• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจร่างกาย (ตอนที่ 18)

การตรวจร่างกาย (ตอนที่ 18)


การตรวจตามระบบ
การตรวจตา (ต่อ)
นอกจากจะตรวจคิ้วและหนังตา ดังที่ได้กล่าวถึงในฉบับก่อนแล้ว การตรวจตายังประกอบด้วยการตรวจ

 

                                                      

 3. ขนตา
คือ ขนที่เรียงกันอยู่เป็นแถวที่ขอบหนังตาบนและล่างโดยปกติ ขนตาจะเรียงกันเป็นแถวเป็นแนว ขนตาของแต่ละคนอาจจะยาวหรือสั้น งอนหรือตรงสีดำหรือสีน้ำตาลได้ตามเชื้อพันธุ์ และการปรุงแต่งต่อเติม
อย่างไรก็ตาม การปรุงแต่งต่อเติมให้ผิดจากธรรมชาติ จะทำให้หน้าที่ของขนตาเสียไปได้ เช่น ทำให้ขนตาทำหน้าที่ป้องกันและปัดฝุ่นผง หรือเหงื่อไคลที่ย้อยลงมาจากหน้าผากให้พ้นจากลูกตาไม่ได้ เพราะเจ้าประคุณเธอไปตัดขนตาให้มันงอนเช้งจนไม่ปกป้องลูกตาเลย หรือการเอาขนตาปลอมไปเพิ่มเสริมจนรกรุงรังเพิ่มความสกปรก เป็นต้น

ขนตาอาจจะสั้นหรือยาว มีน้ำตาลหรือดำ ตรงหรืองอน ก็ได้ ตามปกติ แต่ที่มักจะสังเกตเห็นความผิดปกติได้ง่าย คือ ขนตาไม่เป็นระเบียบ คือ ไม่เป็นแถวเป็นแนวเดียวกัน มักเกิดจากการอักเสบที่หนังตา เช่น กุ้งยิง ทำให้ขนตาถูกดึงให้หันเหไปจากที่เดิม ถ้าขนตาถูกดึงให้หันเหกลับเข้าไปข้างใน อาจจะไปทิ่มแทงลูกตา ทำให้เกิดการอักเสบบ่อย ๆ

ดังนั้น คนที่ชอบตาแดง หรือตาอักเสบบ่อย ๆ จะต้องสังเกตดูว่า มีขนตาผิดปกติหรือไม่ อาจจะมีขนตาเพียงเส้นเดียวหันเหกลับเข้าข้างในคอยทิ่มแทงลูกตาเวลากระพริบตาหรือหลับตา ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ต้องถอนขนตาเส้นนั้นออก (ดูรูป) 

 

4. ขี้ตา 
คนปกติจะมีขี้ตาเพียงเล็กน้อยโดยเฉพาะเวลาตื่นนอน และขี้ตามักจะมีลักษณะคล้ายแป้งเหนียว ๆ สีจาง ๆ เพียงเล็กน้อยที่บริเวณขอบตาหรือเป็นจุดเล็ก ๆ อยู่ที่หัวตา
คนที่มีขี้ตามาก หรือมีขี้ตาจนลืมตาไม่ขึ้น หรือขี้ตาสีเขียว สีเหลือง หรือมีลักษณะคล้ายหนองมักจะแสดงว่ามีการอักเสบที่ตาจะเป็นการอักเสบภายในลูกตาหรือที่เยื้อบุตา หรือที่มักจะเรียกกันทั่วไปในภาษาชาวบ้านว่า ตาแดง หรือ ตาอักเสบ

 


5. น้ำตา 
คนปกติจะมีน้ำตาคอยหล่อเลี้ยงเยื่อบุตา และลูกตาให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ ความผิดปกติจะเกิดขึ้นถ้า
5.1 น้ำตามากเกินไป คนที่มีน้ำตามาก มักเกิดจากภาวะทางจิตใจ เช่น ดีใจมากเกินไป เสียใจมากเกินไป เป็นต้น หรือเกิดจากภาวะภูมิแพ้ เช่น แพ้ฝุ่น แพ้ความร้อน แพ้ความเย็น เป็นต้น หรือเกิดจากการถูกระคายเคืองด้วยสิ่งต่าง ๆ เช่น ฝุ่นผง แก็สน้ำตา พริก เป็นต้น
ดังนั้น ถ้าตรวจคนไข้ แล้วเห็นคนไข้มีน้ำตาคลออยู่ตลอดเวลา หรือนั่งซับน้ำตาอยู่ตลอดเวลา จะต้องนึกถึงภาวะดังกล่าวข้างต้นด้วยเสมอ

5.2 น้ำตาน้อยเกินไป จะสังเกตได้ เมื่อเห็นตา และเยื่อบุตาแห้ง ไม่ชุ่มชื่นเหมือนปกติ เมื่อน้ำตาน้อยเกินไป มักจะทำให้เกิดการอักเสบของตา ทำให้มีอาการตาแดง (ตาอักเสบ) ร่วมด้วย
ภาวะน้ำตาน้อยเกินไป จะพบได้ในโรคภูมิแพ้บางอย่าง (Sjogren’s syndrome) และโรคขาดวิตามินเอ เป็นต้น

5.3 น้ำตาเป็นหนอง คือ ลักษณะที่เรียกว่า ขี้ตาเป็นหนองนั่นเอง แต่แบบที่นักประพันธ์ชอบเขียนว่า ร้องไห้จนน้ำตาเป็นสายเลือด นั้นคงเกิดขึ้นยาก แต่ร้องไห้จนตาแดงเป็นสายเลือดนั้นเป็นไปได้ เพราะเวลาร้องไห้มากๆ ตาก็จะแดงและอักเสบได้

 

6. ลูกตา 
คือส่วนที่เป็นลูกกลม ๆ กลิ้งไปมาได้ กลอกไปมาได้ ลูกตานี้จะอยู่ในเบ้าตาที่เป็นโพรงอยู่ในกะโหลกศีรษะ
ลักษณะของลูกตาอาจจะบอกให้เราทราบถึงภาวะโรคภัยไข้เจ็บหลายชนิด เช่น

6.1 ตาโปน คือ ลูกตาที่โป่งพ้นเบ้าตาออกมามากกว่าปกติ การที่จะรู้ว่าตาโปนหรือไม่ ให้สังเกตลักษณะตาในคนปกติ (คนทั่วๆไปให้มากๆ เมื่อเห็นคนที่ตาโปน จึงจะรู้ว่า ตานี่โปนกว่าปกติ
ภาวะตาโปน มักพบได้ในโรคคอพอกเป็นพิษ โรคเนื้องอกหรือมะเร็งของตา หรือในเบ้าตา และโรคลิ้นหัวใจรั่วบางชนิด เป็นต้น (ดูรูป)
                                          

 
6.2 ตาลึก คือ ลูกตาที่บุ๋มลึกเข้าไปในเบ้าตามากกว่าปกติ การที่จะรู้ว่าตาลึกหรือไม่ ก็ให้สังเกตเปรียบเทียบกับคนปกติทั่วไปเช่นเดียวกัน ภาวะตาลึก มักพบได้ในภาวะขาดอาหาร และภาวะขาดน้ำมาก ๆ เช่น โรคท้องเดิน ท้องร่วง เป็นต้น

6.3 ลูกตานุ่ม ซึ่งรู้ได้โดยให้คนไข้หลับตา แล้วใช้นิ้วชี้กดลงบนหนังตาบนเพื่อสัมผัสความหยุ่นแข็งของลูกตาข้างในเทียบกับของคนปกติในวัยใกล้เคียงกัน ถ้านุ่มกว่าของคนปกติ คนไข้มักจะขาดน้ำ เช่น ในโรคท้องเดิน ท้องร่วง เป็นต้น

6.4 ลูกตาแข็ง คือสัมผัสกับความหยุ่นแข็งของลูกตาข้างในแล้วรู้สึกแข็งกว่าคนปกติ มักร่วมกับอาการปวดตา ตามัว และปวดศีรษะ ก็จะแสดงว่า ผู้ป่วยเป็นโรคต้อหิน ต้องรีบให้การรักษาโดยด่วน (ดูหมอชาวบ้าน ประจำเดือนตุลาคม 2522 และ กุมภาพันธ์ 2523 )

6.5 ตาเหร่ ตา
เข ถ้าเป็นมาแต่กำเนิด และอายุมากแล้วไม่ต้องทำอะไร แต่ถ้ายังเป็นเด็ก อาจจะให้บริหารลูกตาและใช้แว่นช่วย เพื่อลดอาการตาเหร่ ตาเขลง
ถ้าไม่ได้เป็นมาแต่กำเนิด แต่เพิ่งเกิดขึ้น จะแสดงว่าสมองหรือเส้นประสาทสมองที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อของลูกตาได้รับการกระทบกระเทือน ควรจะได้รับการตรวจรักษาจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้

 

7. เยื่อบุตา
ด้านนอกของลูกตา และด้านในของหนังตาจะถูกบุด้วยเยื่อบาง ๆ ซึ่งอาจเรียกว่า เยื่อบุตา ในคนปกติ เยื่อบุตาจะบางใส ทำให้เห็นเนื้อด้านใน
ถ้าเยื่อนี้หนาตัวขึ้น ก็จะผิดปกติ ที่พบบ่อยก็คือ ที่เยื่อบุตาตรงส่วนที่คลุมตาขาวอยู่ และจะเห็นชัดในขณะที่ลืมตาปกติ นั่นคือไม่ต้องเลิกหนังตา (ไม่ต้องแหกตา) จะเห็นเยื่อบุตาหนาตัวขึ้นมาก ถ้าเป็นน้อยอาจเห็นเป็นเยื่อหนา ๆ ใส ๆ เป็นตุ่มหรือเป็นปมตรงหัวตา ถ้าเป็นมาก จะเห็นเป็นเนื้อสีแดงเรื่อ ๆ รูปสามเหลี่ยม ซึ่งอาจยื่นจากหัวตาหรือหางตาเข้าไปในบริเวณตาดำได้ เรียกกันว่า ต้อเนื้อ

ถ้าเยื่อนี้ขรุขระ โดยเฉพาะที่บริเวณด้านในของหนังตาทั้งบนและล่าง ก็มักจะเป็นการอักเสบ ซึ่งจะมีลักษณะตาแดง และน้ำตาเป็นหนองร่วมด้วย ถ้าหนังตาด้านในขรุขระมากและมีอาการแสบตาร่วมกับขี้ตามาก มักจะเป็น ริดสีดวงตา ให้ใช้ยาป้ายตา อ๊อคคูเลน-ที ขององค์การเภสัชกรรม หลอดละ 2 บาท ป้ายตาวันละ 3-4 ครั้ง ก็จะช่วยให้หายได้



นอกจากนี้ การดูสีของหนังตาด้านในผ่านเยื่อบุตา นั่นคือการดูสีของเยื่อบุตาที่ด้านในของหนังตาล่างโดยการใช้ปลายนิ้วชี้ หรือปลายนิ้วหัวแม่มือแตะที่หนังตาล่างใกล้ ๆ (แต่ไม่ให้ชิด) กับขอบตาล่างแล้ว คนไข้จะรำคาญหรือเจ็บ
เมื่อวางปลายนิ้วชี้หรือปลายนิ้วหัวแม่มือที่หนังตาล่างแล้วให้กดเบา ๆ เพื่อดึงหนังตาล่างให้เปิดออก จะได้มองเห็นเยื่อบุตาที่ด้านในของหนังตาล่าง ซึ่งอาจจะเห็นสีต่าง ๆ ได้ดังนี้

                                                

7.1 สีชมพู หรือสีแดงเรื่อ ๆ ตามปกติ จะรู้ว่าสีชมพูหรือสีแดงเรื่อ ๆ ขนาดไหนเรียกว่าปกติ ให้หมั่นเปิดหนังตาล่างของตนเอง (ถ้าตนเองเป็นคนแข็งแรงและไม่เป็นโรค) ดูในกระจก หรือเปิดหนังตาของญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง ที่สุขภาพดีดูเป็นประจำ ก็จะรู้สึกว่า สีขนาดไหนเป็นสีปกติ

7.2 สีขาวซีด หรือสีชมพูจาง ๆ (เมื่อเทียบกับสีในคนปกติ ซึ่งแดงกว่า) จะแสดงว่า คนนั้นเป็นโรคโลหิตจาง (โรคเลือดจางหรือเลือดน้อย) ถ้าหน้าตาก็ดูซีดขาว ริมฝีปาก ลิ้น และเนื้อ ใต้เล็บมือก็ดูซีดขาวด้วย
แต่บางครั้ง หนังตาด้านในที่ดูซีดขาว หน้าตาที่ดูซีดขาว ริมฝีปากและมือเท้าที่ดูซีดขาว อาจจะไม่ได้เกิดจากโรคเลือดจาง แต่เกิดจากเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่างๆไม่เพียงพอ เช่น ใน ภาวะช็อค ภาวะที่ตื่นเต้นตกใจมากๆ ภาวะหน้ามืดเป็นลม เป็นต้น
บางครั้ง ในคนที่อายุมาก(คนแก่) อาจจะมีไขมันเข้าไปสะสมอยู่ในหนังตาด้านใน ทำให้หนังตาด้านในแลดูขาวซีดกว่าปกติทั้งที่ลิ้นและข้างในปากยังแลดูแดงปกติ เพราะคนแก่คนนั้นไม่ได้เป็นโรคเลือดจาง นั่นเอง

7.3 สีแดงก่ำ หรือแดงกว่าปกติ (เมื่อเทียบกับสีในคนปกติซึ่งแดงน้อยกว่า) จะแสดงว่า คนนั้นเป็น โรคเลือดมาก (โรคเม็ดเลือดแดงมาก หรือ เลือดข้น) ถ้าหน้าตาก็ดูแดงก่ำ ริมฝีปากลิ้นและเนื้อใต้เล็บมือก็ดูแดงก่ำด้วย

แต่ถ้าหน้าตา ริมฝีปาก ลิ้น และเนื้อใต้เล็บมือแดงตามปกติ มีแต่หนังตาด้านในที่แดงก่ำ ก็มักจะแสดงว่า เยื่อบุตาอักเสบ อาจมีขี้ตาเป็นหนอง หรือมีลักษณะขรุขระ ของเยื่อบุตาร่วมด้วยก็ได้โดยทั่วไป เราจะตรวจด้านในของหนังตาแต่เฉพาะของหนังตาล่าง เพราะตรวจได้ง่าย ส่วนด้านในของหนังตาบนนั้น ตรวจยากและทำความลำบาก กับความระคายเคืองให้กับคนไข้

ดังนั้นเราจะตรวจด้านในของหนังตาบนก็ต่อเมื่อ เราสงสัยว่าจะมีความผิดปกติที่นั่น เพราะคนไข้มีความระคายเคืองที่ลูกตาส่วนบน หรือที่ด้านในของหนังตาบน

                                           

การตรวจด้านในของหนังตาบน อาจทำได้ดังนี้ (ดังรูป)

1. ให้คนไข้เหลือบมองปลายเท้าของตนเอง โดยไม่ต้องก้มหน้า

2. ใช้ก้านไม้ขีด หรือสิ่งอะไรก็ตามที่มีลักษณะคล้ายกัน กดลงตรงกลางของหนังตาบนเบา ๆ

3. ใช้มืออีกข้างหนึ่ง (ควรจะเป็นมือที่ถนัด เช่น คนถนัดขวาก็ควรใช้มือขวา) จับขนตาและขอบของหนังตาบนด้านนิ้วหัวแม่มือดึงลงเบา ๆ แล้วพลิกขึ้นทันที พร้อมกับที่มืออีกข้างหนึ่งที่จับก้านไม้ขีดกดก้านไม้ขีดลงเบา ๆ เพื่อให้ด้านในของหนังตาบนพลิกกลับออกมาอยู่ข้างนอก

ในคนที่ชำนาญ อาจจะพลิกหนังตาบนให้ข้างในกลับออกข้างนอกได้โดยใช้มือเดียว
เมื่อพลิกด้านในของหนังตาบนออกมาแล้ว ก็จะตรวจดูความผิดปกติของเยื่อบุตาที่ด้านในของหนังตาบนได้เช่นเดียวกับหนังตาล่าง ดังที่ได้กล่าวถึงข้างต้นแล้ว

                                                                                                                        ( อ่านต่อฉบับหน้า )

 

 

ข้อมูลสื่อ

24-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 24
เมษายน 2524
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์