• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การฉีดยา

การฉีดยา


ถาม?ควรได้รับการฉีดยาเมื่อใด

เรื่องยาฉีดเป็นอีกคำถามหนึ่งที่ประชาชนผู้ใช้ยาถามกันมามากว่า เมื่อใดจึงจะควรได้ รับยาฉีด ทำไมสมัยก่อนเวลาไปหาหมอที่คลินิกจึงได้รับการฉีดยาเกือบทุกครั้ง แต่ในปัจจุบันไม่ค่อยได้ถูกฉีดยาบ่อยเหมือนในอดีต ได้รับแต่ยาชนิดกินเสียเป็นส่วนใหญ่
 
ยาฉีดคืออะไร
ยาฉีด คือรูปแบบหนึ่งของยาที่จะต้องเตรียมเป็นยาน้ำที่บริสุทธิ์ปราศจากเชื้อก่อนดูดไว้ในกระบอกฉีดยา หรือไซริง (syringe) เพื่อพร้อมที่จะฉีดให้กับผู้ป่วย ซึ่งในทุกขั้นตอนของการเตรียมและให้ยาแก่ผู้ป่วยจะต้องอยู่ภายใต้ภาวะที่ปราศจากเชื้อ เพราะถ้ามีการปนเปื้อนจาก เชื้อแม้เพียงเล็กน้อย ก็อาจทำให้เกิดการติดเชื้อและเป็นอันตรายจากการฉีดยาได้ ดังนั้น ในการฉีดยาจึงควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางสุขภาพที่เหมาะสม ไม่ควรให้ยาฉีดเอง เพราะอาจเกิดอันตรายได้ ยกเว้นในบางกรณีที่จำเป็น เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ต้องฉีดยาอินซูลินด้วยตนเองทุกวัน ซึ่งจะต้องได้รับความรู้และการฝึกฝนในการใช้ยาฉีดอินซูลิน จากบุคลากรทางการแพทย์จนมั่นใจว่าสามารถไปฉีดยา ให้กับตนเองได้อย่างปลอดภัยเมื่อกลับไปที่บ้าน เป็นต้น

ชนิดของยาฉีด
ในทางการแพทย์มีการให้ยาฉีดหลายรูปแบบ แต่ที่มีนิยมใช้กันบ่อยๆ ได้แก่ การฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำหรือฉีดเข้าเส้น (intravenous injection หรือ IV) และ การฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อหรือฉีดเข้ากล้าม (intramuscular injection หรือ IM)

การฉีดเข้าหลอดเลือดดำ คือ การให้ยาเข้าสู่กระแสโลหิตโดยตรง นิยมให้ทางสายน้ำเกลือที่ปลายแขน ของผู้ป่วยที่นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ปริมาณยาทั้งหมดที่ให้จะเข้าสู่กระแสเลือดโดยตรงทันที โดยไม่ผ่านการดูดซึมยาเหมือนยาในรูปแบบอื่นๆ ร่างกายจึงได้ รับยาทั้งหมดอย่างรวดเร็ว วิธีนี้จึงเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ต้องการผลการรักษาอย่างรวดเร็วทันท่วงทีหรือในกรณีฉุกเฉิน
 
การฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ คือการให้ยาเข้าไปในกล้ามเนื้อลายของร่างกาย เช่น กล้ามเนื้อต้นแขน หรือกล้ามเนื้อสะโพก เป็นต้น หลังจากนั้นยาชนิดนี้จะสะสมอยู่ในกล้ามเนื้อ และจะค่อยปลดปล่อยถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด เพื่อเดินทางไปออกฤทธิ์ต่อไป
 
การให้ยาฉีดทั้ง 2 วิธีนี้ จึงเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถกินยาได้ เช่น เมื่อผู้ป่วยหมดสติ มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น หรือยาชนิดนั้นไม่มีในรูปแบบของยากิน ดังเช่น ยาอินซูลิน ที่ใช้รักษาผู้ป่วยเบาหวาน หรือยาชนิดนั้นอาจมีรูปแบบยากิน แต่รูปแบบยากินนั้นจะมีสัดส่วนในการดูดซึมจากทางเดินอาหารไปแสดงผลการรักษาที่น้อยกว่า ชนิดฉีดมาก จึงจำเป็นต้องให้ยาเหล่านี้ด้วยการฉีดซึ่งให้ปริมาณยาในเลือดที่สูงกว่า และส่งผลต่อการรักษาที่ดีกว่าด้วย

สรุปยาฉีดคือ รูปแบบยาชนิดหนึ่งที่ควรให้โดย ผู้ชำนาญ ภายใต้ภาวะปราศจากเชื้อ เหมาะสำหรับในกรณีที่ต้องการให้ออกฤทธิ์เร็ว หรือยาชนิดนั้นไม่มีในรูปแบบยากิน หรือยาชนิดนั้นในรูปแบบกินได้ผลด้อยกว่า
 
ยาฉีดยาฉีด VS. ยากิน
ในอดีตที่วิทยาการทางเภสัชศาสตร์ยังไม่ก้าวหน้าเท่าในยุคปัจจุบัน จะมียาให้เลือกใช้อย่างจำกัด จึงมียาในรูปแบบยาฉีดมากกว่ายาในรูปแบบยากิน ในการรักษาจึงจำเป็นต้องให้ยาฉีดเป็นจำนวนมากและบ่อยกว่า แต่ในปัจจุบันในยุคที่วิทยาการก้าวหน้ายาฉีดก็ยังมีความจำเป็นและสำคัญอยู่ แต่ลดน้อยลง และถูกแทนที่ด้วยยาในรูปแบบยากินที่มีฤทธิ์เท่าเทียมกับยาฉีดมาให้เลือกใช้จำนวนมาก ในปัจจุบันจึงนิยมใช้ยากินมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ เพราะการให้ยาฉีดหรือการฉีดยาจะต้องให้โดยแพทย์หรือพยาบาลภายใต้ภาวะปราศจากเชื้อ เพราะถ้าฉีดยาด้วยเทคนิคที่ไม่สะอาดอาจทำให้เกิดการติดเชื้อและเป็นอันตรายได้ ในด้านราคา พบว่ายาฉีดมักจะมีราคาสูงกว่ายาเม็ดหลายเท่า

ในด้านความสะดวกและความยินดีในการใช้ยาของผู้ป่วย พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ยินดีใช้ยาเม็ดด้วยตนเองแทนการใช้ยาฉีด เพราะจะใช้ที่ใดก็ได้ตามสะดวก ไม่ต้องมาโรงพยาบาลเพื่อได้รับยาฉีด ไม่ต้องเจ็บตัว หรือในคนที่กลัวเข็มก็ใช้ยาเม็ดได้
และในกรณีที่เกิดการแพ้ยาหรืออาการอันไม่พึงประสงค์จากยา พบว่าอาการอันไม่พึงประสงค์หรือการแพ้ยาฉีดจะรุนแรงกว่ายาชนิดเม็ดมาก ในบางรายที่แพ้ยาฉีด อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
เมื่อกล่าวถึงยาฉีด โดยเฉพาะการใช้ยาฉีดกับผู้ป่วยนอก (ผู้ป่วยที่ไม่ต้องรับเข้ารักษาในโรงพยาบาล) เป็นประเด็นหนึ่งที่เป็นปัญหาระดับโลก จนองค์การอนามัยโลก จัดอัตราการใช้ยาฉีดที่คลินิกเป็นดัชนีหนึ่งที่ชี้วัดคุณภาพของการใช้ยา ถ้ามีการใช้ยาฉีดให้กับผู้ป่วยนอก เป็นปริมาณมากจะแสดงว่ามีการใช้ยาฉีดอย่างไม่เหมาะสมให้กับผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก หรือใช้ยาฉีด อย่างเกินความจำเป็น เป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายและความเสี่ยงของผู้ป่วยต่อการใช้ยา

ดังนั้น องค์การอนามัยโลกจึงเสนอว่า การรักษา ผู้ป่วยนอกตามคลินิกทั่วไปไม่ควรให้ยาฉีดโดยไม่จำเป็น และควรลดปริมาณฉีดยาลง เหตุผลเพราะการฉีดยามีผลเสียดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ซึ่งสวนทางกับความเชื่อของประชาชน และรายรับของคลินิก เพราะถ้าคลินิกให้ยาฉีด จะสามารถเรียกเก็บเงินค่ารักษาได้สูงกว่าการให้ยาเม็ดแก่ผู้ป่วย

" ยาฉีดแรงกว่ายากิน "
เรื่องนี้เป็นความเชื่อที่พบได้บ่อย ความเชื่อนี้อาจมีส่วนถูกบ้างในบางกรณี เช่น กรณีที่ยาชนิดนั้นมีเฉพาะในรูปแบบของยาฉีด (ไม่มีในรูปแบบของยาเม็ด) หรือในรูปแบบของยาฉีดมีสรรพคุณดีกว่าในรูปแบบยาเม็ด ในกรณีนี้จึงมีความจำเป็นต้องใช้ยาฉีด
แต่ความเชื่อนี้อาจไม่เป็นจริง ถ้ายาชนิดนั้นมีในรูปแบบยากินที่ให้ผลทัดเทียมยาฉีด เพราะการใช้ยาเม็ด จะส่งผลดีกับผู้ป่วยมากกว่ายาฉีด ทั้งในด้านความยินดีในการใช้ยา ความสะดวกสบาย ราคา ค่าใช้จ่าย และอาการอันไม่พึงประสงค์ของการใช้ยา ถ้าผลในการ รักษาเท่าเทียมกัน

อีกประเด็นหนึ่งที่อยากฝากไว้ในฐานะบุคลากรสุขภาพ คือการนำเรื่องการฉีดยาไปใช้ในการปรามหรือขู่เด็กเล็กให้กลัว (เพื่อผลบางอย่าง) เช่น อย่าร้องนะ! เดี๋ยวให้หมอฉีดยาให้เลยเป็นต้น ซึ่งพบได้บ่อยทำให้เด็กตกใจ ชะงักกลัวอย่างได้ผลในทันที แต่อาจส่งผลเสียต่อเด็กและแพทย์ที่ให้การรักษา เพราะบ่อยครั้งเมื่อเด็กเจอหน้าหมอเท่านั้น ก็ปล่อยเสียงร้องไห้โฮเป็นการใหญ่ ทั้งๆที่แพทย์ยังไม่ได้แตะเนื้อต้องตัวเลย เหมือนกับแพทย์เป็นคนร้าย ทำให้เป็นอุปสรรคในการรักษา ดูแลเด็กๆ ได้ ในเรื่องนี้อาจจะยกตัวอย่างอื่นๆ ที่เลวร้าย จริงๆแทน เช่น โจรห้าร้อย ผีเปรต เป็นต้น ก็จะเป็นการดีกว่าการยกตัวอย่างเป็นหมอ เพื่อให้เด็กกลัว

เรื่องยาฉีดจึงควรใช้เมื่อจำเป็น เมื่อไม่มียาเม็ด หรือยาน้ำใช้แทนแล้วเท่านั้น เพราะยาฉีดมีโอกาสเสี่ยงต่ออันตรายและค่าใช้จ่ายมากกว่ายาเม็ดมาก หากท่านมีข้อสงสัยเกี่ยวข้องกับเรื่องยาและสุขภาพ ท่านสามารถปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรชุมชน (ที่ประจำอยู่ที่ร้านยา) ที่พร้อมให้คำปรึกษาในเรื่องสุขภาพแก่ท่านทุกเมื่อ

ข้อมูลสื่อ

306-014
นิตยสารหมอชาวบ้าน 306
ตุลาคม 2547
ภก.ดร.วิรัตน์ ทองรอด