• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรค หรือ อาการ

โรค หรือ อาการ

“คุณหมอครับ โรคดีซ่านกับโรคตับอักเสบ ใช่เป็นโรคเดียวกันหรือเปล่าครับ”

“คุณหมอคะ โรคหอบกับโรคหืด ใช่เป็นโรคเดียวกัน หรือเปล่าคะ”

มีอยู่บ่อยครั้งที่หมอจะถูกผู้ป่วยถามด้วยคำถามทำนองนี้

คำตอบก็คือ ดีซ่านไม่ใช่โรคตับอักเสบ แต่เป็นอาการหนึ่งของโรคตับอักเสบ

หอบไม่ใช่โรคหืด แต่เป็นอาการหนึ่งของโรคหืด

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ คำว่า “ดีซ่าน” และ “หอบ” เป็นคำที่ใช้เรียกอาการของผู้ป่วย ซึ่งเป็นสิ่งที่เราจะสังเกตหรือรู้สึกได้ ถ้าผู้ป่วยมีลักษณะตาเหลืองตัวเหลืองเหมือนทาขมิ้น และปัสสาวะเหลืองเข้มเหมือนขมิ้น ก็เรียกว่า อาการดีซ่าน ถ้าผู้ป่วยมีลักษณะหายใจเข้าออกลำบาก หายใจถี่ หายใจเร็ว ก็เรียกว่า อาการหอบ

ส่วนคำว่า “โรค” นั้น หมายถึง ความเจ็บไข้ หรือความเจ็บป่วยชนิดหนึ่งชนิดใดโดยเฉพาะ ที่มีสาเหตุอาการแสดง การรักษา และการป้องกันในลักษณะเฉพาะตัวของมัน เช่น โรคตับอักเสบที่เกิดจากเชื้อไวรัสจะมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะเหลือง (ดีซ่าน) อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ตับโต ไม่มียารักษาโดยตรง ควรพักผ่อนให้มากๆ บำรุงอาหาร และรอให้ค่อยๆ หายไปได้เองภายใน 2-4 สัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนน้อยอาจมีภาวะแทรกซ้อนเป็นอันตรายได้ การป้องกันก็อยู่ที่พยายามหลีกเลี่ยงการติดเชื้อ (กินอาหารและดื่มน้ำที่สะอาด อย่าฉีดยาร่วมเข็มกับคนอื่น อย่ารับเลือดจากคนที่มีเชื้อ เป็นต้น) รวมทั้งการฉีดวัคซีนป้องกัน

โรคหืด เกิดจากร่างกายแพ้อะไรง่ายๆ เนื่องจากร่างกายได้รับพันธุกรรมการแพ้จากพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ทำให้หลอดลมตีบตันเป็นพักๆ จึงมีอาการหายใจเข้าออกลำบาก หายใจเสียงดังวี้ดๆ การรักษาก็ต้องใช้ยาขยายหลอดลมหรือยาแก้แพ้ การป้องกันก็ต้องพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้

โรคหนึ่งๆ อาจมีอาการแสดงออกได้หลายๆ อาการ เช่น โรคตับอักเสบ จะมีอาการดีซ่าน อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ตับโต เป็นต้น โรคหลายๆ ชนิดอาจมีอาการบางอย่างคล้ายๆ กันก็ได้ เช่น โรคตับอักเสบ โรคตับแข็ง โรคถุงน้ำดีอักเสบ มักจะมีอาการดีซ่านเหมือนๆ กัน แต่จะมีอาการปลีกย่อยอื่นๆ ที่แตกต่างกันไป (เช่น โรคถุงน้ำดีอักเสบจะมีอาการไข้สูง ปวดท้องรุนแรง ต่างไปจากโรคตับอักเสบและโรคตับแข็ง)

ดังนั้น อาการหนึ่งๆ ที่ผู้ป่วยเป็น มักจะมีสาเหตุจากโรคต่างๆ ได้หลายชนิด เช่น อาการดีซ่าน ก็อาจมีสาเหตุจากโรคตับอักเสบ โรคตับแข็ง โรคถุงน้ำดีอักเสบ โรคธาลัสซีเมีย (โรคเลือดชนิดหนึ่ง) โรคฝีในตับ เป็นต้น แต่สาเหตุที่พบได้บ่อย ก็คือ โรคตับอักเสบ ดังนั้นเมื่อพบว่า มีอาการดีซ่านเกิดขึ้น ก็มักจะคิดว่าเป็นโรคตับอักเสบ ชาวบ้านจึงนิยมเรียก “โรคดีซ่าน” แทน “โรคตับอักเสบ”

ในทำนองเดียวกัน อาการหอบก็อาจมีสาเหตุจากโรคหืด โรคปอดอักเสบ (ปอดบวม) โรคหัวใจวาย เป็นต้น แต่สาเหตุที่พบบ่อย ก็คือ โรคหืด ชาวบ้านจึงนิยมเรียกว่า “โรคหอบหืด” หรือ “โรคหอบ”
ความสับสนจึงเกิดขึ้นด้วยประการฉะนี้

ในพูดจาภาษาหมอ จึงต้องรู้จักแยกแยะคำว่า “โรค” กับ “อาการ” ให้ออก

คำที่นิยมใช้เรียกกันผิดๆ เช่น โรคปวดหัว โรคท้องเดิน โรคโลหิตจาง (ซีด) โรคปวดท้อง โรคอ่อนเพลีย โรคคัน โรคหวัด โรคหัวใจโต โรคตับไต เป็นต้น ที่แท้คำเหล่านี้เป็นอาการไม่ใช่โรค

โดยสรุป ก็คือ อาการเป็นปรากฏการณ์ที่แสดงออกให้เห็นหรือรู้สึกได้ โรค คือ ต้นตอที่ทำให้เกิดอาการ เมื่อมีอาการเกิดขึ้น ก็ต้องสืบสาวหาต้นตอ (โรค) ให้เจอ จึงจะหาทางรักษาและป้องกันได้ นี่คือ หลักในการวินิจฉัยโรคนั่นเอง 

ข้อมูลสื่อ

126-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 126
ตุลาคม 2532
พูดจาภาษาหมอ
ภาษิต ประชาเวช