• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

รากเหง้าปัญหาคนศีรษะล้าน...ผู้ชายเชิญอ่าน!

รากเหง้าปัญหาคนศีรษะล้าน...ผู้ชายเชิญอ่าน!

บริเวณที่ศีรษะล้านจะอยู่ตรงที่เซลล์รากเส้นผมเชื่อมเกาะติดโปรตีนขนาดเล็ก ส่วนจะล้านเร็วหรือช้าโดยส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณของโปรตีนทั้งสองชนิดที่แต่ละคนได้รับถ่ายทอดมาจากพ่อแม่ตามพันธุกรรม

ทุกๆ วันมีคุณผู้ชายจำนวนนับล้านคนเพ่งมองสำรวจตัวเองอยู่หน้ากระจกพลางรำพึงถาม...เหตุไฉนหนอผมของเรามันถึงได้หดหาย ร่วงบางลงไปทุกวันๆ กลับกลายเป็นคนศีรษะล้านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ซะแล้ว เฮ้อ...

ในที่สุดบรรดาแพทย์แห่งรัฐฟลอริดาก็ได้คำตอบในเรื่องนี้ออกมาแล้ว ซึ่งอาจเป็นแนวทางในการรักษาเยียวยาอาการศีรษะล้านได้ เป็นที่รู้กันมานานแล้วว่า ฮอร์โมนเพศชายที่ชื่อ “เทสโทสเตอโรน”  (testosterone) เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เส้นผมหลุดร่วง แต่รายละเอียดนั้นก็ยังไม่เด่นชัดนัก กระทั่งมาร์ตี้ ซาวายา ผู้เชี่ยวชาญโรคผิวหนังและคณะนักวิจัยแห่งโรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยไมอามีได้พยายามค้นหาคำตอบให้กระจ่าง โดยทำการศึกษาทดลองตัวอย่างหนังศีรษะจากผู้ชายจำนวน 60 คน

แล้วพวกเขาก็พบว่า ตรงเซลล์รากผมนั้นมีโปรตีนอยู่ 2 ชนิด ชนิดหนึ่งมีโมเลกุลขนาดเล็ก และอีกชนิดมีโมเลกุลขนาดใหญ่ โปรตีนทั้งสองนี้มีความสัมพันธ์กับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนด้วย เมื่อใดที่โมเลกุลของฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนผสานเชื่อมกับโปรตีนที่มีโมเลกุลขนาดเล็ก มันจะพากันเข้าไปภายในเซลล์รากเส้นผม และทำลายส่วนที่ผลิตเส้นผม แต่ถ้าหากโมเลกุลของฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนเชื่อมกับโปรตีนที่มีโมเลกุลขนาดใหญ่ มันจะเกาะกันอยู่แค่ภายนอกเซลล์รากผม ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแต่อย่างใด

นักวิจัยได้เปรียบเทียบเซลล์บริเวณหนังศีรษะที่ล้านโล่งกับบริเวณที่มีเส้นผมดกเต็มของผู้ชายคนเดียวกัน และได้คำตอบอันแน่นอนว่า ตรงส่วนหนังศีรษะที่ล้านโล่งนั้นมีโปรตีนขนาดเล็กปรากฏมากกว่าตรงส่วนที่เส้นผมขึ้นเต็ม “บริเวณที่มีผมบางๆ หรือไม่มีผมเลยนั้น มีโปรตีนขนาดเล็กมากเป็นสองเท่าของโปรตีนขนาดใหญ่ ขณะเดียวกัน เซลล์รากเส้นผมที่แข็งแรงก็มีโปรตีนขนาดใหญ่อยู่ประมาณ 2 ½ เท่า” ซาวายากล่าวรายงาน

มีคำถามต่อมาอีกว่า การจะมีศีรษะล้านนั้น บริเวณใดที่จะล้านก่อนเป็นอันดับแรก และเร็วหรือช้าแค่ไหน

คำตอบจากซาวายา ก็คือ บริเวณที่ล้านจะอยู่ตรงที่เซลล์รากเส้นผมที่เชื่อมเกาะติดโปรตีนขนาดเล็ก ส่วนจะล้านเร็วหรือช้าโดยส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณของโปรตีนทั้งสองชนิดที่แต่ละคนได้รับถ่ายทอดมาจากพ่อแม่ตามพันธุกรรม ถ้าพ่อแม่ศีรษะล้านตรงไหน ลูกชายก็มักจะล้านตามตรงส่วนนั้น (ผู้หญิงไม่ล้านอย่างเด็ดขาด อย่างมากแค่มีผมบางเท่านั้นเอง!)

คณะนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยไมอามี ได้สรุปและเสนอแนวทางรักษาอาการศีรษะล้านที่มีทางเป็นไปได้ นั่นคือ ต้องหาอะไรมาสกัดกั้นไม่ให้ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนในเซลล์รากเส้นผมที่แข็งแรงมาเชื่อมผสานกับโปรตีนขนาดเล็ก ซึ่งเป็นกลไกที่ทำให้เซลล์ผลิตเส้นผมไม่ได้

“ก็ยังต้องศึกษากันต่อไป” ซาวายาตบท้าย

ตอนนี้มีโฆษณายาปลูกผมแก้ศีรษะล้านกัน เลยให้สงสัยนักว่ารักษาได้จริงๆหรือ ใครใช้ได้ผลมาแล้วช่วยบอกหน่อยนะคะ อยากรู้จริงๆ

(จาก Hippocrates, กันยายน/ตุลาคม 1989)

ข้อมูลสื่อ

132-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 132
เมษายน 2533
ถนอมทรัพย์ โสมทิพยนุกุล