• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจร่างกาย (ตอนที่ 11)

การตรวจร่างกาย (ตอนที่ 11)


ข. การตรวจสิ่งแสดงชีพ
นอกจากการตรวจชีพจรที่ได้กล่าวถึงในฉบับก่อนแล้ว การตรวจสิ่งแสดงชีพ ยังหมายถึงการตรวจ

2. การหายใจ (breathing หรือ respiration) 
การตรวจการหายใจ คือ การสังเกตการณ์เคลื่อนไหวของทรวงอกและหน้าท้องที่เกิดขึ้นจากการสูดลมเข้า (หายใจเข้า) และเป่าลมออก (หายใจออก) ตลอดจนอากัปกิริยาต่าง ๆ ที่เกิดร่วมกับการหายใจนั้น
การตรวจการหายใจโดยทั่วไป มักจะตรวจ

2.1 อัตราหายใจ (respiratory rate)  คือ ตรวจดูว่าหายใจนาทีละกี่ครั้ง โดยนับการเคลื่อนไหวของทรวงอกหรือหน้าท้องที่กระเพื่อมขึ้นหรือลงเป็นจำนวนกี่ครั้งต่อหนึ่งนาที จำนวนครั้งต่อนาทีต่อการเคลื่อนไหวของทรวงอกหรือหน้าท้องที่เกิดจากการหายใจคือ อัตราหายใจ นั่นเอง
อัตราหายใจ ในคนปกติ จะแตกต่างกันบ้างระหว่างผู้ใหญ่กับเด็ก ผู้หญิงกับผู้ชาย ร่างกายใหญ่กับเล็ก
โดยทั่วไป ผู้ใหญ่จะหายใจน้อยครั้งกว่าเด็ก หรือคนรูปร่างเล็ก จะหายใจบ่อยครั้งกว่าคนรูปร่างใหญ่ และหญิงจะหายใจบ่อยครั้งกว่าชาย

อัตราหายใจในผู้ใหญ่ในขณะพัก (นั่งพัก นอนพัก) จะประมาณ 12-28 ครั้งต่อนาที ในเด็กจะประมาณ 16-24 ครั้งต่อนาที เด็กยิ่งเล็ก ยิ่งหายใจเร็ว

ถ้าตรวจการหายใจ แล้วพบว่า คนไข้หายใจเร็วกว่าปกติมาก (อัตราหายใจสูง) มักแสดงว่า คนไข้กำลังตื่นเต้น ตกใจ กลัว หรือ เครียด เพราะว่าเดินทางมาถึงใหม่ ๆ (นั่นคือ ยังเหนื่อยอยู่) หรือ คนไข้มีความผิดปกติในปอดหรือในทางเดินหายใจ (ทางเดินหายใจได้แก่ จมูก คอ หลอดลม ทั้งใหญ่และเล็ก เป็นต้น) เช่น หลอดลมตีบ (โรคหืด โรคหลอดลม อักเสบเรื้อรัง) โรคปอดบวม ปอดอักเสบ ปอดคั่งน้ำ หรือปอดบวมน้ำจากภาวะหัวใจทำงานไมไหว (ภาวะหัวใจล้ม) เป็นต้น

ถ้าตรวจการหายใจ แล้วพบว่าคนไข้หายใจช้ากว่าปกติมาก (อัตราหายใจต่ำ) มักจะแสดงว่าคนไข้มีความผิดปกติในสมอง เนื่องมาจากกินยาหรือได้รับยาที่ไปกดการหายใจ เช่น ฝิ่น มอร์ฟีน เฮโรอีน หรือยาแก้ไอหรือยาแก้ท้องเดินที่เจ้าสารจำพวกนี้ หรือสมองเกิด..อักเสบ หรืออื่น ๆ
อัตราหายใจจึงมีส่วนช่วยบอกสภาวะของระบบหายใจ และสภาวะทางร่างกายส่วนอื่นซึ่งส่งผลสะท้อนมาถึงระบบหายใจ

การฝึกนับอัตราหายใจไม่ใช่ของลำบากยากเย็นอะไร อาจทำได้โดยใช้ตามองการเคลื่อนไหวของทรวงอกหรือหน้าท้องแล้วมองนาฬิกาด้วย หรือใช้มือข้างหนึ่งวางไว้ที่ทรวงอกหรือหน้าท้องเพื่อรับความเคลื่อนไหวในขณะที่ตาจ้องมองนาฬิกาอยู่ก็ได้
ฝึกนับอัตราหายใจสัก 2-3 ครั้ง ก็จะทำให้นับอัตราหายใจได้
เนื่องจากอัตราหายใจของคนแต่ละคนไม่เท่ากัน การติดตามอัตราหายใจของคนไข้แต่ละคนจะทำให้ทราบการดำเนินโรคของคนไข้ได้ เช่น

คนไข้โรคปอดบวม ในขณะที่มาหาหมอ อัตราหายใจ= 30 ครั้งต่อนาที วันต่อมา ถ้าอัตราหายใจลดลงเหลือ 24 ครั้งต่อนาที ก็แสดงว่าคนไข้คงจะดีขึ้นบ้างแล้ว แต่ถ้าอัตราหายใจเพิ่มขึ้นเป็น 40 ครั้งต่อนาที ก็มักจะแสดงว่าคนไข้ทรุดลง เป็นต้น

2.2 ความตื้นลึกของการหายใจ (depth of respiration) คนเราหายใจตื้นก็ได้ลึกก็ได้ ขึ้นกับความต้องการของร่างกายในขณะนั้น หรือขึ้นกับความต้องการทางจิตใจของคน ๆ นั้น
ในการหายใจตามปกติในขณะพัก ผู้ใหญ่จะหายใจเอาอากาศเข้าและออกครั้งละประมาณ 400 -500 มิลลิลิตร (ประมาณครึ่งลิตร) ซึ่งเพียงพอจะทำให้เห็นการเคลื่อนไหวของทรวงอกส่วนล่าง (ส่วนชายโครง) และหน้าท้องเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ถ้าเมื่อใด เห็นการเคลื่อนไหวของอกส่วนบนของกระดูก ไหปลาร้า หรือของไหล่ หรืออกส่วนล่างหรือหน้าท้องเคลื่อนไหวมาก แสดงว่าเมื่อนั้นการหายใจลึกกว่าปกติ ซึ่งอาจเกิดจากการถอนหายใจ การไอ การจาม การผิดปกติในปอดหรือทางเดินหายใจ หรืออื่น ๆ
ถ้าเมื่อใด ไม่เห็นการเคลื่อนไหวของทรวงอกและหน้าท้องในขณะหายใจ หรือเห็นน้อยมาก แสดงว่าเมื่อนั้นการหายใจตื้นกว่าปกติ ซึ่งอาจเกิดจากความตั้งใจที่จะหายใจตื้นๆหรือเกิดจากความผิดปกติในสมองหรืออื่นๆ
คนที่หายใจลึกมาก ๆ หรือเร็วมาก ๆ เพราะความกลัว ความแค้น หรือความเครียดจะขับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากร่างกายมากกว่าที่ควร ทำให้เกิดอาการชาเจ็บ(เป็นเหน็บ) ที่ปลายมือปลายเท้า

และถ้ายังหายใจลึกมาก ๆ หรือเร็วมาก ๆ ต่อไปอีก ก็จะเกิดอาการแขนขาเกร็ง ปวด มือจีบ นิ้ว(มือจีบเข้าหากัน) เป็นมือหมอตำแย (ดูรูปที่ 1 และรายละเอียดในหมอชาวบ้าน ประจำเดือน มีนาคม พ.ศ.
2523)

   

ถ้ายังหายใจแบบนั้นต่อไปอีก อาจเกิดอาการแข็งเกร็งและชักกระตุกได้

ให้แก้โดยหาถุงกระดาษหรือถุงพลาสติกขนาดใหญ่ครอบปากครอบจมูกของคนไข้ แล้วให้คนไข้หายใจในถุงนั้นสักพัก อาการชักกระตุก เกร็ง และปวดจะค่อย ๆ ดีขึ้นและหายไป ก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ที่ถูกขับออกในขณะหายใจออกจะสะสมกันอยู่ในถุง และถูกหายใจกลับเข้าไปใหม่
คนที่หายใจตื้นมาก ๆ จนไม่เห็นการเคลื่อนไหวของทรวงอก หรือหน้าท้องหรือเห็นน้อย จะทำให้ขาดกำลัง อ่อนเพลีย ซึม และถ้าเป็นมาก อาจหมดสติได้
ให้แก้โดยกระตุ้นให้ตื่น หรือบอกให้หายใจลึก ๆ หรือทำให้โกรธ คนไข้จะได้หายใจลึกขึ้นและเร็วขึ้น และพ้นจากอาการดังกล่าวได้
การสังเกตความตื้นลึกของการหายใจในคนรูปร่างต่าง ๆ กัน จะช่วยให้ทราบถึงเกณฑ์ปกติ ทำให้ทราบว่าคนรูปร่างแบบนั้นควรจะหายใจแล้วเห็นการเคลื่อนไหวของส่วนใดบ้าง เมื่อพบการหายใจที่ตื้นหรือลึกไปจากนั้น จะได้รู้ว่า มันผิดปกติ


 

2.3 รูปลักษณะของการหายใจ คนเราปกติหายใจเข้าหายใจออกด้วยระยะเวลาใกล้เคียงกัน ซึ่งถ้าเขียนเป็นรูปก็จะได้ดังรูปที่ 2 ก.
เมื่อหายใจธรรมดาอยู่สักพักหนึ่งแล้ว จะมีการหายใจลึก ๆ สัก 1-2 ครั้งสลับ เพื่อให้ปอดขยายตัวเต็มที่เป็นพัก ๆ ดังรูปที่ 2 ข.
จากรูปที่ 2 ข. จะเห็นว่าการหายใจตามปกตินั้นจะมีลมเข้าออกจากปอดน้อยกว่าในขณะหายใจเต็มที่หลายเท่าตัว
การหายใจลึก ๆ เป็นครั้งคราว จึงช่วยทำให้ปอดขยายตัว ป้องกันไม่ให้ปอดบางส่วนแฟบ และช่วยการไหลเวียนเลือดด้วย
การหายใจเข้าออกตามปกติ และการหายใจลึก ๆ เป็นครั้งคราว ตามปกตินั้นเกิดขึ้นเองโดยเราไม่รู้สึกตัว ยกเว้นเสียแต่ว่าเราจะไปเพ่งจิตเพ่งสมาธิที่การหายใจ เราก็จะรู้สึกว่าเรากำลังหายใจเข้าออกได้
แต่ถ้าใครคนใดคนหนึ่งไปเพ่งจิตที่การหายใจ จนรู้สึกว่าตนเองหายใจไม่อิ่ม หายใจไม่เต็มปอด แล้วเราสังเกตเห็นว่าใครคนนั้น ต้องหายใจลึก ๆ หรือถอนหายใจอยู่บ่อย ๆ ก็ให้คิดว่า ใครคนนั้นคงจะมีเรื่องห่วงกังวล หงุดหงิด คิดมาก หรือมีปัญหาทางจิตใจเสียแล้ว หรือบางคนอาจจะถึงขั้นที่เรียกว่า โรคประสาทก็ได้
นอกจากการหายใจเข้าออกตามธรรมดา รูปลักษณะการหายใจของคนเรายังแบ่งออกได้เป็นรูปลักษณะต่าง ๆ คือ

ก. รูปลักษณะของการหายใจปกติ: ในขณะพัก(นั่งพัก นอนพัก) คนปกติจะหายใจเป็นรูปลักษณะ 3 อย่างด้วยกัน คือ

ก.1 หายใจด้วยอก : คือจะเห็นการเคลื่อนไหวของทรวงอกเท่านั้นในขณะหายใจ มักจะพบในคนที่ท้องตึงมาก เช่นอ้วนมาก หรือรัดท้องไว้ด้วยเข็มขัด กางเกงรัดรูป สเตย์(ที่รัดหน้าท้องเพื่อไม่ให้ดูลงพุง) หรืออื่น ๆ การหายใจด้วยอกเกิดจากการใช้กล้ามเนื้อซี่โครง ซึ่งอยู่ระหว่างกระดูกซี่โครง

ก. 2 หายใจด้วยท้อง : คือ จะเห็นการเคลื่อนไหวของหน้าท้องเท่านั้นในขณะหายใจ มักจะพบในคนที่ไม่รัดเข็มขัด ไม่ใส่กางเกงรัดรูป และไม่สวมสเตย์ หรือในคนที่รัดหน้าอกไว้แน่น หรืออื่น ๆ การหายใจด้วยท้องจะใช้พลังงานน้อยกว่าการหายใจด้วยอก, การหายใจด้วยท้องใช้กะบังลม (ดูรูปที่ 3)

    


คนปกติจะหายใจเป็นจังหวะสม่ำเสมอ นาน ๆ ก็จะมีการหายใจเข้าออกยาว ๆ (ถอนหายใจ) สักครั้ง

ข. รูปลักษณะของการหายใจผิดปกติ : เช่น
ข.1 หายใจลำบาก (dyspnea) หมายถึงการหายใจที่ไหล่หรือกระดูกไหปลาร้ายกขึ้นยกลง ลูกกระเดือกวิ่งขึ้นวิ่งลง หรือปีกจมูก(จมูก) บานเข้าบานออก ซึ่งเป็นการหายใจที่ต้องใช้แรงเพิ่มขึ้น โดยได้รับการช่วยเหลือจากกล้ามเนื้อช่วยหายใจ (accessory muscles of respitation)

ในการหายใจตามปกติ คนเราจะใช้กล้ามเนื้อสำหรับการหายใจ คือกล้ามเนื้อซี่โครงและกล้ามเนื้อกะบังลมในการหายใจเท่านั้น เมื่อใดเราใช้กล้ามเนื้ออื่น เช่น กล้ามเนื้ออก กล้ามเนื้อคอ กล้ามเนื้อไหล่ ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อช่วยหายใจมาช่วยหามใจแล้ว เราเรียกการหายใจแบบนั้นว่า การหายใจลำบาก (dyspnea) ซึ่งในภาษาชาวบ้าน บางทีก็ใช้คำว่า “ปอบ”

คนเราจะหอบหรือหายใจลำบากในขณะออกกำลัง หลังออกกำลังใหม่ ๆ ขณะมีไข้สูง มีโรคปอดหรือหลอดลมอย่างรุนแรง มีโรคหัวใจหรือโรคในช่องท้อง โรคทางสมองหรือระบบประสาท หรืออื่น ๆ

         

ข. 2 หายใจถี่ลึก (hyperventilation) คือการหายใจที่เร็วและลึกกว่าปกติ (ดูรูปที่ 4 ข.)
การหายใจแบบนี้อาจเกิดจากความเครียด ความโกรธ ความกลัว ความตื่นเต้นที่มากเกินไป หรืออาจเกิดจากเลือดเป็นกรดมาก หรือเลือดออกในสมองส่วนกลาง หรืออื่น ๆ
 

ข. 3 หายใจลึกตื้นหยุด (cheyne-stoke’s respiration): คือการหายใจที่ลึกมากแล้วค่อย ๆ ตื้นเข้า ๆ จนหยุดหายใจใหม่สลับกันไปเช่นนี้ (ดูรูปที่ 4 ค)
การหายใจแบบนี้เกิดจากความผิดปกติในสมองส่วนหน้า มักพบในคนสูงอายุ เมื่อเลี้ยงไปเลี้ยงสมองไม่พอเพียง จากภาวะหลอดเลือดตีบแข็ง โดยเฉพาะในกรณีที่หัวใจทำงานไม่ไหว (ภาวะหัวใจล้ม) หรืออื่น ๆ เข้าแทรก

ข. 4 หายใจไม่เป็นส่ำ (ataxic respiration) คือการหายใจที่ไม่เป็นจังหวะจะโคน ลึกบ้างตื้นบ้าง ถี่บ้างห่างบ้าง หรือบางครั้งก็หยุดหายใจเสียเฉย ๆ (ดูรูปที่ 4 ง.)
การหายใจแบบนี้มักเกิดจากความผิดปกติในสมอง และถ้าเห็นการหายใจแบบนี้ ต้องระวัง เพราะคนไข้อาจจะหยุดหายใจเมื่อใดก็ได้ (ถ้าคนไข้หยุดหายใจ ต้องรีบช่วยหายใจด้วยการเป่าปาก)

ข. 5 หายใจเฮือก (gasping respiration) : คือ การหายใจเข้าที่นานกว่าปกติ และต้องใช้ความพยายามมาก คนไข้มักจะอ้าปาก และทำท่าคล้ายกับว่าต้องกระเสือกกระสนที่จะสูดอากาศเข้าไปในปอด คนไข้มักจะหายใจช้า
การหายใจแบบนี้ มักเกิดจากความผิดปกติในสมอง ซึ่งอาจสืบเนื่องมาจากความผิดปกติในส่วนอื่นของร่างกายหรือในร่างกายทั่วไป ถ้าเห็นการหายใจแบบนี้ ต้องระวัง เพราะคนไข้กำลังจะตาย
 

ข. 6 หายใจใกล้ตาย (air hunger) : คือการหายใจเข้าที่ต้องใช้กำลังมากผิดปกติ คล้ายการหายใจเฮือก แต่เป็นมากกว่า จนหน้าตาบิดเบี้ยว ตาเหลือกขึ้น คนไข้ไม่รู้สึกตัว นิ้วมือเท้าและริมฝีปากเขียว คนไข้มักจะหายใจช้า
การหายใจแบบนี้ มักเกิดในคนไข้ที่ใกล้ตาย ถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลือ คนไข้อาจจะตายในเวลาไม่กี่นาที การช่วยเหลือคือ การช่วยหายใจ การช่วยให้หัวใจส่งเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้พอเพียง และอื่น ๆ

การสังเกตการณ์หายใจในคนปกติ จนสามารถจำได้ว่า คนปกติหายใจอย่างไร เร็วช้าขนาดไหน (อัตราหายใจ) ตื้นลึกเท่าใด และมีรูปลักษณะอย่างไร จะช่วยให้สามารถสังเกตเห็นความผิดปกติได้ทันที เมื่อไปเจอคนที่หายใจผิดปกติ
 

จึงควรจะฝึกสังเกตการณ์หายใจของเพื่อนฝูง ญาติพี่น้อง หรือคนอื่น ๆ เป็นประจำ จะทำให้นำความสามารถในด้านนี้ไปใช้เป็นประโยชน์ได้เร็วขึ้น.

 

ข้อมูลสื่อ

17-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 17
กันยายน 2523
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์