• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การแก้อาการทางโรคประสาทด้วยตนเอง (ตอนที่ 4 )

การแก้อาการทางโรคประสาทด้วยตนเอง(ตอนที่ 4 )


ตอนนี้จะพูดถึงว่า ทำไม
คนซึ่งเป็นโรคทางประสาทจึงมักแก้อาการของตัวเองไม่ได้ ที่เป็นเช่นนั้นก็เนื่องมาจากผู้ป่วยถูกจูงใจโดยตัวของตัวเอง คล้าย ๆ พ่ายแพ้ต่อตัวเอง จนไม่กล้าที่จะแก้ไขอาการนั้น ๆ อย่างเช่นคนไข้ซึ่งนอนไม่หลับ ก็ยังฝังจิตฝังใจหรืออบรมสั่งสอนตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่าอย่างไรเสียก็ต้องนอนไม่หลับ ถึงแม้แพทย์จะแนะนำให้ปฏิบัติตนหรือใช้ยาประการใด แกก็นึกว่าคงไม่หลับอยู่ท่าเดียว และแล้วก็ไม่หลับจริงๆ เช่นบางคนเวลาให้หยูกให้ยาไปก็มักจะตั้งคำถามทีเดียวว่า ไม่หลับจะทำอย่างไร คล้าย ๆกับตั้งใจไว้ว่าจะไม่ยอมหลับ เรื่องเหล่านี้เป็นการจูงใจตัวเอง นึกพ่ายแพ้อยู่ตลอดเวลา คอยเป็นทุกข์กังวลไปต่าง ๆ บางคนไม่กล้าออกจากบ้านกลัวจะเป็นลมต้องมีพ่อหรือแม่ไปด้วย บางรายอายุตั้ง 40 แล้วก็ยังเป็นลูกแหง่ ต้องมีแม่คอยเดินเฝ้าอยู่ตลอดเวลา บางรายก็นอนจนขาลีบ สมองฝ่อไปหมด เพราะนึกอยู่อย่างเดียวว่าทำงานไม่ไหว การจูงใจตัวเอง เช่นนี้เท่ากับเป็นความรู้สึกที่ฝังลึกอยู่ในจิตใต้สำนึก แล้วคอยผลักดันไม่ให้ยอมรับการแก้ไข

การจูงใจตัวเองนี่เท่ากับการยอมรับความจริงหรือเหตุการณ์ที่ไม่จำเป็น เช่นเรื่องนอนไม่หลับ คอยแต่จะปลุกใจตัวเองว่าจะนอนไม่หลับโดยไม่จำเป็น และไม่ยอมรับสิ่งอื่น ยิ่งในคนที่ร่างกายไม่ค่อยสมบูรณ์ หรืออารมณ์ไม่ค่อยปกติด้วยแล้ว ย่อมจะถูกจูงใจได้ง่ายขึ้น คล้าย ๆ กับต้นไม้ซึ่งไม่ค่อยจะแข็งแรง ถูกดึงถูกรั้งนิดหน่อยก็พาลล้มเอาง่าย ๆ อันนี้จะเห็นตัวอย่างได้จากคนไข้บางรายที่มีความคับแค้นยุ่งใจในบ้าน พอมีใครจูงใจเข้านิดหน่อยก็เลยพาลหนีออกจากบ้านโดยไม่คำนึงถึงอนาคต ผลสุดท้ายก็กลายเป็นหนีเสือปะจระเข้ เข้าบ่อย ๆ

สำหรับผู้ซึ่งมีความเฉลียวฉลาดก็ถูกชักจูงง่ายเหมือนกัน การที่จะแก้ไขอาการทางประสาทก็ต้องคำนึงในข้อนี้ คือการใช้ความรู้ ข้อเท็จจริงและความเข้าใจอันกระจ่างแจ้งมาแก้เรื่องจูงใจผิด ๆ ของตัว เพราะฉะนั้นการที่ให้คนไข้ได้เข้าใจเรื่องโรคว่าเป็นมาอย่างไร และจะเป็นไปต่อไปอย่างไร ก็เท่ากับแก้ความจูงใจผิด ๆ ไปด้วย เหมือนฝึกอบรมจิตใจกันใหม่ ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์เข้าแก้ ซึ่งเป็นประโยชน์มากในการรักษาโรคประสาท อีกประการหนึ่งพวกที่ถูกชักจูงง่ายนี้ ถ้ามีข้อชักจูงใจที่สมเหตุสมผลแน่นแฟ้นกว่า ก็จะช่วยให้หายได้เร็วและหายได้ยั่งยืน คนซึ่งป่วยนั้นเนื่องจากถูกจูงใจผิด ๆ และพยายามเก็บความจูงใจผิดนั้นเอาไว้อย่างเหนียวแน่น ทำให้รู้สึกคับอกคับใจไม่สบาย จึงควรที่จะฝึกฝนจิตใจ ให้รับคำชักจูงเฉพาะในแง่ดี ก็จะลดความยุ่งยากใจลงไป ช่วยให้หายเร็วขึ้น โดยเฉพาะในพวกโรคประสาท แนวความ-คิดที่สมเหตุสมผลเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ และเมื่อเรารู้แล้วว่าการจูงใจเสีย ๆ เหล่านั้นเป็นเรื่องจอมปลอมทั้งสิ้น เราก็ควรจะเฉยเมยเสียบ้าง ควรจะคิดในเรื่องที่เป็นกำลังเป็นประโยชน์ และเป็นทางช่วยในการรักษามากกว่า

พูดถึงการรักษาก็เป็นที่กล่าวย้ำกันอยู่เสมอว่า ที่คนเป็นโรคประสาทก็เพราะว่าเขาพยายามหลีกเลี่ยงจากความยุ่งใจ แต่ไม่สำเร็จ เขาจึงต้องการความช่วยเหลือ ความบรรเทา และยอมทุ่มเททุกอย่าง เพื่อให้เปลื้องทุกข์ออกไป 
ดังนั้นในการรักษาอาการก็ควรจะคำนึงถึงหลักใหญ่ ๆ ดังนี้
1. ถ้าต้องการให้อาการโรคประสาทหายไป ก็ต้องทำใจหรือปรับใจเสียใหม่ว่า ท่านสามารถที่จะต่อสู้และอดทนต่ออาการเหล่านั้นได้ คือไม่รู้สึกสนใจมันเสียก็จะสบายใจคล้าย ๆ ชีพจรเต้นช้าบ้างเร็วบ้าง เมื่อไม่รู้ไม่ชี้บ่อย ๆ เข้าก็หายไปเอง ก็ปฏิบัติในทำนองนี้เท่ากับแสดงให้ตัวเองเห็นว่า อาการเหล่านั้นไม่มีความสำคัญต่อชีวิตเลย เป็นเรื่องไร้สาระ เป็นเรื่องเราคิดไปเอง ถ้าไม่คิดก็อยู่ได้

2. ต้องยอมรับความจริงที่ว่าโรคประสาทนี้ ไม่มีร่างกายส่วนใดผิดปกติ เป็นเรื่องของใจแท้ ๆ ที่ว่าปวดหัวหรือรู้สึกปวดหัว ก็ไม่ใช่สมองมีบาดแผลช้ำบวมที่ไหน ที่รู้สึกใจเต้นก็ไม่ใช่หัวใจจะพิกลพิการอย่างไร ซึ่งเราพิสูจน์ได้ชัด ในพวกโรคฮิสทีเรีย บางคนอัมพาต เดินไม่ได้ แต่พอลูกหนูตัวแดงตกลงมาใส่หลัง หล่นมาบนหน้าอก ก็ตกใจออกวิ่งแจ้นไป จากบ้านก็มีอยู่เสมอ ๆ เหมือนคนไข้รายหนึ่ง กลางวันเดินไม่ได้ แต่กลางคืนแอบย่องไปขโมยเปิดตู้ยาเอายานอนหลับ เมื่อทุกคนที่มีอาการทางประสาท เข้าใจแน่นอนแล้วว่าโรคนี้ความพิการอยู่ที่อารมณ์และจิตใจ ไม่ใช่สมองหรือร่างกาย เขาก็หายห่วง และความกลัว ความฝังใจในเรื่องโรคนี้ก็จะหายไป

3. บางคนเอาชนะอาการของโรคได้อย่างน่าสนุกด้วย ก็คล้าย ๆ กับว่าเราทนได้เราสนุกได้ทั้ง ๆ ที่มีอาการนั้นอยู่ เหมือนหัวเราะทั้งน้ำตา อาการของโรคก็ไม่สำคัญ เราทนได้แล้ว ก็เป็นตัวของตัวเอง ชีวิตก็มีค่า เหมือนบางคนปวดหัว ก็ปวดไป แต่ก็อดตาหลับขับตานอน เล่นไพ่ไป ได้บ้างเสียบ้างก็เพลิดเพลินไป จนในที่สุดก็ไม่สนใจกับอาการนั้น ๆ และยิ่งรู้ว่าโรคประสาทนั้นร่างกายไม่ได้บกพร่อง ก็ยิ่งเอาชนะอาการได้เร็วขึ้น

4. เมื่อเรารู้เรื่องว่าเราป่วยเป็นอย่างไร และไม่สนใจมันเสียเท่านั้นยังไม่พอ ต้องหันไปสนใจเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่น งานอดิเรก การกีฬา การบันเทิง ให้จิตใจไปผูกพันกับความสุขสบาย หรือสิ่งซึ่งเป็นประโยชน์อื่น ๆ แทนที่จะอยู่เฉย ๆ ให้เป็นเหยื่อของโรคเส้นประสาทอีก เมื่อเรามีงานใหม่เรื่องใหม่แทน ไอ้เรื่องใหม่ ๆ ก็ค่อย ๆฝังเข้าไปในส่วนลึกของจิตใจ จนปิดบังเรื่องเก่าได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นหมายถึงในเรื่องโรค ไม่ใช่เรื่องปัญหาชีวิต ซึ่งบางทีจะทำให้กลุ้มพอดี เช่น คนไข้รายหนึ่งก่อนป่วยมีความผูกพันอยู่กับหญิงสาวคู่รักแล้วถูกสลัดรัก เขาจะไปแต่งงานกับคนอื่น พอเจ็บใจขึ้นมาก็เลยไปคว้าใครเข้าก็ได้ แต่งงานเหมือนกับตัดหน้าเสียหน่อย คือแต่งล่วงหน้าเสีย 1 วัน เสร็จแล้วอยู่ไป ๆ ใจยังห่วงหน้าห่วงหลัง และยังรู้สึกเสมอว่า ทำไปด้วยความเจ็บใจช้ำใจผลสุดท้ายปัญหาชีวิตก็แก้ไม่ตก มิหนำซ้ำโรคประสาทยังกินเข้าไปอีก ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม เราต้องแก้ด้วยเหตุผล แล้วจึงจะเกิดศรัทธา ศรัทธาก็จะนำไปสู่ความสุข ความสุขจะยั่งยืนได้ก็ต้องมีการยึดเหนี่ยวเรื่องเก่าใช้ไม่ได้ก็ต้องยึดเหนี่ยวเรื่องใหม่ อย่างเช่น งานอดิเรก หรือการกีฬาที่ว่าให้ฟังตอนท้าย


การที่เราทนต่อความไม่สบาย ไม่ว่าทางกายหรือทางอารมณ์ แล้วหันความสนใจไปทางอื่นเสีย ก็ย่อมจะลดความทรมานได้ อย่างน้อยครึ่งหนึ่งเสมอไป แต่โดยมากช่วยได้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ทีเดียว ข้อควรคำนึงอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า การที่เราหาสาเหตุของความไม่สบาย จริง ๆ แล้ว เหตุทางใจอันนั้นไม่มีใครอยากคิด เพราะพูดออกมาแล้ว มันเจ็บปวด จะไม่พูดก็ไม่ได้ ระยะแรกจึงเป็นระยะของความสะเทือนใจอย่างสูง ถ้าหากผ่านตอนนั้นไปได้ทางก็ปลอดโปร่ง คือยอมรับเสียเลยว่าเป็นข้อเท็จจริง การรับความจริงจึงแก้ได้ทั้งปัญหาชีวิต และเรื่องของโรค โดยเฉพาะโรคทางประสาท

 

ข้อมูลสื่อ

21-014
นิตยสารหมอชาวบ้าน 21
มกราคม 2524
อื่น ๆ
ศ.นพ.ประสพ รัตนากร