• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ไปเบิ่งแพทย์ลาวที่เวียงจันทน์ (ตอนจบ)

ไปเบิ่งแพทย์ลาวที่เวียงจันทน์ (ตอนจบ)

คณะของเราพักค้างคืนที่สถานทูตไทย โดยได้รับความกรุณาและความเป็นกันเองจากท่านทูตนิรันดร์ ภาณุพงษ์ ซึ่งเป็นน้องชายของอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ดร.อรุณ ภาณุพงษ์ ตลอดระยะเวลาที่ได้นั่งฟังท่านทูตพูดคุยกับอาจารย์หมอประดิษฐ์ เราก็ได้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับลาวหลายเรื่อง ท่านทูตเล่าให้ฟังว่า ทรัพยากรทางธรรมชาติในลาวยังมีอีกมาก ต่อไปในภายหน้าหากเหตุการณ์บ้านเมืองสงบลง ลาวก็อาจกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่ง ท่านบอกว่า น้ำตกที่ใหญ่ที่สุดในโลกไม่ใช่น้ำตกไนแองการ่า กินเน็สบุ๊คส์ระบุว่าเป็นน้ำตกในลาวที่ชื่อว่า “หลี่ผี” ซึ่งเป็นช่วงที่แม่น้ำโขงทรุดต่ำลงไปถึง 100 เมตร

ผมมาทราบภายหลังว่า ชื่อหลี่ผีมีมาแต่โบราณแล้ว คนโบราณฉลาดเรียก โดยเอาความหมายของ “หลี่” อันเป็นชื่อเครื่องมือดักปลาชนิดหนึ่งของอีสาน เอาไปดักปลาตรงช่องน้ำไหลที่ทำให้แคบเป็นช่องน้ำเชี่ยวกราก เพื่อให้ปลาไหลลงไปกับแรงน้ำหล่นลงไปในหลี่

แม่น้ำโขงซึ่งไหลผ่านจากจีนแผ่นดินใหญ่ ลงไปสู่ทะเลจีนนั้น ต้นน้ำเกิดจากภูเขาในธิเบต ไหลผ่านหลายประเทศเป็นระยะทางทั้งสิ้น 4,160 กิโลเมตร นับเป็นแม่น้ำสายยาวอันดับที่ 3 ของเอเชีย ช่วงที่แม่น้ำโขงไหลผ่านประเทศต่างๆ ล้วนมีแม่น้ำที่ร้ายกาจน่ากลัวแล้วนับไม่ถ้วน แต่ที่สุดยอดในความหฤโหด ก็คือ แก่งหลี่ผีนี่แหละ ขนาดท่อนซุงโตๆ ที่ไหลตามน้ำลงมา ยังถูกแรงน้ำกระแทกจนหักเหมือนเราหักกิ่งไม้อย่างไรอย่างนั้น

ท่านทูตพูดถึงเจ้าสีหนุซึ่งตอนนี้ก็ไปๆมาๆอยู่ในเมืองไทย ท่านทูตบอกว่า เจ้าสีหนุตอนที่ลี้ภัยอยู่ในไทยสมัยรัฐบาลจอมพลป. พิบูลสงคราม พระองค์ท่านอยู่อย่างลำเค็ญพอควร โดยอาศัยห้องพักชั้น 3 ของโรงแรมรัตนโกสินทร์แล้วเอาธงของเขมรโผล่ออกมาทางหน้าต่าง ทางรัฐบาลไทยในขณะนั้นไม่ได้ให้ความเหลียวแลเท่าใดนัก ว่ากันว่าเจ้าสีหนุโกรธมาก จนพาลหาเรื่องเอาเขาพระวิหารกลับคืนไป แต่เรื่องที่เจ้าสีหนุโกรธมากที่สุดเห็นจะเป็นเรื่องที่ชอบผู้หญิงไทยคนหนึ่ง ถึงกับออกปากจะให้เป็นเจ้าจอมแต่แล้วก็มีการหักหลังกันขึ้น เจ้าสีหนุจึงอดที่จะเชยชมสาวไทยผู้นั้น ท่านทูตไม่ได้เล่าต่อว่า พ่อสื่อคนใดไปหักหลังเจ้าสีหนุแล้วเอาสาวไทยผู้นั้นมาชมเชยเสียเองด้วยหรือไม่

คณะของเราออกเดินทางจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ.2532 นอนค้างคืนบนรถไฟ 1 คืน ถึงกรุงเวียงจันทน์ตอนเช้าวันที่ 31 มีนาคม เราใช้เวลาทั้งวันดูงานในโรงพยาบาลมะโหสถ และมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เวียงจันทน์ กำหนดการเดินทางกลับเป็นวันที่ 1 เมษายน ตอนเที่ยง เพื่อมาขึ้นรถไฟที่หนองคายในตอนกลางคืน หนึ่งคืนที่เวียงจันทน์คณะของเราได้มีโอกาสร่วมงานเลี้ยงขององค์กรสาวหนุ่ม ซึ่งเป็นองค์กรจัดตั้งเฉพาะภายในโรงพยาบาลมะโหสถ แพทย์หญิงคำหล้าบอกว่าทางองค์กรจะคัดเลือกสาวหนุ่มที่ทำตัวดีกว่าระดับเฉลี่ย คือ มีความเสียสละเพื่อส่วนรวม องค์กรสาวหนุ่มจัดงานขึ้นในคืนนี้ก็เพื่อหารายได้มาปรับปรุงพัฒนาโรงพยาบาลมะโหสถ ในงานก็มีการรำวง เต้นรำ และมีการประกวดชุดนักรบเสื้อขาว (ประกวดในชุดพยาบาล)

งานเลี้ยงคืนนั้นได้เงินบริจาคพียง 30,000 บาท อาจารย์หมอประดิษฐ์บริจาคสมทบ 10,000 กีบ (500 บาท) อาจารย์บอกว่าจะบริจาคมากกว่านั้นเกรงว่าจะข้ามหน้าข้ามตาพ่อค้าในเวียงจันทน์ ดังที่ได้เรียนให้ทราบแล้วว่าเรามีเวลาอยู่ในลาวเพียง 2 วัน ผมพยายามจดจำ (รวมทั้งบันทึก) เหตุการณ์ต่างๆ เท่าที่จะทำได้ แต่เหตุการณ์ทั้งหลายที่นำความประทับใจมาให้ทั้งผมและอาจารย์ผู้ใหญ่ท่านอื่นๆ ก็คือ เรื่องราวระหว่างนักศึกษาแพทย์ไทยและลาว

นักศึกษาแพทย์ไทยที่เดินทางไปลาวครั้งนี้มีด้วยกัน 11 คน จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี บทบาทของนักศึกษาแพทย์ไทยและลาวที่แสดงออกตามธรรมชาติด้วยความบริสุทธิ์ใจต่อกันและกัน ช่วยสร้างบรรยากาศม่วนซื่นให้คณะของเรากับอาจารย์แพทย์ลาว ตลอดจน ดร.วันนะเลด รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขลาวเป็นอย่างดี

นักศึกษาแพทย์ทั้ง 11 คนมีนักศึกษาแพทย์แก้วตา เลขะกุล นักศึกษาแพทย์ธเนศ วัฒนะวงษ์ นักศึกษาแพทย์พงษ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ นักศึกษาแพทย์กอบเกียรติ ดอนสกุล นักศึกษาแพทย์ชาญชัย ลิ้มธงเจริญ นักศึกษาแพทย์รติกร เผือกสูงเนิน นักศึกษาแพทย์คชินท์ วัฒนะวงษ์ นักศึกษาแพทย์ฉันทนา ผดุงทศ นักศึกษาแพทย์กลวัชร์ เหล่าชัยศรี นักศึกษาแพทย์สุเชษฐ์ ตรรกธาคา และนักศึกษาแพทย์กมลชนก วุฒิธำรง

ตอนที่เยี่ยมชม “มะหาวิทะยาไลแพดสาด” เวียงจันทน์ มีตัวแทนนักศึกษาแพทย์ไทยออกไปกล่าวแนะนำตัวเองหน้าห้องเรียนของนักศึกษาแพทย์ลาวชั้นปีต่างๆ ทางนักศึกษาแพทย์ไทยก็เกรงว่านักศึกษาแพทย์ลาวจะแซวโห่ร้อง แต่ปรากฏว่า เขานั่งฟังเงียบ เรียบร้อยมาก หากเป็นทางนักศึกษาแพทย์ไทยคงแซวกันสนุก

มาทราบภายหลังว่า พวกนักศึกษาแพทย์ไทย-ลาว นัดแนะกันว่าจะไปนอนค้างคืนด้วยกัน เพื่อจะได้คุยกันให้ถึงกึ๋น แต่เมื่ออาจารย์ทางฝ่ายลาวทราบข่าวก็รีบมาสั่งห้ามด้วยเหตุผลที่ว่า องค์การของรัฐฯห้ามบุคคลภายนอกประเทศเข้าพักในบ้านก่อนได้รับอนุญาต

อะไรๆ ก็ต้องถามองค์การของรัฐฯก่อนเสมอ แม้แต่นักศึกษาแพทย์ไทย-ลาวจะแข่งขันบาสเกตบอลเพื่อมิตรภาพก็ยุ่งยากมาก เนื่องจากอาจารย์ลาวไม่อนุญาต สาเหตุก็คงเกรงว่ายังไม่ได้บอกองค์การของรัฐฯ ลำพังอาจารย์แพทย์ลาวเองก็คงอยากเห็นสัมพันธภาพที่ดีงามของนักศึกษาแพทย์ไทย-ลาว มาถึงตอนนี้ก็ต้องอาศัยฝีปากระดับทูตของหัวหน้าคณะ คือ อาจารย์หมอประดิษฐ์ ไม่ทราบอาจารย์จำนรรจาอย่างไร ทางฝ่ายลาวจึงยินยอม

ระหว่างแข่งขันมีการร้องเพลงเชียร์กันอย่างสนุกสนาน อาจารย์หมอประดิษฐ์ทำหน้าที่เป็นเชียร์ลีดเดอร์อีกตำแหน่งหนึ่ง สร้างความครึกครื้นกันถ้วนหน้า เล่นไปสักครู่ใหญ่ ดร.วันนะเลด รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขลาว ก็มายืนดูอยู่ข้างสนามบาสเกตบอลด้วย ดูท่าทางมีความสุข และพลอยสนุกไปกับเหล่านักศึกษาแพทย์ด้วย เราจึงได้รู้จัก และได้มีโอกาสสนทนากับท่าน หากไม่มีการแข่งขันกีฬามิตรภาพนักศึกษาแพทย์ไทย-ลาว คณะของเราก็คงไม่มีโอกาสพบท่าน ต่อมาภายหลังท่านเดินทางมากรุงเทพฯ คณะของเราโดยการนำของอาจารย์หมอประดิษฐ์ ได้เลี้ยงอาหารเย็นต้อนรับท่านด้วย

นักศึกษาแพทย์ไทยผู้หนึ่ง ได้เขียนบทความชื่อ “หมอไทย-หมอลาว หมู่เฮาพวกเดียวกัน” ลงในหนังสือมติชนรายสัปดาห์ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 23 เมษายน 2532 โดยเขียนความในใจว่า

“ก่อนกลับมาเมืองไทย เพื่อนชาวลาวเกือบ 30 คนมารอส่งเราที่สถานทูต พวกเราซึ้งใจมาก ช่วงเวลาบนแผ่นดินลาวเพียง 30 ชั่วโมงเรายังสามารถสนิทกันได้ถึงเพียงนี้ เพราะภาษา ขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมของเรามิได้ต่างกันเลย อาจจะมีผิดเพี้ยนไปบ้างก็เล็กน้อย ยังไงสายเลือดเราพี่น้องก็แยกกันไม่ออก  พวกเราหวังว่าสักวันหนึ่งนักศึกษาแพทย์ลาวคงจะได้มาเรียนที่ไทยบ้าง ทำไมจะต้องไปเรียนที่สหภาพโซเวียต เยอรมนี เชโกสโลวะเกีย ที่อยู่ไกลออกไป ภาษาก็ต่างกันมาก กว่าจะเริ่มเรียนแพทย์ได้ก็ต้องฝึกภาษาอีกปี ขนบธรรมเนียมก็ต่างกันมาก ค่าใช้จ่ายก็แพงกว่า ถ้านักศึกษาแพทย์ลาวมาเรียนต่อที่ไทยก็ไม่จำเป็นต้องฝึกภาษา การซักถามประวัติคนไข้ก็ไม่ลำบาก อาจเป็นที่ถูกใจคนอีสานอีกด้วย เพราะพูดกันได้รู้เรื่องมากกว่า ค่าใช้จ่ายต่ำกว่า เพียงข้ามโขงจากลาวมาไทย 200 บาทเท่านั้น ถูกกว่าเครื่องบินข้ามน้ำข้ามทะเลไปต่างประเทศไกลๆ วัฒนธรรมการกินอยู่ก็คล้ายกัน

แต่สิ่งเหล่านี้คงต้องใช้เวลาอีกยาวนานกว่าจะเป็นจริงได้ เพราะระบอบการเมืองที่ต่างกัน แต่จริงๆ แล้วเราเป็นเพื่อนกัน ถ้าไม่มีการเมืองมิตรภาพของเราคงไปได้เร็วกว่านี้ แต่นั่นก็เป็นเรื่องของผู้ใหญ่ สิ่งที่เราหวังในตอนนี้ คือ สักวันเราคงได้นั่งเรียนร่วมกัน แบ่งปันความรู้ และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน”

หากใครได้มาเห็นภาพของนักศึกษาแพทย์ไทย-ลาว ร้องเพลงก่อนลาจากที่บ้านท่านทูต ภาพของนักศึกษาแพทย์ลาวนั่งซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ไปส่งนักศึกษาแพทย์ไทยที่ท่าเรือ ซึ่งห่างจากเวียงจันทน์ 18 กิโลเมตร ภาพของการโบกมืออำลานับตั้งแต่เรือแล่นออกจากฝั่งลาวไปถึงฝั่งไทย เสียงของการตะโกนหากันด้วยความรู้สึกของคนหนุ่มสาวที่มีจิตวิญญาณบริสุทธิ์ และเต็มไปด้วยมิตรภาพไมตรี
ภาพเหล่านั้นจะจารึกอยู่ในความทรงจำมิรู้ลืม

“ขอให้มิตรภาพไทย-ลาว หมั่นยืน”

ข้อมูลสื่อ

127-021
นิตยสารหมอชาวบ้าน 127
พฤศจิกายน 2532
อื่น ๆ
นพ.ชูชัย ศุภวงศ์