• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจรักษาอาการซีด

การตรวจรักษาอาการซีด

อาการซีด (paleness, pallor) ในที่นี้หมายถึง อาการที่สีของผิวหนัง (หน้า ริมฝีปาก ลิ้น เล็บ มือ เท้า ที่ด้านในของเปลือกตา หรือที่อวัยวะอื่นๆ ของร่างกายที่สามารถมองเห็นได้) ดูจางลง เนื่องจากไม่มีเลือดฝาด

อาการซีด ในที่นี้จึงไม่ได้ หมายถึง

1. อาการซีดเซียวหรืออาการไม่แจ่มใสหรือไม่สดชื่น ถ้าอาการทั้ง 2 นี้ไม่มีอาการซีด (เพราะไม่มีเลือดฝาด) ร่วมด้วย

2. อาการขาวหรืออาการที่ผิวหนังมีสีขาว เพราะผิวหนังขาดเม็ดสีน้ำตาลดำ (melanin pigment) เช่น ในภาวะคนเผือก (albinism) ภาวะด่างขาว (vitiligo) เป็นต้น แต่อาการซีดขาวหรือซีดจนขาว ให้ถือว่าเป็นอาการซีด (เพราะไม่มีเลือดฝาด) ได้ อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านบางคนอาจใช้คำว่า “ซีดขาว” หรือ “ขาวซีด” ในความหมายว่า ผิวสีขาว เพราะไม่เคยถูกแดดหรือไม่ค่อยได้ถูกแดดก็ได้ ซึ่งในความหมายเช่นนั้นจะไม่ใช่อาการซีดที่จะพูดถึงในที่นี้

3. อาการซูบซีด หรืออาการผอมลง ดูเซียวไป ซูบไป นอกจากอาการซูบไปเซียวไปนั้นมีอาการซีด (เพราะไม่มีเลือดฝาด) ร่วมด้วย

4. อาการซีดเขียวหรือเขียวซีด และอาการซีดเหลืองหรือเหลืองซีด นอกจากอาการดังกล่าวจะมีอาการซีด (เพราะไม่มีเลือดฝาด) ร่วมด้วย

อาการซีดจึงเป็นอาการที่วินิจฉัยได้ไม่ยาก เพราะอาศัยการดูความเข้มของสี (เลือด) ของผิวในบริเวณต่างๆ ที่กล่าวถึงข้างต้นด้วยตาเปล่าแล้วเปรียบเทียบกับคนทั่วไป อาการซีดเนื่องจากไม่มีเลือดฝาด เกิดจากสาเหตุที่สำคัญ 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ

ประเภทที่ 1 อาการซีดจากเลือดไปเลี้ยงน้อยลง ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นเฉพาะที่ (เฉพาะส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย) หรือเกิดทั่วไปก็ได้ อาการซีดเฉพาะที่มักจะพบเห็นได้ง่ายที่บริเวณปลายๆ ของอวัยวะ เช่น แขน ขา มือ เท้า นิ้ว เป็นต้น เมื่อเส้นเลือดที่บริเวณนั้นตีบตัว (จนเลือดไปเลี้ยงบริเวณนั้นน้อยลง) หรือตีบตัน (ไม่มีเลือดไปเลี้ยงบริเวณนั้น)

วิธีที่จะทำให้เลือดตีบตัว (หดตัว) อย่างง่ายๆ เพื่อให้มองเห็นอาการซีดได้อย่างชัดเจน คือ การเอามือจุ่มลงในน้ำแช่น้ำแข็ง สักครู่หนึ่งความเย็นจะทำให้เส้นเลือดที่มือตีบตัว ทำให้มือนั้นดูขาวซีด (ไม่มีเลือดฝาด) อย่างชัดเจน

ส่วนอาการซีดที่เกิดจากเลือดไปเลี้ยงอวัยวะทั่วไปน้อยลงจนมองเห็นอาการซีด (ไม่มีเลือดฝาด) โดยทั่วไป หรือทั่วร่างกาย (นั่นคือ หน้า รวมทั้งริมฝีปากซีด ลำตัวซีด แขนขาและมือเท้าซีด) มักเกิดจากการตีบตัว (หดตัว) ของเส้นเลือดทั่วร่างกายที่พบใน “ภาวะช็อก”

“ภาวะช็อก” ในที่นี้จึงหมายถึง ภาวะที่เลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกายน้อยลงจนอวัยวะเหล่านั้นขาดเลือด ไม่ได้หมายถึง การถูกกระทบกระเทือนหรือถูกกระตุ้นอย่างรุนแรง เช่น

1. ภาวะช็อกจากจิตใจ เช่น “ฉันเห็นคนตายจากรถชน แล้วจะช็อกตายให้ได้” หรือ

2. ภาวะช็อกจากไฟฟ้า เช่น ถูกไฟฟ้าดูด (ช็อต) จนตัวสั่นไปหมด

หรืออื่นๆ ถ้าภาวะเหล่านั้นไม่ทำให้เกิดการขาดเลือดของอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย

ภาวะช็อก จึงเป็นภาวะที่ทำให้มองเห็นอาการซีดโดยทั่วไป ที่เกิดจากเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ น้อยลง เนื่องจากเส้นเลือดตีบตัว ซึ่งเห็นได้ในคนที่เป็นลมหมดสติ เพราะความดันเลือดตก คนที่อุจจาระร่วง (ท้องร่วง) หรือคลื่นไส้อาเจียนมากๆ คนที่ใกล้ตาย เป็นต้น

ประเภทที่ 2 อาการซีดจากโรคเลือดจาง (โรคโลหิตจาง) ซึ่งอาจเกิดจาก

1. การเสียเลือด เช่น

1.1 การเสียเลือดอย่างรวดเร็ว เช่น การตกเลือด เนื่องจากถูกแทง ถูกยิง หรือมีบาดแผล การตกเลือดจากแผลในกระเพาะ ลำไส้ การตกเลือดจากการคลอดหรือแท้งบุตร เป็นต้น

1.2 การเสียเลือดอย่างเรื้อรัง เช่น

ก. การเสียเลือดทางประจำเดือนในหญิงวัยเจริญพันธุ์ทุกคน ทำให้เกิดโรคเลือดจางได้ ถ้าไม่ได้กินอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น ตับ (ตับเป็ด ตับไก่ ตับหมู ตับวัว) ม้าม (ตับเหล็ก) ไข่แดง เป็นต้น

ข. โรคพยาธิลำไส้ เช่น โรคพยาธิปากขอ ซึ่งเป็นสาเหตุที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของโรคเลือดจางในคนชนบท (คนบ้านนอก) ในเมืองไทย

2. การทำลายเม็ดเลือดแดง (เม็ดเลือดแดงแตก) ทำให้จำนวนเม็ดเลือดในกระแสเลือดลดลง และสีแดงเข้มของเลือดลดลง ผู้ป่วยจึงซีด (ไม่มีเลือดฝาด) และมักจะเหลือง (ดีซ่าน) ด้วย เพราะสารที่ถูกปล่อยจากเม็ดเลือดแดงแตก จะถูกตับเปลี่ยนเป็นสีเหลืองของน้ำดีแผ่ซ่านไปทั่วร่างกาย จึงเกิดอาการดีซ่านขึ้น เช่น

2.1 โรคไข้จับสั่น (มาลาเรีย) ในขณะที่จับไข้หนาวสั่น ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดจากพยาธิมาลาเรียที่อยู่ในเม็ดเลือดแดง ทำลายเม็ดเลือดแดง แล้วกระจายเข้าสู่กระแสเลือด

2.2 โรคธาลัสซีเมีย (โรคเม็ดเลือดแดงผิดปกติจากกรรมพันธุ์) ทำให้เม็ดเลือดแดงแตกง่าย ผู้ป่วยจะมีหน้าตาผิดปกติ (โหนกแก้มสูง จมูกแบนหัก ตาห่าง แผนภูมิที่ 1)

2.3 การให้เลือดผิดหมู่ (ผิดกรุ๊ป) จะทำให้เม็ดเลือดแดงแตกอย่างมากมายและรวดเร็ว ทำให้ถึงตายได้

2.4 การใช้ยาบางชนิด ก็อาจทำให้เม็ดเลือดแดงแตกได้

3. การขาดเหล็กและสารจำเป็นสำหรับการสร้างเม็ดเลือดแดง ทำให้เม็ดเลือดแดงมีสีจางลง (ไม่มีสีแดงเท่าที่ควร) สีของเลือดจึงจางลง แม้จำนวนเม็ดเลือดแดงในกระแสเลือดจะไม่ลดลง เช่น

3.1 การไม่กินอาหารจำพวกไข่ และเนื้อสัตว์ (มังสวิรัติ) มักทำให้ขาดธาตุเหล็ก ซึ่งมีความจำเป็นสำหรับการสร้างสารเลือดแดง (hemoglobin) สำหรับเม็ดเลือดแดง ทำให้เม็ดเลือดแดงมีสีจางลง จึงทำให้สีของผิวหนังซีด (ไม่มีสีเลือด)

3.2 การขาดวิตามินบางชนิด เช่น ในกลุ่มของวิตามิน บี (เช่นวิตามิน บี 1 บี 2 บี 6 บี 12 โฟลิค) วิตามิน ซี เป็นต้น

3.3 การขาดอาหารโปรตีน โดยเฉพาะผู้ที่ขาดอาหารมากๆ จะขาดสารอาหารหลายอย่าง โดยเฉพาะโปรตีน

4. การที่ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดแดงไม่พอ หรือสร้างเม็ดเลือดแดงผิดปกติ หรือไม่สร้างเม็ดเลือด เช่น

4.1 โรคทางกรรมพันธุ์บางชนิดที่ทำให้ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดแดงผิดปกติ เช่น โรคธาลัสซีเมีย (ดูข้อ 2.2) โรคเม็ดเลือดแดงกลมตามพันธุ์ (hereditary spherocytosis) โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว (sickle-cell anemia) เป็นต้น

4.2 โรคติดเชื้อ โดยเฉพาะโรคติดเชื้อเรื้อรัง (chronic infection) จะทำให้ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดแดงน้อยลง

4.3 โรคเรื้อรังอื่นๆ จะทำให้ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดแดงน้อยลงได้เช่นเดียวกัน

4.4 ไขกระดูกฝ่อ (aplastic or hypoplastic anemia) ซึ่งอาจเกิดจากพิษของยา เช่น ยาปฏิชีวนะพวกคลอแรมเฟนิคอล (chloramphenical)

4.5 ไขกระดูกถูกแทนที่ (myelophthisic anemia) ด้วยมะเร็งพังผืด เป็นต้น


แผนภูมิที่ 1 การแยกประเภทและการรักษาอาการซีด

 

 

 

 

 

 

 

 

 



 

ข้อมูลสื่อ

127-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 127
พฤศจิกายน 2532
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์