• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดด

ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดด

ในช่วงนี้หากใครผ่านไปแถวสนามหลวงคงได้เห็นว่าวสีสดลอยเกลื่อนท้องฟ้า ไม่ต้องบอกก็คงรู้ว่าฤดูแห่งความร้อนหมุนเวียนกลับมาอีกครั้ง จะหาทางคลายร้อนกันอย่างไรดีล่ะ “ไปทะเลกันดีกว่า...” ว่าแล้วหลายคนก็พร้อมใจกันเดินเลาะชายหาด โต้เกลียวคลื่นท่ามกลางแดดเจิดจ้า แต่คุณรู้ไหมว่ามีอะไรแฝงอยู่ในแสงแดดอันเจิดจ้านั้น “รังสีอัลตราไวโอเลต” นั่นเอง ถึงแม้รังสีอัลตราไวโอเลตจะมีอยู่ประมาณร้อยละ 6 และไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่ก็มีผลต่อผิวหนังของเราอย่างมาก

รังสีอัลตราไวโอเลตคืออะไรกันนะ

เรามารู้จักรังสีอัลตราไวโอเลตกันสักนิด รังสีอัลตราไวโอเลตแบ่งออกเป็น 2 ชนิดด้วยกัน คือ รังสีอัลตราไวโอเลต เอ และ บี รังสีอัลตราไวโอเลต บี แม้จะมีปริมาณอยู่เพียงร้อยละ 0.5 ของแสงแดด แต่เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดแดดเผาได้

คุณมีสิทธิได้รับอันตรายจากแสงแดดทุกเมื่อ

ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหน ผิวหนังของคุณมีโอกาสได้รับอันตรายจากแสงแดดทั้งนั้นไม่มากก็น้อย อันตรายจากแสงแดดโดยทางตรง คือ ผิวหนังถูกแสงแดดจัดเป็นเวลานาน และทางอ้อมโดยที่รังสีอัลตราไวโอเลตสามารถส่องผ่านทะลุกระจกแก้วได้ เพราะฉะนั้นเวลาที่คุณนั่งอยู่ในรถหรือนั่งข้างหน้าต่างกระจกคุณก็สามารถได้รับรังสีอัลตราไวโอเลตได้ นอกจากนั้นในหลอดฟลูออเรสเซนต์ที่ใช้กันอยู่ทั่วไปตามบ้านก็สามารถเปล่งรังสีอัลตราไวโอเลต เอ ออกมาได้

แสงแดดมีผลอย่างไรต่อผิวหนัง

เราสามารถแบ่งอาการจากผลของแสงแดดที่มีต่อผิวหนังได้ 4 ลักษณะด้วยกัน คือ

อาการที่ 1 เรียกว่า “แดดเผา” จะมีอาการบวม แดง พอง และก็ลอกออกในที่สุด อาการนี้ไม่ได้เกิดขึ้นให้เห็นทันทีเมื่อถูกแสง แต่จะเกิดหลังจากนั้นประมาณ 2-3 ชั่วโมง และจะเกิดอาการนี้สูงสุดหลังจากถูกแสงแดดประมาณ 10-24 ชั่วโมง

อาการที่ 2 ทำให้ผิวเปลี่ยนเป็นสีคล้ำขึ้น

อาการที่ 3 ทำให้ผิวหนังแห้งเกิดรอยเหี่ยวย่น หยาบกร้านดูแก่เกินวัย

อาการที่ 4 อาจจะทำให้เกิดมะเร็งของผิวหนังได้ด้วย

ร่างกายก็มีภูมิป้องกันแสงแดด

โดยปกติร่างกายมีกลไกตามธรรมชาติที่จะช่วยป้องกันอันตรายจากแสงแดด โดยในชั้นของหนังกำพร้าจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอาการบวมแดง โดยการสะท้อน ดูดกลืน หักเหแสง ซึ่งจะปล่อยให้รังสีอัลตราไวโอเลตผ่านไปถูกผิวหนังได้บางส่วน นอกจากนี้เหงื่อบนผิวหนังมีกรดยูโรคานิก ซึ่งยังช่วยดูดกลืนรังสีอัลตราไวโอเลตทำให้ลดอาการบวมแดงลงได้

ปกป้องผิวจากแสงแดดได้อย่างไร

การป้องกันอันตรายจากแสงแดดสามารถทำได้ด้วยกัน 2 ประการ คือ

ประการที่ 1 โดยการหลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดจัดในช่วง 10 โมงเช้าถึง 3 โมงเย็น ซึ่งจะเป็นเวลาที่แสงแดดทำลายผิวหนังได้มากที่สุด แต่ไม่ใช่ว่าหลีกเลี่ยงไม่ถูกแสงแดดเลย เพราะการถูกแสงแดดอ่อนตอนเช้าจะไม่มีผลต่อการทำลายสุขภาพผิวมากนัก แต่จะช่วยให้ร่างกายสร้างวิตามินดีได้ด้วย

ประการที่ 2 โดยการใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดทาที่ผิวหนัง ซึ่งกรณีนี้เราใช้คุณสมบัติของสารป้องกันแสงแดดที่สามารถลดปริมาณรังสีอัลตราไวโอเลตที่จะมาถึงผิวหนัง

กลไกของสารป้องกันแสงแดดเราสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประการ คือ

ประการที่ 1 โดยการสะท้อนแสง เราจะพบในแป้งผัดหน้าของสตรี จะมีสารติตาเนียมไดออกไซด์ปนอยู่ ซึ่งจะมีผลทำให้เกิดการสะท้อนแสง

ประการที่ 2 คือ การดูดกลืนรังสีอัลตราไวโอเลต ซึ่งในส่วนนี้มีสารเคมีกลุ่มหนึ่ง จะดูดกลืนรังสีไว้ ซึ่งไม่ทำให้เกิดการบวมแดงต่อผิวหนัง

มารู้จักผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดกันสักนิด

ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดที่นิยมใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ มีหลากหลายรูปแบบด้วยกัน เช่น ครีม โลชั่น ออยล์ สเปรย์ หรือเจล แต่เราจะพบว่าโดยทั่วไปผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดประกอบด้วยส่วนประกอบ 2 ส่วนใหญ่เท่านั้น คือ ส่วนป้องกันแสงแดดซึ่งเป็นตัวออกฤทธิ์ และส่วนที่ 2 จะเป็นสารช่วยอื่นๆ เพื่อให้สามารถเตรียมเป็นรูปแบบของผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดที่ต้องการได้

นอกจากนั้นผู้ผลิตจะมีการเติมส่วนผสมของน้ำมันธรรมชาติ สารบำรุงผิว หรือพวกสารสกัดของว่านหางจระเข้ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ของตนมีสรรพคุณน่าใช้มากขึ้น แต่สารที่จะออกฤทธิ์ป้องกันแสงแดดจริงๆ คือ สารป้องกันแสงแดดเท่านั้น

ประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดด

ประสิทธิภาพในการป้องกันแสงแดดเราจะดูจากค่า Sun Protection Factor (SPF) ซึ่งระบุไว้ที่ฉลาก ค่านี้เป็นอัตราการป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลตในแสงแดด เช่น ค่า SPF 2 ก็จะช่วยป้องกันแสงแดดเป็น 2 เท่าของการไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดด เช่น ถ้าคุณไม่ได้ใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดด เมื่อคุณถูกแดดนาน 20 นาทีจะมีอาการแดดเผา เมื่อใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดที่มีค่า SPF 2 จะทำให้ยืดเวลาของการถูกแดดเผาเป็น 2 เท่า หมายความว่า คุณถูกแสงแดดนาน 40 นาที จึงจะมีอาการแดดเผา ค่า SPF จะมีค่าอยู่ในช่วง 2-15 ค่าที่นิยมใช้กัน คือ ค่า 2, 4, 6, 8 และ 15 ค่า SPF 2 จะให้การป้องกันแสงแดดได้น้อยที่สุด ค่า SPF ที่มีค่าสูงก็ยิ่งจะป้องกันแสงแดดได้สูง เช่น ค่า SPF 15 จะมีความสามารถในการป้องกันแสงแดดได้สูงที่สุด

คนที่ต้องการอาบแดดแต่ไม่ต้องการให้เกิดผิวสีแทน ก็ควรจะใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดที่มีค่า SPF สูงๆ และคนที่ต้องการให้มีผิวสีแทนก็ควรจะใช้ตัวที่มีค่า SPF อยู่ระหว่าง 2-6 ทั้งนี้ควรพิจารณาสีผิวของผู้ใช้เป็นเกณฑ์ประกอบด้วย

สำหรับประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดด นอกจากจะขึ้นอยู่กับสารป้องกันแสงแดดแล้ว ยังขึ้นอยู่กับกระสายยาที่ใช้ด้วย สารป้องกันแสงแดดตัวเดียวกัน เมื่ออยู่ในกระสายยาที่ต่างกัน เช่น ครีม โลชั่น หรือออยล์ จะมีผลทำให้ค่า SPF ต่างกัน ประสิทธิภาพจึงต่างกันไปด้วย

นอกจากนั้นสารที่ปกป้องผิวจากแสงแดด คือ ตัวฟิล์ม (ตัวยาและครีมที่เหลือติดอยู่บนผิวหนังหลังจากที่น้ำและสารระเหยอื่นๆ ที่มีอยู่ระเหยไปแล้ว) ดังนั้นควรทาให้ปกคลุมผิวได้ทั่วถึง ไม่เช่นนั้นจะทำให้การป้องกันแสงแดดบกพร่องได้

ในความต่างของซันสกรีนและซันแทน

หลายคนคงเคยสงสัยว่า ซันสกรีนกับซันแทนแตกต่างกันอย่างไร

ซันแทน หรือถอดความเป็นภาษาไทยเรียกว่า “ผลิตภัณฑ์ทำให้ผิวมีสีแทน” จะต่างกับซันสกรีน ซึ่งจะเป็นผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดด ผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 แตกต่างกันดังนี้ คือ

1. ความเข้มข้นของสารดูดกลืนรังสีอัลตราไวโอเลตในผลิตภัณฑ์ที่ทำให้ผิวมีสีแทนจะมีน้อยกว่าผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดด ดังนั้นเมื่อความเข้มข้นน้อยกว่าจึงทำให้ปริมาณการดูดกลืนแสงแดดของซันแทนมีน้อยกว่าซันสกรีน จึงเหลือแสงบางส่วนไปกระตุ้นผิวหนังทำให้เกิดการสร้างเมลานีนมากขึ้น ทำให้เกิดผิวสีแทน

2. ในผลิตภัณฑ์ที่ทำให้ผิวเป็นสีแทนจะมีสารที่ดูดกลืนเฉพาะรังสีอัลตราไวโอเลต บี จึงยอมให้รังสีอัลตราไวโอเลต เอ ผ่านไปถูกผิวหนังได้ ซึ่งจะทำให้ผิวเป็นสีแทน ส่วนในผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดโดยทั่วไปจะมีทั้งสารที่ดูดกลืนรังสีอัลตราไวโอเลต เอ และสารที่ดูดกลืนรังสีอัลตราไวโอเลต บี

ซื้ออย่างไรจึงถูกหลัก

ในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดนั้นเราควรจะพิจารณาจากหลักเกณฑ์ 4 ประการดังต่อไปนี้

1. สารป้องกันแสงแดดที่ระบุในฉลากความเป็นสารที่ได้รับการยอมรับว่าในความเข้มข้นนั้นสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย

2. ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดที่มีค่า SPF ให้เหมาะสมกับสภาพและสีผิวของผู้ใช้ ดังนี้

2.1 ผิวขาวควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดที่มีค่า SPF 15

2.2 ผิวสองสีควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดที่มีค่า SPF 6 หรือ 8

2.3 ผิวคล้ำควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดที่มีค่า SPF 2 หรือ 4

3. ในกรณีที่ผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดทาแล้วต้องการเล่นน้ำควรดูที่ฉลากว่าสามารถกันน้ำได้หรือไม่ ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดโดยทั่วไปจะถูกน้ำชะล้างได้ง่าย จึงต้องทาซ้ำบ่อยๆ ส่วนในผลิตภัณฑ์ที่ระบุว่าทนทานต่อการชะล้างของน้ำจะมีการเติมสารบางชนิดลงไปเพื่อให้ทนทานต่อการชะล้างของน้ำได้นานช่วงเวลาหนึ่ง ดังนั้นก่อนตัดสินใจซื้อ จึงควรดูที่ฉลากว่าสามารถป้องกันน้ำได้หรือไม่ ตามความต้องการของผู้ใช้

4. ในรูปแบบที่ต่างกันของผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดด เช่น ครีม โลชั่น หรือออยล์ ทำให้ผู้ใช้เลือกใช้ได้ตามความพอใจ

ครีมจะติดทนบนผิวหนังของผู้ใช้ได้ดีกว่าโลชั่น ออยล์จะทำให้ผู้ใช้รู้สึกเหนียวเหนอะหนะ ส่วนสเปรย์ใช้สะดวก แต่มีราคาแพง

ข้อควรระวังในการใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดด

เนื่องจากเราใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดทาผิวหนังเป็นบริเวณกว้าง สารส่วนมากอาจซึมลงไปยังเนื้อเยื่อที่อยู่ข้างล่างได้ ถ้าซึมลงไปเพียงชั้นหนังกำพร้า (ชั้นขี้ไคล) จะเป็นส่วนที่ยอมรับได้ เพราะตัวยายังคงมีประสิทธิภาพอยู่ และไม่ถูกชะล้างออกได้ง่ายด้วยเหงื่อ ทราย หรือติดไปกับเสื้อผ้า

การดูดซึมที่ลึกไปกว่านี้จะเป็นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ เพราะจะเป็นการกำจัดสารออกไปจากผิวหนัง ทำให้ไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันแสงแดด อาจเกิดพิษระคายเคืองหรือแพ้ได้

การระคายเคืองจะแสดงออกที่ผิวหนังที่อ่อนบาง เช่น บริเวณเปลือกตา ริมฝีปาก บริเวณตามรอบจมูก ตามนิ้วมือนิ้วเท้า หรือมีอาการคล้ายแดดเผาไหม้ได้ด้วย เท่าที่กล่าวมาจึงเป็นการเตือนให้ผู้ใช้ตระหนักในข้อนี้ด้วย แต่โอกาสที่จะเกิดขึ้นน้อยมาก เพราะเราจะใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดในช่วงสั้นๆ เท่านั้น และในผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดก็มีกระสายยาที่เหมาะสมเป็นตัวกลางขัดขวางการดูดซึมอยู่แล้ว ดังนั้นการใช้ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ควรอ่านฉลากคำเตือนที่ระบุไว้ด้วย และควรหลีกเลี่ยงการทาบริเวณผิวหนังที่อ่อนบางใกล้เยื่อเมือก เช่น บริเวณใกล้ตา เพราะบริเวณนี้จะมีการดูดซึมได้มาก

แสงแดดมิใช่สิ่งที่น่าหลีกเลี่ยงเสียทีเดียว เพราะแสงแดดอ่อนในยามเช้ามีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ถ้าจำเป็นต้องตากแดดจัดควรใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดที่มีค่า SPF เหมาะสมกับผิวของแต่ละคน เพื่อรักษาผิวสวยของคุณไว้ก่อนที่จะไม่มีผิวให้รักษา

ข้อมูลสื่อ

132-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 132
เมษายน 2533
เรื่องน่ารู้
ภกญ.มาลินี หาญพานิชเจริญ