• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กระดูกหัก (1)

กระดูกหัก (1)

ในยุคที่คุณทวดในปัจจุบัน ยังเป็นเด็กชายหรือเด็กหญิงอยู่นั้น ปัญหาเรื่องกระดูกหักยังไม่เป็นที่พบกันได้บ่อยนัก เพราะสมัยโน้น ท่านยังไม่สามารถที่จะเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงเหมือนเดี๋ยวนี้ โอกาสที่จะปะทะกับกำลังอัดขนาดสูง ก็ย่อมเกิดขึ้นได้ยาก นอกจากว่าเด็กชายหรือเด็กหญิงคุณทวดนั้น ท่านจะอุตริปีนขึ้นที่สูงแล้วตกลงมา หรือไม่ก็โดนทำร้ายร่างกายจนกระดูกหักปัญหาจึงจะค่อยรุนแรงหน่อย ถ้าเป็นการหกล้มธรรมดา ๆ แล้วกระดูกหัก ปัญหาก็มักจะไม่หนักหนาอะไร  (ในสายตาของหมอกระดูก
ปัจจุบัน)
ความเจริญทางอุตสาหกรรมและยานพาหนะ จึงเป็นสาเหตุสำคัญในการเพิ่มความรุนแรงของกระดูกหักในยุคนี้
 

กระดูกหักคืออะไร ?
ถ้าจะเปรียบเทียบกันง่าย ๆ กระดูกหักก็คล้าย ๆ กิ่งไม้หัก นั่นคือ จะต้องมีการตัดขาดของแท่งกระดูก โดยที่รอยขาดนั้น อาจจะเป็นเพียงบางส่วนหรือโดยรอบแท่งกระดูกนั้นก็ได้ กระดูกของเด็ก ๆ มักหักสะบั้นได้ยาก เหมือนกิ่งไม้สด ๆ ส่วนมากหักแล้วยังเหลือเปลือกหรือเนื้อเสี้ยนเชื่อมต่อกันอยู่ส่วนหนึ่ง ทั้งนี้เพราะว่ามันยังมีสภาพเป็นสปริงยืดหยุ่นได้ดี แต่ในผู้ใหญ่นั้น กระดูกมักเปราะเหมือนกิ่งไม้แห้ง เวลาหักก็มักขาดสะบั้นออกเป็นสองชิ้นใหญ่ ๆ หรือหลาย ๆ ชิ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ นักวิชาการจึงแบ่งประเภทของกระดูกหักออกเป็น 2 แบบใหญ่ ๆ ดังนี้คือ
1. กระดูกหักร้าวหรือหักไม่รอบ หรือหักไม่สมบูรณ์
2. กระดูกหักสะบั้นหรือหักโดยรอบหรือหักสมบูรณ์
 

กระดูกหักทำได้อย่างไร ?
คำถามนี้ดู ๆ ก็เชยดี แต่ถ้าไม่บอกก็อาจจะรู้ได้ไม่ถ้วนถี่ อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่จะกล่าวต่อไปนี้ มีองค์ประกอบที่สำคัญร่วมกันอย่างหนึ่งคือ “แรง” ซึ่งจะต้องมีมากระทำ กระดูกจึงจะหักได้ เช่น
1. แรงกระทำต่อกระดูกโดยตรง เช่น การใช้ของแข็งฟาด หรือทุบตี กระดูกมักจะมีรอยหักตามขวางหรือแตกเป็นหลายชิ้น

2. แรงกระทำต่อกระดูกโดยทางอ้อม เช่น การบิดหมุนขอบแกนกระดูก หรือกระดูกหักหลุดจากการหดเกร็งของเอ็นที่ยึดกับกระดูก รอยหักมักจะเฉียงหรือเป็นรูปเกลียวยาวหรือหลุดเป็นแว่น

3. แรงกระทำต่อกระดูกอย่างซ้ำ ๆ ซาก ๆ ในเวลาติดต่อกัน โดยที่ขนาดของแรงนั้น ถ้ากระทำเพียงครั้งเดียวจะไม่ถึงขั้นทำให้กระดูกหักได้ เช่น การเดินทางไกล หรือทหารใหม่ไปซ้อมรบ แล้วมีกระดูกฝ่าเท้าหัก

4. กระดูกหักเนื่องจากกระดูกเองมีโรคอยู่แล้ว เช่น เป็นเนื้องอก เป็นโรคกระดูกเปราะหรืออ่อนหรือผุ เป็นต้น พวกนี้ได้รับแรงมากระทำเล็กน้อย เพียงครั้งเดียวก็หักได้
 

กระดูกหักวินิจฉัยได้อย่างไร?
ถ้ามีใครสักคนหนึ่งมาหาเราโดยที่มีปลายกระดูกหัก ทิ่มออกนอกเนื้อให้เห็นหรือแบนขาส่วนที่ไม่ใช่ข้อต่อ แต่เกิดหักงอได้ แบบนี้ต่อให้เด็ก ๆ ก็วินิจฉัยได้ว่ากระดูกหักแน่ ๆ ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า ถ้าไม่พบอาการแสดงชัด ๆ แบบนี้
เราจะทราบได้อย่างไรว่ากระดูกมันหัก ขั้นตอนที่ควรปฏิบัติ มีดังต่อไปนี้
1) การซักประวัติ
ประวัติที่สำคัญคือ การได้รับบาดเจ็บชัดเจน ซึ่งเป็นสาเหตุจูงใจให้สงสัยว่า อาจทำให้กระดูกหักได้ตามสาเหตุที่กล่าวมาแล้วในข้อ 1 และ 2 แต่การบาดเจ็บที่ไม่สามารถจะสังเกตได้ชัดเจน ก็ย่อมทำให้กระดูกหักได้เช่นกัน ดังเหตุผลในข้อ 3 และ 4 นอกจากนี้ ประวัติที่สำคัญอีก 2 ประการได้แก่ การเจ็บปวดเฉพาะที่ ซึ่งจะเพิ่มความรุนแรงขึ้น ถ้ามีการเคลื่อนไหว และการสูญเสียหน้าที่ของอวัยวะ ที่ได้รับการบาดเจ็บนั้น ๆ ทั้งนี้ส่วนที่หักยังคงประกบกันเองได้มั่นคงดี อาการทั้ง 2 ประการนี้ ก็อาจไม่รุนแรงนัก ถ้าปลายกระดูกขยับได้ ผู้ป่วยมักบอกเราได้ว่า “ได้ยิน” เสียงกระดูกมันขัดสีกันดังกรอบแกรบตรงรอยหัก

2) การตรวจร่างกาย
สูตรที่ใช้กันในหมู่แพทย์คือ ดู คลำ เคาะ ฟัง เริ่มด้วยการดู ให้สังเกตว่าสีหน้าของผู้ป่วยนั้นแสดงว่ามีการเจ็บปวดจริง สำหรับตรงตำแหน่งที่หัก อาจพบมีอาการบวม มีรอยเลือดแทรกซึมอยู่ใต้ผิวหนัง มีรูปร่างผิดปกติ ให้เห็นได้ เช่น การบิดงอ หรือสั้นลงของแขนขา คลำดูที่ผิวหนัง ถ้าบวมมากจะตึงและอุ่นกว่าปกติ กดเบา ๆ จะมีอาการเจ็บตรงนั้นรุนแรง กล้ามเนื้อของกระดูกส่วนนั้นจะเกร็งตัวถ้ามีการขยับแม้เพียงแต่น้อย ถ้าคลำถูกรอยหักอาจมีปุ่มหรือเป็นขั้น ซึ่งเกิดจากกระดูกมันเกยเหลื่อมกัน การเคาะนั้นมีประโยชน์มาก เพราะบางครั้งเนื้อเยื่อฟกช้ำเฉย ๆ ถ้าเราไปคลำหรือบีบมันโดยตรง ก็อาจจะทำให้มีอาการเจ็บปวดรุนแรงได้ แต่ถ้าเราใช้วิธีเคาะบนตำแหน่งของกระดูกชิ้นที่สงสัยว่าจะหักตรงจุดที่ห่างจากบริเวณซึ่งกำลังสงสัยอยู่นั้น หากมีกระดูกหักจริง จะปวดมากตรงรอยหัก แต่ถ้าเป็นเพียงการฟกช้ำของเนื้อเยื่อ จะมีอาการเจ็บปวดไม่รุนแรงนัก สำหรับการฟังนั้น ไม่นิยมทำกัน เพราะไม่จำเป็นไปกว่าวิธีการอื่น ๆ ที่กล่าวมาแล้ว ขอเสริมท้ายนิดหนึ่งว่า ควรตรวจร่างกายด้วยความนุ่มนวล อย่าทำให้เกิดการบาดเจ็บซ้ำเติมโดยไม่จำเป็น

3) การดูจากภาพรังสี
วิธีนี้ต้องอาศัยประสบการณ์และทักษะในการดูเป็นพิเศษ ไม่อยากชักชวนให้งวยงงเล่นเปล่า ๆ ถ้าสงสัยขอแนะนำว่าปรึกษาผู้รู้โดยตรงจะสนุกกว่า
 

กระดูกหัก ต้องระวังอะไรอีก?
จะขอชี้ให้เห็นความจริงสองประการที่เกี่ยวกับกระดูก ก่อนที่จะให้คำตอบต่อคำถามช้างบนนี้คือ
ประการแรก
ไม่มีกระดูกชิ้นไหนในร่างกายที่ไม่ถูกห่อหุ้มโดยผิวหนังและเนื้อเยื่ออ่อนอื่น ๆ เช่น ไขมัน กล้ามเนื้อ เอ็น พังผืด ซึ่งอาจมีเส้นเลือดและเส้นประสาททอดผ่านไปด้วยได้
ประการหลัง
มีโครงกระดูกบางแห่งที่ทำหน้าที่ห่อหุ้มป้องกันอวัยวะที่ละเอียดอ่อนและจำเป็นอย่างยิ่งต่อชีวิต เช่น กะโหลกศีรษะและกระดูกสันหลัง ซึ่งหุ้มประสาทส่วนกลาง (สมองและไขสันหลัง) ซี่โครงซึ่งหุ้มหัวใจ ปอด เส้นเลือดใหญ่ และช่องท้องส่วนบน กระดูกเชิงกราน ซึ่งหุ้มกระเพาะปัสสาวะและลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย เป็นต้น

เมื่อเป็นเช่นนี้ กระดูกหักจึงต้องตรวจดูสิ่งต่อไปนี้ด้วยว่าเกิดขึ้นร่วมกันหรือไม่
1) ปลายกระดูกที่หักมีทางติดต่อกับบาดแผลที่ผิวหนังหรือไม่ ถ้ามี ทางติดต่อนี้อาจช่วยให้เชื้อโรคจากสิ่งแวดล้อมภายนอกเข้าสู่โพรงกระดูกได้

2) คลำดูชีพจรของเส้นเลือดที่ทอดผ่านตำแหน่งที่กระดูกหัก เพื่อให้แน่ใจว่า เส้นเลือดเหล่านี้ไมได้ถูกทำลาย นอกจากนี้ยังดูสภาพการไหลเวียนของเลือดว่าดี เป็นปกติหรือไม่โดยสังเกตดูสีของ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า เล็บ เปรียบเทียบกับข้างที่ไม่มีการบาดเจ็บ ลองกดแล้วปล่อยดู ถ้าส่วนที่ซีดจากการกดคืน แดงอย่างรวดเร็วแสดงว่าไม่มีการทำลายของเส้นเลือด

3) ตรวจดูสภาพการทำงานของประสาทที่สำคัญ คือความรู้สึกตัว แขนขาชาไหม (ลองใช้เข็มแทงดูเบา ๆ ) ขยับได้หรือเปล่า

4) การบาดเจ็บต่ออวัยวะภายในต่าง ๆ ที่ได้ยกตัวอย่างมาไปแล้วข้างต้น ซึ่งเราจะต้องทำการตรวจร่างกายอย่างละเอียด จึงจะวินิจฉัยได้ครบถ้วน การบาดเจ็บเหล่านี้ มักเป็นเหตุให้เสียชีวิต ถ้าทำการรักษาช้าเกินไป เช่น หัวใจหรือปอดทะลุ ตับ ม้ามแตก กระเพาะปัสสาวะฉีก ลำไส้ขาด และช็อค เป็นลม หน้าซีด ตัวเย็น เหงื่อออก ชีพจรเต้นเร็วแต่เบา ความดันเลือดต่ำ เป็นต้น

เมื่อได้เข้าใจหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับกระดูกหักข้างต้นพอสมควรดังนี้แล้ว เราก็จะได้ลงมือรักษากันต่อไปในฉบับหน้า ตอกเสาเข็มให้แน่นก่อนสร้างตึก จึงจะมั่นคงแข็งแรงครับ
ก่อนจบฉบับนี้ ขอฝากสูตรของการรักษากระดูกหักไว้สักนิดว่า “กระดูกหักชิ้นหนึ่งให้คำนึงถึงทั้งตัว”


 

ข้อมูลสื่อ

15-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 15
กรกฎาคม 2523
อื่น ๆ
นพ.วิรุฬห์ เหล่าพัทรเกษม