกเล่า เพื่อให้มีความระมัดระวัง อันเป็นการป้องกันอุบัติเหตุที่จะเกิดจากทำงาน และการรักษาพยาบาลเบื้องต้น
 

ศีรษะและใบหน้า
บริเวณศีรษะและใบหน้าได้รับอุบัติเหตุไม่บ่อยนัก เพราะโดยมากคนมักป้องกันและหลบได้ อุบัติเหตุจึงเกิดเนื่องจากหลบไม่ทัน
 
                 รูปที่ 3                                                               รูปที่ 4

 เช่นรูปที่ 3 หญิงสาวผมยาว ผมปลิวเข้าไปติดในเฟืองสายพานและกระชากเอาหนังศีรษะหลุดติดเครื่องจักรไป หนังศีรษะนี้ (รูปที่ 4) ภายหลังเอาออกมาจากสายพานได้ แพทย์ได้พยายามเย็บหนังศีรษะกลับคืนไปอย่างเดิม แต่ไม่เป็นผลสำเร็จการช่วยเหลือทางการแพทย์เพื่อจะปะหนังศีรษะที่หลุดออกมาแล้ว กลับคืนไปที่เดิมมีผลน้อยมาก ในรายที่ทำได้สำเร็จ ก็มีขบวนการและกรรมวิธีที่ยุ่งยาก กับใช้เวลานาน (อ่านในคอลัมน์ถามตอบหมอชาวบ้านใน “หมอชาวบ้าน” ฉบับที่ 8 เดือน ธันวาคม 2522)
การป้องกันไม่ให้เกิดเป็นวิธีที่ดีที่สุด แท้ที่จริง มีกฎข้อบังคับของทางโรงงานเกี่ยวกับความปลอดภัยของผู้ที่มีผมยาวอยู่แล้ว เช่น ให้รวบผมให้เรียบ และใช้ผ้าคลุม หรือใส่หมวกที่กันผมไว้อย่างมิดชิด บางแห่งหมวกที่ออกแบบมาใช้สำหรับโรงงานยังแข็งแรงพอที่จะกันสิ่งของหล่นลงมาถูกศีรษะ และถูกเครื่องมือ เหวี่ยงถูกศีรษะได้




พูดถึงเครื่องมือ การวางเครื่องมือไม่ถูกที่ ใช้เครื่องมือด้วยความไม่ระมัดระวัง อาจเกิดอันตรายได้มาก
รูปที่ 5 นี้เป็นคนที่โชคยังดี คือ ถ้าเคราะห์ร้าย คงโดนมากกว่านี้
ชายผู้นี้แก้เครื่องรถยนต์อยู่ มือถือ ไขควงไขโน่นไขนี่ ใกล้ ๆ กับใบพัด ไขควงหลุดมือถูกใบพัดตีกลับมาถูกหูขาดไปครึ่งหนึ่ง นึกภาพแล้ว น่าเสียวไส้ เพราะไขควงอาจตีกลับมาปักเข้าตำแหน่งใดของใบหน้าก็ได้
 


                      รูปที่ 5


 

ตา
บาดเจ็บที่ตากับการทำงาน เป็นของคู่กัน แต่ไหนแต่ไรมาแล้ว




รูปที่ 6







กรดเข้าตา
ในคนที่เติมน้ำกรด หรือน้ำกลั่น แบตเตอรี่ โดยก้มลงไปดู ว่าจะเต็มหรือยัง บางคราวน้ำในหม้อแบตเตอรี่กระเด็นมาเข้าตาได้ การก้มลงไปดูช่องน้ำกรด แบตเตอรี่ ในขณะที่กำลังเติม (ชาร์จ) ไฟอยู่ ไม่ควรทำ เพราะน้ำกรดอาจกระเด็นเข้าตา

 
                         รูปที่ 7                                                                           รูปที่ 8

การแก้
ถ้าบังเอิญโดนเข้า อย่าขยี้ตา รีบหาน้ำสะอาด น้ำฝน, น้ำบ่อที่ต้มแล้ว, น้ำประปา หรือน้ำขวดโพลาลิส ก็ได้ เทล้างตา (ดูรูปที่ 6) การเทล้างตาทำดังนี้ คือ การลืมตาในขันน้ำไม่พอ เพราะต้องการให้แรงน้ำล้างน้ำกรดที่ค้างอยู่ออกไปด้วย พยายามลืมและกะพริบตา แสบบ้างทนเอา ดีกว่าตาบอด ทำเร็วที่สุด ดีที่สุด ล้างสัก 2-3 ขัน แล้วจึงมาโรงพยาบาล
ถ้าโรงพยาบาลอยู่ไกล มายาก และตาพอมองเห็นอะไรได้ ไม่จำเป็นต้องมาใช้ขี้ผึ้งป้ายตาที่มีปฏิชีวนะร่วมกับสเตอร์รอยด์ เช่น ฮัยโดรแอตรีสันเอส ป้ายตา ดังรูปที่ 7 อาจปิดตาไว้ชั่วคราว (ดูรูปที่ 8) ถ้ามีอาการเคืองตาอาจมีตาแดงอยู่ 2-3 วัน แล้วจะค่อย ๆ หายไปเอง
 

 

ผงเข้าตา
ถ้าเป็นฝุ่นละอองเล็ก ๆ น้อย ๆ อาจใช้ล้างตาด้วยน้ำเกลือนอร์มัลได้ โดยมากจะเป็นผงเหล็ก เช่น ตะไบ หรือเหล็กจากการเจียรด้วยหินเจียร สะเก็ดเปลวพะเนียงจากการเจียรหรือเชื่อมโลหะด้วยไฟฟ้า
การแก้ไข
อย่าขยี้ตา เพราะยิ่งขยี้ สะเก็ดเหล็กจะยิ่งบาดลึกลงไปในลูกตา ควรปิดตาด้วยผ้าก๊อซสะอาด เพื่อให้ตาหลับ ไม่กะพริบ จะได้ไม่เจ็บไม่เคือง แล้วมาหาแพทย์ให้ช่วยเอาออก
สำหรับผู้ที่อยู่ห่างไกล ไม่สามารถไปหาแพทย์ได้ สถานีอนามัยประจำตำบลหรือหมู่บ้าน อาจช่วยได้ ดังนี้







รูปที่ 9









1. ดูด้วยตาเปล่าว่า มีเศษผงเหล็กหรือไม่ และอยู่ที่ใด ถ้ามองเห็นยาก อาจซื้อแว่นขยายสักอันหนึ่ง
ราว ๆ 60-70 บาท มาใช้ โดยส่องดูดังรูปที่ 9

2. ในคนที่เคืองตามาก, กะพริบ, และคอยจะขยี้หรือร้องเจ็บปวด อาจใช้ยาชาหยอดตาเสียก่อนเช่น
โนโวเคน ถ้าไม่มีจะใช้อ๊อฟเธติคครึ่งเปอร์เซ็นต์ หยอดเสียก่อนก็ได้ เมื่อหยอดแล้ว เขาจะหายเจ็บปวดและให้เราตรวจโดยตี

3. ควรล้างตาด้วยน้ำเกลือนอร์มัลโดยใช้กาล้างตา หรือ อาจใช้ขวดให้น้ำเกลือ ต่อสายให้น้ำเกลือล้างตาก็ได้ (ดูรูปที่ 10)
 

เมื่อล้างแล้ว จึงใช้ปลายเข็มฉีดยา ค่อย ๆ เขี่ยออก เช่นเดียวกับการบ่งหนาม เพราะโดยมากสะเก็ดโลหะจะฝังลึกลงในผิวแก้วตา การใช้สำลีเขี่ยจะไม่ค่อยออก ถ้าเขี่ยหรือถูแรง ๆ จะทำให้เกิดความชอกช้ำมากขึ้น ผู้ทำต้องมีความเที่ยงและนิ่งพอสมควร มิฉะนั้น จะทำให้ปลายเข็มบาดเข้าไปในแก้วตา
เมื่อสะเก็ดเหล็กออกแล้ว ควรล้างตาด้วยน้ำเกลือนอร์มัลอีกครั้งหนึ่ง แล้วป้ายตาด้วยขี้ผึ้งป้ายตาดังกล่าว

           

การเชื่อมโลหะ
จะเป็นโดยก๊าซหรือโดยไฟฟ้า ก็ตาม ควรจะมีโล่บังเสมอ กันทั้งสะเก็ดเชื่อมหรือประกายไฟกระเด็นใส่ กันทั้งแสงที่อาจทำลายแก้วตา หรือแม้แต่เยื่อบุลูกตาได้ แต่การใช้โล่บัง ทำให้การเชื่อมทำได้ไม่ถนัด เพราะต้องใช้มือเดียว (อีกมือถือโล่ห์) และต้องมองผ่านกระจกกรองแสง คนที่มักง่าย จึงไม่ใช่ และเกิดผลเสีย มีช่างเชื่อมหลายคนที่มีเยื่อบุตาอักเสบ หรือที่เรียกว่า ตาแดง จากการเชื่อมโลหะโดยไม่ใช่โล่ บางคนต้องพกยาล้างตา เมื่อล้างตาตลอดเวลา บางคนยิ่งกว่านั้น พกยาหยอดตาที่เข้าเพร็ดนิโซโลน โดยหยอดเป็นประจำ ทำให้เกิดโทษได้มาก อาจกลายเป็นต้อกระจก ต้อหิน ตาบอด ตามัวได้
 

 

การล้างตาเป็นประจำจะดีไหม?
โดยเฉพาะในคนที่ทำงานในบรรยากาศของก๊าซ, ควันที่รม, เขม่า และฝุ่นละออง ตามธรรมดา ตาของเรานี้ ไม่มีความจำเป็นต้องล้างเลย เพราะไม่มียาล้างตาใด ๆ ในโลก ที่จะดีเท่าของธรรมชาติ คือ ต่อมน้ำตาที่สร้างน้ำหล่อเลี้ยง และทำหน้าที่ล้างตาให้เสร็จ ควรป้องกันตาไม่ให้ถูกกับฝุ่นละออง, ควันต่าง ๆ หากป้องกันแล้ว ยังไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ อาจใช้น้ำล้างตาได้ น้ำที่ดี คือ น้ำเกลือนอร์มัล อาจทำได้จากน้ำ สะอาด ต้มให้เดือด ใส่เกลือป่นลงไปหนึ่งช้อนโต๊ะ ต่อ 1 ลิตร ทิ้งไว้ให้เย็นก็ใช้ได้ อาจใช้น้ำยากรดบอริค 3 เปอร์เซ็นต์ ก็ได้ วิธีทำง่าย ๆ ก็เช่นเดียวกัน อาจใช้น้ำสะอาด 1 ขวดแม่โขง ต้มให้เดือด ใส่กรดบอริคลงไป 2 ช้อนชา การใช้น้ำยาอื่นใด นอกจากนี้ ก็จะได้ผลไล่เลี่ยกัน เพราะยาล้างตาไม่ว่ายี่ห้อไหน จะใส่กรดบอริคเจือจางหรือบอแรกซ์ หรือมีทั้งสองอย่างผสมกัน เป็นตัวยาสำคัญทั้งนั้น
มือ



รูปที่ 11 มือบาดเจ็บ จากเครื่องบดเนื้อ







รูปที่ 12 มือบาดเจ็บ จากเครื่องปั๊มพลาสติค








รูปที่ 13 มือบาดเจ็บจาก เครื่องปั๊มใลหะ จนขาด ออกจากกัน




 

จากตัวอย่างที่ให้ดูข้างบนนี้ และยังมีอีกมากมาย ล้วนแต่บาดเจ็บที่มือจากการทำงานทั้งนั้น ซึ่งการบาดเจ็บหลายอย่างสามารถป้องกันได้
ตามธรรมดา เครื่องบดเนื้อที่ทำเป็นมาตรฐาน จะไม่สามารถ แม้แต่สอดนิ้วเข้าไปได้ เพราะบริษัทที่ผลิตเครื่อง ต้องรับรองความปลอดภัยในการใช้งาน แต่เครื่องบดเนื้อที่บดมือเจ้าของเข้าไปด้วย (ดูรูปที่ 11) เป็นเครื่องบดทำเอง ถ้าใช้ด้วยความระมัดระวังและยอมเสี่ยงก็ย่อมใช้ได้แต่วันไหนเผลอ เครื่องก็บดมือได้เหมือนกันของหลายอย่างบริษัทผลิต มีเครื่องป้องกันติดไว้ให้ แต่ผู้ใช้รู้สึกไม่ถนัด เช่น ในกรณีของเครื่องปั๊มโลหะและพลาสติค จึงถอดออกเสีย เมื่อเผลอเครื่องก็เลยปั๊มมือเอา (ดูรูปที่ 12)

เครื่องตียาง เพื่อหล่อดอกยางใหม่ตามธรรมดา ผู้ทำต้องใส่ถุงมือ แต่มักจะร้อนและทำไม่ถนัด จึงใช้มือเปล่า พอเผลอ เครื่องก็เลยบดมือเสียเลย โดยมาก บาดแผลพวกนี้ สกปรก เพราะเศษยางจะเข้าฝังในเนื้อ รักษายาก

เลื่อยวงเดือน เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยในการตัดไม่ได้ดีและเร็วมาก ตามธรรมดา จะมีโล่ห์บังอยู่ การตัดนิ้วหรืออวัยวะอื่นใด จะเกิดขึ้นได้น้อยมาก แต่พอคนเอามาใช้ มักถอนโล่ห์บังออก และเลื่อยตัดนิ้วขาดได้เสมอ



อีกเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างไม่น่าเกิด และมาตึกอุบัติเหตุ เพื่อรักษาหลายครั้งแล้ว คือ หินเจียรแตก เมื่อกำลังเจียรอยู่ หินแตกก็กระเด็นออก บาดหน้า ตา, ศีรษะ (ดูรูปที่ 14) ทั้งตนเองและผู้อยู่ใกล้เคียง ดังนั้น การซื้อหินเจียร ควรเลือกยี่ห้อดี ที่ไม่แตกง่าย สำรวจรอยร้าว ของหินก่อนใช้ และไม่ควรถอดกำบังของหินออก
 





 

มือและนิ้วที่ขาด ควรปฏิบัติอย่างไร?
มือและนิ้วที่ขาด อาจต่อกลับเข้าไปใหม่ได้เสมอ ถ้าแผลที่ตัดไม่ชอกช้ำจนเกินไป และอวัยวะที่ขาดเก็บรักษามาดี ในกรณีที่สงสัย ให้เก็บมาให้แพทย์ และแพทย์จะเป็นผู้บอกเองว่า ต่อได้หรือไม่

 

การเก็บ
อวัยวะที่หลุดออกไป ไม่ควรล้างน้ำ ถ้าไม่สกปรกจนเกินไปนัก ไม่ควรแม้แต่จะใช้ผ้าเช็ดหรือปัด เอาใส่ถุงพลาสติคที่สะอาด รัดปากถุงให้แน่นด้วยหนังสติ๊ก โดยรีดเอาลมในถุงออกให้มากที่สุดเสียก่อน เอากระป๋องใส่น้ำแข็งที่บดละเอียดมา ขนาดของกระป๋องสุดแต่ขนาดของอวัยวะที่เก็บ กะพอให้น้ำแข็งหุ้มรอบถุงพลาสติคที่ห่ออวัยวะที่เก็บ เอาอวัยวะที่ใส่ถุงพลาสติคแล้วนี้ ฝังในน้ำแข็งและนำมาหาแพทย์เลย

สำหรับผู้ป่วย ถ้าเป็นนิ้วมือ ใช้ผ้าสะอาดปิดพันให้แน่น เพื่อกันเลือดออก ถ้าเป็นแขน พันผ้าแล้วเลือดยังไม่หยุดไหล ให้ผู้ป่วยนอนยกแขนขึ้นสูงไว้บนหน้าอก เอาหมอนรองไว้ก็ได้ ถ้าเลือดยังไม่หยุด อาจใช้วิธีขันชะเนาะ แล้วนำมาโรงพยาบาลพร้อมกัน

 

ข้อมูลสื่อ

13-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 13
พฤษภาคม 2523
รศ.นพ.เกษียร ภังคานนท์