• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การพิทักษ์ดวงตาในวัยสูงอายุ

การพิทักษ์ดวงตาในวัยสูงอายุ


ขึ้นชื่อว่า “แก่” หรือ “ชรา” ย่อมเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ไม่ค่อยมีท่านผู้ใดอยากจะมีคำนี้อยู่ในตัว หรือไม่ต้องการรับว่า ตนเองกำลังดำเนินชีวิตอยู่ในระยะของวัยดังกล่าว คือ วัยชรา หรือ คนแก่ จะเป็นด้วยเหตุผลอันใดก็รู้ ๆ อยู่ จะมีใครบ้างที่จะยอมรับว่าตนเองแก่แล้ว ร้อยทั้งร้อยพูดได้เต็มเสียงว่า “ข้ายังไหวเสมอนะ”
ตามหลักของสีรรวิทยา ทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินไปตามอายุของมันเป็นวิถีทางที่ไม่สามารถจะเลี่ยงให้พ้นได้ แม้ว่าจิตใจยังบอกว่าเข้มแข็งอยู่ ร่างกายนั้นเมื่อมีการเจริญเติบโตและเสริมสร้างสิ่งต่าง ๆ จนถึงระดับหนึ่งแล้ว จากนั้นจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางเสื่อมสลาย แล้วหยุดหรือตายไปในที่สุด ไม่วันนี้ก็พรุ่งนี้ ไม่พรุ่งนี้ก็มะรืนนี้เรื่อยไป จนถึงวันของมันเข้าจนได้

ดังที่ทราบกันแล้วว่า เมื่อย่างเข้าสู่วัยดังกล่าว ร่างกายย่อมแปรเปลี่ยนไป จึงพบอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันว่า บุคคลที่ย่างเข้าสู่วัยเกิน 40 หรือ 44 ขึ้นไป มักพบมีโรคเข้ามาแทรกแซง ไม่โรคก็โรคหนึ่งอยู่เสมอ อีกทั้งมีผลทำให้เกิดภาวะเจ็บไข้ได้ป่วยง่าย บางครั้งบางคราว โรคที่ตัวเองเคยได้ยิน ได้ทราบจากคนอื่น ก็เผอิญเข้ามาเยี่ยมเยียนตัวเองเข้าให้แล้ว โดยไม่นึกฝันมาก่อน เป็นต้นว่า “โรคความดันโลหิตสูง” ทั้งนี้อาจจะเผอิญตรวจพบโดยไม่ได้ตั้งใจ หรือ “โรคเบาหวาน“โรคหัวใจ” “โรคหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ” เช่นกัน สักวันหนึ่งอาจจะย่างกรายเข้ามาจนได้ ทั้งนี้ไม่ต้องกล่าวถึงเจ้า “โรคมะเร็ง” อันเป็นศัตรูหมายเลขหนึ่งซึ่งไม่แน่นอนว่าจะเกิดได้ในบุคคลชนิดไหน ๆ ยากดีมีจนพบได้หมด ทั้งหมดดังกล่าวนั้น มักจะเริ่มมีบทบาทเมื่อเรา ๆ ท่าน ๆ มีอายุย่างเข้าสู่วัยชรา หรือก่อนชรา ไม่มากก็น้อยเกือบทุกคน จะมีที่ยกเว้นไปบ้างคงไม่มากนัก ถือว่าจัดอยู่ในพวก “อโรคยา ปรมา ลาภา” ไป

ที่จะกล่าวต่อไปนี้ ไม่รวมถึงโรคต่าง ๆ ที่ยกตัวอย่างมาแล้วนั้น หากแต่จะเน้นหนักไปในแง่ของการใช้ประสาทสัมผัสเกี่ยวกับการมองเห็น ซึ่งได้แก่ “ลูกตา” เท่านั้น เพราะอวัยวะอันนี้มีบทบาทไม่แพ้โรคต่าง ๆ ที่อาจจะย่างกรายเข้ามาได้เช่นเดียวกับโรคอื่น ๆ แต่มาในรูปของการมองเห็น ถือว่ามีความสำคัญอยู่ในอันดับแนวหน้าอันหนึ่งทีเดียว
ยกตัวอย่างง่าย ๆ มีบุคคลใดบ้างที่ย่างเข้าสู่วัยชราแล้วยังสามารถมอง หรือทำงานละเอียด เช่น อ่านหนังสือพิมพ์ โดยไม่อาศัยแว่นตาเข้าช่วย น้อยคนนักที่จะเป็นเช่นนั้น เว้นแต่ในรายที่พยายามฝืนความรู้สึก หรือทรมาน เพื่อความเก๋ เพื่อเสริมบุคลิกแห่งตน อันไม่พึงบังควรเท่านั้น ซึ่งก็น้อยเต็มที

มีโรคอะไรบ้างที่เกี่ยวกับการมองเห็นหรือการใช้ประสาทดวงตา อันทำให้ประสาทดวงตาต้องเสื่อม หรือได้รับผลกระทบระเทือน เมื่อย่างเข้าสู่วัย 40 หรือมากกว่านั้นขึ้นไป ดังจะกล่าวพอสังเขปต่อไปนี้
1. ความผิดปกติในสายตา
เมื่ออายุเข้า 40 หรือมากกว่า สายตาจะเริ่มฝ้าฟางมัวลงกว่าเดิมจนสังเกตได้ชัด โดยเฉพาะท่านที่ต้องทำงานเพ่งสายตาเกือบตลอดวัน เช่น ตรวจสอบบัญชีตัวเลขหรือพิมพ์ดีด เย็บผ้า เป็นต้น จะรู้สึกเกิดความไม่สบายตาขึ้นมาทันที มีอาการปวดศีรษะ หรือมองไม่ชัดเข้ามาแทนที่ ที่เป็นดังนี้แสดงว่ากลไกในการมองภาพหรือปรับภาพให้ชัดของท่านผู้นั้นกำลังอ่อนตัวลง จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องอาศัยแว่นตาเข้าช่วยสำหรับการมองในระยะใกล้ให้เกิดความสบายตา ที่เรียกกันว่า “แว่นคนแก่” นั่นก็เป้นความผิดปกติอันที่หนึ่ง
หรืออาจเกิดภาวะ “ตาเอียง” เป็นแบบตาเอียงในแนวตั้ง ซึ่งต้องตรวจด้วยเครื่องมือพิเศษ ทั้งนี้เนื่องจากความโค้งของแก้วตาแนวตั้งนั้นแฟบลง

2. ตาเป็นต้อ
ในวัยดังกล่าวอาจเกิดโรคขึ้นที่ลูกตาได้หลายอย่าง จะกล่าวแต่เฉพาะที่พบเสมอ ๆ เท่านั้น คือ

ก. ต้อกระจก คือ ต้อที่เกิดจากภาวะเลนส์แก้วตาขุ่นขาว เกิดจากการเปลี่ยนแปลงที่ตัวเลนส์ เนื่องจากภาวะหลาย ๆ อย่างประกอบกัน ทำให้สายตามัวลงได้ เป็นโรคที่ไม่น่ากลัวอะไรมากนัก สามารถจะรักษาให้หายได้ (ดู “หมอชาวบ้าน” ปีที่ 1 ฉบับที่ 8)

ข. ต้อหิน เป็นโรคที่มาคู่ควบดุจแฝดพี่กับน้องกับต้อกระจก หากแต่รุนแรงและน่ากลัวกว่า รักษาไม่ถูกต้องอาจถึงบอดได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว พวกนี้จะมีอาการปวดตาเป็นอาการสำคัญ และมัวลงเรื่อย ๆ (ดู “หมอชาวบ้าน” ปีที่ 1 ฉบับที่ 6)

ค. ต้อเนื้อ คือ เยื่อพังผืดยื่นเข้าไปในแก้วตาดำ ภาวะเช่นนี้อาจจะพบได้ทั้งในคนหนุ่มสาวหรือย่างเข้าสู่วัยชราไม่น่ากลัวอะไรนัก

3. วุ้นในลูกตาขาวขุ่น
ผู้อยู่ในวัยเหล่านี้ บางคนอาจจะบ่นว่ามองเห็นเป็นประกายระยิบระยับเต้น-ไหว ๆ อยู่ต่อหน้า หรืออาจพบมี เส้นดำ ๆ หรือเป็นจุดดำ ๆ ลอยไปลอยมาอยู่ตรงหน้า คล้ายแมลงหวี่หรือแมลงวัน จะบินมาเกาะหน้าผาก แต่พอตั้งใจจะมองให้เห็นชัด ๆ ว่าจุดดำนั้นอยู่ตรงไหนแน่ก็มองไม่ได้ เป็นเพราะวุ้นลูกตาด้านหลังเกิดภาวะขาวขุ่นเป็นจุด หรือเป็นเส้นขึ้นมาตามภาพที่เห็นลอยวนเวียนอยู่ต่อหน้าขณะนั้น

4. จอภาพลูกตาเกิดภาวะเปลี่ยนแปลง

พื้นจอรับภาพลูกตาด้านหลัง เกิดภาวะเปลี่ยนแปลงไปในทางเสื่อมสลายตามอายุของมันเอง หรือเป็นผลต่อเนื่องมาจากการเป็น ‘โรคความดันโลหิตสูง” หรือ “โรคเบาหวาน” อยู่นาน ๆ จึงทำให้หลอดเลือดฝอยที่หล่อเลี้ยงจอรับภาพเปลี่ยนแปลง แข็งตัว ภาวะดังกล่าวทำให้การมองเห็นมีผลกระทบกระเทือนไปด้วย จำเป็นต้องขจัดต้นเหตุให้หายเสียก่อนจึงจะดีขึ้น



นอกจากที่ได้บรรยายมา 4 ข้อแล้ว ถ้าอายุมากขึ้นไปอีกขนาดที่เรียกว่า “สุกงอม อาจพบภาวะหนังตาบนห้อยย้อยลงมาเกือบปิดตา หรือ “เปลือกตาล่างแบะออก” ซึ่งมีผลทำให้น้ำตาไหลอยู่เสมอ และมักพบได้บ่อย ๆ
เท่าที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับตาในผู้สูงอายุ พอสังเขป ส่วนเรื่องของการพิทักษ์ดวงตาเมื่อเข้าสู่วัยชราที่กล่าวแล้วนั้น เป็นเรื่องที่ควรพึงกระทำอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับความผิดปกติในสายตา คงไม่มีปัญหาอะไรมากนัก อาศัยแว่นตาก็จะค่อยทุเลาไป แต่สำหรับเรื่องต้อที่ตานั้นควรจะได้มีการตรวจดู อย่างน้อยปีละครั้ง หรือสองปีต่อครั้ง เพื่อพิสูจน์ให้แน่ว่าตนเองเริ่มมีอาการของโรคดังกล่าวหรือยัง โดยเฉพาะ “ต้อหิน” มักจะจู่โจมแบบไม่รู้ตัวทั้งยังรักษายากอีกด้วย เป็นโรคที่พึงควรระวังอย่างยิ่ง สำหรับต้อกระจกคงไม่มีปัญหาอะไรมากนัก เพราะศัลยกรรมใหม่ได้วิวัฒนาการไปมาก สามารถช่วยรักษาโรคต้อชนิดนี้ให้หายได้เป็นปลิดทิ้ง
ส่วนภาวะวุ้นแก้วตาขุ่นนั้นทางแก้ไม่มี ต้องถือเป็นเรื่องบุญเรื่องกรรมไป

จอรับภาพเปลี่ยนแปลงไป สามารถจะแก้ได้โดยขจัดต้นเหตุที่สืบเนื่องต่อกันมา เช่น เหตุที่สืบเนื่องต่อกันมา เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน เว้นแต่ในรายที่ไม่ทราบสาเหตุเลย ก็ย่อมจะแก้ไขได้ยาก

 

ข้อมูลสื่อ

16-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 16
สิงหาคม 2523
โรคตา
นพ.สุรพงษ์ ดวงรัตน์