• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจร่างกาย (ตอนที่ 14)

14. การตรวจร่างกาย (ต่อ)

ก. การตรวจร่างกายทั่วไป (ต่อ)

การตรวจร่างกายทั่วไปของผู้ป่วย นอกจากจะประกอบด้วยการสังเกตกิริยาท่าทาง รูปร่าง และหน้าตา ดังที่ได้กล่าวถึงในฉบับก่อน ๆ แล้ว ยังประกอบด้วยการตรวจอีกหลายอย่าง เช่น

4. ผิวพรรณ

ผิวพรรณของคนปกติย่อมแตกต่างกันได้แล้วแต่เชื้อ ชาติ เชื้อพันธุ์ เพศ อายุ และสิ่งแวดล้อม เช่น คนนิโกร จะมีผิวดำ แขก อินเดียหรือมาเลเซียจะมีผิวค่อนข้างดำ (น้ำตาลแก่) คนที่ทำงานตากแดดตากลมมาก ๆ หรือนาน ๆ จะมีผิวดำกว่าคนที่ไม่ได้ตากแดดตากลม คนฝรั่งจะมีผิวขาว (อมชมพู) คนจีนจะมีผิวขาวเหลือง เป็นต้น
หญิงจะมีผิวละเอียดและนุ่มนวลกว่าชาย เด็กจะมีผิวอ่อน ละเอียด นุ่มนวลกว่าผู้ใหญ่ คนสูงอายุจะมีผิวเหี่ยว ย่น หยาบ และเต็มไปด้วยไฝฝ้า มากกว่าคนหนุ่มสาว
จึงต้องหัดสังเกตลักษณะ ผิวพรรณของคนปกติไว้จนสามารถบอกได้ว่า ผิวพรรณเช่นนี้ใช่หรือไม่ใช่ลักษณะปกติของคนเชื้อชาตินี้เชื้อพันธุ์นั้น หรือสำหรับเพศ อายุ อาชีพ และสิ่งแวดล้อมแบบนั้นแบบนี้ เช่น



4.1 สีของผิวหนัง เช่น
o ก.สีขาว
ถ้าเห็นผิวพรรณของคนไทยคนหนึ่งเป็นสีขาว (อมชมพู) ก็ทำให้รู้ว่าเป็นผิวพรรณที่ผิดปกติสำหรับคนไทย โดยทั่วไปมักจะพบเป็นโรคหรือภาวะคนเผือก (albinism) ซึ่งพบได้ในคนทุกชาติ และในสัตว์ เช่น ควาย เผือก ลิงเผือก เป็นต้น เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเชื้อพันธุ์ (gene) ทำให้สีดำของผิวหนัง ผม และม่านตาหายไป จึงเห็นผิวหนังเป็นสีขาว ผมเป็นสีทอง หรือน้ำตาลอ่อน และตาดำเป็นสีฟ้า
การขาดสีดำ (melanin pigment) เช่นนี้ จะทำให้สู้แดดไม่ค่อยได้ เช่น เวลาออกสู่แสงแดด จะเคืองตา ผิวหนังจะทนแดดไม่ค่อยได้ คนเผือก จึงไม่ควรออกไปสู่ที่ที่มีแดดจัดโดยปราศจากร่ม หมวก หรือ เสื้อผ้าที่สามารถป้องกันแดดได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ยาหรือวิธีรักษาอื่นใด ถึงใช้ก็จะไม่ช่วยให้หายจากภาวะเผือกได้
การขาดสีดำ อาจจะพบในโรคหรือภาวะด่างขาว (vitiligo) ที่เป็นมาก ๆ จนด่างขาวนั้นติดกันเป็นพืด ทำให้หน้าตาขาวเหมือนคนเผือกได้ แต่ผิวหนังบางส่วนที่หน้าหรือคอหรือตามส่วนอื่นของร่างกายจะยังคงเป็นสีดำอยู่ ตาและผมก็อาจจะไม่เป็นด่างขาว จึงยังคงมีสีดำอยู่ ยังไม่มีวิธีรักษาภาวะด่างขาวที่ได้ผลดี ถ้ามีปัญหาทางด้านความสวยงาม อาจใช้วิธีสักผิวหน้าที่เป็นด่างขาวให้เป็นสีน้ำตาลเหมือนสีของผิวหนัง โดยเฉพาะในกรณีที่ด่างขาวนั้นทำให้แลดูไม่สวยงามหรือเกิดปัญหาทางด้านจิตใจขึ้น
อนึ่ง ถ้าผิวพรรณเป็นสีขาวซีด หรือขาวเหลือง ริมฝีปากและลิ้นขาวซีดแสดงว่าเป็นโรคเลือดน้อย เลือดจาง หรือโลหิตจาง ซึ่งมักจะเกิดจากการขาดธาตุเหล็กหรือขาดเลือด ให้กินตับหมู ตับวัว ตับเป็ด ตับไก่ ผักใบเขียว หรือยาบำรุงเลือด (เฟอร์รัส ซัลเฟต) วันละ 1-3 เม็ด หลังอาหาร (กินแล้ว อุจจาระจะดำ ไม่ต้องตกใจ) จะทำให้หายจากโรคเลือดน้อย หรือโรคเลือดจาง และผิวพรรณจะหายขาวซีดได้

o ข.สีแดง
ถ้าเห็นผิวพรรณของคนคนหนึ่งแดงจัด โดยเฉพาะใบหน้าที่แดงจัด ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุ เช่น
ข.1 เลือดขึ้นหน้ามาก เช่น เวลาโกรธ เวลากินเหล้า ของเมา หรือยาบางชนิด
ข.2 ผิวหน้าเปลี่ยนสีไป เช่น หลังถูกแดดจัดใหม่ ๆ
ข.3 ผิวหนังเป็นผื่นแดง เช่น เวลาเป็นหวัด เป็นไข้อีดำอีแดง (scarlet fever) หรืออื่น ๆ
ข.4 เลือดแดงมากเกินไป (erythrocytosis หรือ polycythemia) ซึ่งอาจเกิดจากโรคปอด โรคหัวใจ หรือไม่รู้สาเหตุ หรืออื่น ๆ
ข.5 เครื่องสำอางที่ทาไว้
ข.6 สีของเลือดเปลี่ยนไป เช่น ในกรณีที่หายใจเอาก๊าซคาร์บอนโมน็อกไซด์ เช่น จากก๊าซหุงต้ม ก๊าซจากท่อไอเสียรถยนต์ ทำให้เลือดกลายเป็นสีแดงจัด และนำพาออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายไม่ได้ ทำให้เกิดอาการอึดอัด หายใจลำบากและเป็นลมหมดสติได้

o ค. สีดำ
ผิวพรรณของคนนั้นอาจจะดำจากเชื้อชาติ เชื้อพันธุ์ หรือเป็นรอยด่างดำจากแผลเป็นหรือหลังจากที่เป็นผื่นแดง เช่น หลังออกหัด ควรจะสังเกตลักษณะของผิวหนังแต่ละประเภทให้ดีเพราะจะทำให้บอกได้ว่าลักษณะดำอย่างไหนปกติ อย่างไหนผิดปกติ เพราะลักษณะผิวพรรณที่ดำบางอย่างจะบอกถึงโรคตับ โรคไต โรคต่อมหมวกไต โรคขาดอาหาร หรืออื่น ๆ ได้ (ดู เรื่อง หน้าดำ ใน “มาเป็นหมอกันเถิด” ใน หมอชาวบ้าน ประจำเดือนเมษายน 2523)

o ง. สีเหลือง
คือผิวพรรณที่ดูเหลืองกว่าปกติ ซึ่งนอกจากจะเกิดจากเครื่องสำอางและสิ่งประเทืองผิว (เช่น ขมิ้นแล้ว) อาจเกิดจากการกินผลไม้ที่มีสีเหลืองจัด เช่น ฟักทอง หรือสีแดง เช่น มะละกอ หัวผักกาดแดง เข้าไปมากๆ หรือในคนที่ไม่ค่อยถูกแดดหรือซีดซึ่งจะทำให้ผิวดูแลขาวเหลืองกว่าปกติ ซึ่งใน 3 ภาวะดังกล่าวข้างต้น ตาขาวจะไม่แลดูเหลืองไปด้วย
แต่ในภาวะดีซ่าน นอกจากผิวพรรณจะเหลืองแล้ว ตาขาวจะเหลืองด้วย และปัสสาวะจะเป็นสีชาแก่ สีเหลืองจัด สีส้ม หรือคล้ายสีน้ำปลาก็ได้

4.2 ลักษณะของผิวหนัง
เด็กจะมีผิวที่อ่อนนุ่ม ละเอียด ละมุนละไม เมื่ออายุมากขึ้น ผิวก็จะหยาบมากขึ้น จนเมื่อย่างเข้าวัยชรา ผิวหนังจะหยาบย่นและมีไฝฝ้ามากขึ้น ลักษณะของผิวหนังนอกจากจะขึ้นกับอายุแล้ว ยังขึ้นกับเพศ เชื้อพันธุ์ อาชีพ และสิ่งแวดล้อม จึงควรจะสังเกตลักษณะผิวพรรณปกติของคนต่างๆ ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร เมื่อเจอลักษณะที่ผิดปกติ จะได้สังเกตเห็นทันที เช่น

o ก. ผิวละเอียดมาก
ผู้ใหญ่ที่มีผิวละเอียดมากเหมือนเด็ก โดยเฉพาะที่หลังแขนส่วนที่ถูกแดด ผิวที่ละเอียดนี้มักจะเรียบและอาจจะขึ้นด้วยเหงื่ออุ่น ๆ ผิวที่ละเอียดมากเช่นนี้มักจะเกิดในภาวะคอพอกเป็นพิษ (ต่อมธัยรอยด์ทำงานมากเกินไป) ถ้าผู้ป่วยมีลักษณะ “หน้าดุ” (ดูเรื่อง “มาเป็นหมอกันเถิด” ในหมอชาวบ้าน ประจำเดือนมีนาคม พ .ศ. 2523 ด้วย ก็แสดงว่าเป็นภาวะคอพอกเป็นพิษแน่

o ข. ผิวหยาบแห้ง มักจะเป็นในคนที่ขาดอาหารและน้ำ หรือในโรคอื่น เช่น โรคต่อมธัยรอยด์ทำงานน้อยเกินไป (ผู้ป่วยจะมีลักษณะหน้า “ฉุ” และเสียงแหบซ่าด้วย)

o ค. ผิวมัน แต่ลักษณะอื่นปกติ มักเกิดจากต่อมไขมันทำงานมาก เช่น ในบางเชื้อพันธุ์ ในวัยแตกเนื้อหนุ่มสาว ทำให้เกิดสิว หรือเม็ดตุ่ม (สิว) บริเวณหน้า หน้าอก และแผ่นหลังได้ง่าย

o ง. ผิวมันและบาง เวลาจับต้องเหมือนจับเยื่อกระดาษบาง ๆ ที่จะฉีกขาดง่าย อาจเกิดจากการขาดอาหาร โรคภูมิแพ้บางอย่าง หรือโรคผิวหนังบางชนิด

o จ. ผิวแข็งเรียบ อาจเกิดจากการขาดอาหาร น้ำ และเกลือแร่ เช่นในเด็กหรือผู้ใหญ่ที่ท้องเดินเรื้อรัง หรืออาจเกิดจากโรคภูมิแพ้บางอย่าง อาจทำให้ใบหน้าเรียบ ไม่มีรอยย่น จับผิวหนังที่ใบหน้าหรือต้นแขนจะแข็งและยกขึ้น (หยิก) ไม่ได้ถนัด

4.3 ความสะอาดของผิวพรรณ

ทำให้เราทราบถึงอาชีพ นิสัยใจคอ และบางครั้งถึงเทือกเถาเหล่ากอของคนไข้ได้

4.4 ลักษณะผิดปกติอื่น ๆ เช่น
o ก. ปาน เช่น ปานแดง ปานดำ ปานน้ำตาล ปานบางชนิดทำให้นึกถึงโรคภายในร่างกายได้ เช่น คนที่มีปานดำที่หน้าซีกใดซีกหนึ่ง อาจจะมีความผิดปกติของเส้นเลือดในสมองซีกนั้นได้ คนที่มีปานสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลอ่อนหลาย ๆ แห่งในร่างกายอาจพบร่วมกับโรคท้าวแสนปม (neurofibromatosis) โรคตุ่มหรือติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ (polyposis of colon) หรืออื่น ๆ

o ข. ไฝ ฝ้า ขี้แมลงวัน ตกกระ และอื่น ๆ ซึ่งมักจะไม่มีอันตราย และเป็นไปตามอายุ เชื้อพันธุ์ หรือสิ่งแวดล้อม

o ค. ผด ผื่น แผล พุพอง และโรคผิวหนังอื่น ๆ ซึ่งต้องฝึกสังเกตจากของจริงเป็นประจำ จะทำให้สามารถแยกชนิดของสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นบนผิวหนังได้
รูปอาจจะช่วยได้บ้าง (ดังรูปที่แสดงไว้) แต่มักจะไม่สามารถถ่ายทอดความผิดปกติเหมือนที่เห็นด้วยตาได้

รูปที่ 1  เด็กเผือก

รูปที่ 2   โรคด่างขาว

รูปที่ 3    คนทางซ้ายมีอาการหน้าแดง จากเลือดแดงมากเกินไป

 


 

ข้อมูลสื่อ

14-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 14
กรกฎาคม 2523
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์