• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

แผลร้อนใน

แผลร้อนใน

คุณเคยเป็นแผลในปากไหมครับ

ผมเชื่อแน่ว่าคุณผู้อ่านส่วนใหญ่คงเคยมีประสบการณ์การเป็นแผลในปากมาบ้างแล้วไม่มากก็น้อย และคงจำรสชาติของความเจ็บแสบได้ดีนะครับ ยิ่งพวกเราคนไทยชอบกินอาหารรสจัดแบบไทยๆ ถ้าเจอน้ำพริกตอนเป็นแผลในปากล่ะก็ น้ำตาร่วงคาชามข้าวเลยละครับ

แผลในปากมีหลายประเภทซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่ที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่ แผลแอฟทัส (aphthous stomatitis) หรือที่เรียกกันอย่างภาษาชาวบ้านว่าแผลร้อนใน ซึ่งเป็นเรื่องที่เราจะคุยกันในวันนี้แหละครับ

แผลร้อนในมักพบเป็นๆ หายๆ อยู่บนเยื่อเมือกในช่องปากบริเวณริมฝีปาก กระพุ้งแก้ม ลิ้น หรือใต้ลิ้น ลักษณะของแผลเริ่มแรกจะเป็นจุดสีขาวๆ เมื่อนูนขึ้นจะกลายเป็นสีแดง ต่อมาเยื่อเมือกบริเวณนี้จะกลายเป็นสีขาวปนเหลืองปกคลุมแผล ขอบแผลจะแดงและเจ็บปวดมาก บางคนเป็นมากถึงกับเป็นไข้ มีต่อมน้ำเหลืองใต้คางโต หรือมีอาการปวดฟันร่วมด้วย

ระยะที่แผลอักเสบ ผู้ป่วยจะกินอาหารลำบาก จะพูดก็ลำบาก เพราะเมื่อมีอะไรไปโดนแผลจะเจ็บปวดมาก ปกติแผลร้อนในจะมีขนาดไม่เกิน 5 มิลลิเมตร อาจเป็นแผลเดี่ยวๆ หรือหลายแผลกระจายอยู่บนเยื่อบุช่องปาก ถ้าขนาดเล็กมักหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่ถ้าแผลใหญ่มากเกิน 10 มิลลิเมตร จะเจ็บปวดมาก บางครั้งเป็นอยู่นานเป็นเดือนก็มี

สาเหตุที่แท้จริงของแผลร้อนในนั้นยังไม่สามารถตอบได้แน่ชัดเลยครับ แต่ถ้าคุณผู้อ่านช่างสังเกตคงจะจำได้ว่าแผลร้อนในมักจะเป็นในช่วงที่เราอดนอน ร่างกายอ่อนแอ หรือมีเรื่องเครียด อย่างเมื่อตอนช่วงที่มีการแข่งขันฟุตบอลโลก ผมมีผู้ป่วยที่เป็นแผลร้อนในมาให้รักษาเยอะแยะเลยครับ สอบถามดูก็ได้ความเหมือนๆ กันว่า อดนอนเฝ้าดูฟุตบอล ผมเองตอนนั้นก็เป็นกับเค้าเหมือนกัน

ภาควิชาเวชศาสตร์ช่องปาก คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เคยศึกษาในผู้ป่วยที่มารับการรักษาที่คณะทันตแพทยศาสตร์ พบว่าเป็นแผลร้อนในร้อยละ 46.7 ของผู้ป่วย ส่วนใหญ่ผู้หญิงเป็นมากกว่าผู้ชาย และยังพบอีกว่า การเกิดแผลร้อนในมีความสัมพันธ์กับอาชีพและระดับความวิตกกังวล คุณๆ ที่เป็นแผลร้อนในบ่อยๆ ก็ตรวจดูหน่อยนะครับว่า คุณเป็นคนขี้กังวลหรือเครียดเป็นประจำหรือเปล่า

นอกจากนี้ยังมีการศึกษาที่ยืนยันว่า แผลร้อนในน่าจะเกี่ยวข้องกับระบบภูมิต้านทานของร่างกาย การระคายเคืองภายในช่องปาก การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ และการเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนด้วยครับ

สำหรับการรักษา ได้มีการศึกษาวิธีการต่างๆ มากมาย แต่ผลสรุปก็ยังเป็นการรักษาตามอาการเป็นส่วนใหญ่ ปัจจุบันที่นิยมใช้กัน คือ การใช้ยาสตีรอยด์ทาเฉพาะที่ในรูปขี้ผึ้งทาแผล ช่วยลดอาการอักเสบและระคายเคือง ช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดได้ดี ในรายที่ผู้ป่วยมีแผลขนาดใหญ่และเจ็บปวดรุนแรงมาก แพทย์อาจให้กินยาพวกเพร็ดนิโซโลน (prednisolone) ประมาณ 4-7 วัน

แผลร้อนในดูจะเป็นของคู่ปากคนที่ชอบทำงานหนัก อดหลับอดนอน โดยเฉพาะพวกชาวเมืองมากกว่าชาวชนบท ผมคงได้แต่แนะนำว่าอย่าเครียดกันมากนัก หาเวลาพักผ่อน ออกกำลังกาย ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ อย่าปล่อยให้ท้องผูก รู้จักปล่อยวาง และเดินสายกลางจะช่วยได้แยะครับ

ข้อมูลสื่อ

131-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 131
มีนาคม 2533
หมอไก๋