• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เจ็บคอ

เจ็บคอ


วันนี้ผมได้อ่านหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ในคอลัมน์กระชุ่มกระชวย มีใจความว่า นักข่าวนายหนึ่งถามข้อข้องใจว่า

คุณหมอครับ ผมอ่านเจอข่าวที่ว่าคนที่เจ็บคอ อาจเป็นโรคหัวใจรูห์มาติคได้ ข้อเท็จจริงเป็นประการใด”

 ดังข้อความต่อไปในคอลัมน์ก็ไม่ได้ให้ความกระจ่างแก่ผู้อ่านแต่ประการใด เพราะเป็นคอลัมน์เย้าแหย่ไม่ได้มุ่งหวังทางด้านวิชาการ
เจ็บคอนั้นเป็นอาการอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดจากการอักเสบของคอและต่อมทอนซิล โรคนี้เป็นกันมากในเด็ก ประมาณกันว่า เด็กทั่ว ๆ ไป จะมีอาการเช่นนี้ปีละ 2-4 ครั้ง ถึงกับมีหมอกวาดคอซึ่งเป็นแพทย์เฉพาะทางประเภทหนึ่งมาแต่โบราณ ผมเองเมื่อเล็ก ๆ ก็โดนกวาดคอเช่นเดียวกัน ยังจำได้ว่าเวลาถูกกวาดรู้สึกเจ็บ แต่ต่อมาอาการเจ็บคอก็น้อยลง

 

สาเหตุของการเจ็บคอ
1. จากเชื้อไวรัส
ส่วนใหญ่อาการเจ็บคอมักเกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งมักจะหายได้เอง การรักษา ก็เป็นการรักษาตามอาการ จึงมีคำกล่าวกันว่า “เป็นหวัดรักษา 3 วันหายไม่รักษา 4 วันหาย”

2. จากเชื้อแบคทีเรีย

มีแบคทีเรียหลายชนิดที่ทำให้เกิดการอักเสบที่คอ แต่ที่สำคัญก็คือ เชื้อนิวโมคอคคัส (Pneumococcus) และสเตร๊ปโตคอคคัส (streptococcus) จากการสำรวจของผู้เขียนในภาคกลาง พบว่าผู้ที่เป็นหวัดเจ็บคอ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียเบต้า-ฮีโมลัยติคสเตร๊ปโตคอคคัส หมู่เอ
(B-Haemolytic Streptococcus Group A) ประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์และจากการสำรวจที่เกาะสีชัง พบว่า ในฤดูฝน พบแบคทีเรียชนิดนี้ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ และพบว่าประชาชนที่เกาะสีชังเป็นโรคหัวใจรูห์มาติคสูงกว่าในภาคกลางหลายเท่า

อาการเจ็บคอที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียนั้นมีความสำคัญมาก ถึงแม้มีเป็นจำนวนน้อยก็ตาม เพราะอาจเกิดโรคแทรกซ้อนของระบบทางเดินหายใจ ต่อมน้ำเหลือง หู ไซนัส หัวใจ และไตได้ โรคแทรกซ้อนของระบบทางเดินหายใจ ที่พบบ่อย คือ หลอดลมอักเสบและปอดบวม (นิวโมเนีย)ในระยะแรก เชื้อโรคจะลุกลามลงไปในหลอดลมเท่านั้น จะทำให้มีอาการไข้ ไอ หายใจเร็วในกรณีที่เชื้อลุกลามลงไปในปอด จะทำให้ปอดบวม ผู้ป่วยจะมีอาการมาก หอบเหนื่อยและมีอาการหน้าเขียว ต้องรีบนำส่งสถานีอนามัยหรือโรงพยาบาล

โรคหลอดลมอักเสบในเด็กเล็ก บางทีมีอาการมาก เพราะหลอดลมเล็กมาก ขับเสมหะออกได้ยาก จึงทำให้เสมหะไปอุดหลอดลม หายใจออกลำบาก มีอาการคล้ายหืด ที่เรียกว่า “โรคหืดจากหลอดลมอักเสบ” (Asthmatic bronchitis) จะมีอาการหอบบ่อย ๆ ต้องให้ดื่มน้ำมาก ๆ จะทำให้เสมหะใส ร่างกายขับออกมาได้ง่าย ธรรมชาติสร้างขนไว้ในหลอดลม เพื่อให้ปัดเอาเสมหะออกมาข้างนอก คล้ายกับเราใช้ไม้กวาดกวาดบ้านนั่นเองและในบางครั้งแพทย์ต้องให้ยาขยายหลอดลม เช่นเดียวกับการรักษาโรคหืด

โรคนี้มักเป็นบ่อย ๆ ทำความทุกข์ทรมานให้กับเด็กและพ่อแม่เป็นอันมาก บางทีอาจมีโรคภูมิแพ้เป็นปัจจัยมาเกี่ยวข้องด้วย จึงต้องหลีกเลี่ยงจากสิ่งที่แพ้ เช่น ฝุ่นละออง แมว สุนัข อาหารทะเล อากาศเย็น เป็นต้น เมื่อเด็กโตขึ้นอายุประมาณ 5-10 ขวบ มักจะหายไปเอง เพราะหลอดลมใหญ่ขึ้น การอุดตันของหลอดลมน้อยลง แต่พวกที่เป็นหืด จริง ๆ พวกนี้มักจะมีประวัติเป็นกรรมพันธุ์และมักจะไม่หาย


 

โรคแทรกซ้อนทางต่อมน้ำเหลือง
ต่อมน้ำเหลืองเป็นด่านสกัดการกระจายของแบคทีเรีย ต่อมทอนซิลก็เป็นต่อมน้ำเหลืองเข่นเดียวกัน เป็นด่านแรกที่สกัดเชื้อเอาไว้ เด็กที่เจ็บคอบ่อย ๆ จึงมักจะมีต่อมทอนซิลโต และต่อมาอาจทำให้ต่อมน้ำเหลืองที่คอโตได้ การวินิจฉัยต้องแยกจากวัณโรคและมะเร็งของต่อมน้ำเหลือง


 

โรคแทรกซ้อนทางหู
ร่างกายของคนเรามีท่อติดต่อระหว่างคอ (ใกล้ต่อมทอนซิล) และหูชั้นกลางที่เรียกว่า ท่อยูสเตเชี่ยน (Eustachian tube) ในเด็กท่อนี้สั้น กว้าง และทอดอยู่ในแนวราบกว่าผู้ใหญ่ จึงทำให้เชื้อแบคที-เรียจากคอเข้าไปในหูชั้นกลางได้ง่าย ทำให้หูชั้นกลางอักเสบ มีอาการเจ็บหู ถ้าทิ้งไว้นาน จะกลายเป็นหนอง ทำให้เยื่อหูทะลุกลายเป็นหูน้ำหนวก มีอาการหูหนวกหรือหูตึงได้ ที่กล่าวกันว่าหูน้ำหนวกเกิดจากน้ำเข้าหูเด็ก เนื่องจากอาบน้ำให้เด็กไม่ดี ทำให้น้ำเข้าไปในหูนั้น การแพทย์สมัยปัจจุบันมีความเห็นว่า ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะมีเยื่อหูกั้นอยู่ ไม่ให้น้ำเข้าไปในเยื่อหูส่วนกลาง เมื่อน้ำเข้าไปในหูส่วนนอกแล้ว ก็แห้งไปเองได้ ฉะนั้นผู้ที่เจ็บคอเป็นหวัด จะต้องได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันหูน้ำหนวก ซึ่งเป็นโรคที่ร้ายแรง อาจพิการไปจนตลอดชีวิตได้



โรคแทรกซ้อนทางไซนัส
จากคอ เชื้อแบคทีเรียอาจลุกลามไปยังไซนัส ทำให้ไซนัสอักเสบ มีอาการปวดตื้อ ๆ บริเวณหน้าผากหรือกะโหลกศีรษะข้างแก้ม



โรคแทรกซ้อนทางหัวใจ
เชื้อแบคทีเรียสเตร๊ปโตคอคคัส จะทำให้เกิดโรคหัวใจรูห์มาติคได้ การอักเสบจากเชื้อสเตร๊ปโตคอคคัส จะเห็นมีจุดหนองที่ต่อมทอนซิลและคอแดงจัด หลังจากมีอาการเจ็บคอประมาณ 2 เดือน ผู้ป่วยบางราย (ประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์) อาจเกิดโรคไข้รูห์มาติคขึ้น ผู้ป่วยจะมีไข้ ปวดบวมตามข้อ มักเป็นข้อใหญ่ หอบเหนื่อย เจ็บหน้าอก เนื่องจากหัวใจอักเสบและลิ้นหัวใจรั่ว บางรายมีอาการทางสมอง มีการกระตุกของกล้ามเนื้อต่าง ๆ ของร่างกาย มีผื่นแดงที่ผิวหนังและปุ่มบริเวณข้อต่าง ๆ อาการต่าง ๆ เหล่านี้อาจหายได้เองโดยไม่ต้องรักษา ยกเว้นอาการทางหัวใจ อาจเรื้อรังไปตลอดชีวิตได้ จุดหนองหรือแผ่นขาวที่ทอนซิล อาจเกิดจากโรคคอตีบได้ ผู้มีหนองหรือแผ่นขาวที่คอ ต้องรีบไปสถานีอนามัยหรือพบแพทย์โดยด่วน


 

โรคแทรกซ้อนทางไต
 เกิดจากการติดเชื้อสเตร๊ปโตคอคคัสในคอเช่นเดียวกัน ผู้ป่วยมีอาการบวมที่หน้าและปัสสาวะแดงขุ่นคล้ายน้ำล้างเนื้อ


การป้องกันโรคหวัดและอาการเจ็บคอ

ได้แก่การหลีกเลี่ยงสารซึ่งตนเองแพ้ เช่น ฝุ่นละอองและอื่น ๆ ดังได้กล่าวมาแล้ว กินอาหารที่ดีมีประโยชน์เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ อย่าอยู่ในที่แออัด เพราะจะติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรียต่าง ๆ ได้ง่าย ให้ร่างกายอบอุ่นอยู่เสมอ เพราะถ้าถูกอากาศเย็น อาจทำให้หลอดลมอักเสบ หอบหืด และปอดอักเสบได้โดยง่าย

 

การรักษาโรคหวัดและอาการเจ็บคอ
การรักษาโรคหวัด คือ การพักผ่อนให้เพียงพอ ให้อาหารอ่อน ดื่มน้ำมาก ๆ และการให้เอพีดรีน ป้ายหรือหยอดจมูก เพื่อให้ท่อยูสเตเชี่ยนและท่อที่ติดต่อกับไซนัสเปิดกว้างป้องกันโรคแทรกที่หูและที่ไซนัส
แอสไพริน จะช่วยแก้ไขและเจ็บคอ สำหรับเด็กให้ เบบี้แอสไพริน(เม็ดละ 5 สตางค์) ขนาด 1 เม็ด ต่ออายุ 1 ปี ซ้ำได้ทุก 6 ชั่วโมง ไม่ควรซื้อยาลดไข้ชนิดซอง เพราะส่วนใหญ่มีขนาดสูงมาก อาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ ยาซึ่งมีอันตรายมากอีกประเภทหนึ่งคือ ยาพวกเพร็ดนิโซโลน ซึ่งร้านขายยาบางแห่งใส่รวมกันเป็นยาชุด แก้ไข้ แก้คัดจมูก ต้องระวังให้ดี ทางที่ดีควรซื้อยาสามัญประจำบ้านขององค์การเภสัชกรรม จะได้ยาที่ดีและราคาถูก

ผู้ป่วยที่ต่อมทอนซิลเป็นหนอง มักเกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดสเตร๊ปโตคอคคัส ควรต้องไปสถานีอนามัยหรือพบแพทย์โดยด่วน ต้องกินยาให้ครบตามแพทย์สั่ง มิฉะนั้นโรคจะไม่หายขาดและอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน ตามที่กล่าวมาข้างต้นได้ ปกติแพทย์จะให้เพนนิซิลลินวี (หรือ เพนวี) กินครั้งละ 125 มิลลิกรัม (หรือ 2 แสนยูนิต) วันละ 4 ครั้งเป็นเวลา 10 วัน ควรกินก่อนอาหารประมาณ 1 ชั่วโมง(รายละเอียดเกี่ยวกับ ยาเพนวี ให้ดูใน “หมอชาวบ้าน” ปีที่ 2 ฉบับที่ 13)

สรุปอาการเจ็บคอในเด็ก ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย อาจมีโรคแทรกได้ ควรต้องระมัดระวังป้องกันตัวไม่ให้เป็นหวัดเจ็บคอ เมื่อเป็นหวัดและเจ็บคอ ควรหยอดหรือป้ายจมูกด้วยเอฟีดริน จะช่วยป้องกันโรคแทรกทางหูและไซนัสได้ ถ้าต่อมทอนซิลเป็นหนองหรือมีแผ่นขาว ต้องรีบพบแพทย์โดยด่วน เพราะเกิดจากเชื้อสเตร๊ปโคคอคคัสหรือโรคคอตีบได้


 

ข้อมูลสื่อ

14-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 14
มิถุนายน 2523
นพ.ปรีชา วิชิตพันธ์