• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจรักษาอาการปวดข้อ (ต่อ)

อาการปวดข้อที่ฉุกเฉินคือ อาการปวดข้อที่มีอาการเจ็บหนักร่วมด้วยหรือมีอุบัติเหตุที่ทำให้ข้อนั้นใช้ไม่ได้ทันที ทั้งในด้านเคลื่อนไหวและการรับน้ำหนัก หรือมีอาการปวดบวมแดงร้อนที่ข้อนั้น ให้การตรวจรักษาดังที่ได้กล่าวไว้ในฉบับก่อน

                                                 

สำหรับอาการปวดข้อที่ไม่ฉุกเฉินคือ ไม่มีลักษณะดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ส่วนใหญ่จะสามารถเองได้ และการรักษามักจะไม่ยุ่งยาก เช่น

1. ปวดข้อไหล่ มักเจ็บเวลายกแขนขึ้นเหนือศีรษะ หรือเวลาไขว้แขนไปแตะสะบัก(ไขว้แขนไปข้างหลัง) แต่อาจจะเจ็บในท่าอื่นๆก็ได้ เช่น ขณะกางแขน บิดแขน ยกของ เป็นต้น

สาเหตุ : มักเกิดจาก
1. การใช้ไหล่ข้างนั้นมากเกินไป หรือใช้ผิดท่า จนเอ็นปิดหัวไหล่อักเสบหรือฉีก ทำให้เจ็บและกดเจ็บตรงจุดที่เอ็นอักเสบหรือฉีก


2. การใช้ไหล่ข้างนั้นน้อยเกินไป
มักเป็นในไหล่ด้านตรงข้ามกับที่ถนัด และมักเป็นในคนสูงอายุ ไหล่ที่ไม่ได้เคลื่อนไหวบ่อยๆ จะเกิดการยึดติด ทำให้รู้สึกเจ็บเวลายกขึ้นเหนือศีรษะ แต่ถ้าปล่อยให้ห้อยไว้เฉย ๆ อาจจะไม่เจ็บ

3. การปวดร้าวมาจากที่อื่น
เช่น จากกระดูกคอทับหรือกดรากประสาท จากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด จากการอักเสบบริเวณกะบังลม หรือใกล้กะบังลม เช่น ปอดกลีบล่างอักเสบ ฝีในตับ ถุงน้ำดีอักเสบ เป็นต้น การปวดร้าวที่ทำให้ไม่ใช้ไหล่ข้างนั้นนานๆ จะทำให้ไหล่ยึดติด และเจ็บเวลาใช้เดียวกับข้อ 2
ในกรณีที่ปวดร้าวจากกระดูกคอรู้ได้เพราะเวลาเอี้ยวคอ หรือเงยคอ จะเจ็บเสียวมากขึ้น

ในกรณีที่เกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด มักเกิดหลังออกกำลังเครียด นั่งพักประมาณ 5-1o นาทีก็หาย

ในกรณีที่เกิดจากปอดอักเสบ มีกมีอาการไข้และไอร่วมด้วย

ในกรณีที่เกิดจากฝีในตับ มักมีไข้ เจ็บและกดเจ็บบริเวณชายโครงขวาและตับ โดยเฉพาะเวลาทุบเบา ๆ ที่บริเวณตับ (ชายโครงขวา)

ในกรณีที่เกิดจากถุงน้ำดีอักเสบ มักมีไข้ กดเจ็บที่ใต้ชายโครงขวา ตรงบริเวณถุงน้ำดี อาจมีอาการตัวเหลืองตาเหลืองด้วย

สำหรับกรณีต่าง ๆ เหล่านี้ที่อาการปวดข้อไหล่เกิดจากการปวดร้าวมาจากอวัยวะอื่นควรไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจให้รู้แน่ว่าเกิดจากสาเหตุอะไร จะได้รักษาให้ถูกต้อง

ส่วนกรณีที่ปวดข้อไหล่จากการใช้มากเกินไป น้อยเกินไป หรือไม่ถูกต้อง ซึ่งมักจะปวดมากเมื่อยกหรือเคลื่อนไหวข้อไหล่ในท่าหนึ่งท่าใดเท่านั้น ไม่ใช่ทุกท่า ให้ทำดังนี้
1. พักข้อไหล่ข้างนั้น นั่นคือไม่เคลื่อนไหวแขน ไม่ยกของหนัก ถ้าปวดมาก เวลานั่ง ยืน หรือเดิน ควรใช้ผ้าคล้องแขนไว้กับคอ เพื่อไม่ให้น้ำหนักแขนถ่วงไหล่มากเกินไป

2. อย่านอนทับไหล่ข้างนั้น

3. ใช้ของร้อน เช่น ถุงน้ำร้อนห่อด้วยผ้า ใบพลับพลึงลนไฟจนอ่อน ยาหม่อง น้ำมันนวด เป็นต้น นวดหรือประคบบริเวณที่ปวด

4. ถ้าอาการปวดข้อไหล่นั่นไม่ดีขึ้น และทำท่าว่าจะคิด (เคลื่อนไหวได้น้อยลง) ควรจะพยายามเคลื่อนไหวข้อไหล่เพิ่มขึ้น เช่น

ใช้มือไต่ฝาผนัง เพื่อให้แขนของไหล่ข้างที่เจ็บยกสูงขึ้นช้า ๆ จนกระทั่งเจ็บไหล่จนทนไม่ได้ จึงหยุดอยู่สักพัก แล้วค่อย ๆ ไต่ฝาผนังลง (ดูรูปที่ ) แล้วทำใหม่หลาย ๆ ครั้งจนเมื่อย วันหนึ่งให้ทำหลาย ๆ ครั้ง จนสามารถยกแขนได้สูงขึ้น ๆ

ใช้เชือกคล้องกับกิ่งต้นไม้ หรือขื่อคา แล้วใช้มือจับปลายเชือกแต่ละข้างให้แน่น เมื่อมือขวาดึงเชือกลงมือซ้ายก็จะถูกเชือกดึงขึ้น กะระยะเชือกให้พอดีที่มือขวาจะดึงเชือกให้เชือกดึงมือซ้ายจนแขนซ้ายเหยียดตรงเหนือศีรษะ (ดูรูปที่ ) แล้วจึงใช้มือซ้ายดึงเชือกลงให้เชือกดึงมือขวาขึ้นจนแขนขวาเหยียดตรงเหนือศีรษะ สลับกันไปมาเช่นนี้ จนเมื่อยจึงหยุด วันหนึ่ง ๆ ให้ทำหลาย ๆ ครั้งจนสามารถยกแขน (ยกไหล่) ข้างที่ติดให้สูงขึ้น ๆ

5. ถ้าอาการปวดเป็นมาก ให้กินแอสไพริน ครั้งละ 2-4 เม็ดหลังอาหารทันที หรือขณะกินอาหารอิ่มใหม่ ๆ วันละ 3-4 ครั้ง ถ้ากินแล้วปวดท้อง หรือแสบท้อง หรือเรอเปรี้ยว ให้กินยาลดกรด 2 ช้อนโต๊ะ หรือ 2 เม็ดทุกครั้งที่มีอาการดังกล่าว และกินยาลดกรดเป็นประจำวันละ 4 ครั้ง หลังอาหาร 1-2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการระคายกระเพาะของแอสไพริน

สำหรับคนที่แพ้ยา หรือเป็นแผลในกระเพาะลำไส้ หรือกินยานี้ครั้งใดทำให้มีอาการทางท้องมาก (กินยาลดกรดไม่หาย) ควรจะกินยาพาราเซตามอลแทน ครั้งละ 1 เม็ด วันละ 2-4 ครั้งหลังอาหาร ถ้าไม่ดีขึ้นอาจจะต้องใช้ยาแก้อาการปวดข้ออื่น เช่น อินโดเมทาซิน (indomethacin) หรือนาโพรเซน (naproxen) ร่วมด้วย ยาเหล่านี้จะระคายกระเพาะอาหารเช่นเดียวกับแอสไพริน จึงควรกินยาลดกรดร่วมด้วยเสมอ

ถ้ายังปวดมาก ควรไปหาแพทย์ แพทย์จะตรวจดูว่า เป็นการปวดนอกข้อไหล่ตรงจุดไหน(มักจะเป็นจุดที่กดเจ็บที่สุด) ซึ่งแพทย์จะฉีดยาแก้อักเสบ ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นสเตอรอยด์สำหรับฉีดเข้าข้อฉีดเข้าตรงจุดที่กดเจ็บนั้น และทำให้อาการดีขึ้นอย่างรวดเร็วภายใน 1 วัน

อาการปวดข้อไหล่ ส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดที่ข้อโดยตรง คือไม่ได้เป็นอาการข้ออักเสบ (arthritis) แต่เป็นการอักเสบที่เอ็น เนื้อเยื่อ เบาะน้ำ (สำหรับรับแรงเสียดสี) หรืออื่นๆ รอบ ๆ ข้อไหล่

ฉบับหน้าอ่านอาการปวดข้อไหล่ที่พบบ่อย เช่น เอ็นอักเสบ

ข้อมูลสื่อ

102-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 102
ตุลาคม 2530
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์