• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ระวัง ! อุบัติเหตุลูกตา

ระวัง ! อุบัติเหตุลูกตา

อุบัติเหตุเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ทุกขณะ ทุกเสี้ยววินาที ตั้งแต่อุบัติเหตุชนิดเล็กน้อยไปจนใหญ่โตถึงขั้นชีวิตดับ กปอ. (คณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ) เตือนปาวๆ อยู่ทุกเมื่อเชื่อวันผ่านทางสื่อมวลชน ไม่ทราบว่ามีกี่คนสนใจ หรือให้ความสนใจในรายการนี้กี่มากน้อย ทั้งๆ ที่เป็นรายการที่ดีมีประโยชน์มาก เป็นเรื่องเตือนใจอย่างดี โดยเฉพาะรายการ “อุบัติภัยที่ป้องกันได้ ถ้าไม่ประมาท” ทำเป็นเรื่องราวตัวอย่างออกทางโทรทัศน์

เชื่อว่าคำเตือนและภาพที่เห็นผู้สนใจส่วนใหญ่คงจะเป็นผู้ชมวัยกลางคนหรือผู้ใหญ่ พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู อาจารย์เสียมากกว่าพวกวัยรุ่นซึ่งเป็นวัยที่สร้างเหตุการณ์อุบัติเหตุนั้นนั้น จึงเป็นเสมือนเรื่องราวของวัยรุ่น วัยคะนอง วัยอยากอวดอยากโชว์แล้วเกิดอุบัติเหตุให้เป็นอุทาหรณ์สำหรับผู้ใหญ่ให้ กปอ.นำมาเตือนให้คนแก่ชมและฟังอย่างนั้นแหละ

วัยรุ่นไม่สน! ถือว่าชีวิตยังมีอะไรน่าตื่นเต้นและท้าทายอีกมาก อุบัติเหตุจึงยังเกิดได้ทุกเมื่อเชื่อวัน เหมือนจะเพิ่มมากขึ้นด้วยซ้ำไปในบางเหตุการณ์ เข้ากับคติในบางคนว่า “เกิดหนเดียว ตายหนเดียว” เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ทุกสิ่งเป็นเรื่องที่สามารถป้องกันและปกป้องได้ เพื่ออวัยวะอันน่าทะนุถนอมจะได้มีไว้ใช้ต่อไปได้นานๆ ดีกว่าจะเป็นคนพิการร่างกายไม่สมประกอบหรือไม่สมบูรณ์แบบ เป็นภาระกับญาติพี่น้องและสังคม

การป้องกันแม้จะไม่สมบูรณ์เต็มที่ร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ยังดีกว่าไม่กระทำเลย จะสามารถผ่อนหนักเป็นเบาได้มากน้อยแล้วแต่เจ้าตัวจะมีสมาธิและตั้งอยู่ในความ “ไม่ประมาท” เพียงใด แทนที่จะเกิดอุบัติภัยกับตัวแล้วบาดเจ็บ ทรมานกายและใจ สูญเสียทรัพย์สินเงินทอง เสียความรู้สึกและหงุดหงิดในอารมณ์ ต้องมาเพ้อรำพันกับตัวเองเบาๆ ... รู้อย่างนี้ระวังสักนิดคงไม่เกิดอย่างนั้น... อะไรทำนองนี้ เป็นต้น ท่านผู้อ่านคงจะเคยมีประสบการณ์มาบ้างมิใช่หรือ

ไม่มีใครอยากให้เกิดอุบัติเหตุ ทุกๆ สิ่งมีชีวิตย่อมรัก ถนอม และหวงแหนอวัยวะ ชีวิตแห่งตน รวมทั้งทรัพย์สินและอื่นๆ อีกหลายๆ อย่าง ไม่ต้องอะไรมาก เพียงเดินอยู่ในบ้านดีๆ หัวแม่เท้าสะดุดหัวตะปูที่โผล่เหนือพื้นบ้านขึ้นมาเล็กน้อย เป็นแผลเหวอะ จะรู้สึกเจ็บปวดขนาดไหน มันก็ยังเกิดได้ในบ้านเราเองแท้ๆ

สาเหตุที่จะเกิดอะไรๆ กับลูกตามีมากมายเช่นเดียวกับอวัยวะอื่นๆ แต่มีข้อแตกต่างกันก็ตรงที่ลูกตาเป็นอวัยวะที่ละเอียดอ่อน ไวต่อความรู้สึกมาก แม้ผงธุลีเพียงเล็กน้อยจนมองแทบไม่เห็นเข้าตา ยังหงุดหงิดรำคาญ และเจ็บปวดแทบแย่

สาเหตุของอุบัติเหตุที่เกิดกับลูกตาสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 แบบใหญ่ๆ ดังนี้

1. อุบัติเหตุที่กระทบลูกตาจากของไม่มีคม ไม่ทำให้ตาแตก

พวกนี้เป็นสิ่งที่สามารถป้องกันและระมัดระวังได้ สามารถจะลดความรุนแรงจากมากลงไปสู่น้อยได้ ได้แก่

ก. สิ่งแปลกปลอมเข้าตา เป็นต้นว่า ฝุ่น เศษผงจากลม ตัวแมลงที่บินไปมาในอากาศบินชนลูกตาเรา หรือเราเอาลูกตาเข้าไปชนมัน เศษเหล็ก เศษตะกั่ว ขณะปฏิบัติงานในโรงงานเกี่ยวกับเหล็ก ถ่านไฟกระเด็นเข้าตา น้ำมันหมูร้อนๆ ในกระทะกระเด็นเข้าตา หนามกุหลาบ เมล็ดข้าวเปลือก และอื่นๆ อีกมากมาย

ข้อควรระวัง คือ ควรสวมแว่นตาหรือหมวกกันน็อกหรือใช้ฝ่ามือป้องกันไว้ตลอดเวลาขณะประกอบกิจอะไรที่เสี่ยงต่อสิ่งนั้นจะเข้ามากระทบตา ใครจะว่าทำอะไรเว่อๆ ก็ยอมเถอะ ตาของเราไม่มีใครมาช่วยได้ดีเท่าเราช่วยตัวเองก่อน โดยไม่ประมาท

ข. โดนกระแทกจากของไม่มีคม เช่น ลูกเทนนิส ลูกแบดมินตัน ลูกฟุตบอล กำปั้น ฝ่ามือ แง่โต๊ะ เตียง ขอบหน้าต่าง ตกบันได แฮนด์รถจักรยาน เป็นต้น

ถ้าไม่มีสิ่งมากระแทกบริเวณตา ตาก็อาจจะวิ่งไปกระแทกกับมันเสียเอง ได้แก่ หกล้มหน้าฟาดพื้น นั่งรถยนต์ที่นั่งตอนหลัง คนขับเบรกกะทันหันหัวคะมำเอาคิ้วไปกระแทกขอบพนักพิงด้านหน้า หรือขอบเหล็กด้านหน้าอย่างแรง มีผลทำให้ตาข้างนั้นมืดมัวไปในบัดดลได้ เป็นเพราะมีการแตกของกระดูกเบ้าตาส่งแรงไปกดประสาทตา (optic nerve compression) นั่นเอง ดูแล้วไม่น่าถึงตาบอด เรื่องแค่หางคิ้วกระแทกขอบพนักด้านหน้า ตกจักรยาน รถมอเตอร์ไซค์คว่ำ หรือรถชนกัน เป็นต้น แต่ก็ถึงกับทำให้เปลือกตาฉีกขาดได้เหมือนกัน

บางรายโดนปลายเสาอากาศโทรทัศน์ที่ตั้งอยู่บนหลังตู้โทรทัศน์ทิ่มลูกตาอย่างจังขณะกำลังจะก้มไปปรับช่องต่างๆ ขาดความระมัดระวังไปชั่วแว๊บเดียว กลัวไม่ได้ดูรายการศึกชิงแชมป์มวยโลก หรือเทนนิสวิมเบิลดันชิงชนะเลิศ กวาดรางวัลเงินเป็นล้าน ผลที่ตามมา คือ อาจเกิดต้อกระจก ต้อหินในภายหลังได้

ค. โดนของเหลว คือ น้ำหรือน้ำปนน้ำแข็งสาดเข้าตาอย่างแรงในเทศกาลสงกรานต์ มีผลถึงขนาดเลือดคั่งในช่องลูกตาด้านหน้า หรือจอรับภาพหลุด ตาบอดสนิทเนื่องจากความสนุก ความเพลิดเพลิน และคึกคะนอง ขาดความระมัดระวังจนตาพิการ และบอดภายหลัง

เรื่องอุบัติเหตุ ดังที่ทราบกันดีว่า ขนาดระวังอย่างดีไม่ประมาทบางครั้งยังโดนหางเลขเข้าจนได้ นั่นคือ มีผู้ป่วยเล่าให้ผมฟังว่า นอนอ่านหนังสืออยู่บ้านเพลินๆ จิ้งจกก็ถ่ายอุจจาระลงมาจากเพดานเข้าสู่ลูกตาพอดี อีกรายนอนเล่นอยู่ แมงมุมหล่นเข้าตา แถมฉี่รดซ้ำจนตาบวมแดงเพราะแพ้ฉี่แมงมุม แบบนี้จะเรียกว่าอุบัติเหตุหรือ “ซวย” หรือ “เฮง” ได้ทั้งนั้น บางคนถือเป็นโชคลาง ซื้อหวยหวังรวยส่งไปเลยก็มี

นอกจากตัวอย่างที่กล่าวมาแล้ว ยังมีอีกหลายอย่างที่อาจจะทำให้ลูกตาท่านมีอันเป็นไปได้แบบประหลาด คาดไม่ถึง มีข้อดีประการหนึ่งคือ ความรุนแรงมักไม่ถึงกับทำให้ตาบอด แต่ก็ควรระมัดระวังป้องกันไว้ก่อนดีที่สุด จะโดยวิธีหนึ่งวิธีใดก็ได้ ถ้าไม่มีอะไรปกป้องให้นึกอยู่ในใจเสมอ ขณะทำอะไรๆ ที่คิดว่าอาจเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ ระวังลูกตา ระวังลูกตา! ทำให้อันตรายลดน้อยลง หรือไม่เกิดเลยก็ได้ ใครจะมองว่าเราทำอะไรท่าทางแปลกๆ ไม่ต้องแคร์ ไม่สน ตาของเรา เราต้องป้องกันไว้ก่อน

2. อุบัติเหตุที่กระทบจากภายนอกมีผลทำให้ตาทะลุหรือแตก

อุบัติเหตุพวกนี้อันตรายมาก เกิดขึ้นแล้วแทบไม่ต้องเยียวยา เพราะแผลทะลุหรือแตกจะทำให้สิ่งที่อยู่ภายในลูกตาไหลซึมออกมานอกแผลทะลุหรือแผลแตก ลูกตาจะอ่อนนุ่มหรือถึงกับแฟบยุบไป สภาพเช่นนี้จะไปเหลืออะไร มีแต่บอดกับบอดเท่านั้น น้อยมากที่จะรักษาให้มีสภาพใกล้เคียงปกติ ยิ่งลูกปืนท่านคงทราบว่าอะไรจะเหลือไว้บ้าง

ในตำราว่า ถ้ามีอุบัติเหตุชนิดที่ 2 นี้เกิดขึ้นมีหวังบอดร้อยละ 90 เหลืออีกร้อยละ 10 ถือว่าดวงดี แพทย์ผู้รักษาก็โชคดีที่มีโอกาสรักษาผู้ป่วย พวกดวงดีให้หายได้ ภูมิใจจนยืดอกแล้วยืดอกอีก กลายเป็นหมอเก่ง ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 90 ทำอย่างไรก็ไม่ดีขึ้น ไม่เป็นที่พอใจของผู้ป่วย และแพทย์ผู้รักษาเสมือนรักษาไม่เก่งไป

ทำอย่างไรจึงจะไม่ให้เกิดอุบัติเหตุชนิดนี้ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องยาก เพราะสิ่งที่ทำให้เกิดภาวะนี้มีความเร็วสูงจนนึกระวังไม่ทัน ยกตัวอย่างเช่น ช่างเย็บผ้าที่เย็บผ้าทุกวันเป็นเวลาสิบๆ ปี มีอยู่วันหนึ่งด้ายเย็บผ้ามีปม พยายามดึงปมเพื่อให้เส้นด้ายผ่านปม มือก็ยังจับเข็ม ตาก็จ้องมองที่ปมดูว่ามันติดตรงไหน ขาดความระวังตาไปชั่ววินาทีเดียว ปมก็หลุดจากตำแหน่งที่ติดอยู่ เข็มจึงพุ่งเข้าทิ่มลูกตาตนเองตามแรงดึงจากมือตัวเอง มองอีกมุมเหมือนกับคนนั้นเอาเข็มทิ่มตาตัวเองอย่างเจตนา ผลตามมาเป็นอย่างไร หลับตานึกภาพเอาเองเถิดครับ

3. อุบัติเหตุที่เกิดจากสารเคมี รังสี แก๊ส หรือความร้อนต่างๆ

อุบัติเหตุชนิดนี้ ได้แก่ พวกโดนกรด โดนด่าง สารเคมี ไอระเหย น้ำยา หรือควันแก๊สพิษต่างๆ สาเหตุเหล่านี้จะมีความรุนแรงมาก ทำให้ตาบอดอย่างรวดเร็วหรือทันทีที่กระทบสิ่งนั้น ขึ้นอยู่กับปริมาณที่โดน และรังสีต่างๆ ที่ร้อนและระคายเคือง เป็นต้นว่า แสงอัลตราไวโอเลต แสงสีน้ำเงินที่เกิดจากการอ๊อกเชื่อมโลหะต่างๆ หรือแก๊สระเบิด แรงระเบิดจากปะทัดที่จุดเนื่องในงานลอยกระทง จุดดอกไม้ไฟ ลูกดอกวิ่งไปในอากาศเข้าหาตาใครต่อใคร หลบไม่ทันมีหวังถูกแจ็กพอตโดยไม่คาดฝัน

การป้องกันอันตรายจากสิ่งเหล่านี้ทำได้ยากมาก เพราะเกิดขึ้นทันทีโดยไม่รู้ตัว เช่น น้ำกรด ด่าง มักจะมาจากการโดนสาด หากจะมาจากการปฏิบัติงานในห้องทดลองหรือโรงงานอุตสาหกรรม ควรมีมาตรการป้องกันตาให้รัดกุม โดยหาแว่นกระจกสวมใส่เมื่อจะปฏิบัติงาน หรือสวมหน้ากาก แว่นกรองแสงถ้าทำงานกับแสงสีที่เป็นพิษต่อลูกตา

อย่าได้รำคาญต่อการต้องสวมใส่แว่นหรือหน้ากาก บางคนอาจจะนึกว่าสวมใส่สิ่งดังกล่าวแล้วไม่เห็นเกิดอุบัติเหตุสักที จึงเอาออก ไม่ต้องใช้ ไม่ช้าเกิดเข้าจนได้ นึกเสียใจภายหลัง ต้องมานั่งรำพึงรำพันกับตนเองว่า รู้อย่างนี้สวมไว้บนหน้าเสียก็ดีหรอก

สำหรับพวกที่โดนสาดด้วยน้ำกรดหรือน้ำด่างโดยเจตนา หมายเข่นฆ่าให้มอดม้วยมรณา พิกลพิการ ไม่ต้องผุดเกิดเห็นโลกอีกต่อไป เพราะความแค้นสุดขีดจะป้องกันอย่างไร คงต้องอาศัยตนเองเป็นตัวระวัง ตัวใครตัวมัน ทำอะไรที่ไหนที่ผิดปกติไปจากเดิมย่อมรู้ดี ถ้าสังเกตเห็นผู้ที่แค้นเคืองท่านเดินเลียบๆ เคียงๆ ถือขันหรือขวดน้ำอะไรไม่ชอบมาพากล ให้สั่งการไปยังเท้าทั้งสองข้างได้เลย...เผ่นเร็วที่สุด!

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นเรื่องอุบัติเหตุที่ลูกตาที่ควรระวังก่อนเกิดเหตุ ยังมีอีกหลายแง่หลายมุมที่เกิดได้ สิ่งนี้จะให้การป้องกันได้ คือ ให้นึกถึงลูกตา ลูกตา ลูกตา ตนเองไว้ตลอดเวลา ขณะจะปฏิบัติงานหรือทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เอาลูกตาไปเกี่ยวข้อง หรือเสี่ยงต่อการกระทบกระแทก

หากว่าท่องคาถาที่กล่าวแล้วยังเกิดเรื่อง ให้นึกเสียว่าเป็นเพราะ “ดวง” ของ “ตา” เรามันไม่ดี (มันเลวร้าย) ถ้าบทความนี้ไม่มีอะไรน่าสนใจหรือมีทางปฏิบัติได้สักแค่ไหน อะไรจะเกิดมันก็เกิดได้วันยังค่ำ เช่นนี้ละก็...ตาใครตามันก็แล้วกันครับ

ข้อมูลสื่อ

129-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 129
มกราคม 2533
นพ.สุรพงษ์ ดวงรัตน์