• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคไม่แสดงอาการ (ตอนที่ 2)

โรคไม่แสดงอาการ (ตอนที่ 2)

ครั้งที่แล้วได้กล่าวถึงโรคความดันเลือดสูงว่า เป็นโรคที่ไม่แสดงอาการ เปรียบเสมือน “มัจจุราชมืด” ที่คอยคุกคามชีวิตของผู้คนอย่างเงียบกริบ ครั้งนี้มาดูกันซิว่า ยังมีโรคอื่นๆ อะไรอีกบ้างที่เป็น “มัจจุราชมืด”

“หมอตาเขายังไม่ยอมผ่าต้อกระจกของดิฉัน เพราะตรวจเลือดแล้วบอกว่าดิฉันเป็นโรคเบาหวาน เขาเลยส่งมาให้คุณหมอตรวจดูอีกครั้ง...” นี่เป็นคำบอกเล่าของผู้ป่วยรายหนึ่งที่จักษุแพทย์ (หมอตา) ส่งตัวไปปรึกษาอายุรแพทย์ (หมอยา)

“ก่อนหน้านี้คุณเคยมีอาการหิวน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย หิวข้าวบ่อย อ่อนเพลีย น้ำหนักลดหรือเปล่า” หมอถาม

“ไม่เคยค่ะ”

“ระดับน้ำตาลในเลือดปกติมีค่าไม่เกิน 130 แต่ของคุณตรวจได้ 170 ก็ถือว่าเป็นเบาหวานชนิดอ่อน ลองควบคุมอาหารและลดน้ำหนักดูอาจจะหายได้ แต่ถ้าไม่ได้ผล ก็คงต้องใช้ยารักษา...” หมออธิบาย

“คุณหมอคะ ธรรมดาคนที่เป็นเบาหวานจะต้องมีอาการหิวน้ำบ่อย เบาบ่อย ไม่ใช่หรือคะ” ผู้ป่วยฉงน

“โรคเบาหวานมีความรุนแรงแตกต่างกันไป ถ้าเป็นมากก็จะมีอาการผิดปกติชัดเจน แต่ถ้าเป็นขนาดเล็กน้อยอย่างที่คุณเป็นนี้ ก็มักจะไม่แสดงอาการอะไร คือ จะเป็นโดยที่คุณไม่รู้ตัว...”

โรคเบาหวานจึงเป็นมัจจุราชมืดอีกชนิดหนึ่ง หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง (โดยผู้ป่วยไม่รู้ตัว) นานปีเข้าก็จะเกิดโรคแทรกซ้อนมาเป็นขบวนได้

ทั้งโรคความดันเลือดสูงและโรคเบาหวานจัดอยู่ในกลุ่มโรคไม่ติดต่อ คือ ไม่แพร่กระจายให้คนข้างเคียง เพราะไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ แต่อาจถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ (สายเลือด) ได้

ยังมีโรคในกลุ่มนี้ที่ไม่แสดงอาการในทำนองเดียวกันอีกหลายชนิด เช่น ภาวะไขมันในเลือดสูง (ผู้ป่วยจะลงเอยด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน) ภาวะกรดยูริกในเลือดสูง (ลงเอยด้วยโรคเกาต์ซึ่งเป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่ง) โรคต้อหินเรื้อรัง (ลงเอยด้วยอาการตาบอด) เป็นต้น รวมทั้งโรคมะเร็งในระยะเริ่มแรก ก็มักจะไม่มีอาการแสดง หากมีอาการปรากฏ ก็มักเป็นถึงขั้นร้ายแรงเกินที่จะเยียวยาเสียแล้ว

โรคเหล่านี้เนื่องจากไม่ได้แพร่กระจายให้คนข้างเคียง ถึงแม้จะไม่แสดงอาการ ก็ไม่ได้ก่อโทษต่อคนอื่น (ยกเว้นลูกหลานของผู้ป่วยที่รับมรดกกรรมพันธุ์ไป) แต่ถ้าเป็นกลุ่มโรคติดต่อที่ไม่แสดงอาการ ก็จะก่ออันตรายต่อคนวงกว้างได้ เพราะจะแพร่เชื้อสู่คนอื่นๆ อย่างเงียบกริบ

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ก็คือ โรคฮิตแห่งยุค--มหาภัยเอดส์ นี่ไง

คนที่มีเชื้อเอดส์ในร่างกาย จะไม่แสดงอาการอะไรให้รู้สึกนานเป็นแรมปี ก่อนที่จะมีอาการของโรคเอดส์แบบเต็มรูปปรากฏให้เห็น (เมื่อถึงตอนนั้น ก็คงจะมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นาน) คนเหล่านี้ แม้เราจะกินข้าว ทำงาน เล่นด้วยกับเขา ก็ไม่มีใครรู้ว่าเขามีเชื้อเอดส์อยู่ในร่างกาย แต่ถ้าใครไปใช้เข็มฉีดยา หรือมีเพศสัมพันธ์กับเขา หรือรับเลือดจากเขา ก็จะรับเชื้อเอดส์เข้ามาโดยไม่ทันรู้ตัวได้

โรคตับอักเสบจากไวรัสที่ฮือฮาในหมู่คนไทยก็เช่นกัน คนที่มีเชื้อไวรัสชนิดนี้ในร่างกายจะไม่มีอาการแสดง แต่จะสามารถแพร่เชื้อให้คนอื่นโดยวิธีเดียวกันกับโรคเอดส์

โรคติดเชื้ออื่นๆ เช่น หัดเยอรมัน บางคนอาจเป็นโรคนี้โดยไม่แสดงอาการ และทำให้ทารกในครรภ์พิการได้

เชื้อบิด เชื้ออหิวาต์ เชื้อทัยฟอยด์ ก็อาจจะหลบซ่อนอยู่ในลำไส้คน โดยไม่ได้ทำให้คนๆนั้นเป็นโรค (เรียกว่า พาหะ) แต่จะแพร่เชื้อให้คนอื่นๆ โดยทางอุจจาระได้เรื่อยๆ

กล่าวโดยสรุป ก็คือ โรคภัยไข้เจ็บหลายชนิด ทั้งที่เป็นโรคติดต่อและไม่ติดต่อ หากเป็นระยะเริ่มแรกหรือเป็นเพียงเล็กน้อย มักจะไม่แสดงอาการ แต่จะทำให้ผู้ป่วยเกิดโรคแทรกซ้อนตามมาได้ หรืออาจแพร่กระจายเชื้อให้คนอื่นได้ (ถ้าเป็นโรคติดต่อ)

โรคเหล่านี้จะรู้ได้ก็โดยการตรวจร่างกาย (เช่น ความดันเลือดสูง ต้อหิน) หรือตรวจเลือด (เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคเกาต์ เอดส์ ตับอักเสบจากไวรัส) หรือตรวจอุจจาระ (เช่น บิด ทัยฟอยด์ อหิวาต์)

การตรวจเช็กร่างกายจึงมีประโยชน์ต่อการค้นหาโรคเหล่านี้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่มีประวัติทางกรรมพันธุ์ (เช่น มีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคหัวใจ ความดันเลือดสูง เบาหวาน เกาต์) หรือสงสัยว่าจะติดเชื้อจากคนอื่น (เช่น เอดส์ ตับอักเสบจากไวรัสบี หัดเยอรมัน)

การมีความรู้ว่าโรคต่างๆ อาจมีอาการหรือไม่มีอาการแสดงอย่างไร นับว่ามีความหมายเป็นอย่างยิ่ง

ข้อมูลสื่อ

130-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 130
กุมภาพันธ์ 2533
พูดจาภาษาหมอ
ภาษิต ประชาเวช