• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อาการขั้นต้นของโรคประสาท(ตอนที่ 1 )

อาการขั้นต้นของโรคประสาท(ตอนที่ 1 )
 

คำว่า โรคประสาท ประสาทไม่ค่อยดี ประสาทเสีย เหล่านี้ เราได้ยินได้ฟังอยู่เสมอ และดูเหมือนจะเป็นคำที่รู้กันมากแต่เข้าใจกันน้อย และไม่ค่อยได้รับการช่วยเหลือเท่าไร ดังนั้นจึงจะได้เล่าให้ฟังว่า ที่ว่ากันว่าประสาทไม่ปกตินั้นมีอย่างไรบ้าง อาการขั้นแรกที่เกี่ยว ที่เราพบเห็นหรือได้รับฟังคำบอกเล่าอยู่เสมอก็คือ

1. อาการเหนื่อย
มีความรู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีกำลัง ขาดความกระปรี้กระเปร่าและคำที่ว่า “เพลียเหลือเกิน” เป็นคำที่พูดกันมาก บางทีก็ได้รับความเห็นอกเห็นใจ บางทีก็ได้รับการยกย่อง เพราะที่ท่านผู้ใหญ่ท่านบอกว่าท่านเพลีย หมายความว่าท่านมีงานมาก แต่ถ้าเด็กๆ บอกว่าเพลียก็หมายความว่า หมอนี่ขี้เกียจหรืออ่อนแอ ดังนั้นแต่ละคนจึงหาทางออกไปทำนองที่ว่าประสาทหมดกำลัง หรืออ่อนเพลียเพราะประสาทหมดแรง และเท่าที่เราสำรวจดูปรากฏว่า 75% ของคนไข้โรคประสาท บ่นเรื่องเพลีย

เรื่องเพลียนี้แบ่งออก เป็น 2 ประเภท

ประเภทที่ 1 หมายถึง เพลียจริง ๆ เหนื่อยอ่อน หมดแรงง่าย มักจะเกิดขึ้นเพราะคนไข้ไม่มีการออกกำลังเสียเลย พอทำอะไรเข้าแม้แต่เล็กน้อย ก็ให้รู้สึกอ่อนเพลีย ดังนั้นวิธีแก้ไขลักษณะการเพลียเช่นนี้ก็คือ การออกกำลังเสียบ้าง การออกกำลังนั้นไม่ได้หมายความว่า จะต้องหาลูกเหล็กเป็นร้อยเป็นพันกิโลมายกหรือวิ่งรอบสนามหลวง เพียงแต่เดินเสียบ้าง ก็จะช่วยให้หายเพลียได้ อย่างเช่นท่านเอกอัครราชทูตไทยที่กรุงลอนดอน รู้สึกเหนื่อยอ่อนและเพลียง่าย วิธีแก้ของท่านไม่ใช่นอนเอา ๆ ให้มันหายเพลีย แต่ท่านเดินเสียบ้างทุกเช้า รอบสวนวันละรอบ ไม่นานก็กินได้นอนหลับเป็นปกติ ทำให้นึกถึงแฟชั่นรุ่นคุณปู่คุณลุงที่มีการปฏิบัติกันเป็นกิจวัตรในสมัยนั้น คือการเดินตอนเช้า ความอ่อนอกอ่อนใจก็ดูเหมือนจะน้อยกว่าสมัยนี้

ประเภทที่ 2 เป็นอาการเพลียที่รู้สึกไปเอง เป็นอาการของโรคประสาทโดยแท้ เพราะหงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย มีอารมณ์ไม่ปกติรวดเร็ว และเอาจริงเอาจังกับตนเองมากเกินไป ก็อดที่จะเพลียไม่ได้ ความเคร่งครัดเอาจริงเอาจังในชีวิตไม่ว่าจะเป็นเรื่องร่างกายหรือจิตใจ ก็ทำให้เกิดอ่อนอกอ่อนเพลียทั้งนั้น อย่างเช่นนักมวยขึ้นเวทีใหม่ ๆ พอรำมวยเสร็จก็เกร็งข้อลำทั่วตัวเตรียมรับศึก บางทีเกร็งมากไปจนเนื้อตัวสปาสซั่ม ประเดี๋ยวก็อ่อนเพลียไปหมด เป็นผลให้เกิดความสำเร็จในการถูกน็อคเอ๊าท์ด้วยดีภายในยกครึ่งยามามากต่อมากแล้ว พวกที่เคร่งเครียดทางจิตใจก็เหมือนกัน อารมณ์ถูกรั้งถูกดึง ถูกจับเหวี่ยงจับโยนกระแทกกระทบอยู่ตลอด-เวลา ผลสุดท้ายก็เพลียแต่เมื่อเพลียบ่อยๆ เข้า จนแม้แต่เพียงรู้สึกเรื่องงานเรื่องการ เรื่องจะพบกับผู้กับคนเท่านั้น ก็อ่อนอกอ่อนใจไปหมดแล้ว นั่นแหละคืออาการของโรคประสาท การบำบัดแก้ไขความรู้สึกอ่อนเพลียเช่นนี้ จะใช้วิธีให้หันไปสนใจงานอดิเรกสิ่งเบ็ดเตล็ดเสียบ้างก็ได้ อย่างเช่น ผู้หลักผู้ใหญ่ท่านอาจ-จะเล่นกล้วยไม้ เล่นบอน หรือเลี้ยงไก่ ก็ช่วยให้หายหงุดหงิด หายความเคร่งเครียดทางอารมณ์ หายเพลีย เหมือนอย่างรัฐบุรุษในต่างประเทศบางท่าน หัวเสียหนักๆ เข้าก็ไปตกเบ็ดเสียบ้าง ไปเขียนรูปตามท้องไร่ท้องนาเสียบ้าง และการส่งเสริมวิธีบรรเทาความเคร่งเครียดทางจิตใจเช่นนี้ ก็น่าจะได้ดำเนินการกันให้เป็นล่ำเป็นสันขึ้น

2. อาการปวด
เช่น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดในกระดูก ปวดสมอง มีมากต่อมากแต่อะไรไม่ร้ายเท่าความรู้สึกเจ็บปวดทางใจ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้หลายอย่าง อย่างเช่น

ปวดโดยนิสัย อันนี้เหมือนกับว่าเคยปวดที่นั่นที่นี่ พอมีอะไรเกิดขึ้นก็ให้รู้สึกปวดคล้ายๆ ที่เดิม หรือปวดเพราะมีเหตุการณ์กลุ้มใจ เช่น คนไข้รายหนึ่ง สามีเป็นนักภูมิศาสตร์ลือชื่อ เมื่อแต่งงานแล้ว สามีก็ต้องเดินทางไปทั่วโลก ฝ่ายภรรยาก็ให้รู้สึกปวดที่นั่นที่นี่เป็นอาจิณ เพราะการเจ็บปวดเท่านั้นเอง ที่จะทำให้สามีอยู่บ้านได้

ปวดเพราะมีความระลึก หรือเกี่ยวโยงกับเรื่องที่เคยเป็นมา เช่น คนไข้รายหนึ่งเมื่ออายุ 7 ขวบ ได้รับการผ่าตัดที่คอ ตอนผ่าตัดนั้นแพทย์ได้ฉีดยาชาให้ ต่อมาเมื่อเขาเป็นหนุ่ม เมื่อกินเหล้ามาก ๆ ก็มักจะรู้สึกปวดชาที่คอ ซึ่งหมายถึงความระลึกเกี่ยวโยงกับเรื่องเดิมโดยไม่ตั้งใจ

ปวดโดยฝังจิตฝังใจ อย่างเช่น อาการปวดในบางส่วนของร่างกายเมื่อมีอารมณ์ ถูกกระทบกระเทือนเข้า ก็มักจะรู้สึกปวดในที่เดิมนั่นเอง เช่น พ่อค้าคนหนึ่งฟันมีสีเปลี่ยนไป และเคยได้ยินว่าประสาทมันตายจึงเป็นเช่นนั้น ทั้งเคยอ่านพบว่าเมื่อประสาทตายจะเกิดเป็นสีขึ้น ดังนั้นเมื่อเขาสีฟันทุกๆ เช้า ก็ยิ่งเห็นสีของฟันเปลี่ยนมากขึ้น ๆ ประกอบกับไม่มีเวลาที่จะไปหาทันตแพทย์ ก็ให้รู้สึกปวดประสาทตามหน้าและปวดอยู่อย่างฝังจิตฝังใจ ครั้งเมื่อได้รับการตรวจจากแพทย์อย่างละเอียดลออโดยให้การยืนยันว่า ทั้งฟันและประสาทเป็นปกติดี อาการปวดเหล่านั้นก็ค่อย ๆ หายไป

ปวดโดยการชักจูง บางคนรู้สึกปวดเหมือนอย่างที่เห็นคนอื่นเขาปวด หรือปวดเพราะเคยพบเห็นเช่นนั้น อย่างเช่นนักเรียนแพทย์และนักเรียนพยาบาล อาจจะรู้สึกเจ็บปวดเหมือนกับที่เห็นในคนไข้ มีเรื่องเล่าว่า มีแพทย์ 3 คนช่วยกันรักษาคนไข้ที่เป็นเพื่อนรักคนหนึ่ง ซึ่งเป็นโรคหัวใจ บรรดาแพทย์เหล่านี้ก็ได้ยินได้ฟังอยู่เสมอถึงอาการไม่สบายของเพื่อน ต่อมาไม่นานแพทย์ทั้ง 3 คนก็มีอาการเจ็บหน้าอกตามไปด้วย
เท่าที่กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่า อาการปวดด้วยความรู้สึกทางจิตใจนั้น อาจจะเกิดขึ้นได้หลายอย่าง อย่างเช่นที่กล่าวมาข้างต้น บางคนเมื่อเข้าใจเรื่องเข้ารู้สึกตัวดีขึ้น อาการปวดก็หายไป
 

3. อาการทางร่างกาย
ผู้ซึ่งเป็นโรคทางประสาท มักจะมีอาการทางร่างกายเกี่ยวเนื่องไปกับความเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ เช่น ความเจ็บปวด ความหิวกระหาย ความกลัว และความฉุนเฉียว อารมณ์กับร่างกายเป็นของคู่กัน และเป็นขึ้นง่ายที่สุด อย่างเช่นแมวเวลามันโกรธ ก็มีตัวงอขนตั้งชัน หรือคนเวลาถูกจับไพ่ ถูกจับโกหก ทั้งท้องหนักท้องเบาช่วยกันตื่นเต้นออกมาอย่างยับยั้งไม่ไหว และอาการต่าง ๆ ที่พบเห็นอยู่เสมอก็มีเช่น

อันแรก คือ อาการหัวใจไม่ปกติ พอตกใจขึ้นมา หัวใจเต้นแรงเร็ว บางคนถึงกับว่าได้ยินออกมานอกเสื้อ และบางคนที่พลอยสังเกตจะไปไหนมาไหน ต้องจับชีพจรตัวเองเสมอ ว่าวันนี้เต้น 80 ตุบ ก็เป็นปกติดี แต่ถ้าวันไหนขึ้นไป 120 หรือลงมาสัก 50 ก็หมดแรงเสียตั้งแต่อยู่บนเตียงนอน คำแนะนำง่าย ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คือว่า อย่าไปเอาใจใส่กับชีพจรของตนเองมากนัก ปล่อยให้เป็นเรื่องของแพทย์ผู้รักษาดีกว่า

อาการทางร่างกายอันที่ 2 คือท้องอืด ท้องเฟ้อ มักจะพบง่ายที่สุด เมื่อมีอารมณ์รุนแรงมาก ๆ หรือที่เราได้ยินกันอยู่ทุกวันว่า เสียอกเสียใจกินข้าวไม่ลง บางคนตื่นเต้นมากที่ได้พบกับบุคคลสำคัญของโลก เลยต้องวิ่งเข้าห้องน้ำทุกชั่วโมงก็มี สิ่งเหล่านี้ได้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ ระหว่างอารมณ์กับท้องไส้ เรื่องท้องอืด ท้องเฟ้อนี้ ไม่ใช่เกิดเพราะกินอาหารผิดปกติแต่อย่างเดียว ยังเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางจิตใจด้วย และบางรายก็มักจะเป็นเพราะนิสัยหรือความเคยชินมาเป็นแรมปี และบางทีก็เป็นกันทั้งบ้านก็มี ขวดยาเรียงกันเป็นกองทัพบนโต๊ะกินข้าว ต้องมีการเรอให้คลื่นเหียนกันเล่นภายหลังอาหาร หรือเรื่องอื่น ๆ อีกที่ไม่น่าเล่าไม่น่าฟัง แต่อย่างไรก็ตามเรื่องท้องอืดท้องเฟ้อนี้เกิดขึ้นได้ง่าย เมื่อมีอารมณ์ผิดปกติ ก็ควรจะแก้ไขตัวเองในเรื่องกังวล เรื่องความโกรธ เรื่องความกลัว ให้ลดน้อยลง

อาการทางร่างกายอันที่ 3 คือท้องผูกและท้องเดิน ซึ่งเป็นเรื่องคล้ายคลึงกับท้องอืดท้องเฟ้อ การแก้ไขก็เช่นเดียวกัน

อาการเปลี่ยนแปลงอันที่ 4 เป็นเรื่องทางผิวหนัง เช่น อาการแดงร้อน ซีด เนื้อตัวเย็น คอแห้ง เหงื่อแตก หายใจหายคอไม่ค่อยออก เหล่านี้มักจะเกิดขึ้นในเวลามีความสะเทือนใจ นอกจากนั้นก็มีอาการเบ็ดเตล็ดอีกมาก เช่น อาการร้องไห้ซึ่งมักจะเป็นนิสัยของตน เมื่อมีอารมณ์ดีใจก็อาจจะร้องไห้ เสียใจก็เช่นเดียวกัน

อาการอื่นก็มีอาการเกร็ง เคร่งเครียด และอาการเนื้อตัวสั่น ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของอาการทางประสาท ซึ่งมีทั้งร่างกายและจิตใจ
 

หลักง่าย ๆ ที่จะแก้ไขมีอยู่ 4 ข้อ
1. ถ้าต้องการให้อาการเหล่านี้หายไป ก็ต้องตัดสินใจต่อสู้และอดทนต่อความไม่สบายเหล่านี้ ต้องไม่รู้สึกว่าเป็นอาการสำคัญแก่ชีวิตเลย เราทนได้

2. ยอมรับความจริงที่ว่า โรคที่เป็นนี้ไม่ใช่ว่าอวัยวะส่วนใดพิการ ไม่ต้องกลัวว่าจะเป็นมาจากโรคของร่างกายที่อื่น

3. จงมีความรู้สึกภูมิใจที่สามารถต่อสู้กับอาการเช่นนั้น และหาความสุขวิธีอื่น เพื่อไม่ต้องสนใจกับอาการนั้น ๆ อีกต่อไป

4. จงมุ่งหน้าในสิ่งอื่น ที่จะเกิดความสุขไม่ว่าเรื่องงานหรือการบันเทิง ซึ่งจะค่อย ๆ ทำให้หยุดอาการนั้น ๆ เสียได้


ทั้งหมดนี้เป็นหลักการ เมื่อท่านปฏิบัติได้หรือไม่ได้อย่างไร ลองส่งข่าวมาให้ฟังบ้าง จะได้ช่วยแก้ไขกันต่อไป

 

ข้อมูลสื่อ

18-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 18
ตุลาคม 2523
อื่น ๆ
ศ.นพ.ประสพ รัตนากร