• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

พันธุ์แพ้ยา (ตอนที่ 1)

พันธุ์แพ้ยา (ตอนที่ 1) 


 

 ถ้าท่านไปซื้อยาชุดแก้หวัดจากร้านขายยาละก็ มักจะมีคลอแรมอยู่ด้วย ที่จริงการขายยาแบบนี้ผิดกฎหมาย แต่การควบคุมกฎหมายในบ้านเราหละหลวม อย่างที่รู้ๆกันอยู่ ยานี้จึงมีโอกาส “ฆ่า” คนที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์....” 

ยาเป็นของคู่กับโลก เป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่จำเป็นสำหรับชีวิต เป็นสิ่งที่ช่วยให้ชีวิตของคนเรายืนยาวต่อต้านอุปสรรคของการดำรงชีวิตคือ โรคภัยไข้เจ็บได้ นอกจากนั้นแล้ว ยายังช่วยให้นักธุรกิจผลิตยา ค้ายา ร่ำรวยเป็นเศรษฐีมหาเศรษฐีได้ด้วย

ในสมัยโบราณตั้งแต่คนเรายังเป็นคนป่า วิ่งแก้ผ้าโทง ๆ ไล่จับสัตว์กันเป็นหมู่ ๆ นั้น ก็คงจะรู้จักยากันแล้ว แต่ยานั้นก็คงจะเป็นของง่าย ๆ ที่หาได้จากธรรมชาติ เช่น รากไม้ ใบไม้ ซึ่งก็คือที่เราเรียกกันเดี๋ยวนี้ว่า ยาสมุนไพรนั่นเอง ที่จริงไม่ต้องย้อนไปถึงสมัยหิน เราก็เห็นยาจากธรรมชาติออกเยอะแยะไป และคนวัยกลางคนพื้นเพบ้านนอกเหมือยอย่างผู้เขียน คงจะเคยลิ้มรสยาหม้อที่มีสมุนไพรหลาย ๆ ชนิดเป็นส่วนประกอบกันแทบทุกคน สมัยนี้วงการวิทยาศาสตร์และวงการแพทย์กลับหันมาเห็นคุณค่าของยาสมุนไพรอย่างง่าย ๆ กันใหม่ และ “หมอชาวบ้าน” ก็มีนโยบายสนับสนุนการใช้สมุนไพรเพื่อรักษาโรค อย่างที่ท่านผู้อ่านเห็นแล้วว่ามีคอลัมน์ “สมุนไพร” เป็นเจ้าประจำทุกฉบับนั่นแหละครับ

เรื่องของยามันก็เจริญขึ้น ตามความจริงของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากสมุนไพรที่ต้องกินกันทีละเป็นกอบเป็นกำ หรือต้มเป็นยาหม้อกินกันทีละสองสามชาม กลายมาเป็นยาเม็ด ยาฉีด เม็ดเล็กนิดเดียวหรือฉีดเพียง ซี.ซี. เดียว ก็ได้ผลมากกว่ากินยาต้มสองชาม ยาสมัยใหม่นี้ส่วนหนึ่งก็สกัดมาจากสมุนไพรนั่นเอง คือมีอยู่ในธรรมชาติ สกัดเอามาเฉพาะตัวยา แบบนี้นักธุรกิจผลิตยาท่านว่ายังไม่ดี เพราะต้นทุนสูง ผลิตแล้วรวยช้าไป นักวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นลูกจ้างของเถ้าแก่บริษัทผลิตยา จึงค้นหาวิธีสังเคราะห์ขึ้นมา คือเอาสารเคมีง่ายๆ ถูกๆ มาใส่รวมกันเข้า เสกคาถาเข้า สารเคมีง่ายๆ ก็รวมกันแยกกันได้เป็นสารเคมีตัวใหม่ขึ้นมา กลายเป็นยาสังเคราะห์ ผลิตมาขายได้ทีละมาก ๆ เถ้าแก่ฝรั่งร้องเวรี่กู๊ด (ดีมาก) ได้ตัวยามาก ๆ ส่งไปขายทั่วโลก กำไรอื้อซ่า พวกเราชาวประชาก็ชอบใจเพราะราคายามันก็ถูกลง อย่างเพนนิซิลลิน สมัยเริ่มผลิตได้ใหม่ ๆ ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ต้องสกัดมาจากธรรมชาติ คือ จากเชื้อราชนิดหนึ่ง กว่าจะได้เพนนิซิลลินสักกรัม ก็ต้องเลี้ยงเชื้อรากันหัวโต สมัยนั้นเพนนิซิลลินจึงพงยังกับทอง แต่เดี๋ยวนี้เพนนิซิลลินที่ใช้ๆ กันนั้นเขาสังเคราะห์กันทั้งนั้นแหละครับ ผลิตได้ทีละมากมาย ราคาก็ถูกลงอย่างที่เห็นๆ กัน

อารัมภบทเสียยืดยาว ก็เพื่อให้เห็นว่ายาสมัยใหม่ส่วนใหญ่เป็นของที่ไม่มีในธรรมชาติ เป็นสารสังเคราะห์ ซึ่งเมื่อเอามาทดลองพบว่าใช้รักษาโรคในคนได้ โรคหายหรือทุเลา และถ้าเป็นโรคที่มีเชื้อ ยาก็ทำให้เชื้อโรคตาย คนไม่ตาย
แต่ถ้ายาทุกชนิดเอามารักษาเชื้อโรคตาย และคนหายทุกที ผมก็ไม่มีเรื่องมาเขียนเล่าให้ท่านอ่านซีครับ มันมีเรื่องให้เล่าสู่กันฟังก็เพราะเรามีคนพิเศษ ชนิดที่พอฉีดยา เชื้อโรคไม่ทันตาย คนชิงตายไปเสียก่อนนั่นแหละครับ

ตัวอย่างที่พบบ่อยและรู้จักกันดีที่สุดคือ การแพ้ยาเพนนิซิลลิน ที่เรากลัวกันมากที่สุดคือ แพ้แบบช็อค พอฉีดยาเพนนิซิลลินยังไม่ทันถอนเข็ม คนไข้ช็อคตายไปแล้วก็มี การแพ้ยาแบบนี้นับเป็นการแพ้ยาแบบที่รุนแรงที่สุด และหมอกลัวกันมากที่สุด โดยเฉพาะหมอตามคลินิก ซึ่งเครื่องมือสำหรับช่วยชีวิตจากการแพ้ยาแบบนี้ไม่ค่อยพรักพร้อม หมอตามคลินิกบางคนจึงไม่ใช้เพนนิซิลลินชนิดฉีดเลย แต่ตามโรงพยาบาลก็ยังนิยมใช้ยานี้กันอยู่ เพราะตามโรงพยาบาลมีเครื่องมือช่วยชีวิตพร้อม หมอพร้อม พยาบาลพร้อม ถึงจะช็อคจากเพนนิซิลลิน ส่วนใหญ่ก็ยังพอช่วยกันได้ แต่กระนั้นก็เถอะครับที่ช่วยไม่ทัน เพราะอาการรุนแรงเหลือเกินก็มีพบอยู่บ้าง

คนที่แพ้ยาเพนนิซิลลินนี้ พบไม่ใช่น้อย ๆ นะครับ แต่บางคนก็แพ้เพียงแค่เป็นผื่นขึ้นตามผิวหนัง ลมพิษขึ้นไม่นานก็หายไป แต่บางคนก็มีอาการทางผิวหนังที่รุนแรงมาก คือผิวหนังแดงเห่อและล่อนทั้งตัว คล้าย ๆ คนถูกน้ำร้อนลวกถ้าเป็นแบบนี้ละก็ทรมานมากและในที่สุดบางคนก็ตาย บางคนแพ้เพนนิซิลลิน แบบที่ทำให้มีไข้ อาการแพ้แบบนี้เคยทำให้หมอปวดเศียรเวียนเกล้ากันมานักต่อนักแล้ว คือคนไข้มาอยู่โรงพยาบาลเพราะเป็นโรคบางโรค มีอาการหลายอย่างรวมทั้งไข้ด้วย ก็มีการให้ยาตามที่หมอเห็นว่าเหมาะสม รวมทั้งเพนนิซิลลินด้วย ไม่ช้าอาการต่าง ๆ ก็หายหมด คนไข้สบายดี แต่ไข้ไม่หาย ยังมีไข้ต่ำ ๆ อยู่ทุกวัน หมอก็เดือดร้อนว่า เอ๊ะ! คนไข้ยังมีไข้เพราะอะไร กว่าจะเฉลียวใจว่าอาจเกิดเพราะยาเพนนิซิลลิน บางทีคนไข้ก็โดนตรวจอะไรต่อมิอะไรอีกหลายอย่าง พอหมอสงสัยไข้จากยาเพนนิซิลลินก็งดยา คนไข้ก็หายไข้เป็นปลิดทิ้งทันที

คนที่แพ้ยาเพนนิซิลลินแบบต่าง ๆ ทุกแบบ รวมแล้วตำราเขาว่ามีถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของคนทั้งหมดเชียวนะตรับ แต่ก็ยังดีที่ส่วนใหญ่เป็นการแพ้แบบขึ้นผื่น ซึ่งอาการไม่รุนแรงนัก แบบที่รุนแรงมากคือ ช็อคตายหรือคางเหลืองนั้น เขาว่ามีคนแพ้เพียง 2-5 คนต่อหมื่นคน ก็นับว่าโชคดีที่พบไม่มากนัก แต่ก็ไม่ควรประมาทกัน โดยเฉพาะคนที่แพ้เพนนิซิลลินแล้วเป็นไข้หรืออกผื่น แต่พอฉีดเพนนิซิลลินคราวต่อไป เกิดแพ้แบบช็อกและตายก็มี

เหตุที่ผมเอาเรื่องนี้มาเล่าในคอลัมน์ “พันธุ์ดี” ก็เพราะการแพ้เพนนิซิลลินนี้ ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ แต่เราก็ไม่รู้หรอกครับว่า กลไกการถ่ายทอดพันธุ์แพ้เพนนิซิลลินนี้มันเป็นอย่างไร รู้แต่ถ้าพ่อหรือแม่แพ้ยา เพนนิซิลลิน ลูกก็มีโอกาสแพ้ได้มาก เวลาหมอจะให้ยาเพนนิซิลลิน จึงมักจะถามเสมอว่าคนไข้แพ้ยาเพนนิซิลลินหรือเปล่า และถามไปถึงพ่อแม่พี่น้องด้วย ถ้าใครมีพ่อแม่พี่น้องแพ้ยานี้ หมอก็มักเลี่ยงไม่ใช้ยาเพนนิซิลลินละครับ ยิ่งเพนนิซิลลินชนิดฉีดละก็ยิ่งต้องเลี่ยงเด็ดขาด

นอกจากนั้นยังพบว่า คนที่เป็นโรคในกลุ่ม “โรคแพ้” เช่น ลมพิษ หรือ โพรงจมูกอักเสบ เพราะแพ้อากาศ แพ้อาหาร เช่น แพ้อาหารทะเล แพ้กุ้ง แพ้ปู แล้วเป็นลมพิษหรือช็อก ก็มีโอกาสแพ้ยาเพนนิซิลลินได้ง่ายมาก เวลาหมอจะให้ยานี้จึงต้องซักประวัติการแพ้ทุกชนิดทุกรูปแบบ (แต่แพ้ในที่นี้หมายถึง แพ้แบบที่ฝรั่งเขาเรียกว่า allergy: “อัลเลอร์ยี่” ไม่รวมเรื่องแพ้ท้อง แพ้ผม แพ้เมีย นะครับ) ถ้ามีประวัติละก็หลีกเลี่ยงยาเพนนิซิลลินเสียดีกว่า (เรื่องการซักประวัติเกี่ยวกับการแพ้นี้ คุณหมอสันต์ หัตถีรัตน์ ได้เขียนไว้แล้วใน “หมอชาวบ้าน” เรื่อง “มาเป็นหมอกันเถิด” ฉบับที่ 1 กับฉบับที่ 5)

สรุปแล้วเรื่องการแพ้นี้ กรรมพันธุ์มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยมาก ใครที่แพ้ง่ายและรู้อยู่แล้วว่าแพ้อากาศ แพ้อาหาร ก็ต้องระวังว่าจะแพ้ยาด้วย และยาที่แพ้กันบ่อยที่สุดคือเพนนิซิลลิน ยิ่งเป็นชนิดฉีดยิ่งน่ากลัวอันตรายที่สุด และต้องตระหนักว่ามี พันธุ์แพ้ยา เวลาจะใช้ยาที่มีชื่อว่าแพ้ง่ายอย่างเพนนิซิลลิน ก็ต้องถามเสียก่อนว่ามีญาติพี่น้องเป็นโรคแพ้หรือเปล่า ถ้ามีก็ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาเพนนิซิลลินอย่างที่สุด
ยาอีกชนิดหนึ่งที่หมอกลัวกันมากคือ คลอแรมเฟนิคอล หรือที่เราเรียกกันสั้น ๆ ว่า คลอแรม ซึ่งส่วนใหญ่ขายกันเป็นแคปซูล แต่ที่ทำเป็นเม็ด เป็นน้ำเชื่อม หรือเป็นชนิดฉีดก็มี เป็นยาที่ทำอันตรายร้ายแรงมาก แต่ก็ยังมีขายกันเกร่อในท้องตลาด เพราะว่าราคาถูกและใช้ฆ่าเชื้อโรคได้ผลดีพอสมควร ถ้าท่านไปซื้อยาชุดแก้หวัดจากร้านขายยาละก็ มักจะมีคลอแรมอยู่ด้วย 2 แคปซูลต่อชุด ที่จริงการขายยาแบบนี้มันเกิดกฎหมาย แต่การควบคุมกฎหมายในบ้านเราหละหลวมอย่างที่รู้ ๆ กันอยู่ ยานี้จึงมีโอกาส “ฆ่า” คนที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์อยู่เรื่อยมา

คนที่เป็นแผล ไปซื้อยาแก้อักเสบ ร้านขายยามักขายคลอแรมให้ ยิ่งหนุ่ม ๆ วัยซุกซน พอมีอาการถ่ายปัสสาวะขัดไปซื้อยาตามร้าน ก็มักได้ยาคลอแรมมากิน พอค่อยยังชั่วก็ไปเที่ยวอีก และมีอาการปัสสาวะขัดอีก ก็กินยาคลอแรมต่ออีก ถ้ากินยาคลอแรมเป็นเวลานานติดต่อกันถึง 10 วัน 20 วัน โอกาสที่จะเกิดพิษจากยาคลอแรมก็มากเหลือเกิน คือการใช้คลอแรมนานเกินไปหรือมากเกินไป (เช่น กินถึงวันละ 10 แคปซูล) ยาจะไปเกิดพิษต่อไขกระดูก ทำให้ไขกระดูกเสื่อมสร้างเลือดไม่ได้ เกิดอาการโลหิตจาง เลือดออกง่าย เม็ดเลือดขาวต่ำ ทำให้ติดเชื้อโรคได้ง่าย พอเชื้อโรคเข้าไปในร่างกาย ก็แพร่กระจายทั่วร่างกาย เกิดอาการไข้สูง และอาจตายโดยรวดเร็วมาก บางทีไม่ทันไปหาหมอก็ตายไปเสียแล้ว ฝรั่งเขากลัวพิษของคลอแรมแบบนี้กันมาก บางประเทศถึงกับประกาศห้ามใช้คลอแรมไปเลย หรือให้ใช้เฉพาะแพทย์เป็นผู้สั่งใช้ ไม่ใช่ซื้อได้ตามใจชอบเหมือนอย่างบ้านเรา อาการเป็นพิษจากคลอแรมแบบที่กินมากเกินไปหรือนานเกินไปนี้ ไม่ได้เป็นกรรมพันธุ์หรอกครับ แต่เป็นกันได้ทุกคน คนทุกคนถ้ากินคลอแรมมากเกินไป หรือนานเกินไป ก็เกิดพิษจากยานี้ได้ทุกคน คือมีสิทธิตายจากพิษของยานี้ได้เท่าๆ กัน เสมอภาคกันดีแท้

อันตรายจากคลอแรมอีกแบบหนึ่งคือการ แพ้ยา คือกินไม่มากมานานเกินไป คนบางคน ก็เกิดอาการแพ้พิษยานี้ มีอาการอย่างที่เล่ามาแล้ว คนแบบนี้พบไม่มากเพียงประมาณหนึ่งคนในสี่หมื่นคน เพราะฉะนั้นคนที่จะใช้ยาคลอแรม จึงควรใช้โดยแพทย์เป็นผู้สั่งและติดตามระมัดระวังการเกิดอาการแพ้ยาอย่างใกล้ชิด การแพ้ยาคลอแรมแบบนี้เป็นกรรมพันธุ์ ถ้าใครมีญาติพี่น้องแพ้ยานี้ ตนเองก็มีโอกาสแพ้คลอแรมได้มาก เป็นเรื่องที่ทุกคนจะต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะถ้าเกิดอาการแพ้ขึ้นแล้วก็มักจะมีแต่ตายกับตาย จะหารอดชีวิตได้ยากเต็มที จะให้ปลอดภัยที่สุดก็งดเว้นการใช้ยานี้เองเสียเลยเป็นดี ถ้าจะซื้อยามากินก็ต้องถามผู้ขายเสียก่อนว่าชื่อยาอะไร อย่ากินยาโดยไม่รู้จักชื่อ อาจเป็นยาคลอแรมและเกิดการแพ้หรือเกิดพิษโดยไม่รู้ตัว
 

เรื่อง “พันธุ์แพ้ยา” ยังไม่จบ โปรดติดตาม พันธุ์ดี ตอนต่อในฉบับหน้า

 

ข้อมูลสื่อ

17-014
นิตยสารหมอชาวบ้าน 17
กันยายน 2523
นพ. วิจารณ์ พานิช