• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจนับการหายใจ

“การหายใจ” เป็นการแสดงการสูดออกซิเจนเข้าสู่ร่างกาย โดยผ่านจมูก หลอดลม และปอด ที่เรียกว่า การหายใจเข้า และเป็นการแสดงการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากร่างกายโดยผ่านปอด หลอดลม และจมูก ที่เรียกว่า การหายใจออก การตรวจนับการหายใจเป็นการสังเกตว่ามีการหายใจที่ผิดปกติหรือไม่ ในจังหวะ และจำนวนครั้ง/นาที โดยวิธีการสังเกตไม่ให้ผู้ถูกสังเกตรู้ตัว เพราะอาจทำให้ขัดเขินหายใจเร็วขึ้นหรือช้าลงได้

                                             

วิธีการสังเกต

1. ผู้ถูกสังเกตอาจนอนหงายหรือนอนตะแคงหรือนั่งในท่าที่สบาย
2. สังเกตการณ์หายใจเข้าโดยดูหน้าอกที่พองขึ้น และการหายใจออกโดยดูหน้าอกที่ยุบลง นับเป็นการหายใจ 1 ครั้ง
3. นับจำนวนครั้งการหายใจใน 1 นาที

“การหายใจปกติ”
ผู้ใหญ่จะมีการหายใจประมาณ 16-20ครั้งต่อนาที เด็กจะมีการหายใจที่เร็วกว่า
การมีไข้สูง จะทำให้การหายใจเร็วขึ้น

“การหายใจที่ผิดปกติ”
คือการหายใจที่เร็วมาก ซึ่งอาจเรียกอาการหายใจเร็วนี้ว่า “หอบ” ผู้ที่มีอาการหอบจะแสดงอาการเหนื่อยเวลาหายใจเข้าหน้าอกจะบุ๋ม บางครั้งมีหน้าเขียวเพราะขาดออกซิเจน

ในรายที่มีอาการอุดตันทางเดินหายใจเป็นบางส่วน เช่น เด็กมีเมล็ดผลไม้ติดหลอดลมจะแสดงอาการ
“หายใจลำบาก”
เวลาหายใจเข้าหน้าอกจะบุ๋ม ริมฝีปากอาจเขียวเพราะออกซิเจนไม่พอ

บางรายการหายใจขาดเป็นห้วงหรือหายใจหยุดเป็นพักๆ

บางรายมีเสียงดังผิดปกติเวลาหายใจออก เช่น ผู้ที่เป็นโรคหอบหืด เวลาหายใจออกจะมีเสียงดังวี๊ดๆ เด็กที่เป็นไอกรน หลังจากการหยุดไอจะมีเสียงดังรูป เป็นต้น

ข้อมูลสื่อ

102-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 102
ตุลาคม 2530
พยาบาลในบ้าน
ดร.จริยาวัตร คมพยัคฆ์