• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อานุภาพแห่งการเจริญสติช่วยสงเคราะห์ผู้ป่วย (ตอนที่ 3)

อานุภาพแห่งการเจริญสติช่วยสงเคราะห์ผู้ป่วย (ตอนที่ 3)

การสงเคราะห์ผู้ป่วยด้วยธรรมโอสถ (รายที่ 3)

ผู้ป่วย 2 ท่านแรกที่ดิฉันเล่าให้ฟังในฉบับที่แล้วเป็นสุภาพสตรี ท่านที่ 3 นี้เป็นสุภาพบุรุษ อายุ 39 ปี เป็นทั้งลูกศิษย์และเพื่อนร่วมงานของดิฉัน หลังจากที่จบปริญญาตรี และทำงานที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงหลายปี ก็ไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา อยู่ที่นั่น 7 ปี ได้ปริญญาโทและเอก เขาเป็นคนเดียวของครอบครัวที่เรียนสูง พี่น้องช่วยกันส่งเสียด้วยเรื่องการเงิน เรียนจบกลับมาทำงานได้ประมาณ 1 ปี ก็แต่งงาน ภรรยาได้ปริญญาเอกเช่นกัน แต่ทำงานที่มหาวิทยาลัยอีกแห่งหนึ่ง มีลูกอายุ 11 เดือน

ผู้ป่วยรายนี้เป็นคนดี มีจิตใจงามมาก เป็นที่รักของเพื่อนฝูง ภรรยาเล่าว่า สามีน้ำหนักลดลง ท้องผูกและอืดบ่อย กินอะไรไม่ค่อยได้ จึงพากันไปตรวจที่โรงพยาบาล หลังการตรวจแล้วหมอให้รับการรักษาโดยทันที สองสามีภรรยาจูงมือกันร้องไห้กลับออกมา เมื่อไปถึงบ้านเห็นหน้าลูกก็ร้องไห้อีก กลัวว่าเมื่อเข้าโรงพยาบาลแล้ว จะไม่ได้กลับออกมา จึงขอเวลาถึง 2 สัปดาห์เพื่อทำใจให้ยอมรับได้ และในที่สุดก็ตัดใจเข้ารับการรักษา อยู่ได้ประมาณ 2-3 เดือนก็เสียชีวิต แพทย์ตรวจพบว่าเป็นมะเร็งที่กระเพาะอาหาร ผ่าตัดไม่ได้ กินอะไรไม่ได้ ต้องให้อาหารและการรักษาทางเส้นเลือด

ดิฉันทราบเรื่องการเจ็บป่วยของเขาเมื่อล่วงเดือนที่ 2 แล้ว คิดจะไปเยี่ยมในทันทีที่รู้ข่าว แต่โรงพยาบาลศิริราชช่างไกลเหลือเกิน จึงโทรศัพท์ไปที่คณะที่เขาทำงาน ถามว่ามีใครไปเยี่ยมบ้างจะขอโดยสารไปด้วย คนที่รับโทรศัพท์รู้จักกัน บอกว่าขณะนี้ไม่มีใครไปเพราะคุมสอบ แล้วเขาก็ให้สติดิฉันว่า

“หนูอยากให้พี่รีบไปเยี่ยมเขา ทุกคนที่ไปเยี่ยมเห็นสภาพของเขาแล้วก็ร้องไห้ ไม่รู้จะช่วยเขาอย่างไร หนูอ่านเรื่อง “เมื่อข้าพเจ้าใช้ห้องพักในโรงพยาบาลเป็นห้องกรรมฐาน” ของพี่ที่ตีพิมพ์ในนิตยสารหมอชาวบ้านแล้วคิดว่าพี่จะช่วยเขาได้ในเรื่องการทำใจ”

ดิฉันฟังแล้วก็ได้สติ รีบขับรถไปเยี่ยมเดี๋ยวนั้นเลย สภาพของเขาที่เห็นผ่ายผอมลงไปมาก ยังพูดได้ มีสติดี ลุกเหินเดินเข้าห้องน้ำได้ ใบหน้าหม่นหมอง มีกังวลใจลึกๆ เงียบขรึม คิดคนเดียว ไม่อยากกิน และไม่ยอมกินอะไร หมอให้น้ำเกลือ อาหารเสริม และยาทางเส้นเลือด

เมื่อดิฉันไปเยี่ยม เขาอยู่ในท่านอน ทันทีที่เขาเห็นดิฉันเขาบอกว่าหมอยังไม่ทราบว่าผมเป็นอะไร ต้องรอการตรวจสอบให้แน่ใจก่อน ดิฉันได้บอกว่า เมื่อหมอเขายังไม่รู้ไม่บอกเรา เราก็อย่าไปรู้เลย พยายามรักษาใจของเราให้ดีที่สุด อย่าเศร้าหมองตกเป็นทาสของความเจ็บป่วย จากนั้นก็ให้เขายกมือเคลื่อนมาวางที่ท้อง เอาใจตามรู้อาการพอง-ยุบ โดยพูดเบาๆ ตามอาการที่เกิดขึ้น แล้วเอาใจตามรู้การกระดิกนิ้วมือลงทีละนิ้วพร้อมกับนับ 1 ถึง 10 ควบคู่กันไปด้วย ต่อมาก็เปลี่ยนเป็นหงายมือ กำ-คลาย และกำหนดรู้การเห็นที่ตา การได้ยินที่หู การรู้รสที่ลิ้น การรู้กลิ่นที่จมูก และการรู้สัมผัส (เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ไหว ตึง) ที่กาย

ต่อมาดิฉันให้ภรรยาเขาคั้นน้ำส้ม 2 ลูก ผู้ป่วยแสดงอาการไม่ต้องการกิน เพราะกลัวลมในท้องจะดันขึ้นมาและทำให้เขาไม่สบายทรุดหนักลงไปอีก ดิฉันให้กำลังใจเขาว่า เราอยู่ใกล้หมอ ไม่ต้องกลัว ต้องพยายามกินเพื่อให้ร่างกายคุ้นเคยกับการกินโดยธรรมชาติ ร่างกายจะได้กลับคืนสู่สภาพปกติเร็วขึ้น เขานั่งฟังเงียบๆ และเมื่อดิฉันฝึกให้เขาดื่มน้ำส้มด้วยสติ ด้วยการเอาจิตตามรู้ที่มือที่จับแก้ว เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ให้เขาบอกตามความรู้สึกที่เป็นจริงขณะนั้น แล้วยกแก้วขึ้นดื่ม รสหนอ กลืนหนอ เขาทำตามอย่างช้าๆ ในที่สุดเขาก็ดื่มน้ำส้มอย่างมีสติจนหมดแก้วโดยไม่มีอาการเจ็บปวดหรือแน่นแต่ประการใด หน้าตาเขาเริ่มฉายแสงแห่งความปีติและสบายใจออกมาให้เห็น นี่คืออานุภาพและอานิสงส์แห่งการเจริญสติ

เมื่อเขาต้องการเข้าห้องน้ำ ก็บอกให้เขากำหนดการเดิน ขวา-ซ้าย ขวา-ซ้าย จากเตียงนอนถึงห้องน้ำ และกลับมายังเตียงนอน กำหนดต่อว่า นั่งหนอ เอนหนอ ถึงหนอ จนหัวถึงหมอน แล้วยกมือวางที่ท้อง กำหนดพอง-ยุบ พอง-ยุบ จนหลับ ภรรยาเขาเห็นสามีมีใบหน้าสดใส กินได้ ก็ดีใจ บอกว่าคนมาเยี่ยมสามีหนูมากมาย ก็เห็นแต่อาจารย์คนเดียวที่ช่วยให้เขากินได้ และมีใจสงบ แจ่มใส หนูต้องขอบคุณอาจารย์มากค่ะ

ดิฉันอยู่เยี่ยมเขาถึงครึ่งวัน ด้วยการฝึกสติให้ผู้ป่วยและให้กำลังใจภรรยา เมื่อดิฉันลากลับ ผู้ป่วยลุกนั่งและยกมือดิฉันไปวางบนศีรษะเขา แล้วร้องไห้โฮใหญ่ ทุกคนในที่นั้นมีดิฉัน ภรรยา และพี่ชายเขาก็เลยผสมโรงร้องไห้กับเขาด้วยเป็นความรู้สึกตื้นตัน อึดอัด และรันทดใจอย่างบอกไม่ถูก ก่อนกลับเขาบอกด้วยความเกรงใจมากที่ขอให้ดิฉันมาเยี่ยมเขาอีก

อีก 2 วันต่อมา ดิฉันได้ไปเยี่ยมเขาอีก ได้ช่วยทบทวนการฝึกสติให้แก่เขา ได้อธิบายเหตุและผลของการมีสติกำหนดรู้ เขามีความเข้าใจมากขึ้น รู้แล้วว่ามันให้ประโยชน์อย่างไรแก่ตัวเขา เขาก็พยายามทำเท่าที่เขาจะทำได้ ก็ช่วยให้เขามีจิตสงบตามอัตภาพที่เขาสามารถกำหนดสติได้ หลังจากนั้นอีก 1-2 สัปดาห์ ดิฉันไปเยี่ยมเขาอีก แต่ก็สายไปแล้ว เขาได้อำลาจากโลกนี้ โดยทิ้งภรรยาและลูกน้อยให้สู้ชีวิตต่อไปโดยลำพัง

ข้อมูลสื่อ

130-022
นิตยสารหมอชาวบ้าน 130
กุมภาพันธ์ 2533
ธรรมโอสถ
จำเนียร ช่วงโชติ