• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ตอนที่ 8 สันติอโศก พระหรือมาร

ดังที่ได้กล่าวไว้ในตอนที่แล้วว่ามีผู้ที่เคารพท่านโพธิรักษ์ ว่าเป็นพระแท้ก็มี ที่ไม่เคารพและว่าเป็นมารก็มี

ท่านเป็นอะไรกันแน่?
ทางที่ดีอย่างเพิ่งไปปักใจลงไปทีเดียว แต่ลองตรวจสอบดูก่อน เริ่มด้วยการตรวจสอบด้วยความคิด หรือไล่เรียงด้วยเหตุผล

พูดถึงการตรวจสอบด้วยความคิด อยากจะกล่าวว่าพวกเราคนไทยมักจะไม่ค่อยมีวัฒนธรรมอันนี้
ความคิดเป็นนามธรรม คนไทยโดยทั่วไปเป็นพวกวัตถุธรรม

ดังจะเห็นได้ทั่วไป เช่น เกี่ยวกับวัดก็จะออกมาเป็นโบสถ์เป็นพระพุทธรูป ซึ่งเป็นวัตถุ มักจะไม่ค่อยออกมาว่า ทำไมเราจะมีพระสงฆ์ที่ดีๆสอนเก่งๆ

การมีพระสงฆ์ที่ดีๆ เก่งๆ จะมีความสำคัญต่อสังคมไทยและต่อโลกมาก
หรือเรื่องการเรียน เราก็จะนึกถึงเรื่องอาคารโรงเรียนซึ่งเป็นวัตถุยิ่งกว่าความดีและความเก่งของครู (คุณภาพ) ซึ่งเป็นนามธรรม

วัตถุนั้นสิ้นเปลืองมาก และนับตั้งแต่วันที่สร้างเสร็จก็จะเริ่มสึกกร่อนทรุดโทรม ผุพัง สลายไปหรือต้องการทรัพยากรอีกมหาศาลเข้ามาบำรุงรักษาเพราะวัตถุงอกไม่ได้ ตรงข้าม ความรู้กับความดีงอกงามต่อไปได้ มีคนดีคนหนึ่งก็งอกเป็นสองหรือหลายคนได้ ความรู้กับความดีนั้นไปสร้างสรรค์สิ่งอื่นๆต่อไปอีกมาก

ในที่นี้จะขอรวมเรียกความรู้กับความดีว่า ปัญญา (wisdom)
ขณะนี้สังคมไทยมีปัญหาสลับซับซ้อนยากแก่การแก้ไข การที่จะแก้ไขได้ต้องใช้ปัญญา

สังคมไทยต้องการปัญญาอย่างมาก แต่ก็สร้างได้ยาก เพราะปัญญาเป็นนามธรรม แต่คนไทยเป็นคนวัตถุธรรมดังกล่าวแล้ว

วัฒนธรรมวัตถุธรรมเป็นตัวกำหนดวิธีการของสังคมทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล สภา ราชการ วัด มหาวิทยาลัย แนวทางหลักของสังคมไทยคือการเปลี่ยนวัฒนธรรมวัตถุนิยม เป็น ปัญญานิยม

ถ้าเข้าใจประเด็นนี้ถูกการแก้ปัญหาจะไม่ยาก เรื่องนี้จะกล่าวโดยพิสดารต่างหากในที่อื่น ในที่นี้จะขอกล่าวเพียงว่าถ้ามีเงินให้พยายามเปลี่ยนเป็นปัญญา ปัญญาจะแก้ปัญหาของปัจจุบันและของคนรุ่นลูกหลานด้วย

วัตถุเป็นเรื่องตื้นและระยะสั้น
ปัญญาเป็นเรื่องลึกและระยะยาว


ถ้ามองอะไรออกมาเป็นวัตถุสำเร็จรูป ก็มองได้ตื้นๆและไม่เชื่อมโยง เห็นอะไรเป็นของตายตัว เห็นด้านเดียว มีความขัดแย้งสูง เพราะมองโดดๆเดี่ยวๆ เห็นแต่ความแตกต่างแบ่งแยก

แต่ถ้ามองลึกก็จะเห็นหลายด้าน เห็นความเชื่อมโยง หรือความเป็นอันเดียวกัน (เอกภาพ) ระบบการศึกษาของเราตั้งแต่อนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัยเน้นที่การถ่ายทอดความรู้สำเร็จรูปเป็นส่วนใหญ่ ไม่ค่อยเน้นที่กระบวนการเกิดปัญญา

แม้การสอนทางศาสนาก็เช่นเดียวกันเน้นที่การถ่ายทอดความจริงสำเร็จรูปเป็นสำคัญ การรับอะไรไปสำเร็จรูปเป็นก้อนๆ ก็ติดอยู่ตามผิวๆ ยังไม่ใช่ปัญญาที่เกิดขึ้นในเนื้อในตัวจริงๆ นี้อาจจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การสอนธรรมะไม่ได้ผล และน่าจะได้รับการพิจารณาปรับปรุงด้วยเช่นเดียวกัน

ที่กล่าวมาข้างต้นเพื่อแสดงความสำคัญของการคิดด้วยปัญญา คราวนี้ทดลองเอาความคิดมาตรวจสอบเรื่องของสันติอโศกสัก 3-4 ประเด็น

1. พระชาวอโศกเป็นพระเถื่อน

ถ้าคำว่า เถื่อน หมายถึงการไม่ขึ้นต่อมหาเถรสมาคมพระชาวอโศกก็เป็นพระเถื่อน
แต่มีคำถามที่ต้องถามต่อไปอีกว่า
มหาเถรสมาคมคืออะไร
พระคืออะไร
คำว่าขึ้นหมายความว่าอย่างไร
ถ้าไม่ขึ้นเรียกว่าพระหรือไม่ ถ้าขึ้นไม่ใช่พระได้หรือไม่

ขอให้พยายามตอบคำถามเหล่านี้เอง หรืออาจมีคำถามอื่นใดเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกก็ได้
การพยายามตอบด้วยใจเป็นกลาง และด้วยความรู้ข้อเท็จจริง ก็จะเกิดปัญญาเอง

2. พวกนี้กินมังสวิรัติ เพราะฉะนั้นเป็นพวกเถรเทวทัต

จะพิจารณาประเด็นนี้ ก็ต้องรู้ข้อมูลเกี่ยวกับพระเทวทัต ถ้าตัดสินอะไรโดยไม่ใช้ข้อเท็จจริงก็เกิดความผิดพลาดได้

คนไทยไม่ค่อยชอบว่ากันด้วยข้อเท็จจริง เพราะฉะนั้นแม้รัฐบาลหรือรัฐสภา ก็อาจว่าอะไรกันไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องอาศัยข้อมูลหลักฐาน หรือในการประชุมถกเถียงมักจะไม่มีข้อมูลหลักฐาน ข้อมูลหลักฐานคือความรู้

พระเทวทัตที่จริงเป็นพระญาติของพระพุทธเจ้า เมื่อออกบวชแล้วก็มีเรื่องต่างๆนานาเรื่อยมารวมทั้งพยายามที่จะฆ่าพระพุทธเจ้า

ถ้าใครพยายามฆ่าพระพุทธเจ้าก็ต้องบาปหนา จึงมีคำที่กล่าวถึงความผิดฉกรรจ์ว่ามีบาปถึงกับต้อง “ตกนรกใต้เถรเทวทัต” อันหมายถึงตกนรกรุนแรงฐานพยายามฆ่าพระพุทธเจ้า

ส่วนที่ไปเกี่ยวข้องกับมังสวิรัติก็มีอยู่ว่าพระเทวทัตกราบทูลพระพุทธเจ้าว่า ในเมื่อบัญญัติห้ามฆ่าแล้วก็ควรบัญญัติห้ามมิให้พระสงฆ์ฉันเนื้อสัตว์เสียด้วย

พระพุทธเจ้าไม่ทรงเห็นด้วย แต่การที่พระพุทธเจ้ามิได้ทรงบัญญัติห้ามมิให้พระสงฆ์ฉันเนื้อสัตว์ก็มิได้แปลว่า ทรงส่งเสริมการฆ่า แต่เข้าใจว่าที่มิได้ทรงบัญญัติห้ามพระภิกษุสงฆ์ฉันเนื้อสัตว์เพราะเหตุสองประการคือ

หนึ่ง พระสงฆ์ได้อาหารจากชาวบ้าน เขากินอย่างไรและเขาแบ่งถวายก็ฉันไปตามนั้นอย่าไปจู้จี้

และสอง มีสัตว์ที่ตายเอง เนื้อสัตว์ชนิดนี้ควรฉันได้ ในประเด็นนี้จึงทรงห้ามพระภิกษุฉันอุทิสสมังสะ หรือเนื้อที่เขาจงใจฆ่าถวาย

เกี่ยวกับมังสวิรัติไม่มังสวิรัตินี้มีเรื่องที่พิจารณาได้หลายแง่หลายมุม

สัตว์ที่ฆ่าสัตว์อื่นเป็นอาหารไม่มีใครว่าสัตว์บาป เพราะเป็นธรรมชาติของสัตว์
มนุษย์ก็เป็นสัตว์ มนุษย์ดึกดำบรรพ์ก่อนที่จะถึงยุคเกษตรกรรมล้วนล่าสัตว์เป็นอาหารทั้งสิ้น

ในครั้งกระนั้นคงจะไม่มีใครคิดเรื่องบาปไม่บาป ธรรมชาติเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันเป็นวัฏจักร เช่น
จุลินทรีย์สร้างปุ๋ย
ต้นไม้อาศัยปุ๋ยเติบโตขึ้น
สัตว์กินใบไม้
สัตว์กินสัตว์ เช่น จิ้งจกกินแมลง นกกินจิ้งจก สิงโตกินกวาง

เมื่อสัตว์ตายจุลินทรีย์ย่อยเนื้อหนังผุพังกลายเป็นปุ๋ยให้กับต้นไม้ ธรรมชาติวนเวียนกันอยู่เช่นนี้เป็นสมดุล เป็นไปเช่นนั้นอยู่ช้านานก่อนที่จะมีมนุษย์เกิดขึ้น

มนุษย์เป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง เมื่อเกิดขึ้นใหม่ๆก็เป็นส่วนหนึ่งในวัฏจักรของความสมดุลในธรรมชาติ

แต่ต่อมามนุษย์เป็นต้นเหตุของเสียสมดุลของธรรมชาติ เพราะมนุษย์มีสมองใหญ่ สามารถทำตัวให้รอดจากอันตรายตามธรรมชาติได้มาก จึงเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว มนุษย์ที่เพิ่มจำนวนขึ้นมาก บริโภคธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นพืชหรือสัตว์ ทำให้สิ่งแวดล้อมหรือนิเวศสภาวะเปลี่ยนแปลง เช่น ป่าไม้ถูกทำลาย สัตว์ถูกผลาญชีวิตจนกระทั่งสูญพันธุ์ไปก็มีทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำ

เมื่อผ่านยุคดึกดำบรรพ์มาเพราะสมองใหญ่ มนุษย์สะสมความรู้และความคิดเกิดมโนสำนึกในเรื่องบุญบาปขึ้น มโนสำนึกในเรื่องบุญบาปเป็นเรื่องของมนุษย์เท่านั้น ดิน น้ำ ก้อนหิน จุลินทรีย์ ต้นไม้ สัตว์ ไม่มีมโนสำนึกในเรื่องบุญบาป ไม่ได้แปลว่า สิ่งเหล่านั้นเลวกว่ามนุษย์ แต่เป็นไปเช่นนั้นเองตามธรรมชาติที่เป็นไปและเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันโดยวัตถุหรือรูปธรรม

ถึงแม้สัตว์จะมีความรู้สึกนึกคิดอันเป็นนามธรรม แต่โดยธรรมชาติของวัตถุอันเป็นโครงสร้างของสมองที่ความรู้สึกนึกคิดหรือนามธรรมนั้นอยู่ในระดับของสัตว์และไม่มีวิวัฒนาการสูงขึ้น

ส่วนมนุษย์แม้มีธรรมชาติเช่นเดียวกับสัตว์ มีวัตถุอันเป็นโครงสร้างของสมองที่ทำให้สะสมเพิ่มพูนทางนามธรรมขึ้นเรื่อยๆเป็นอีกมิติหนึ่งหลุดพ้นข้อจำกัดทางวัตถุออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ดังที่มนุษย์สามารถบรรลุธรรมที่เป็นอิสระโดยสิ้นเชิงจากอิทธิพลของธรรมชาติทั้งปวง

การที่สัตว์จะกินอะไรนั้นกำหนดโดยระบบของร่างกาย เช่น วัวควาย กินหญ้า เพราะสามารถเปลี่ยนหญ้าให้เป็นโปรตีนได้ ปลวกกินไม้เพราะเปลี่ยนไม้ให้เป็นโปรตีนได้ สัตว์ที่ไม่มีระบบย่อยโปรตีนจากเนื้อสัตว์ก็ไม่กินเนื้อสัตว์

มนุษย์คงจะเป็นสัตว์กินเนื้อแน่ เพราะมีระบบย่อยเนื้อสัตว์และเด็กๆจะไม่กินสัตว์
มนุษย์มีระบบที่จะสร้างโปรตีนจากผักได้แต่ไม่พอนอกจากกินพืชที่มีโปรตีนสูง เช่น ถั่ว
มนุษย์โดยทั่วไปจึงฆ่าสัตว์เป็นอาหาร เช่น ฆ่าปลา ฆ่าไก่ ฆ่าหมู ฆ่าวัว ฆ่าควาย
แต่ในขณะเดียวกันมนุษย์ก็มีความสำนึกในบาปบุญ จึงมีข้อบัญญัติงดเว้นจากการฆ่าเกิดขึ้น

การห้ามฆ่ามนุษย์นั้น ห้ามหมดทุกศาสนาและทุกชนชาติ ส่วนห้ามฆ่าสัตว์นั้น ศาสนาทางยูดายคือ ยิว คริสต์ และอิสลามไม่ห้าม เพราะถือมนุษย์เป็นศูนย์กลาง ส่วนสัตว์นั้นพระเจ้าสร้างมาให้เป็นประโยชน์แก่มนุษย์

ส่วนพระพุทธศาสนาไม่ได้ถือมนุษย์เป็นศูนย์กลาง แต่เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และควรเป็นไปอย่างสัมพันธ์กับธรรมชาติ เพราะฉะนั้นพืช สัตว์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติก็ควรได้รับความเมตตาปรานีด้วย

ในปัจจุบันโลกมีปัญหาในเรื่องสิ่งแวดล้อมถูกทำลายมาก ทำให้มีผู้คิดถึงคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกันมาก

อย่างไรก็ตาม มนุษย์มีความขัดแย้งในเรื่องความเป็นสัตว์ในตัวเองกับมโนสำนึกมาก เช่น สัตว์ผสมพันธุ์กันอย่างเปิดเผยที่ไหนก็ได้ ไม่มีความรู้สึกละอายหรือต้องปกปิดแต่อย่างใด มนุษย์ก็ผสมพันธุ์อย่างสัตว์ แต่มีความรู้สึกว่าตัวเองสูงกว่าสัตว์ จึงไม่ผสมพันธุ์กันในที่ทั่วไป ต้องปกปิดมิดชิด และมีเรื่องพิลึกกึกกือสลับซับซ้อน และมีปัญหาอันเกี่ยวเนื่องด้วยการผสมพันธุ์ของมนุษย์มาก

เรื่องฆ่าสัตว์เป็นอาหารก็เช่นเดียวกัน มนุษย์ส่วนใหญ่กินสัตว์เป็นอาหารเช่นเดียวกับสัตว์กินเนื้อ

แต่ขณะเดียวกันก็มีมนุษย์ที่มีจิตใจที่คำนึงถึงความเจ็บปวดทุกข์ทรมานของสัตว์ที่ถูกฆ่า และถามขึ้นว่า “เป็นการยุติธรรมหรือไม่ที่จะทำให้สัตว์ต้องสิ้นชีวิตเพื่อจะเอาเนื้อเขามาใส่เนื้อเรา” ในเมื่อมนุษย์มีปัญญาที่จะไปให้พ้นจากความเป็นไปตามธรรมชาติอย่างสัตว์

มนุษย์ส่วนใหญ่ในโลกเป็นคนจนได้รับอาหารไม่พอเพียง และขาดโปรตีน ทำให้เจ็บป่วยล้มตายและพิการกันมาก จึงมีความพยายามที่จะส่งเสริมให้ได้รับโปรตีนมากขึ้น

ที่โรงพยาบาลบางแห่งในแอฟริกา เมื่อคนไข้กลับบ้านจะจ่ายกระต่ายให้ไปคู่หนึ่งเพื่อเอาไปเลี้ยงให้ออกลูกจะได้มีอาหารโปรตีนเพิ่มขึ้น

ที่ในชนบทของเราซึ่งยากจนมากเกิดปัญหาในชีวิตและสังคมติดตามมาอย่างรุนแรง ก็ถือกันว่า ถ้าทำเกษตรกรรมผสมผสานจนเลี้ยงตัวเองทางเศรษฐกิจได้ก็จะช่วยบูรณะชีวิตและสังคมของคนไทย ในการเกษตรกรรมผสมผสานมีการเลี้ยงสัตว์ด้วย เช่น ตอนนี้คิดกันว่าถ้าอีสานเลี้ยงปลาได้จะเป็นก้าวกระโดดใหญ่ในการพัฒนาอีสาน

พระเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภก ก็พระราชทานพันธุ์ปลาให้ชาวบ้านบ่อยๆ ซึ่งแน่นอนหมายถึงให้เอาไปเลี้ยงจะได้เป็นอาหาร แต่ทรงทำเพราะสงสารราษฎร

หลายๆคนคิดว่าทำอย่างไรให้มนุษย์สงบสุขเสียก่อนโดยมีอาชีพและมีอยู่มีกิน ขออย่าให้มนุษย์ฆ่ามนุษย์ก็แล้วกัน ส่วนจะฆ่าสัตว์เมื่อจำเป็นบ้างก็ไม่เป็นไร ดังที่ถ้าบอกให้ชาวประมงหยุดจับปลาทันทีคงจะมีผลกระทบต่ออาชีพและสังคมอย่างรุนแรง

แต่มนุษย์ที่อยากจะไปให้พ้นจากความเป็นสัตว์ก็ยังจะถามคำถามว่า “ยุติธรรมหรือ ที่จะทำให้ชีวิตสัตว์ต้องล่วงไปเพื่อจะเอาเนื้อเขามาใส่เนื้อเรา” ในเมื่อมนุษย์มีปัญญาที่จะได้โปรตีนจากทางอื่น
เรื่องนี้ยังมีมิติทางเศรษฐศาสตร์ ทางนิเวศวิทยาและทางการแพทย์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย กล่าวคือ
เมื่อมนุษย์มีจำนวนมากและบริโภคเนื้อสัตว์มาก ต้องเลี้ยงสัตว์จำนวนมากในทุ่งหญ้า สัตว์กินหญ้าหมด เกิดทะเลทราย และมีการทำลายป่ามากขึ้น

หรืออย่างประเทศไทยปลูกธัญพืชมากเพื่อส่งไปเป็นอาหารสัตว์ในยุโรป เสียค่าส่ง โปรตีนจากสัตว์ซึ่งเป็นโปรตีนขั้นสอง (secondary protein) เมื่อเทียบกับโปรตีนจากพืชซึ่งเป็นโปรตีนขั้นหนึ่ง (primary protein) น้ำหนักเท่ากันกรัมต่อกรัมแล้วโปรตีนจากสัตว์แพงกว่ามาก

นอกจากนั้นการที่ประเทศไทยต้องใช้เนื้อที่จำนวนมากปลูกธัญพืชเพื่อส่งไปเปลี่ยนเป็นเนื้อสัตว์ ทำให้ทำลายป่าและสิ่งแวดล้อมของไทย ซึ่งมีผลกระทบทางเศรษฐกิจและอื่นๆอีกมาก

ในทางการแพทย์ การขาดโปรตีนไม่ดี แต่กินเนื้อสัตว์มากก็ไม่ดี ทำให้ไขมันในเลือดสูง เป็นโรคความดันโลหิตสูง เป็นโรคหัวใจ เป็นโรคเก๊าต์ และไตต้องทำงานมากขึ้น เรียกว่าเป็นภาระหนักแก่อวัยวะของร่างกาย

ถ้ากินโปรตีนจากพืชร่างกายน่าจะเบาสบายมากกว่า แต่ต้องมีความรู้ที่ทำให้ได้โปรตีนเพียงพอ มิฉะนั้นจะเกิดโรค

สรุปเรื่องเกี่ยวกับเนื้อสัตว์ ดังนี้
1. เป็นธรรมชาติของมนุษย์
2. การเลี้ยงสัตว์และจับสัตว์เกี่ยวข้องกับสุขภาพและอาชีพสำหรับคนที่ไม่มีทางเลือก
3. สำหรับคนที่ไม่มีทางเลือกก็ทำอย่างเดิมไปก่อน
4. สำหรับคนที่มีทางเลือกและคนที่พัฒนาทางเศรษฐกิจสังคมจนมีทางเลือกแล้วน่าจะหาทางเปลี่ยนอาหารโปรตีนจากสัตว์เป็นอาหารโปรตีนจากพืชให้มากขึ้นเรื่อยๆเพื่อความกรุณาแก่สัตว์ เพื่อเศรษฐกิจ เพื่อนิเวศวิทยา และเพื่อสุขภาพ

แล้วก็อย่าไปตีกันตายเพราะเรื่องนี้

เรายังมีเรื่องอื่นที่ต้องทำร่วมกันอีกมาก

3. พระโพธิรักษ์แปลภาษาบาลีผิด

เรื่องนี้มีคนอเมริกันชื่อ Grant Olson ไปเขียนไว้ในวิทยานิพนธ์ปริญญาโท และมีคนไทยที่พูดกันถึงเรื่องนี้โดยเฉพาะ ส. ศิวรักษ์

ผู้เขียนไม่มีความรู้ภาษาบาลีและไม่ได้ตรวจสอบว่าที่ว่าผิดนั้นผิดกี่คำ คำใดบ้าง และที่ว่าผิดนั้นมีโทษหรือมีประโยชน์อย่างไร

ผู้เขียนเข้าใจว่าการที่คนจะชอบหรือไม่ชอบ พระโพธิรักษ์นั้นขึ้นกับเหตุอื่นมากกว่าเรื่องคำบาลี-ไทย
ถ้าเป็นคนที่เราชอบพูดผิดไปบ้างก็ไม่เป็นไร หรืออาจจะตั้งใจ “เล่นคำ” ก็ได้
แต่ถ้าเป็นคนที่เราไม่ชอบแล้วพูดอย่างไรก็ยากที่จะฟังกันขึ้น

4. พระโพธิรักษ์ชอบโจมตีผู้อื่น หรือชอบอวดวิสุทธิคุณของตัวเอง

มีพระดีๆเป็นอันมากที่ท่านปฏิบัติดีปฏิบัติชอบโดยไม่โจมตีผู้อื่น
พระดีต้องไม่โจมตีผู้อื่น พระที่โจมตีผู้อื่นเป็นพระไม่ดี จริงหรือไม่
ตรงนี้มีคำหลายคำที่ต้องพิจารณาคือ โจมตี กล่าวหา ด่า ว่า ตำหนิ สอน ซึ่งจะใช้ในสภาวะและท่วงทีที่แตกต่างกัน เช่น

พระสงฆ์อื่นๆ                            พระโพธิรักษ์                                   ลักษณะของคำกล่าว
เป็นผู้บริสุทธิ์                     กล่าวว่าท่านเหล่านั้นไม่บริสุทธิ์                       โจมตี กล่าวหา
เป็นผู้ไม่บริสุทธิ์                กล่าวว่าท่านเหล่านั้นไม่บริสุทธิ์                     ด่า ว่า ตำหนิ สอน

จะเข้าลักษณะด่า ว่า ตำหนิ หรือสอน แล้วแต่ลักษณะวาจาที่ใช้ ทั้งนี้ยังขึ้นกับว่า พระโพธิรักษ์เองเป็นผู้บริสุทธิ์หรือไม่ และขึ้นกับวัฒนธรรมเช่น
เด็กจะไปตำหนิหรือสอนผู้ใหญ่ไม่ได้
นักเรียนจะตำหนิหรือสอนครูไม่ได้
พระผู้น้อยจะไปตำหนิหรือสอนพระผู้ใหญ่ไม่ได้
ทีนี้มาพิจารณาว่า ผู้น้อยผู้ใหญ่วัดกันด้วยอะไร

ก็คงวัดกนด้วย พรรษา 1 บวชก่อนบวชหลัง 1 สมณศักดิ์ 1 ซึ่งก็คงถามได้ต่อไปว่า ความเป็นผู้น้อยผู้ใหญ่จริงๆวัดกันด้วยอะไร ที่น่าจะเหมาะสมที่สุดน่าจะได้แก่ระดับของการบรรลุธรรม

พระที่อ่อนพรรษากว่า บวชทีหลัง สมณศักดิ์ต่ำกว่าหรือไม่มีสมณศักดิ์ อาจบรรลุธรรมสูงกว่าก็ได้

ถ้าจะถามต่อไปว่า ผู้พูดจะบรรลุธรรมหรือไม่บรรลุธรรม ระดับใดก็ตาม ถ้าตำหนิผู้อื่นด้วยความรุนแรง เขาจะโกรธไหม
คำตอบก็คือ โกรธ
นอกจากมีกรณีพิเศษ
ถ้าอย่างนั้นควรหรือไม่ควรตำหนิผู้อื่นด้วยความรุนแรง

ในอภัยราชกุมารสูตร มีการกล่าวถึงว่า มีผู้มายุยงอภัยราชกุมารให้ไปถามปัญหาพระพุทธเจ้าว่า พระสมณโคดมปรกติชอบพูดให้คนยินดี หรือพูดให้คนไม่ยินดี โดยตระเตรียมกันไว้ก่อนว่าไม่ว่าพระสมณโคดมตอบมาประตูไหนจะย้อนกลับไปให้จน (ถ้าจนง่ายๆอย่างนั้น ก็คงไม่ใช่พระพุทธเจ้า!)
พระพุทธองค์ทรงตอบว่า สิ่งที่พระองค์จะตรัสนั้นต้องเป็นความจริงและมีประโยชน์ กล่าวคือ

ถ้าไม่จริง จะมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์ ไม่พูด
ถ้าจริงแต่ไม่มีประโยชน์ ไม่พูด
ถ้าจริง มีประโยชน์ พูดแล้วก่อให้เกิดความยินดี ก็พูด
ถ้าจริง มีประโยชน์ พูดแล้วไม่ก่อให้เกิดความยินดี ก็พูด

ผู้เขียนคิดว่าสิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้ท่านโพธิรักษ์ถูกว่าอย่างโน้นอย่างนี้อยู่ที่ท่านกล่าวตำหนิผู้อื่นอย่าง “ผ่าเปรี้ยง” เป็นสำคัญ

ส่วนเหตุอื่นๆที่นำมากล่าวกันเป็นส่วนประกอบเท่านั้น
ปกติคนไทยนั้นถึงใครจะทำผิดอย่างไร ถ้าไม่ไปว่าอะไรใคร คนอื่นก็มักไม่เอาเรื่อง อยู่ได้สบายๆ ทั้งๆที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อส่วนรวม

โดยเฉพาะถ้ารู้จักพูดเพราะๆ หรือเอาอกเอาใจผู้อื่นด้วยแล้วละก็อยู่ได้สบายบรื๋อ ทั้งๆที่ทำผิดอย่างมหันต์ ก็เห็นกันอยู่ทั่วไป

ถ้าท่านโพธิรักษ์ทำอย่างที่ท่านทำทุกอย่าง แต่อยู่เงียบๆเฉยๆ ไม่มีปากมีเสียง ก็คงไม่มีเรื่องมีราวอะไร ก็อยู่เงียบๆเฉพาะตัวเฉพาะกลุ่ม แต่การที่ท่าน “ผ่าเปรี้ยงๆ” ทำให้ดังสะดุ้งสะเทือนกันไปทั่ว
คำถามก็วกกลับมาที่เดิมว่าที่ท่านทำอย่างนั้น ดีหรือไม่ดี

คำตอบก็คือ
ถ้าท่านทำด้วยความโกรธ ความโลภ ความหลง ก็ไม่ดี

แต่ถ้าไม่ได้ทำด้วยความโกรธ ความโลภ ความหลง ก็ดี ใครอยากทราบว่าดีหรือไม่ดี ก็ไปแสวงหาข้อเท็จจริงกันเอาเองว่า ที่ท่านแสดงแบบผ่าเปรี้ยงๆนั้นทำด้วยความโกรธ ความโลภ ความหลงหรือไม่

ข้อมูลสื่อ

101-019
นิตยสารหมอชาวบ้าน 101
กันยายน 2530
ศ.นพ.ประเวศ วะสี