• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

หมอกระดูก กับโรคกระดูก

หมอกระดูก กับโรคกระดูก


คำว่า “หมอกระดูก” นั้น ชวนให้ผู้ฟังฟังแล้วไขว้เขวได้ 3 ประการ

ประการแรก ก็คือว่า หมอกระดูกนั้นไม่ได้ “กระดูก” สมชื่อเสมอไป

ประการที่สอง หมอกระดูกไม่ได้รักษาแต่โรคกระดูก ที่ไม่ใช่กระดูก ก็รักษา ทั้งนี้ครอบคลุมไปถึงระบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของร่างกาย เช่น กล้ามเนื้อ พังผืด ข้อเอ็น และเส้นเลือดเส้นประสาทที่มาเลี้ยง ระบบเหล่านี้ด้วย อวัยวะที่ข้องเกี่ยวได้บ่อย ๆ ได้แก่ แขนขาทั้งสี่ และกระดูกสันหลังตั้งแต่คอลงมาจนถึงเชิงกราน

ประการที่สาม หมอกระดูกไม่ได้รักษากระดูกทุกชิ้นเสมอไป กระดูกที่หมอกระดูกไม่ค่อยได้รักษาก็มี ได้แก่ กระดูกที่ทำหน้าที่ห่อหุ้มอวัยวะที่ละเอียดอ่อนและจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับชีวิต เช่น กะโหลกศีรษะซึ่งหุ้มห่อสมอง, ซี่โครงซึ่งหุ้มห่อปอดและหัวใจ เป็นต้น นอกจากนี้ กระดูก ค้อน ทั่งและโกลน ในหูชั้นกลาง ซึ่งทำหน้าที่รับคลื่นเสียงนั้น เนื่องจากว่าเป็นอวัยวะที่มีลักษณะพิเศษ และมีผู้สนใจทางด้านนี้ต่างหากอยู่แล้ว จึงไม่อยู่ในขอบข่ายของโรคกระดูกทั่วไป หมอกระดูกก็เลยยกให้หมอหูเขารักษาแทน
 

สมัยนี้ท่านอาจจะได้พบคำว่า ORTHOPAEDICS หรือ ORTHOPEDICS ซึ่งเขียนเป็นภาษาไทยทับศัพท์ว่า “ออร์โธปิดิคส์” อยู่ตามสถานพยาบาลทั่วไป (หมอคนไทย เรียกสั้น ๆ ว่า “ออโถ”) ศัพท์คำนี้ยังสรรหาคำไทยแท้มาใช้แทน ไม่ได้เหมาะสมสักที ความหมายของมันเมื่อ อธิบายกันแล้ว ก็ได้ความดังที่ผู้เขียน สาธยายมาตั้งแต่ต้น แต่ถ้าแปลตรงตัวตามรากศัพท์แล้ว “ORTHO” แปลว่า “ตรง” PAEDICS” หมายถึง “เด็ก” รวมกันก็คือ “เด็กตรง” หมายความว่า เป็นวิชาที่ว่าด้วยการทำให้เด็กที่มีอวัยวะคด ๆ งอ ๆ ให้เหยียดตรง เช่น กรณี โรคหลังคด, ความพิการจากโรคโปลิโอ, เท้าปุก, กระดูกหักแล้วติดกันผิดรูปเดิม เป็นต้น ดังนั้น เครื่องหมายของวิชา ออร์โธปิดิคส์ จึงเป็นรูปต้นไม้ คด ๆ งอ ๆ ที่ถูกดาม ให้เหยียดตรง ดังรูปวาด

เมื่อเราแนะนำตัว “หมอกระดูก” แล้ว ก็อยากจะถือโอกาสแนะนำ “โรคกระดูก”ต่อเสียเลยว่า กระดูก ข้อ พังผืด กล้ามเนื้อ เอ็นที่เป็นโรคนั้น แบ่งพอสังเขปได้เป็น

1. โรคจากการบาดเจ็บ ได้แก่ กระดูกหัก ข้อเคลื่อนหลุด กล้ามเนื้อฉีก เส้นเอ็นขาด และความพิการ
ที่เกิดจากการละเลยโรคเหล่านี้มาช้านาน

2. โรคเป็นแต่กำเนิด เช่น โรคกรรมพันธุ์บางชนิด ที่ทำให้แขนขา หรือกระดูกสันหลังพิการ โรค
กระดูกสันหลังเคลื่อน เท้าปุก ตะโพกหลุด

3. โรคติดเชื้อ เช่น ที่โพรงกระดูก ในข้อ กระดูกสันหลัง เป็นต้น ที่พบได้บ่อยในบ้านเรา ได้แก่การ
ติดเชื้อวัณโรค

4. โรคความเสื่อมตามวัย เช่น ไขข้อเสื่อม กระดูกผุ หมอนกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาท

5. โรคมะเร็ง อาจเกิดในกระดูก กระดูกอ่อน กล้ามเนื้อ หรือลุกลามมาจากอวัยวะอื่นทางเส้นโลหิต
เส้นน้ำเหลือง ก็ได้

6. โรคการทรงตัวไม่ดี เช่น เท้าแป ปวดหลัง หลังคด

7. โรคตามหลังประสาทพิการ เช่น ความพิการจากโรคโปลิโอ โรคเรื้อน สมองอักเสบหรือเส้น
ประสาทขาด

8. โรคปวดข้อ เช่น โรครูห์มาตอยด์ โรคเก๊าท์ และข้ออักเสบอื่น ๆ

9. โรคที่เกี่ยวกับระบบทั่วไป เช่น ขาดวิตามินซี. หรือ ดี. ขาดโปรตีน หรือเกลือแร่ ไตพิการเรื้อรัง
เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า โรคที่หมอกระดูกรักษากันนั้น มีขอบเขตกว้างขวางมาก การที่ผู้เขียนนำมาเขียนเป็นบทแรก ก็เพื่อที่จะให้ท่านผู้อ่านพอได้ภาพพจน์เกี่ยวกับวิชาแพทย์แขนงนี้ ซึ่งเพิ่งจะเจริญขึ้นในเมืองไทย เมื่อไม่กี่สิบปีมานี้เอง เนื่องจากว่ายังเป็นวิทยาการแขนงใหม่ วิธีการรักษาสำหรับโรคแต่ละโรค จึงอาจมีได้หลายวิธีแตกต่างกันไปทั้งนี้ขึ้นอยู่กับศิลปะของแพทย์แต่ละท่านว่ามีเหตุผลในการรักษาอย่างไร ก็ทางไปกรุงโรมมีได้หลายทางนี่ครับ

เขียนมาถึงตรงนี้ อดที่จะพูดถึง “หมอพระ” หรือ “หมอน้ำมัน” สักหน่อยไม่ได้เพราะบุคคลที่มีอาชีพประเภทนี้ ค่อนข้างจะมีบทบาทต่อการบาดเจ็บในเรื่องของกระดูกอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับประชาชนที่อยู่ตามชนบท ที่ขาดแคลนแพทย์แผนปัจจุบันที่ชำนาญเฉพาะทางโรคกระดูก

“หมอพระ” นั้น บางที่ท่านเป็นพระจริง บางทีก็ไม่ได้เป็นพระ แต่จะเป็นหมอหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการตีความของภาษา ถ้าถือกันตามสิทธิการประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ทางแพทย์สภาอนุมัติแล้ว ก็ไม่ใช่หมอที่ถูกต้องตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันก็มีหมอพระที่เปิดสำนักรักษาโรคกระดูกทั้งแบบผู้ป่วยนอกหรือแบบไปกลับ (ผู้ป่วย โอ.พี.ดี.) และผู้ป่วยใน (ให้พักค้าง) อยู่หลายแห่ง ซึ่งมีผู้มารับการรักษาหนาหูหนาตาพอสมควร มันเป็นเรื่องที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อยที่ว่า ทำไม “หมอพระ” หรือ “หมอน้ำมัน” เหล่านี้ จึงเป็นที่นิยมจากประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนบท จนบางแห่งแม้กระทั่งมีแพทย์แผนปัจจุบันอยู่ในโรงพยาบาลของรัฐที่ตำบลใกล้เคียง ผู้เดือดร้อนในโรคกระดูกก็สมัครใจไปขอรับบริการจากหมอพระมากกว่าหมอแผนปัจจุบัน เหตุผลง่ายๆ เปิดร้านค้ามีลูกค้ามาอุดหนุนหนาตา สินค้าย่อมต้องเป็นที่ถูกใจของลูกค้า หมอพระก็คงจะทำนองเดียวกัน ถ้าเป็นเช่นนี้ ก็แสดงโดยปริยายว่า “สินค้า” ของรัฐเป็นที่ถูกใจของประชาชนสู้ของหมอพระหมอน้ำมันไม่ได้ ทำไม?

1. วิชาออร์โธปิดิคส์ เป็นแขนงวิชาที่ต้องการการศึกษาเป็นพิเศษ หลังจากจบหลักสูตรแพทย
ศาสตร์บัณฑิตแล้ว เพื่อให้เกิดความชำนาญในการรักษาทั้งโดยวิธีผ่าตัดและไม่ผ่าตัด แต่ในปัจจุบันนี้ นักศึกษาแพทย์ส่วนใหญ่ได้เรียนวิชานี้กันประมาณคนละ 3-4 อาทิตย์ เมื่อสำเร็จแล้วอาจยังไม่มีความมั่นใจพอที่จะการรักษาโรคทางนี้ได้ดี หรือถ้าอยู่ในภาวะจำเป็นที่จะต้องให้การรักษา ก็อาจเกิดความผิดพลาดได้ง่าย หลายท่านอาจเคยทราบว่า มีคนกลัวที่จะต้องเข้าโรงพยาบาลหลังเกิดอุบัติเหตุแขนขาหัก เพราะเกรงว่าจะถูกแพทย์ตัดแขนตัดขาทิ้ง หรือไม่ก็หนีออกจากโรงพยาบาลโดยเหตุผลทำนองเดียวกัน ความสะพรึงกลัวนี้จะเป็นความจริงหรือไม่ก็ตาม ครูท่านหนึ่งของผู้เขียนได้เคยสอนไว้ว่า ผลแทรกซ้อนจากการเอาน้ำมันมาทานวดนั้น อย่างเก่งก็แค่กระดูกติดกันผิดรูปหรือไม่ติด แต่การผ่าตัดถ้าทำได้ไม่ดีแล้ว อาจถึงกับเสียแขนเสียขาได้ ซึ่งเป็นข้อคิดที่ผู้เกี่ยวข้องน่าที่จะสังวรและรอบคอบให้มากไว้ แล้วความกลัวของคนก็จะหมดไปเอง

2. กระดูกหักนั้น ธรรมชาติมันจะเชื่อมติดกันเองอยู่แล้ว เหมือนบาดแผลทั่วไป ดังนั้นความดีข้อนี้
ต้องยกให้แก่ “ธรรมชาติ” ไม่ใช่ผู้รักษาเพราปัจจุบัน ยังไม่เป็นที่ยอมรับว่ามียาขนานใดที่วิเศษขนาดช่วยให้กระดูกติดกันเองได้รวดเร็วกว่าธรรมชาติของมันความดีที่จะยกให้แก่ผู้รักษาได้นั้นคือ ความสามารถที่เขาจะจัดกระดูกให้เข้าที่เดิมได้ดี และให้มันคงสภาพที่จัดไว้ดีแล้วนั้นต่อไป จนกว่ากระดูกจะติดกันเอง ดังนั้น น้ำมันหรือยาสมุนไพรที่หมอพระหมอน้ำมันใช้อยู่นั้น จึงอาจถือได้ว่าเป็นสิ่งที่เกินความจำเป็น ซึ่งแพทย์แผนปัจจุบันไม่ใช้กัน ถ้ามันจะมีผลบ้าง ก็อาจจะเป็นเพราความร้อนที่ได้จากการนวด ช่วยให้โลหิตไหลเวียนมาสู่รอยกระดูกหักเพิ่มขึ้น ซึ่งอันที่จริงก็ไม่มีประโยชน์พิเศษอะไร เพราะร่างกายซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอโดยการเกิดภาวะเช่นนี้อยู่แล้ว อีกอย่างหนึ่ง การที่มีอะไรมาทา ๆ นวด ๆ พอก ๆ อาจดูขลังและช่วยชูกำลังใจว่าได้รับการรักษาดีก็ได้ เหมือนหมอพระก็รักษากระดูกให้ “ติด” ได้เช่นนี้ แถมยังดูมีพิธีการขลังดีด้วย ลูกค้าก็ย่อมเกิดความนิยม

3. ความพอใจและความรู้ว่าแค่ไหนจึงจะน่าพอใจของหมอกระดูกกับหมอพระนั้นต่างกัน สำหรับ
หมอกระดูก นอกจากทำให้กระดูกติดแล้ว กระดูกที่ติดนั้นต้องไปไม่บิดเบี้ยว ไม่งอเป็นมุม รับน้ำหนักและทำงานได้ดีเหมือนเดิม หรือเกือบเหมือนเดิม แต่ถ้าไม่พิถีพิถันนัก ถือเสียว่ากระดูกหักรักษาให้มันติดกันได้ก็บุญแล้ว ท่านก็ควรหาหมอพระ โดยต้องทำใจว่า ข้อจะงอหรือเหยียดไม่ได้เต็มที่บ้าง ก็เป็นเพราะกรรมที่ผู้กระดูกหักพึงรับไว้ ถึงอย่างไรก็ดีกว่ากระดูกมันไม่ติดกัน เมื่อคิดได้เช่นนี้ ข้อผิดพลาดที่ทำให้กระดูกมันติดกันผิดรูป ทำให้สูญเสียหน้าที่ของอวัยวะนั้นๆ ก็เป็นอันยกโทษให้แก่กรรมมันไป เมื่อลูกค้าไม่ติดใจในรอยตำหนิชองสินค้า การค้าก็ย่อมยั่งยืนต่อไปได้เป็นธรรมดา

4. การบาดเจ็บต่อกระดูก ถ้ามันรุนแรง มีแผลเหวอะหวะกระดูกโผล่ ก็มักจะมีการบาดเจ็บต่อระ
บบอื่นร่วมด้วย ในรายที่รุนแรงเช่นนี้ มักเป็นความจำเป็นที่ผู้ป่วยจะถูกส่งมาหาแพทย์แผนปัจจุบัน และก็เพราะว่ามันรุนแรงนี้เอง ผลของการรักษาจึงมักจะมีโรคแทรกซ้อนตามมาบ่อย ทำให้ค่านิยมของแพทย์แผนปัจจุบันดูไม่ค่อยดี ตรงกันข้าม ถ้าเป็นการบาดเจ็บเล็ก ๆ น้อย ๆ บางครั้งเพียงแต่กระดูกร้าวหรือเจ็บปวดมากจากการได้รับความบอบช้ำ จนเป็นที่เข้าใจผิดคิดว่า กระดูกมันหัก ในรายเช่นนี้ มักจะถึงมือของหมอพระ หมอน้ำมันได้ง่ายกว่า ความจริงธรรมชาติมันมีแนวโน้มจะหายเองอยู่แล้ว ใครโชคดีได้รักษาโรคอย่างนี้ ก็สบายได้ค่านิยมที่ดีไป
 

เมื่อเป็นเช่นนี้ หมอพระหมอน้ำมันก็ยังคงเป็นที่ยอมรับในสังคมไทยบางกลุ่มไปได้อีกนาน จนกว่าวิทยาการสมัยใหม่ของออร์โธปิดิคส์ จะขยายไปสู่ทุกหนทุกแห่งในประเทศและมีผลงานที่น่านิยมเพียงพอ

ผู้เขียนเห็นทีจะต้องขอจบฉบับนี้ไว้เพียงแค่นี้ก่อน ฉบับต่อไปจะเริ่มคุยกันถึงโรคกระดูกที่พบบ่อย ให้ท่านผู้อ่านได้ทราบกันตามประสา หมอชาวบ้าน ที่เป็นหมอกระดูก เพื่อว่าเวลา ท่านเกิดมีปัญหาเกี่ยวกับโรคกระดูก ท่านจะได้ไม่เชยจนเกินไป เหมือนอย่างที่ผู้เขียนเคยเชยเมื่อรถมันป่วย ต้องหารถอื่นนั่งไปตามหมอรถมาเสียหอบ คุณหมอแกเปิดกระโปรงดู เอามือไปลูบ ๆ คลำ ๆ อยู่พักเดียวรถมันก็หายป่วย คุณหมอรถแกคงชมในความเชยของเราอยู่ในใจ ส่วนเราเองก็เสียค่าเชยไปตามระเบียบ


 

ข้อมูลสื่อ

14-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 14
มิถุนายน 2523
อื่น ๆ
นพ.วิรุฬห์ เหล่าพัทรเกษม